ทิศทางการผลิตกำลังคนระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษา


อุดมศึกษาไทย

บทวิเคราะห์ข่าวการศึกษา

เรื่อง ทิศทางการผลิตกำลังคนระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ของไทย

สรุปสาระสำคัญ

จำนวนสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทั้งผลทางบวกและทางลบ ผลในทางลบคือ คุณภาพการศึกษาต่ำลง มีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงนักศึกษาในพื้นที่เดียวกัน เกิดอุดมศึกษาพาณิชย์เพิ่มขึ้น คณะอนุกรรมการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ.2552-2565) ได้เสนอแนวทางปฏิบัติ คือ ลดและเลิกผลิตหลักสูตรที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ที่เรียกว่า “Supply side” สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ ได้แก่ ราชภัฏ ราชมงคล มหาวิทยาลัยนครพนม ควรปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการหลักสูตรจากมุมมองอุปสงค์(Demand led) เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ตลาดแรงงานและลดการว่างงานของบัณฑิต  ควรเป็นสถาบันเชิงนวัตกรรมด้วยการปรับเส้นทางการผลิตบัณฑิตโดยการเพิ่มสาขาวิชาที่เป็นหลักสูตร Demand-Side ควรขยายการผลิตบัณฑิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสาขาวิชาแพทยศาสตร์ อาจริเริ่มโดยใช้ยุทธศาสตร์ Consortium ที่จัดเป็นกลุ่มเพื่อร่วมกันผลิต ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการกำหนดทิศทาง และการขับเคลื่อนของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งด้วย  รัฐบาลควรสนับสนุนทั้งงบประมาณ และทรัพยากรเนื่องจากเป็นสาขาวิชาขาดแคลน รวมทั้งจะต้องควบคุมด้านมาตรฐานการผลิตโดยเน้นคุณภาพ เน้นการผลิตบุคลากรให้มีความรอบรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติในสาขาวิชาที่มีความจำเป็น และสอดคล้องกับความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อได้กำลังคนระดับสูงที่สามารถสร้างงานที่เหมาะสมในการพัฒนาประเทศ

การวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็น

                ประเด็นที่เห็นด้วย

1.             การลดและเลิกการผลิตบัณฑิตในหลักสูตรที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคมหรือตลาดแรงงาน  และปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตหลักสูตรเป็น Demand side

เหตุผล เนื่องจากในปัจจุบันมีหลักสูตรจำนวนมากที่เป็นหลักสูตร “Supply side” ผลิตบัณฑิตตามความต้องการของสถาบันและไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม จะเห็นได้จากอัตราบัณฑิตที่ว่างงานหรือปฏิบัติงานไม่ตรงสาขาเป็นจำนวนมาก หากมีการสำรวจความต้องการของสังคมและตลาดแรงงาน และจัดการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการดังกล่าวเพิ่มขึ้น จะช่วยลดอัตราการว่างงานได้ และทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหากบัณฑิตได้ปฏิบัติงานตรงกับสาขาที่เรียนมา ย่อมพัฒนาคุณภาพงานของหน่วยงานได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย

2.             การร่วมมือในการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยใช้ยุทธศาสตร์ Consortium

เหตุผล การจัดการศึกษาโดยใช้ยุทธศาสตร์ Consortium เป็นการประสานความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตในระหว่างสถาบันอุดมศึกษา อาจร่วมมือในการผลิตบัณฑิตเป็นเครือข่าย จะเป็นการแบ่งปันทรัพยากรทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยีและสารสนเทศ และร่วมกันพัฒนาคุณภาพในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมได้เพิ่มขึ้น และยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดี รวมทั้งเกิดการแข่งขันเชิงวิชาการเพิ่มขึ้น เพื่อเทียบเคียงคุณภาพของสถาบันการศึกษาในระหว่างเครือข่าย

3.             การควบคุมคุณภาพการผลิตกำลังคนระดับสูงในสาขาที่ขาดแคลน

เหตุผล การผลิตกำลังคนระดับสูง เช่น สาขาวิชาชีพแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน สอดคล้องกับความต้องการของสังคม จำเป็นต้องควบคุมมาตรฐานการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ทั้งด้านความรู้ เจตคติและทักษะในการปฏิบัติ เนื่องจากวิชาชีพแพทย์เป็นวิชาชีพที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน

4.             รัฐบาลควรสนับสนุนด้านงบประมาณ และทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอในการจัดการศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน

เหตุผล การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน จำเป็นต้องได้รับงบประมาณและทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ ทั้งด้านอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องจัดหาบุคลากรที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการสถาบันและเป็นแหล่งทรัพยากรบุคคลที่สำคัญให้ผู้เรียน เนื่องจากวิชาชีพแพทย์ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชน

ประเด็นที่ไม่เห็นด้วย

การขยายการผลิตบัณฑิตกลุ่มสาขาวิชาแพทยศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่

เหตุผล สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในปัจจุบันมีการผลิตบัณฑิตที่หลากหลายสาขา เนื่องจากมีบุคลากรที่มีความรู้ในสาขานั้น ๆ แต่ไม่มีบุคลากรด้านการแพทย์ หากจะผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนบุคลากร งบประมาณและทรัพยากรที่จำเป็นจำนวนมาก อาจไม่คุ้มค่าในการริเริ่มการผลิต และไม่สามารถควบคุมคุณภาพการศึกษาได้เพียงพอ นอกจากนี้การผลิตบัณฑิตสาขาวิชาแพทยศาสตร์นั้น ไม่เพียงแต่ต้องการงบประมาณและบุคลากรที่มีความสามารถเท่านั้น สถาบันยังต้องมีแหล่งฝึกปฏิบัติงานที่มีความพร้อมและเพียงพอด้วย ในขณะเดียวกันอาจเกิดภาวะสมองไหลเนื่องจากมีการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถสูงจากสถาบันที่ผลิตบัณฑิตสาขาวิชาแพทยศาสตร์อยู่แล้ว ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรซึ่งกันและกัน  

ผู้วิเคราะห์ข่าว เห็นว่าไม่ควรสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่จัดการศึกษาสาขาดังกล่าว แต่ควรควบคุมและกำกับให้สถาบันที่ผลิตบัณฑิตสาขาวิชาแพทยศาสตร์ที่มีอยู่แล้วให้ควบคุมคุณภาพการผลิตบัณฑิตให้ได้คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ เพื่อให้ได้บุคลากรที่ไปปฏิบัติงานในสังคมที่มีคุณภาพและเข้าใจภาวะสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

 ที่มาหนังสือพิมพ์มติชน  วันอาทิตย์ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2551 หน้า 5

คำสำคัญ (Tags): #อุดมศึกษาไทย
หมายเลขบันทึก: 204679เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2008 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท