การพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง (ต่อ)


การพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง (ต่อ)

สรุปผลการวิจัย 

 1.  บริบททั่วไปของบ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา  หมู่ที่  11  ตำบลประชาพัฒนา  เดิมชื่อบ้านหนองเหล่า  อยู่ในพื้นที่ปกครองตำบลโพธิ์ชัย  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม  ต่อมาได้เปลี่ยนตำบล  จากตำบลโพธิ์ชัย  มาเป็นตำบลประชาพัฒนา  ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย  ประวัติเดิม  คือ  ประมาณปี  พ.ศ.  2422   พ่อกวนเมืองซ้าย  ได้อพยพผู้คนจากบ้านน้ำค้ำมาพบทำเลป่าทึบ  มีต้นยางใหญ่  ต้นพันชาดมากมาย  มีหนองอยู่ตรงกลาง  คือ  “หนองเหล่า”  มีลำห้วยไหลผ่าน  มีปลาอุดมสมบูรณ์จึงตั้งหลักปักฐานโดยนำปู่ตามาตั้งศาลไว้สักการบูชา  และเรียกชื่อตามบ้านหนองน้ำคือ  “หนองเหล่า”  ต่อมาเมื่อ  พ.ศ.  2536  หมู่บ้านขยายใหญ่ขึ้นจึงแยกปกครองออกเป็น  2  หมู่บ้าน คือ บ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา  หมู่ที่  11  ด้านประชากรปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด  74  หลังคาเรือน  ประชากร  329  คน  แยกเป็น  ชาย  172  คน  หญิง 157  คน  มีการตั้งถิ่นฐานและความเป็นอยู่เหมือนกับชุมชนชนบทอีสานทั่วๆ  ด้านเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักทำนา  และมีที่ทำกินเป็นของตนเอง  ด้านการศึกษาของชาวบ้าน เหล่าราษฎร์พัฒนา  มีโรงเรียน  1  แห่ง  ซึ่ง เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับประถมศึกษา  สังกัดเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม  เขตที่  2  มีชื่อว่า โรงเรียนบ้านหนองเหล่า  ประชาชนส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ  ด้านศาสนาและวัฒนธรรม  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและมีการปฏิบัติตามประเพณีอีสานฮีตสิบสอง  ครองสิบสี่  ด้านการเมืองการปกครองมีผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันคือ นายเกตุศักดิ์  ชินภักดี  และเป็นกำนันตำบลประชาพัฒนาด้วย  ซึ่งได้รับคัดเลือกขึ้นมาตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  โดยมีการกระจายอำนาจการปกครองในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้าน  และในชุมชนยังมีการรวมกลุ่มองค์กรเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันที่หลากหลาย  เช่น  กลุ่มฌาปนกิจศพ  กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มเลี้ยงหม่อนไหม  กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเกษตรผสมผสาน  กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มร้านค้าชุมชน  กลุ่มธนาคารหมู่บ้าน / กองทุนเงินล้านกลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพ  กลุ่มทองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน  (กข.คจ.)  กลุ่มเพาะเห็ด  และกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพร  เป็นต้น  และในส่วนบริบทชุมชนที่ส่งผลต่อการดำเนินงานพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  มีขั้นการดำเนินงาน   คือ  ศึกษาชุมชนและค้นหาทีมแกนนำ  ได้กลุ่มเป้าหมายที่แสดงความประสงค์และมีความพร้อมเข้าร่วมโครงการได้แก่กลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพร  และมีทีมแกนนำเข้าร่วมเป็นทีมวิจัย  20  คน  และได้จัดทำแผนการดำเนินงานการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กรชุมชนในการพัฒนาองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง   1  ปี  ซึ่งประกอบด้วย  4  กิจกรรมหลัก  คือ  ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม  ด้านการผลิต  ด้านการตลาด  และด้านการเงินการบัญชี  ทำให้กลุ่มมีทิศทางการพัฒนาตนเอง  และนำไปสู่การจัดทำเครื่องมือตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน  ผลการดำเนินงานทำให้กลุ่มองค์กรชุมชนมีตัวชี้วัดความสำเร็จประกอบไปด้วย  1.  ด้านการผลิต / คุณภาพผลิตภัณฑ์  ประกอบด้วย  2. ด้านการบริหารจัดการกลุ่มและเครือข่าย  3. ด้านการเงินบัญชีและระบบข้อมูล     4. ด้านการตลาด  5. ด้านสิ่งแวดล้อม  6. ด้านสังคมและวัฒนธรรม   และ 7. ประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจชุมชน  และผลจากประเมินผลกลุ่มองค์กรชุมชนก่อนการดำเนินงาน  พบว่าปัจจุบันกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพร  มีปัญหาคือ  กระบวนการผลิตไม่ได้คุณภาพ  สาเหตุขาดเครื่องมือและความรู้ทักษะในการผลิต  จุดเด่นมีโครงสร้างการบริหารจัดการกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง  จุดด้อยกลุ่มยังไม่สามารถขยายตลาดในวงกว้างได้  แนวทางแก้ไข  พัฒนากระบวนการผลิตขนมจีนด้วยการฝึกอบรมศึกษาดูงาน  และจัดหาเครื่องมือในการผลิต  ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้วิจัยจะนำไปวางแผนพัฒนากลุ่มในขั้นตอนต่อไป 
 2.  การพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  ได้มีการผลักดันให้กลุ่มองค์กรได้นำแผนการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  ไปใช้อย่างจริงจัง  โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน  คือ  สร้างความตระหนักในการดำเนินงาน ด้วยวิธีการจัดกิจกรรมให้กลุ่มองค์กรชุมชนได้ไปศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบในการพึ่งตนเอง  เรื่องการทำขนมจีนสมุนไพร  ณ  ตำบลกะพง  จังหวัดระยอง  ผลที่ได้จากการดำเนินกิจกรรม  สมาชิกกลุ่มมีความรู้ ความเข้าใจรูปแบบการดำเนินงาน กิจกรรมเป็นลักษณะการเรียนรู้แลกเปลี่ยน สอบถามกับวิทยากร  ถึงกระบวนการ  ขั้นตอน  วิธีการในการทำแป้งหมักขนมจีนสมุนไพร  จากการสอบถามสรุปผลจากการศึกษาดูงานของโดยผู้วิจัย  พบว่า  สมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้และทักษะในการผลิตขนมจีนสมุนไพรมากขึ้น  โดยเฉพาะการหมักแป้ง  และการนวด  การผสมสมุนไพร  การโรยเส้น  และจากการติดตามผลภายหลังการศึกษาดูงานกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหลายอย่าง  เช่น  มีสมาชิกฝ่ายผลิตมาทำงานอย่างต่อเนื่องมากขึ้น  กลุ่มได้สร้างเครื่องมือในการโรยเส้นขึ้นใหม่  ได้ทดลองนำสมุนไพรหลายชนิดมาผลิตทำให้สินค้ากลุ่มมีความหลากหลายมากขึ้น  หลังจากนั้นผู้วิจัยได้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง  ส่งผลให้กลุ่มองค์กรเป้าหมายดำเนินงานได้บรรลุตามเป้าหมายในระดับหนึ่ง  โดยเฉพาะด้านการผลิตกลุ่มสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้มีความหลากหลายมากขึ้น  และจากการสรุปบทเรียนและทบทวนแผนการดำเนินงาน  ณ  ศูนย์ข้อมูลหมู่บ้านบ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา  ตำบลประชาพัฒนา  วิธีการดำเนินกิจกรรมผู้วิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น  3  กลุ่มย่อย  ให้แต่ละกลุ่มย่อยไประดมสะท้อนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตามประเด็น  ผลสำเร็จบทเรียนสำคัญ  แนวทางขยายผล  ปัญหาอุปสรรค  และแนวทางแก้ไข  พบว่า  กลุ่มยังมีปัญหาอุปสรรคที่ต้องดำเนินการวางแผนแก้ไขเพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  ดังนี้  1)  อบรมและศึกษาดูงานการบริหารจัดการกลุ่ม   ณ ศาลาวัดบ้านหนองเหล่า  2)  อบรมการทำน้ำยาขนมจีนสูตรมาตรฐาน  ที่ทำการกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพร  3)  โครงการอบรมการตลาด  ที่ทำการกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพร 4)  อบรมการเงินบัญชี  ณ ที่ทำการกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพร  ผลการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมส่งผลให้สมาชิกกลุ่มองค์กรมีความรู้  ทักษะ  และนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงระบบงานของตนเอง  ให้มีพัฒนางานที่ดีนำไปสู่การเป็นองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียงอีกขั้นหนึ่ง   ซึ่งผลการประเมินระหว่างดำเนินงาน  พบว่า  โดยภาพรวมกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพรมีพัฒนาการในการดำเนินงานระหว่างดำเนินการอยู่ในระดับสูง  คือ  อยู่ในระดับดีมาก โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการกลุ่ม  ด้านการตลาด  และด้านการเงินบัญชี    
 3.  ผลการประเมินศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง
พบว่า โดยภาพรวมกลุ่มองค์กรชุมชนมีความสามารถต่อการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  อยู่ในระดับปานกลาง  โดยพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า  ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการจัดการทรัพยากร ด้านสุขอนามัยในชุมชน ด้านศาสนาวัฒนธรรมประเพณีโดย ด้านความรู้การเรียนรู้ชุมชน ด้านการบริหารชุมชน/แผนชุมชน ด้านองค์กรชุมชน/กลุ่มอาชีพ
 ด้านความรู้ความสามารถผู้นำ ด้านความรู้เด่นในชุมชนและด้านเครือข่ายความร่วมมือ
โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง

อภิปรายผล 

 จากผลการวิจัยการประเมินโครงการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  บ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา  หมู่ที่  11  ตำบลประชาพัฒนา  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม  มีประเด็นที่น่าสนใจนำมาอภิปรายผลการวิจัยได้ ดังนี้ 
  1.  การดำเนินงานพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  มีขั้นการดำเนินงาน   คือ  ศึกษาชุมชนและค้นหาทีมแกนนำ  ได้กลุ่มเป้าหมายที่แสดงความประสงค์และมีความพร้อมเข้าร่วมโครงการได้แก่กลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพร  และมีทีมแกนนำเข้าร่วมเป็นทีมวิจัย  และได้จัดทำแผนการดำเนินงานการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กรชุมชนในการพัฒนาองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง   1  ปี  ซึ่งประกอบด้วย  4  กิจกรรมหลัก  คือ  ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม  ด้านการผลิต  ด้านการตลาด  และด้านการเงินการบัญชี  ทำให้กลุ่มมีทิศทางการพัฒนาตนเอง  และนำไปสู่การจัดทำเครื่องมือตัวชี้วัดความสำเร็จในการ  ประกอบไปด้วยตัวชี้วัดย่อย  8  องค์ประกอบ  และผลจากประเมินผลกลุ่มองค์กรชุมชนก่อนการดำเนินงาน  พบว่าปัจจุบันกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพร  มีปัญหาคือ  กระบวนการผลิตไม่ได้คุณภาพ  สาเหตุขาดเครื่องมือและความรู้ทักษะในการผลิต  จุดเด่นมีโครงสร้างการบริหารจัดการกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง  จุดด้อยกลุ่มยังไม่สามารถขยายตลาดในวงกว้างได้  แนวทางแก้ไข  พัฒนากระบวนการผลิตขนมจีนด้วยการฝึกอบรมศึกษาดูงาน  และจัดหาเครื่องมือในการผลิต  จากการศึกษาบริบทชุมชนทำให้พบว่ามีข้อมูลกลุ่มองค์ชุมชนอยู่บ้างแล้วเนื่องจากชุมชนเคยมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ  และเอกชน  ทำให้ชุมชนมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับบริบททั่วไป  นอกจากนี้คนในชุมชนยังได้พัฒนาตนเอง  และเรียนรู้ในการทำงาน การเป็นผู้ดำเนินรายการ  การจัดเวทีชุมชน  ส่งผลให้หลายคนสามารถดำเนินการประชุม  และจัดระดมสมองกลุ่มย่อย  มีความรู้ในการจดบันทึกการประชุม  การจับประเด็น  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้การดำเนินงานการพัฒนาองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  
  2.  การพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง   พบว่า ได้มีการผลักดันให้กลุ่มองค์กรได้นำแผนการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  ไปใช้อย่างจริงจัง  โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน  คือ  สร้างความตระหนักในการดำเนินงาน ด้วยวิธีการจัดกิจกรรมให้กลุ่มองค์กรชุมชนได้ไปศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบในการพึ่งตนเอง  ทำให้สมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้และทักษะในการผลิตมากขึ้น  และจากการติดตามผลภายหลังการศึกษาดูงานกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหลายอย่าง  เช่น  มีสมาชิกฝ่ายผลิตมาทำงานอย่างต่อเนื่องมากขึ้น  ส่งผลให้กลุ่มองค์กรเป้าหมายดำเนินงานได้บรรลุตามเป้าหมายในระดับหนึ่ง  โดยเฉพาะด้านการผลิตกลุ่มสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้มีความหลากหลายมากขึ้น  และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตามประเด็น  พบว่า  กลุ่มยังมีปัญหาอุปสรรคที่ต้องดำเนินการวางแผนแก้ไขเพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  โดยการอบรมและศึกษาดูงานการบริหารจัดการกลุ่ม   การอบรมการตลาด  อบรมการเงินบัญชี 
ผลการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมส่งผลให้สมาชิกกลุ่มองค์กรมีความรู้  ทักษะและนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงระบบงานของตนเอง  ซึ่งผลการประเมินระหว่างดำเนินงาน  พบว่า  โดยภาพรวมกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพรมีพัฒนาการในการดำเนินงานระหว่างดำเนินการอยู่ในระดับสูง  คือ  อยู่ในระดับดีมากและมีพัฒนาการสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการกลุ่ม  ด้านการตลาด  และด้านการเงินบัญชี     ที่เป็นเช่นนี้เพราะการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยผู้วิจัยได้นำเทคนิควิธีการที่หลากหลายมาใช้  และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการร่วมวางแผน  ร่วมการปฏิบัติด้วยการลงมือปฏิบัติ  ร่วมรับผิดชอบ  ร่วมติดตามประเมินผล  และร่วมรับผิดชอบ  ส่งผลให้การดำเนินงานเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากคนในชุมชน  และมีความรู้สึกความเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน  เช่น  การระดมทุนจากสมาชิก  การประชุมประจำเดือน  นอกจากนี้การพัฒนาบนพื้นฐานที่เป็นศักยภาพจุดเด่น  และความต้องการของชุมชนก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่นำไปสู่บทเรียนการพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จ  เช่น  ในชุมชนมีวัตถุดิบ  คือ  ข้าว  สมุนไพร  แล้วนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่านอกจากจะเป็นการลดรายจ่ายให้กับสมาชิกกลุ่มแล้ว  ยังเป็นการสร้างงาน  สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย   
  3.  ผลการประเมินศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง
พบว่า โดยภาพรวมกลุ่มองค์กรชุมชนมีความสามารถต่อการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  อยู่ในระดับปานกลาง  โดยพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า  ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการจัดการทรัพยากร ด้านสุขอนามัยในชุมชน ด้านศาสนาวัฒนธรรมประเพณีโดย ด้านความรู้การเรียนรู้ชุมชน ด้านการบริหารชุมชน/แผนชุมชน ด้านองค์กรชุมชน/กลุ่มอาชีพ
 ด้านความรู้ความสามารถผู้นำ ด้านความรู้เด่นในชุมชนและด้านเครือข่ายความร่วมมือ
โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้เพราะกลุ่มอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการดำเนินกิจกรรม  และแสวงหาองค์ความรู้  เพื่อพัฒนาตนเองจึงส่งผลให้การดำเนินงานของกลุ่มในระยะนี้ยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  เช่น  วัตถุดิบถึงแม้ว่าในชุมชนจะมีข้าวแต่สมาชิกกลุ่มก็ยังขาดองค์ความรู้ในการทำแป้งหมักขนมจีน  และอุปกรณ์  เครื่องมือ  จึงส่งผลให้กลุ่มต้องพึ่งการนำเข้าแป้งจากโรงงานที่มีราคาแพงทำให้กลุ่มต้นทุนในการผลิตสูง  แต่เมื่อมองถึงเอกสารหลักฐานร่องรอยการปฏิบัติงาน  และแผนในการดำเนินงานของกลุ่มองค์กร  พบว่า  ทุกกิจกรรมล้วนมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การบรรลุตามตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ในอีก  1 – 2  ปี  ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหากจะมีการผลักดันให้กลุ่มองค์กรสามารถดำเนินงานพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียงได้ 

ข้อเสนอแนะ

 1.  ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
  1.1 ปรับกระบวนทัศน์และสร้างวาทกรรมใหม่ในการพัฒนา  โดยใช้ “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” แนวคิดการพึ่งตนเอง  เป็นแนวคิดกระแสหลักในการพัฒนาชุมชน  โดยใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
  1.2  จัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของชุมชนที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบและวิธีการพัฒนาชุมชนซึ่งกันและกัน
 2.  ข้อเสนอแนะด้านวิชาการและการวิจัย
  2.1 ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาสมรรถนะทางด้านวิชาการให้แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่   ให้มีความรู้  ความสามารถ  ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action  Research) หรือ  การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory  Action  Research) เพื่อให้สามารถเข้าไปส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  และมีการสรุปถอดบทเรียนเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
  2.2  ควรมีการวิจัยในเชิงการถอดองค์ความรู้  ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จในการสร้าง
และพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขในต่างชุมชนให้มากขึ้น
 3.  ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ
  3.1  การส่งเสริมกระบวนการพัฒนาชุมชน  ควรมีการบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชนโดยอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจของชุมชน  และมีการประสานความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปบทเรียนในการทำงานร่วมกัน  โดยการจัดเวทีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  3.2  สนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนใช้แผนชุมชนเป็นแผนกำหนดทิศทางการพัฒนา
ชุมชนตามวิสัยทัศน์  และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่พื้นที่กำหนด  และมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ  

เอกสารอ้างอิง

ฉลาด จันทรสมบัติ. (2547). การสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเอง .    มหาสารคาม : ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 
ฉลาด  จันทรสมบัติและคณะ. (2548). รายงานทีมที่ปรึกษาทีมวิจัยสนามระยะที่  3.  มหาสารคาม : 
ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก คณะ
ศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
บุญชม  ศรีสะอาด. (2545). การวิจัยเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่  7. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.
บุญส่ง  หาญพานิช. (2546). การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาไทย.
 วิทยานิพนธ์  คด. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประเวศ  วะสี. (2545).  เครือข่ายแห่งปัญญา. กรุงเทพฯ : ดีไซร์.
ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม. (2546).  การบริหารสังคม  :  ศาสตร์แห่งศตวรรษเพื่อสังคมไทย
              และสังคมโลก. พิมพ์ครั้งที่  2.  กรุงเทพฯ  :  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน).
วิจารณ์ พานิช. (2547). การจัดการความรู้. กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
(สคส.).
เสรี  พงศ์พิศ,  วิชิต  นันทสุวรรณ  และจำนงค์  แรกพินิจ. (2544). วิสาหกิจชุมชน แผนแม่บท  แนวคิด  แนวทางตัวอย่าง  ร่างพระราชบัญญัติ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญาไท. 

หมายเลขบันทึก: 204557เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2008 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท