ชมรมหวานชื่นใจ


อยากให้ชมรมจัดการสอนสาธิตการทำอาหารเบาหวานประจำถิ่นของเราเอง อยากรู้ว่าอาหารประจำถิ่นของเรานี้พอใช้ได้กับพวกเราที่เป็นเบาหวานไหม?...

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานของศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง โรงพยาบาลสระบุรี ได้เข้าร่วมประชุม เพื่อใช้ความพายายามอย่างยิ่งยวดที่จะก่อตั้งให้เป็นชมรม โดยมีทีมงานจากงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ กลุ่มงานเวชกรรมสังคมเป็นผู้ประสานงาน กระตุ้น  สนับสนุนและติดตามมาโดยตลอด  การรวมตัวกันในครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ แล้ว โดยมีความเป็นมาก่อนหน้านั้น คือ

ได้มีการนัดประชุมครั้งแรก โดยเลือกเชิญผู้รับบริการของศูนย์สุขภาพชุมชนบางท่านมาร่วมปรึกษาหารือ เมื่อวันที่  ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ มีสมาชิกประชุมเพียง ๑๓ ท่าน สมาชิกที่มาประชุมสรุปว่ามีสมาชิกน้อยไป ควรนัดประชุมคราวต่อไปและให้สมาชิกแต่ละท่านไปชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมประชุมให้มากขึ้น

ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ มีสมาชิกมาร่วมประชุม ๒๓ ท่าน สามารถเลือกประธาน และกรรมการกลุ่ม มีแนวคิดที่จะให้กลุ่มสามารถดำเนินกิจกรรมอยู่ได้ด้วยตนเองมากที่สุด ทีมงานเจ้าหน้าที่เพียงสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเท่านั้น ในครั้งต่อไปนัดหมายจะมีการคุยเรื่องกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป

การประชุมครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ มีผู้เข้าร่วมประชุม  ๒๕ ท่าน ซึ่งสมาชิกได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายของกลุ่ม โดยเริ่มจากจากความต้องการของสมาชิกแต่ละท่าน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานมีสุขภาพที่ดี สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ สามารถช่วยเหลือดูแลเพื่อน ๆ และผูป่วยเบาหวานอื่น ๆ ได้  สามารถขยายเครือข่ายหาสมาชิกเพิ่ม  มีความเป็นอยู่ดีขึ้น  จากนั้นช่วยกันรวบรวมเป็นเป้าหมายร่วมของกลุ่มหรือชมรม คือ เพื่อให้สมาชิกมีสุขภาพดี สามารถดูแลตนเองและผู้อื่นได้ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นต่าง ๆ ระหว่างสมาชิก  มีการเสนอคำขวัญประจำกลุ่มและท้ายที่สุดได้ลงมติว่าสมาชิกจะใช้คำขวัญเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมว่า "อยู่อย่างเบาหวานที่มีความสุข" ท่านประธานกลุ่มได้ชักชวนสมาชิกตั้งชื่อให้กับกลุ่ม ซึ่งจะนำไปสู่ชื่อของชมรม มีการเสนอชื่อขึ้นมามากมาย ในที่สุดที่ประชุมได้เลือกใช้ชื่อชมรมว่า "หวานชื่นใจ"

หลังจากนั้นได้ร่วมกันคิดว่าชมรมควรจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง โดยสรุปสมาชิกเหนร่วมกันว่ากิจกรรมที่ชมรมจะจัดให้เกิดขึ้นควรประกอบด้วย

๑.ศึกษาดูงานจากชมรมอื่น ๆ

๒.แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ในการดูแลสุภาพตนเองของสมาชิก

๓.จัดเวทีสำหรับการให้ความรู้ใหม่ ๆ แก่สมาชิก

๔.กิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

๕.กิจกรรมออกกำลังกายร่วมกันโดยการนำของสมาชิกเอง

๖.แลกเปลี่ยนสาธิตเมนูอาหารเบาหวานโดยสมาชิกเอง

๗.ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชมรมและการหาสมาชิกใหม่

ที่ประชุมตกลงว่าจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยในเดือนนี้นัดไว้วันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๘  และกำหนดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนสมาชิกชมรมอย่างเป็นทางการ มีการจัดการด้านทะเบียน จัดทำบัตรประจำตัวสมาชิก และจะจัดกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกันโดยการรำไทย(หนึ่งในกิจกรรมร่วมที่ได้กำหนดไว้)

แม้ว่าผมจะไม่สามารถอยู่ร่วมการประชุมในครั้งนั้นได้ตลอด แต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้ร่วมพูดคุยอยู่ด้วยก็รู้สึกได้ว่าทีมงานพี่เลี้ยงมีความมุ่งมั่นในการกระตุ้นผลักดันให้เกิดการรวมตัว สร้างเป้าหมายร่วมกัน พยายามสนับสนุนให้มีการจัดการภายในกลุ่มด้วยตัวเอง และเมื่อติดตามสอบถามข้อสรุปที่ได้จากการประชุมดังที่ได้เขียนเล่ามานี้แล้ว ก็ต้องยอมรับและชื่นชมในความพยายามของทีมงานเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับความสนใจของสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้วเชื่อว่าความพยายามนี้น่าจะสัมฤทธิ์ผลให้เห็นได้ชัดเจนในอนาคตอันใกล้ 

อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นที่คิดว่าทีมงานเองก็กำลังคิดอยู่ คือ ทำอย่างไรให้สมาชิกเกิดความรู้สึกและมุ่งมั่นตามเป้าหมายที่ได้ร่วมคิดไว้อย่างต่อเนื่อง  จะใช้กระบวนการอะไรให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นในพลังกลุ่มของตนเองว่าสามารถดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายได้ด้วยกลุ่มเอง ? และเมื่อมีสมาชิกใหม่ ๆ เข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น ถึงจุดใดจึงควรมีการทบทวนเป้าหมายและกรอบกิจกรรมของชมรม ?

คิดดูแล้วผมว่า หนึ่งในคำตอบน่าจะเป็นการทบทวนและรับรู้ผลงานของกลุ่มเองอาจเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นพลังของกลุ่มให้หมุนต่อไปได้  ...... นั่นย่อมแสดงว่ากลุ่มหรือชมรมคงต้องหาวิธีวัดความสำเร็จของพวกเขา และให้เวลากับการทบทวนตรวจสอบความสำเร็จเป็นระยะ ๆ

หนึ่งในคำตอบอาจเป็นการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชมรมอื่น ๆ ... วิธีที่เราชอบใช้อยู่เสมอ ๆ และใช้ได้ผลในการกระตุ้นความฮึกเหิมของทีมงานต่าง ๆ มามากต่อมาก แต่คงต้องไม่ลืมว่ากิจกรรมที่จัดแล้วดีในที่อื่น ๆ อาจไม่เหมาะในกลุ่มหรือชมรมของเรา สมาชิกชมรมจะต้องกลับมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพที่เป็นอยู่จริงของเรา เหมือนอย่างที่คุณป้าท่านหนึ่งที่เป็นสมาชิกได้เสนอไว้ในที่ประชุมว่า "อยากให้ชมรมจัดการสอนสาธิตการทำอาหารเบาหวานประจำถิ่นของเราเอง อยากรู้ว่าอาหารประจำถิ่นของเรานี้พอใช้ได้กับพวกเราที่เป็นเบาหวานไหม?...."

และอีกหลาย ๆ คำตอบที่ทีมงานต้องช่วยกันค้นหาร่วมกับสมาชิกชมรมต่อไป....

แม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ก็ขอให้กำลังใจชมรมและทีมงานที่จะได้รวบรวมพลังให้เกิดก้าวหน้าในชมรม มีกิจกรรมที่ดี ๆ ต่อเนื่องยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและอาจเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยรายอื่น ๆ ในอนาคต

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2051เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2005 01:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 07:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอแสดงความยินดีกับทีมงานทั้งหมดที่ได้ช่วยสร้างสรรเวทีการสื่อสารให้กับชุมชน     การจะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งนั้น  ปัจจัยพื้นฐานต้องการการมีส่วนร่วมของชุมชน  การเปิดโอกาสหรือเวทีให้กับชุมชน  และการสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน   การสร้างWebขึ้นมาเปนการสร้างปัจจัยต่างๆดังกล่าวแล้วทุกประการ  ขอให้ทุกท่านที่ได้เข้ามาWebนี้จงช่วยกันใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์   และผมขอให้กำลังใจ  และจะช่วยให้ความคิดเห็นให้กับWebนี้เท่าที่โอกาสจะอำนวย  

วันนีเป็นวันที่9 สิงหาคม2548   รพ.สระบุรีจะมีกิจกรรมปลูกต้นไม้และทาสีรั้ว  ผมก็ขอเรียนเชิญมาร่วมกิจกรรมช่วยกันสร้างรพ.สระบุรีองเราให้ร่มรื่นด้วยครับ

    หมอ.เทียม   

เป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ ขอเป็นกำลังใจให้

การสร้างความมั่นใจในพลังของกลุ่มอาจจะเริ่มต้นด้วยความมั่นใจในความสามารถของสมาชิกก็ได้ เช่น เชิญสมาชิกที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเล่าสู่กันฟัง  การแวะเวียนกันไปเยี่ยมบ้านของสมาชิกหรือผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก เป็นทั้งโอกาสที่จะสังสรรกันและออกกำลังด้วยการเดินไปด้วย (ถ้าระยะทางไม่ไกลเกินไป) และถือโอกาสเรียนรู้เรื่องราวดีๆ ในท้องถิ่นไปด้วย 

...ในฐานะชาวจังหวัดสระบุรี..อ่านแล้วดีใจและชื่นชมว่าก้าวแรกของการทำให้ชุมชนแข็งแรงด้วยชุมชนเองของสระบุรีในด้านสุขภาพเริ่มขับเคลื่อนแล้ว.....ก้าวต่อไปพี่คิดว่าการมีส่วนร่วมของผู้บริหารท้องถิ่นในการจัดงบประมาณต่างๆในด้านสุขภาพลงมาสู่ชุมชนน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ.....เพียงแต่ว่าเราจะประสานอย่างไรให้เครือข่ายกว้างขึ้น...จะลองเก็บไปช่วยคิดค่ะ
ศิริพร สิทธิโชคธรรม

1. ทราบว่างานประจำที่ทุกคนทำอยู่ก้อ มากแล้ว แต่มีความมุ่งมั่นและทุ่มเท เสียสละ สามารถเป็นแบบอย่างให้กับรพ. อื่นๆก้อขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ เชื่อมั่นเหลือเกินว่าต้องทำได้ดีและยั่งยืนเพราะมีหัวหน้า NCD ที่เข้มแข็ง(พี่สาวที่แสนดีและเก่ง) และ หัวหน้าฝ่ายที่มุ่งมั่นจริงๆ  ถ้าสะดุดอะไรก็ ขอให้ยืนหยัดนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ 

2. ทำอย่างไรจะให้สมาชิกมุ่งมั่น/เชื่อมั่น ในเป้าหมาย? ตรงนี้ขอเสนอแนะว่า "เป้าหมายต้องชัด" ค่ะ ประการที่2 เห็นด้วยกับคุณหมอสมพงษ์ที่ว่า    ต้องมี่ตัววัดความสำเร็จค่ะ  ถ้าทำได้ตามตัวชี้วัดที่กลุ่มยอมรับ  ทีละตัว(ก็ยังดี) จะเป็นเชื้อเพลิงให้มั่นใจมากขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น

   เห็นด้วยกับอ. อนุวัฒน์ ว่าการสร้างความมั่นใจอีกประการหนึ่ง คือให้ผู้ที่ทำได้สำเร็จเป็นแรงบันดาลใจค่ะ

 อยากให้จนท. ฝ่ายสุขศึกษา เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนให้ข้อคิดบ้าง เพราะเค้าทำตรงนี้มานาน(หลายปี) มีประสบการณ์เยอะ อาจมีอะไรดีดี (มองต่างมุม) ช่วยได้บ้าง

  เห็นด้วยกับแนวคิดพี่หมู(เชาวรัตน์) นะคะที่ฝากให้คิดว่าจะขยายผลอย่างไร แม้ว่าจะเป็นแนว "Reactive" ยังไม่ต้องถึงกับ "Proactive" ก็ได้ (ถ้ายังไม่พร้อม)

  เห็นด้วยกับคุณหมอสมพงษ์ อีกครั้งว่าถ้าได้ทบทวนผลงาน ตามตัวชี้วัด จะทำให้มีพลังใจในการก้าวต่อไปค่ะ 

น่าจะมีอะไรให้กลุ่มคลายเครียดนอกจากรำไทยนะคะ และจะได้ไม่เบื่อค่ะ(ฝากไว้เฉยๆค่ะ)

สุดท้ายขอให้พี่สาวที่แสนดี(หัวหน้างาน NCD) ทำงานให้มีความสุข ดูแลสุขภาพด้วย ยังรักเหมือนเดิมค่ะ

วันนี้มีโอกาสได้มาชื่นชมการพัฒนาคุณภาพของรพ.สระบุรี รวมทั้งงานสร้างเสริมสุขภาพ ในที่ประชุมกล่าวถึงชื่ออาจารย์ และผลงานของอาจารย์อย่างมากมาย ก็เลยขอมาชื่นชมผลงานของอาจารย์บ้างค่ะ และเป็นกำลังใจให้ทำงานบรรลุเป้าหมายต่อไป นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท