ชาดก พระเวสสันดร


ชาดก พระเวสสันดร

ชาดกเรื่อง พระเวสสันดรชาดก

 "ชาดก" ความหมายของคำว่า ชาดกนั้นหมายถึง นิทาน

ชาดกในศาสนาพุทธ นั้น ก็หมายถึง นิทานที่แทรกพระธรรมคำสอนไว้ โดยใช้ชาดกเป็นการอธิบายพระธรรม หัวข้อธรรมต่างๆ โดยสมมุติยกเอาบุคคลมาแสดงเปรียบเทียบบ้าง เรียกว่า บุคคลาธิษฐาน หมายถึง บุคคลโดยสมมุติ หรืออาจจะยกเอาสัตว์บ้างเทวดาบ้าง เป็นสิ่งเปรียบเทียบหรือแสดงให้เห็นถึงข้อธรรมต่างๆ(แต่คนมักจะตีความเป็นว่า เป็นอดีตชาติของพระพุทธองค์หรือพระอริยสาวก หรือมักกล่าวว่าในสมัยที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นฯ)  และยังมีการแสดงธรรมอีกแบบหนึ่งคือ เป็นการอธิบายธรรมโดยการอธิบายโดยหลักเหตุผลหรือเป็นการอธิบายถึง ความ หมายล้วนๆ โดยไม่มีการยกตัวอย่าง ไม่ได้นำบุคคลหรือสัตว์เข้ามาสอนหรือเกี่ยวข้อง เช่นในอภิธรรม ชาดกต่างๆที่มีในศาสนาพุทธนั้น เมื่อเราอ่านโดยความเข้าใจทั่วๆไป  เราก็มักจะเข้าใจกันว่านั่นเป็นตรัสเล่าถึงเรื่องของการบำเพ็ญบารมีต่างๆของพระพุทธองค์เอง ในอดีตชาติ(ชาติก่อน) ซึ่งชาดกต่างๆนั้น มักจะกล่าวกันว่าเป็นการตรัสเล่าของพระพุทธองค์เอง ชาดกเรื่องพระเวสสันดรนั้น เป็นการแสดงธรรมถึงหัวข้อธรรมบทหนึ่ง เรียกกันว่า การบำเพ็ญทานบารมี โดยสร้างบุคคลาธิษฐาน ขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงการเสียสละของพระพุทธองค์

เมื่ออ่านชาดกในเรื่องนี้แล้ว เรามักจะเข้าใจกันว่า ชาดกเรื่องนี้เป็นการตรัสเล่าถึง อดีตชาติหรือชาติสุดท้ายก่อน ก่อนที่พระพุทธองค์จะมาอุบัติขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าในชาติปัจจุบัน โดยพระพุทธองค์ทรงแสดงชาดกเรื่องนี้ในขณะที่เสด็จกลับกรุงกบิลพัตร หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้เป็นสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โดยสาเหตุที่ทรงตรัสเล่าถึงเรื่องนี้ ก็เนื่องจากเกิดมีปรากฏการณ์ฝนโบกขรพัตร ขึ้น โดยตรัสเล่าว่าปรากฏการณ์นี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง คือ ในสมัยพระเวสสันดร

แต่เมื่ออ่านชาดกเรื่องนี้แล้ว ก็เกิดมีข้อผิดปกติมากมายในชาดกเรื่องนี้ เช่น

๑. เมื่อพระเวสสันดร บวชเป็นฤๅษีแล้ว ทำไมยังต้องหอบเอาลูกเอาเมียไปด้วย

๒. การบริจาคลูกและเมียไปให้กับผู้อื่น จริงอยู่ พระเวสสันดรแม้จะเป็นพ่อของลูกหรือเป็นสามีของภรรยา ซึ่งในสมัยโบราณก็นับว่าเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์ในตัวของลูกและเมีย แต่การบริจาคลูกเมียให้กับผู้อื่น ดูจะเป็นการเห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการกระทำนั้นเพียงเพื่อให้หวังให้ตนเองบรรลุธรรมหรือได้เป็นพระพุทธเจ้า โดยไม่สนใจถึงจิตใจ ไม่สนใจถึงความทุกข์ยากลำบากของลูกเมียเลย ...

แต่เมื่อพิจารณาโดย ภาษาคน-ภาษาธรรม แล้ว จึงเข้าใจได้ว่า ความจริงแล้ว ชาดกเรื่องนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเสียสละอย่างสูงสุดของพระพุทธองค์ ก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และชาดกเรื่องนี้ต้องไม่ใช่โอวาทของพระพุทธองค์ อย่างแน่นอน  คงเป็นเรื่องที่พระภิกษุรุ่นหลังแต่งขึ้น เพื่อเป็นการยกย่องพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธองค์ จะทรงตรัสยกยอตนเองเช่นนั้น

เรื่องพระเวสสันดร คิดว่าคุณทั้งหลายคงเคยรู้เรื่องกันอยู่แล้ว คงไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าซ้ำ แต่จะยกส่วนที่เห็นว่าสำคัญมาพิจารณา ขอให้คุณลองอ่านและพิจารณาดู

- เรื่องการบริจาคช้างเผือกคู่บารมี ให้กับเมืองอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งกำลังประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติไป  ช้างเผือกเชือกนั้นมีอำนาจวิเศษ สามารถทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล 

หากเราอ่านตามภาษาคน เราก็จะเห็นถึง ความมีน้ำใจของพระเวสสันดร ซึ่งมีต่อคนทั้งปวง ไม่เฉพาะต่อราษฎรของพระองค์เองเท่านั้น  

แต่ในภาษาธรรม การสละช้างวิเศษเชือกนั้น หมายถึงการยอมสละอำนาจราชศักดิ์ของพระพุทธองค์ ที่พระองค์ทรงยอมเสียสละเพื่อคนทั้งปวง

ความหมายที่ต้องรู้คือ ในสมัยก่อนนั้น การเกษตรถือว่าเป็นหัวใจหลักของประชาชนและประเทศ ประเทศจะเจริญหรือไม่ ต้องอาศัยการเกษตรเป็นหลัก  ซึ่งต้องอาศัยฝนฟ้าอากาศและธรรมชาติ  ดังนั้นการมีฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการเจริญมั่งคั่งของประชาชนและประเทศ  และนั่นย่อมหมายถึงอำนาจของผู้ปกครองด้วย ดังนั้น ช้างเผือกคู่บารมีนั้น จึงหมาย ถึง การเกิดมาพร้อมกับ อำนาจ ความมั่งคั่ง ความบริบูรณ์ ความสะดวกสบาย

การบริจาคช้างเผือกคู่บารมี จึงหมายถึง การสละราชสมบัติ ต้องทอดทิ้ง ห่างไกลจากลูกเมีย ข้าราชบริพาร ความสุข ความสะดวก สบายทุกอย่างที่มีอยู่  ออกบวชเพื่อหาทางพ้นทุกข์ เพื่อประโยชน์ต่อผู้คนทั้งหลาย โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นคนเหล่าใด

- เมื่อได้บริจาคช้างเผือกคู่บารมีไปแล้ว ก็ถูกพระบิดาขับไล่ออกจากพระนคร ทั้งยังโดนผู้คนประชาชนทั้งหลาย ด่าว่า ดูถูก เหยียดหยาม

ก็หมายถึง การที่พระองค์โกนหัวโล้น ในประเทศอินเดียนั้น คนที่โกนหัวโล้น คือ คนจัณฑาล ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีวรรณะ ถือเป็นคนชนชั้นต่ำที่สุด ย่อมถูกคนดูถูก เหยียดหยาม รังแก ต่างๆนาๆ ( ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่คนวรรณะนี้  และถือได้ว่า คนกลุ่มนี้ เป็นทาสทางความเชื่อ และพวกเขาเองก็ยอมรับเสียด้วย )

- การเดินทางเข้าไปในเขาวงกต  

หมายถึง การออกบวชของพระพุทธองค์นั้น พระองค์ทรงหวังที่จะค้นหาทาง ที่จะพ้นออกจาก การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ก็ไม่ทรงรู้เลยว่า วิธีการนั้นจะมีหรือไม่ ? หรือมีจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ? ดังนั้นเมื่อออกบวชแล้ว พระองค์จึงไปสมัครเข้าเรียนตามสถานศึกษาต่างๆมากมาย ไม่เฉพาะอาจารย์อาฬารดาบสและอุทกดาบสที่เรารู้ๆกันเท่านั้น ทรงตั้งใจและเพียรพยายามอย่างเต็มที่ จนสามารถประสพความสำเร็จเทียบเท่ากับอาจารย์แต่ละสำนักได้ในเวลาไม่นาน แต่ก็ยังไม่พบหนทาง ดังนั้น จึงออกไปหาทางด้วยตนเอง อีกโดยการทรมานร่างกาย ซึ่งการกระทำแบบนั้น ก็คือ การแสวงโมกข์ธรรมโดยไม่รู้ทิศรู้ทาง ซึ่งเปรียบเสมือนกับการเดินทางในภูเขาวงกต ซึ่ง คตเคี้ยว วนเวียน ไม่รู้ทิศรู้ทาง

- การเดินทางออกจากเมือง พร้อมด้วยลูก - เมีย  

 การเสด็จออกบวชของพระพุทธองค์นั้น เป็นการเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามพระองค์ก็ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาเหมือนกับคนทั่วไป เมื่อออกมาจากบ้าน ก็ย่อมคิดถึงคนอันเป็นที่รักอยู่เสมอ การที่มีจิตใจ เฝ้าคิดถึง ลูก คิดถึงเมีย อยู่เสมอนั้น ก็เปรียบเสมือนกับ การเดินทางพร้อมด้วยลูก-เมีย (หอบลูกเมียไปด้วย)

- การที่ชูชกเฆี่ยนตี กัญหา ชาลี

ก็เปรียบเสมือน น้ำพระทัย จิตใจของพระพุทธองค์ ที่ทรงห่วงลูกๆ ว่าจะมีความทุกข์อย่างไรบ้าง ก็เหมือนกับการพ่อแม่ทั่วๆไปที่ห่วงลูกนั้นแหละ ความคิดที่เป็นห่วง ก็คือ ความคิดที่คิดไปในทางที่ไม่ดี คิดไปในเรื่องร้ายๆต่างๆ

การที่ชูชกเฆี่ยนตี กัญหา ชาลี ก็เปรียบกับ ความคิดที่ไม่ดี (ความคิดที่เป็นห่วง) ที่พระพุทธองค์คิดถึง(ห่วง)ลูกของพระองค์

- ฝนโบกขรพัตร เหตุการณ์ที่ฝนนี้เกิดขึ้น คือ ในขณะที่ พระเวสสันดรเสด็จกลับสู่พระนคร และพระญาติของพระองค์คอยต้อนรับอยู่  ฝนนี้ มีจุดพิเศษคือ มีสีแดง ใครอยากจะให้เปียกก็เปียก ใครไม่อยากให้เปียกก็ไม่เปียก ฝนถึงพื้นดินก็ไม่เปียกจะซึมหายไป  

น้ำฝนนั้น เปรียบเสมือนกับ น้ำตาแห่งความปิติ ความปลาบปลื้มใจ ของญาติพี่น้องที่เป็นห่วงและรักใคร่พระองค์เมื่อได้พบกับพระองค์และทราบว่าพระองค์ประสบ ความสำเร็จ ก็ต่างพากันดีใจปลาบปลื้มใจ

น้ำฝนที่มีสีแดง นั้นมี หมายถึง สายเลือดเดียวกัน หมายถึง ความปลาบปลื้มใจของพระญาติต่างๆ

ใครอยากจะเปียกก็เปียก ใครไม่อยากเปียกก็ไม่เปียก หมายถึง น้ำตาแห่งความปลาบปลื้ม ปิติ ที่เห็นคนที่รักที่เคารพประสบความสำเร็จ

และการตกถึงพื้นดินก็ไม่เปียก ก็หมายถึง การไม่ใช่ฝนธรรมดาหรือการไม่ ใช่น้ำฝนจริงๆ แต่หมายถึง ปิติ

- การบริจาคเมีย ในตอนสุดท้าย

หมายถึง การสามารถ ตัดใจ ไม่คิดถึงลูก-เมียได้  

- การได้กลับมาครองสมบัติ  

เปรียบเสมือนกับ การได้บรรลุธรรม ผู้ทีบรรลุธรรมนั้น ก็คือ ผู้ที่พ้นออกจากตัณหาความอยากทั้งปวง

เมื่อไม่มีความอยาก ใจก็ไม่ขาดไม่พร่อง

ก็เสมือนกับ การมีอยู่อย่างพรั่งพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง(ถึงจะไม่มีแต่ ไม่ขาดหรือไม่อยาก)

เราลองพิจารณาด้วยใจของเราเอง ดูซิว่าหากเราเป็นพระพุทธองค์ เราจะรู้สึกอย่างไร

ก่อนการตรัสรู้ ความนึกคิดต่างๆของพระองค์นั้น ก็เหมือนๆกับคนทั้งโลกนั่นแหละ เหมือนคุณเหมือนผมที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่ยอมที่จะเสียสละอะไร หรือถึงแม้จะมีการเสียสละอะไรๆบ้าง  แต่หากโดนดูถูก เหยียดหยาม เอารัดเอาเปรียบ เรา สักพักหนึ่ง เราก็ท้อก็ถอยเสียแล้ว

แต่พระพุทธองค์นั้น ทรงสามารถอดทน และไม่ท้อถอยเลย กับอุปสรรค(มาร)ต่างๆ ที่ประดังเข้ามาโดยตลอดระยะเวลาแห่งการแสวงหาโมกขธรรมนั้น และที่สำคัญก็คือ

ความเพียรต่างๆ ในการประพฤติหรือ การกระทำนั้น ก็เพียงเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเท่านั้น เพราะโดยลำพังของพระองค์เองและครอบครัวของพระองค์แล้ว ก็สามารถมีความสุขได้ตามประสาโลกอย่างมากมายเกินกว่าใครๆอยู่แล้ว

พระพุทธองค์ ทรงเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาๆเหมือนคนทั่วๆไป ทั้งยังมีฐานะความเป็นอยู่อันเลอเลิศแสนที่จะสะดวกสบายกว่าใครๆ กว่าเราๆท่านๆอีกมากมาย 

การเสียสละ จากการยอมพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การอดทนต่อความทุกข์ทรมานลำบากตรากตรำ ในขณะของการประพฤติปฏิบัติเพื่อการหาโมกขธรรมนั้น พระองค์ กระทำ  เพื่อใคร ?

ถ้าไม่ใช่เพื่อ เราๆท่านๆ เพื่อคนทั้งโลก ........

หากเราๆท่านๆ จะสามารถ เสียสละความสะดวกสบาย ยอมเสียสละเวลาที่จะอยู่กับสิ่งอันเป็นที่รักบ้างในบางครั้งบางเวลา เพื่อคนอื่นบ้าง ให้ได้สัก เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของน้ำใจของพระพุทธองค์ โลกนี้ก็จะคงจะน่าอยู่ มากกว่านี้  

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 206156เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2008 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท