กระบวนการประชาธิปไตย: ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยในปี 2550-2551(2)


รายงานของ Albritton & Tawilwadee จึงเป็นงานวิจัยล่าสุดที่ทำให้เราเห็นว่า ความแตกต่างทางแนวคิดเกี่ยวกับการยอมรับประชาธิปไตยในเขตชนบทและเขตเมืองค่อนข้างมีความรุนแรง ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของโอกาส สภาพแวดล้อม ความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมการเมืองของคนในสองสังคมนี้มีความแตกต่างกัน ซึ่งต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจพัฒนาไปสู่ความเปราะบาง ที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เป็นได้

ธรรมาภิบาลกับกระบวนการประชาธิปไตย

            ธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นแนวคิดที่เริ่มจากนโยบายของธนาคารโลก World Bank ที่นำมาใช้เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการให้กู้เงินตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 เพื่อแก้ปัญหาประสิทธิภาพในการบริหารราชการและการทุจริตในรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศผู้ขอกู้ไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนเงินกู้ที่ได้สร้างไว้กับธนาคารโลกได้  ส่วนในประเทศไทย ได้มีการนำหลักการธรรมาภิบาลเข้ามาประยุกต์ใช้ในองค์กรของรัฐและองค์กรเอกชนครั้งแรกช่วงหลังการเข้าร่วมโครงการรับความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ภายหลังประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่มีวินัยทางการเงินของภาคเอกชน และความไม่โปร่งใสในการบริหารงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน วิกฤติดังกล่าวทำให้นักวิชาการและผู้บริหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยกเรื่องธรรมาภิบาลมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดระเบียบให้สังคม ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้วางรากฐานการพัฒนาธรรมาภิบาลของสังคมไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปศาลและระบบตรวจสอบ การปฏิรูประบบผู้แทน และการขจัดความทุจริตในบ้านเมือง

จากการตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลในครั้งนั้น ได้มีการนำหลักการธรรมาภิบาลไปใช้ในแวดวงภาครัฐและภาคเอกชน จึงนับได้ว่าจากเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ได้มีการนำหลักธรรมาภิบาลในงานบริการภาครัฐ และองค์กรเอกชนขนาดใหญ่อย่างจริงจังและพบว่าธรรมาภิบาลมีส่วนต่อความสำเร็จขององค์กร*  ซึ่งที่ผ่านมา ธรรมาภิบาลเป็นแนวคิดสำคัญในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ภายหลังวิกฤติทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมานี้ ธรรมาภิบาลจะต้องกลับมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีความยั่งยืนและมั่นคง  โดยมีผลการศึกษาที่บ่งชี้และยอมรับในระดับสากลว่า ประเทศที่มีการบริหารการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีการบริหารจัดการที่ดีหรือมีธรรมาภิบาลและเป็นสังคมเปิด มีภาวะการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติเร็วกว่าประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและมีธรรมาภิบาลถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ในงานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า หากความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น การทุจริตในการบริหารบ้านเมืองจะลดลง (Pie ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, 2543)   

ความเป็นธรรมาภิบาลในกระบวนการประชาธิปไตย จึงต้องรวมหลักการบริหารบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม การเคารพสิทธิของผู้พลเมือง การเร่งขยายฐานชนชั้นกลาง ที่มีการศึกษา มีความมีอิสระทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความตระหนักถึงสิทธิทางการเมืองทางการเมืองของตน โดยหลักการแห่งธรรมาภิบาล จะช่วยเปิดระบบการเมือง ทำให้เกิดการหมุนเวียนของข่าวสาร เพิ่มความโปร่งใส ในกระบวนการประชาธิปไตย การนำคนเข้าสู่ระบบการบริหารประเทศ การควบคุมหลักนิติธรรม หลักความรับผิดชอบ หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความคุ้มค่าและหลักคุณธรรม 

 

ปัญหาความแตกแยกทางความคิดของประชาชน

เมื่อพิจารณาความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบันในตารางที่ 1 พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติว่าปัญหาการทุจริต การใช้ความรุนแรงทางการเมือง และความแตกแยกของประชาชนมีความรุนแรงมาก ความน่าสนใจของทัศนคติดังกล่าวอยู่ที่ประเด็นเรื่องความแตกแยกของประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่รุนแรงถึงขนาดนี้ ทัศนะคติดังกล่าวได้รับการยืนยันโดย Albritton & Tawilwadee  (2007) ค้นพบว่ามีความแตกต่างของแนวคิดทางการเมืองและสังคมระหว่างประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบทอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ โดยความแตกแยกทางความคิดของประชาชนนี้ส่งผลความตึงเครียดทางการเมือง และทำให้เกิดผลกระทบต่อความอดทนอดกลั้นต่อประชาธิปไตยและรัฐบาลประชาธิปไตย โดย Albritton & Tawilwadee (2007) ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างของรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนโดยเปรียบเทียบระหว่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพ และนอกเขตกรุงเทพ การศึกษา และความโน้มเอียงสู่การทันสมัย (modernism) พบว่าประชาชนในเขตกรุงเทพและนอกเขตกรุงเทพมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ  ซึ่งทำให้ส่งผลถึงการยอมรับระบบการเมืองอื่นที่แตกต่างจากประชาธิปไตย

ถึงแม้ว่าผลการวิจัยของ Albritton & Tawilwadee จะทำให้เราเห็นว่า ทั้งคนกรุงเทพและคนนอกเขตกรุงเทพส่วนใหญ่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยมากกว่าระบอบอื่นๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างในแนวคิดระหว่างคนกรุงเทพและคนต่างจังหวัดแล้ว พบว่าคนกรุงเทพจะยอมรับระบบการเมืองอื่นนอกเหนือไปจากประชาธิปไตยมากกว่าคนกรุงเทพนอกเขตกรุงเทพ  ซึ่งโดยการเก็บแบบสอบถามจำนวน 1546 ชุด พบว่า คนในเขตกรุงเทพมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าคนนอกเขตกรุงเทพ โดยคนนอกเขตกรุงเทพยอมรับการไม่มีพรรคฝ่ายค้านร้อยละ 18.6 ซึ่งน้อยกว่าคนนอกเขตกรุงเทพที่ยอมรับการไม่มีพรรคฝ่ายค้านจำนวนร้อยละ 27.5 ส่วนการยอมรับบทบาทของทหารในการเข้ามาปกครองประเทศนั้น พบว่า คนนอกเขตกรุงเทพยอมรับรัฐบาลทหารร้อยละ 20.6 ซึ่งน้อยกว่าคนในเขตกรุงเทพ ซึ่งยอมรับมากกว่าโดยมีจำนวนการยอมรับถึงร้อยละ 31.0 และเมื่อถามว่าควรจะแทนที่รัฐสภาด้วยผู้นำที่เข้มแข็งหรือไม่ก็พบว่า คนนอกเขตกรุงเทพยอมรับผู้นำที่เข้มแข็งเพียงร้อยละ 23.2 ซึ่งน้อยกว่าคนกรุงเทพ ที่ยอมรับผู้นำเข้มแข็งแทนที่รัฐสภาถึงร้อยละ 31.9 โดยมีค่านัยยะสำคัญทางสถิติน้อยกว่า 0.01 แสดงว่าคำตอบที่ได้ความน่าเชื่อถือมาก

ตารางที่ 2 ร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามที่ยอมรับระบอบการปกครองอื่นนอกเหนือไปจากประชาธิปไตย ,2549

 

นอกเขตกรุงเทพ

กรุงเทพ

ทั้งหมด

ไม่ควรมีพรรคฝ่ายค้าน*

18.6

27.5

19.6

ทหารควรเข้ามาปกครองประเทศ*

20.6

31.0

21.8

ควรแทนที่รัฐสภาด้วยผู้นำที่เข้มแข็ง*

23.2

31.9

24.3

จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 1546 คน                 *ค่านัยสำคัญทางสถิติ น้อยกว่า 0.01

ที่มา:  Albritton & Tawilwadee (2007)

นอกจากนี้ในรายงานของ Albritton & Tawilwadee ยังพบข้อมูลว่าประชาชนส่วนใหญ่มองว่ายังต้องการให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพมากกว่ามีประชาธิปไตย กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยส่วนใหญ่เห็นว่า ความแตกต่างทำให้เกิดความวุ่นวาย กลุ่มต่าง ๆ ทำให้เกิดความแตกแยก และในกรณีที่เกิดวิกฤติ รัฐบาลควรปฏิบัติการใด ๆ ในการแก้ไขวิกฤติแม้จะขัดต่อกฎหมาย โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพในปี 2549 ยอมรับที่จะได้รับความกดดันทางสิทธิเสรีภาพได้มากกว่าประชาชนนอกเขตกรุงเทพ ซึ่งนั่นหมายความว่าคนกรุงเทพยอมรับเผด็จการ แต่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงได้มากกว่าคนนอกเขตกรุงเทพซึ่งยังต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างคนในสองเขตเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น 

 

ตารางที่ 3 ร้อยละของประชาชนที่สนับสนุนระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy), 2549

 

นอกเขตกรุงเทพ

กรุงเทพ

ทั้งหมด

ความแตกต่างทำให้เกิดความวุ่นวาย*

80.4

83.7

80.8

กลุ่มต่าง ๆ ทำให้เกิดความแตกแยก**

86.7

88.1

86.9

รัฐบาลควรตัดสินใจแก้ไขปัญหา**

47.4

54.0

48.2

ในกรณีที่เกิดวิกฤติ รัฐบาลควรปฏิบัติการใด ๆ ในการแก้ไขวิกฤติแม้จะขัดต่อกฎหมาย**

58.9

61.1

59.3

*ค่านัยสำคัญทางสถิติ น้อยกว่า 0.01

**ค่านัยสำคัญทางสถิติ น้อยกว่า 0.05

ที่มา:  Albritton & Tawilwadee (2007)

โดยสรุปแล้วรายงานการวิจัยของ Albritton & Tawilwadee ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยได้รับการสนับสนุนจากคนในเขตกรุงเทพน้อยกว่าคนนอกเขตกรุงเทพ ซึ่งเป็นเพราะคนในเมืองใหญ่มีความหวงแหน หรือหวาดกลัวที่จะสูญเสียอภิสิทธิ์ที่ตนเองมีในสังคม เพราะประชาธิปไตยทำให้อำนาจในการควบคุมของผู้นำชั้นสูงเปลี่ยนมือไปอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางอำนาจจากกรุงเทพสู่ชนบท ซึ่งเป็นการลดทอนความมั่นคงทางอำนาจของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพ รายงานของ Albritton & Tawilwadee จึงเป็นงานวิจัยล่าสุดที่ทำให้เราเห็นว่า ความแตกต่างทางแนวคิดเกี่ยวกับการยอมรับประชาธิปไตยในเขตชนบทและเขตเมืองค่อนข้างมีความรุนแรง ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของโอกาส สภาพแวดล้อม ความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมการเมืองของคนในสองสังคมนี้มีความแตกต่างกัน ซึ่งต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจพัฒนาไปสู่ความเปราะบาง ที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เป็นได้



* โปรดอ่านนายกิตติศักดิ์ ประเสิรฐสงค์ และคณะ(2549) ในธรรมาภิบาลกับความสำเร็จขององค์กร: กรณีศึกษาองค์กรภาคเอกชนเพื่อวิเคราะห์การชี้วัดความสำเร็จในองค์กรภาครัฐ 

หมายเลขบันทึก: 204024เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2008 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัดีครับคุณพี่อาจารย์ ลูกเต๋า

มาอ่านและลงชื่อไว้ครับขออุทานเป็นภาษาอังกฤษว่า "modernization without development!!!"

จากการที่ได้ศึกษาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย สรุปได้ว่า กระบวนการประชาธิปไตย คือ ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมการเมือง กิจกรรมองค์กรของรัฐ กิจกรรมองค์กรเอกชน กิจกรรมมูลนิธิ กิจกรรมชมรม กิจกรรมกลุ่ม ฯลฯ ซึ่งยึดอุดมการประชาธิปไตย ยึดหลักการประชาธิปไตย ให้เป็นไปตามวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ถูกต้อง โดยมีจริธรรมประชาธิปไตยกำกับการปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆเป็นไปตามวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง กระผมมีความคิดเห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย การสร้างวิสัยทัศน์ การเลือกตัวแทน การวางแผน การดำเนินการ การตรวจสอบ การแก้ปัญหา การประเมินผลและการปรับปรุงแก้ไข ปัญหาที่พบคือ 1.การสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งอาจเป็นผลมาจากการการมีความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกันหรือผิดเพลี้ยนไป ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางด้านความคิดอย่างรุนแรง 2.การแก้ปัญหา ในปัจจุบันกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มนิยมแก้ปัญหาโดยวิธีการรุนแรง การใช้อำนาจ ยึดแนวความคิดของกลุ่มตนเองเป็นใหญ่ ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตย เพราะนิยมแก้ปัญหาโดยวิธีการใช้สติปัญญา ยึดหลักเหตุผล เสรีภาพ อิสรภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ การมีส่วนร่วมและหลักแห่งเสียงข้างมาก ซึ่งการแก้ปัญหาจะพบกับความล้มเหลว หากขาดจริยธรรมประชาธิปไตย ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ความเสียสละ ความมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นว่าพลเมืองของประเทศบางกลุ่ม บางส่วน ขาดจริยธรรมประชาธิปไตย เห็นประโยชน์ส่วนตนหรือของกลุ่มเป็นใหญ่ ไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีความยุติธรรม ขาดระเบียบวินัย ขาดความรับผิดชอบ เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ แก้ปัญหาด้วยวิธีการรุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ กระผมมีความคิดเห็นว่า การแก้ปัญหารการปกครองของประเทศนั้นสามารถแก้ไขได้โดยการพัฒนาพลเมืองของประเทศให้มีคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมด้านประชาธิปไตยโดยให้ตระหนักรู้ในคุณค่าของประชาธิปไตย และนำอุดมการณ์ประชาธิปไตย หลักการประชาธิปไตย มาปฏิบัติให้เป็นไปตามวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีจริยธรรมประชาธิปไตยกำกับการปฏิบัติ ซึ่งการพัฒนาพลเมืองของประเทศให้มีคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมด้านประชาธิปไตยต้องพัฒนาตั้งแต่วัยเด็กไปจนตลอดชีวิตเพราะทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองไม่ทางตรงก็ทางอ้อมชีวิตอยู่แล้ว

เมษิต กองเงิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท