กระบวนการประชาธิปไตย: ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยในปี 2550-2551(3)


ในการวิจัยดังกล่าวพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีแนวคิดที่โน้มเอียงสู่ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยมสูงกว่าประชาธิปไตยแบบเสรี โดยพบว่า มีประชาชนยอมรับการเข้ามาแทรกแซงของทหารในกรณีที่เกิดการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีปัญหาการทุจริตมากจนประชาชนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ประชาชนยอมรับการแทรกแซงทางการเมืองของทหารในเดือนกันยายน ปีพ.ศ. 2549

ตัวชี้วัดการสนับสนุนประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย

            ตัวชี้วัดที่ 1: ความพึงพอใจในระบอบประชาธิปไตย

แม้รายงานของ Albritton & Tawilwadee (2007) ทำให้เราเห็นความแตกต่าง หรือความโน้มเอียงที่จะนำไปสู่ความแตกแยกในทางความคิดของปวงชนชาวไทย แต่อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ยังมีความพึงพอใจกับวิถีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยจากงานวิจัยที่ทำเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งทำติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 (ยกเว้นปี พ.ศ. 2548) พบว่า ร้อยละของประชาชนชาวไทยที่มีความพึงพอใจสูงในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยมีมากกว่าประชาชนที่มีความพึงพอใจต่ำมาโดยตลอด แต่เมื่อดูสถิติในปี พ.ศ. 2549 พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่ำกว่าในปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2550 ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะในปี พ.ศ. 2549 นั้นมีความตึงเครียดทางการเมืองเกิดขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนมกราคม จนกระทั่งปะทุแตกหักในเดือนกันยายน และจากสถิติพบว่าในปี พ.ศ. 2550 ประชาชนที่มีความพึงพอใจต่อวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา คือ มีความพึงพอใจสูงในจำนวนร้อยละ 76.9 ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้านั้นทั้งหมด ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะว่าบ้านเมืองได้กลับเข้าสู่ความสงบสุขอีกครั้งหนึ่งหลังจากความตึงเครียดและวิกฤติทางการเมือง แม้ว่าในปี พ.ศ. 2550 จะปกครองด้วยรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร แต่รัฐบาลก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเร็วที่สุด หลังจากที่รัฐธรรมนูญได้รับการลงประชามติแล้ว

ตัวชี้วัดที่ 2: ความยึดมั่นต่อแนวทางแบบประชาธิปไตย

เมื่อวิเคราะห์ว่าถึงความยึดมั่นในวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยจากรายงานของสถาบันพระปกเกล้าพบว่า ส่วนใหญ่แล้วประชาชนมีความยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมากกว่าระบอบการปกครองแบบอื่น ๆ  และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน พบว่าประชาชนในประเทศไทยมีการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากกว่าระบอบอื่น ๆ  โดยในรายงานล่าสุดของ Yun-han Chu & Min-hua Huang (2007) เกี่ยวกับการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก และพบว่าประเทศเหล่านี้สนับสนุนประชาธิปไตยน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ที่เพิ่งพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงหลังสงครามเย็นนี้ (ประเทศประชาธิปไตยในคลื่นลูกที่สาม) โดยเมื่อเปรียบเทียบจากการข้อมูลที่พบในประเทศสเปน โปรตุเกส และกรีซ พบว่าประชาชนมากกว่า 3 ในสี่ระบุว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เป็นที่พึงปรารถนามากกว่าระบอบอื่นๆ ซึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกด้วยกันพบว่า มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มีการสนับสนุนประชาธิปไตยในระดับสูงกว่าการปกครองในระบบอื่น ๆ คือ ร้อยละ 81.9  ซึ่งในรายงานของ Yun-han Chu & Min-hua Huang (2007)  พบว่า ประชาชนเพียงร้อยละ 47.9 ในประเทศเกาหลี และ 50.9 ในไต้หวันเท่านั้นที่มีความเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด ซึ่งหมายความว่าประชาชนกึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งในกลุ่มในประเทศนี้สนับสนุนระบอบอื่น ๆ นอกเหนือไปจากประชาธิปไตย จากรายงานฉบับนี้จึงทำให้เห็นว่า มีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกที่พึงพอใจในระบอบประชาธิปไตยมากกว่าระบอบอื่น

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2550 พบว่า ประชาชนมีความยึดมั่นต่อแนวทางแบบประชาธิปไตยน้อยกว่าปี พ.ศ. 2549 โดยเหลือเพียงร้อยละ 84.3  จากที่เคยมากถึงร้อยละ 93.9 ในปี พ.ศ. 2548  ซึ่งสาเหตุที่สถิติของประชาชนมีความยึดมั่นต่อแนวทางแบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2550 น้อยกว่าในปี พ.ศ. 2548 เพราะประชาชน เริ่มเปิดแนวคิดให้กับวิถีการปกครองแบบอื่น ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อปราบปรามความวุ่นวาย และความไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งมีที่มาจากความตึงเครียดทางการเมืองการเมืองของประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2548-2550 ที่ผ่านมา

     ตัวชี้วัดที่ 3: ความโน้มเอียงสู่ประชาธิปไตย (Orientation to Democracy)

            เพื่อที่จะวิเคราะห์ว่า คำว่าประชาธิปไตย ในความหมายที่ประชาชนไทยมีความพึงพอใจและมีความเชื่อมั่นนั้น มีความหมายโน้มเอียงไปสู่ประชาธิปไตยแบบเสรี (Liberal Democracy) หรือประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Democracy) ทำให้ต้องศึกษาความโน้มเอียงสู่ประชาธิปไตย ด้วยการตั้งคำถาม 3 คำถามที่เกี่ยวข้องกับการเป็นประชาธิปไตย ได้แก่ 1.  การยอมรับการแทรกแซงของทหารในสถานการณ์ที่มีการทุจริตมาก 2. ความต้องการสังคมที่มีระเบียบเปรียบเทียบกับสังคมที่ให้อิสระแก่ประชาชนมากเกินไปจนทำลายความมั่นคงและการพัฒนา 3. ความอดกลั้นต่อความเห็นของคนส่วนน้อย

           

            ในการวิจัยดังกล่าวพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีแนวคิดที่โน้มเอียงสู่ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยมสูงกว่าประชาธิปไตยแบบเสรี โดยพบว่า มีประชาชนยอมรับการเข้ามาแทรกแซงของทหารในกรณีที่เกิดการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีปัญหาการทุจริตมากจนประชาชนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ประชาชนยอมรับการแทรกแซงทางการเมืองของทหารในเดือนกันยายน ปีพ.ศ. 2549 นอกจากนั้นแล้วยังวิเคราะห์ได้ว่าการที่ประชาชนต้องการสังคมที่มีความเป็นระเบียบมากกว่าการให้อิสระแก่ประชาชนมากเกินไปนั้น เป็นเพราะประชาชนต้องอดทนอยู่กับสถานการณ์ความแตกแยกทางสังคมและการใช้ความรุนแรงอันเนื่องจากความแตกต่างทางความคิด การให้อิสระกับการแสดงความเห็นมากเกินไปที่ผ่านมา ได้ทำลายความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศ และประการสุดท้ายคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ต้องการอดกลั้นต่อความเห็นของคนกลุ่มน้อยที่ต่างไปจากความเห็นของคนส่วนใหญ่   จึงสรุปได้ว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่มีความโน้มเอียงเป็นอนุรักษ์นิยมประชาธิปไตย

 

หมายเลขบันทึก: 204041เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2008 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับพี่...

มาตามอ่านครับ  แต่งานอ่านยากนะครับอ่านแล้วง่วงดีจัง พี่...

คนไทยส่วนไทยไม่ค่อยมีความรู้เรื่องประชาธิปไตรอย่างเเท้จริงและมิรู้การได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตรนั้นยากเพียงใด หากแต่ที่อนุรักษ์ประชาธิปไตรเพียงพอ มีคนเคยปฎิบัติตาม พูดง่ายๆทำตามธรรมเนียมที่คนรุ่นก่อนเขาทำกัน หาใช่รู้จักความสำคัญของประชาธิปไตรไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท