การบูรณาการการคิดในการจัดการเรียนการสอน


การเรียนการสอน

การบูรณาการการคิดในการจัดการเรียนการสอน

                จากการอ่านบทความเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน พบว่าน่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านอยู่บ้างก็เลยสรุปส่วนสำคัญ ๆ มาฝากกันในวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการบูรณาการการคิดในการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษา

                ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการพูดถึงการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งในแต่ละรูปแบบล้วนแต่เน้นในเรื่องของกระบวนการคิดเป็นสำคัญ เนื่องจากอาจจะเห็นว่าหลายคนในสมัยนี้มักจะทำอะไรๆ โดยไม่ค่อยคิด หรือคิดน้อยเกินไปก็ไม่รู้ พฤติกรรมหลาย ๆ อย่างที่แสดงออกมาจึงไม่เป็นที่ปรารถนาของบุคคลในสังคม มาดูความหมายของการคิดเป็นลำดับแรก โดยสรุปการคิดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาจจะมีส่วนสัมพันธ์กับปัญหา หรือเป็นการคิดเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้ ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมจึงต้องสอนคิด ในเมื่อทุกคนก็คิดตลอดเวลาอยู่แล้ว ในการสอนคิดนั้นเป็นการสอนให้เด็กคิดอย่างมีวิจารณญาณ สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ครูที่สอนโดยจัดกิจกรรมให้เด็กได้คิดโดยผ่านการวิเคราะห์ ตีความ แก้ปัญหา และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมในปัจจุบันนี้ เป็นการยากที่จะประเมินได้ว่าความรู้ใดที่สำคัญสำหรับโลกในอนาคต การเตรียมตัวเด็กสู่โลกอนาคตจึงต้องสอนให้เด็กคิดเป็น ตระหนักต่อปัญหา

                การบูรณาการการคิดทำได้โดยการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการในทุกเนื้อหาวิชาเข้าด้วยกัน เน้นรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งรายบุคคลและเรียนรู้ร่วมกันเป็นรายกลุ่ม  เพื่อให้เด็กได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ การส่งเสริมการคิดทำได้โดยครูเสนอปัญหาให้เด็กคิดก่อนการเริ่มเรียนเนื้อหาในช่วงเช้า ให้เด็กได้คิดและอธิบาย ที่สำคัญควรให้เด็กได้มีโอกาสค้นหาข้อมูล อภิปรายโต้เถียง สะท้อนความคิด และลงมือปฏิบัติจริงโดยผ่านการทำงานกลุ่มโดยการระดมสมอง (Brainstorming)

                การส่งเสริมการคิดทำได้โดยวิธีต่าง ๆ  เช่น การถามคำถาม ควรเป็นคำถามปลายเปิดที่เด็กสามารถตอบได้หลากหลาย ที่สำคัญควรถามให้เหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย อีกวิธีหนึ่งก็คือ การส่งเสริมให้เด็กแต่งนิทาน หรือจดบันทึกจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว โดยกำหนดหัวข้อให้ก่อนในช่วงแรก  แล้วจึงให้เด็กกำหนดหัวข้อเองหลังจากเข้าใจดีแล้ว ทั้งนี้ต้องเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ให้เด็กด้วย สิ่งที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้เด็กสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง โดยให้เด็กทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง มีครูคอยรับฟังความคิดเห็นด้วยความเอาใจใส่

 

เข้าถึงโดย  http://www.arc.dusit.ac.th/be/FT/nop.pdf

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 204739เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2008 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
จุฑารัตน์ กัณฑเดช

ได้ความรู้เพิ่มเติมที่ดีมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท