สมมุติฐาน 5 ประการของ Stephen Krashen (ต่อ)


Stephen Krashen

ซึ่งKrashen กล่าวว่าผู้สอนต้องจัดสภาพแวดล้อมและสื่อต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่ป้อนเข้าไป (input) เป็นการพัฒนาผู้เรียนจาก i ไปสู่ i +1 หมายความว่าพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ต่างๆ จากในหนังสือ ความรู้รอบตัวและบริบทต่างๆ  เพื่อช่วยให้เข้าใจ โดยเฉพาะครู พ่อแม่ สามารถทำให้สิ่งที่ป้อนให้เด็กนั้นง่ายลง (Cook, V. 1993, p. 53)

            ถ้าเด็กใช้ความรู้เดิม (i) เพื่อจะเรียนเรื่องต่อไป (i+1) บางครั้งพวกเขาต้องใช้ความรู้เดิมเพื่อช่วยให้เข้าใจเรื่องต่อไปหรือบทที่กำลังเรียน สิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจมากที่สุดคือ บริบท (Context-extra linguistic information) เช่นเดียวกับพี่เลี่ยงเด็กที่พูดกับเด็กโดยใช้ภาษาที่ง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจ พูดถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เกิดขึ้นในขณะนี้ (Here and now) พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องขณะนี้หรือต่อหน้าเด็ก แต่เราจะไม่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้กับเด็ก ซึ่งเด็กที่ได้รับการป้อนภาษาที่ง่าย ใช้กฎง่ายๆ ที่เน้นการสื่อสารที่เหมาะสมกับระดับของเด็ก และเขาเข้าใจจากบริบทของภาษาที่ผู้สอนเป็นคนสร้างให้

            แหล่งข้อมูลที่สามารถป้อนสิ่งที่เข้าใจได้ (Comprehensible input ) มี 3 แหล่ง ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ใช้ภาษาง่ายๆ คือ

1.      การพูดของชาวต่างชาติ (Foreigner talk)

2.      คำพูดของครู (Teacher talk)

3.      คำพูดของคนที่ใช้ภาษาสากล (Inter language talk)

คำพูดของชาวต่างชาติที่ปรับให้ง่ายขึ้นเมื่อต้องพูดกับคนที่มีความสามารถทาง

ภาษาน้อยกว่า ส่วนคำพูดของชาวต่างชาติในห้องเรียนก็คือ คำพูดของครูผู้สอนนั่นเอง เป็นภาษาที่ใช้ในการอธิบายในห้องเรียนที่สอนภาษาที่สอง  หรือการอธิบายการให้คะแนนสอบกลางภาคและวิธีทำ  สิ่งเหล่านี้คือคำพูดของครูซึ่งจะฟังได้ง่ายกว่าที่เด็กจะพบในสถานการณ์จริง  แต่ทั้ง 3 แหล่งข้อมูลล้วนใช้เพื่อการสื่อสารที่เน้นที่ข้อความ

(message)มากกว่าจะเป็นรูปแบบหรือฟอร์มของภาษา (form)  เพราะฉะนั้นครูที่ดีคือ ผู้ที่สามารถพูดให้นักเรียนเข้าใจไม่ใช่สอนแค่โครงสร้างตามหลักสูตรเท่านั้น  ซึ่งหลักสูตรควรจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ  ใช้คำพูดง่ายๆ ที่สามารถทำให้นักเรียนเข้าใจได้ ครูควรจะทำอย่างไรให้นักเรียนเข้าใจไวยากรณ์ โดยครูสามารถใช้บริบททางภาษา เช่น รูปภาพ สื่อต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญ   นอกจากนี้วิธีการสอนพูดที่ดีคือการป้อนสิ่งที่เด็กเข้าใจได้ ซึ่งสมมุติฐานนี้เป็นทฤษฎีโบราณที่ยังรับได้ ทำให้รู้ความจริงของการรับรู้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญในการรับรู้ภาษาแต่ยังไม่เพียงพอ มันยังมีสิ่งกีดขวางหรืออุปสรรคที่จะทำให้การรับรู้ทางภาษาไม่สมบูรณ์ซึ่งเราเรียกว่า Affective filter  (Cook, V. 1993, p. 54)

            5. สมมุติฐานที่ 5 The affective filter Hypothesis

            Dulay และ Burt แนะนำว่า ด้านจิตใจ (affective filter) สามารถเก็บรักษาข้อมูลได้ เราเคยพูดถึงสิ่งกีดขางในจิตใจที่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ภาษา สิ่งที่อยู่ในจิตใจนั่นคือ เจตคติ แรงจูงใจ ความเครียดและความวิตกกังวล ผู้ที่รับรู้ภาษาที่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง มีสภาพเครียดเมื่อเกิดการรับรู้ภาษาแม้จะเข้าใจแต่ก็รับรู้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

            ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาที่สองส่งผลต่อการเรียนภาษาในด้านเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากรู้ข้อมูลใหม่ๆ และประสบการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เรียนรับรู้สิ่งที่ป้อนให้เร็วยิ่งขึ้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การทำให้จิตใจสงบ (The affective filter is down) เช่น ทำให้ห้องเรียนมีความผ่อนคลาย ไม่เกิดความวิตกกังวล  แต่เนื่องจากแต่ละบุคคลมีกระบวนการรับรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นครูต้องพยายามจัดการเรียนรู้ในสภาพที่สอดคล้องกับกระบวนการรับรู้ของเด็ก เพราะถ้าจิตใจไม่สงบ (The affective filter is up) เนื่องมาจากความเครียด ขาดแรงจูงใจ อาจจะทำให้การรับรู้ภาษาไม่ได้ผลเต็มที่ แต่ถ้าจิตใจสงบ เนื่องมาจากการมีทัศนคติที่ดี เกิดแรงจูงใจและรู้สึกผ่อนคลายก็จะทำให้การรับรู้ภาษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

            แม้ว่าสิ่งที่เราป้อนให้นั้นสามารถเข้าใจได้ (Comprehensible input) ที่จำเป็นต่อการรับรู้ แต่ก็ไม่เพียงพอ เรายังต้องการจิตใจที่สงบด้วย  ครูจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่ไม่เครียดรู้สึกผ่อนคลายและป้อนข้อมูลที่เข้าใจได้ให้ ถ้าทำได้ทั้งสองสิ่งนี้ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในการรับรู้ภาษาที่สอง 

            องค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Monitor Model ซึ่ง Krashen ได้อภิปรายไว้ที่เห็นได้ชัดในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SLA

1.   ความถนัด (Aptitude) ความถนัดด้านภาษาที่สองมีอิทธิพลต่อการเรียนภาษาที่สอง ผู้เรียนที่มีความถนัดด้านภาษาที่สองจะพัฒนาได้ดีและเร็วกว่าผู้เรียนที่ไม่มีความถนัดด้านนี้ แต่ต้องได้รับการจัดการเรียนการสอนเพื่อการสื่อสาร

2.   บทบาทของภาษาแม่ (Role of first language) Krashen บอกว่าภาษาแม่มาได้ส่งผลต่อภาษาที่สองแต่อาจจะช่วยเกื้อหนุนกัน เช่น ผู้เรียนจะย้อนกลับไปที่ภาษาแม่เมื่อไม่เข้าใจกฎของภาษาที่สองเพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่คล้ายกัน

3.   ประโยคและโครงสร้างที่ใช้เป็นประจำ (Routine and pattern)  คือ ประโยคที่ผู้เรียนท่องจำทั้งหมด ซึ่ง Krashen บอกว่า การใช้ภาษาเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดการรู้ภาษาหรือการเรียนภาษาโดยตรง เพราะบางครั้งประโยคหรือบทสนทนาที่ท่องมาอาจไม่เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือถามกลับไปแล้วผู้ฟังตอบกลับแล้วไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้

4.   ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Difference)  Krashen กล่าวว่า การรับรู้เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ (สมมุติฐานที่ 2 Natural order) มีตัวแปรด้านระดับข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามาที่เข้าใจได้ และสภาพของจิตใจซึ่งมีผลต่อการแสดงออกและนำไปสู่ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วย ซึ่ง Krashen แบ่งผู้ใช้ไวยากรณ์เพื่อการแก้ไขภาษาไว้ 3 ประเภทคือ over-users, under-users และ optimal users ซึ่งแบ่งตามระดับความต้องการและความสามารถของแต่ละบุคคล การปรับแก้ควรทำในระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์

5.   อายุ (Age) อายุมีอิทธิพลต่อภาษาที่สองหลายประการคือ มันจะส่งผลต่อจำนวนข้อมูลที่ป้อนเข้ามา ถ้าอายุน้อยอาจจะได้รับมากกว่าพวกอายุมาก นอกจากนี้อายุยังส่งผลต่อการเรียนรู้ คนอายุมากกว่าจะเหมาะสมที่จะเรียนโครงสร้างของภาษาและการใช้ความรู้ที่เรียนมาในการควบคุมแก้ไขและอายุยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เรียนด้วย (Affective) (Ellis 1985, p. 263-264)

       หลังจากที่ได้ศึกษาทั้ง 5 สมมุติฐานของ Stephen Krashen ในเรื่องของ Monitor Model หรือ Monitor Theory (MT) ก็พอจะสรุปอย่างสั้นๆ ได้ว่า มนุษย์รับรู้ภาษาที่สองได้ก็ต่อเมื่อเขาได้รับการป้อนข้อมูลที่สามารถเข้าใจได้และมีสภาพจิตใจที่สงบมากพอที่จะรับข้อมูลนั้นไป เมื่อจิตใจสงบและมีข้อมูลที่เข้าใจได้ การรับรู้ก็จะประสบความสำเร็จ (Inevitable)

      “Comprehensible input + low affective filter is necessary and sufficient for SLA.” (Larsen-Freeman, D. and Long, M. H. 1991, p. 243)

           

 

            การจัดการเรียนการสอนโดยนำสมมุติฐานทั้ง 5 ไปปรับใช้ในชั้นเรียน

            1. จากสมมุติฐานเราพบว่า input เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนภาษา ดังนั้นผู้เรียนต้องเข้าใจ ข้อความ(message) ที่ให้ความสำคัญกับความหมาย (meaning) มากกว่ากฎเกณฑ์ทางภาษา ดังนั้นการสอนให้ผู้เรียนรู้ภาษาต้องมีกระบวนการทำให้ผู้เรียนเข้าใจข้อความมากกว่าที่จะสอนไวยากรณ์เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การสอนศัพท์ก็จำเป็นเพราะจะทำให้เข้าใจ input มากขึ้น ผู้สอนไม่ควรเคร่งครัดเรื่องไวยากรณ์มากเกินไป ขอให้ผู้เรียนสื่อสารได้ก็ถือว่ารู้ภาษาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง (i+1)

            2. ในการสอนทักษะพูด ควรเน้นทักษะฟังและทักษะอ่านแล้วการพูดอย่างคล่องแคล่วจะเกิดขึ้นตามมาเอง ไม่ควรเร่งให้เด็กพูดให้เขาพูดเมื่อรู้สึกว่าตนเองพร้อมที่จะพูด อาจจะสอนโครงสร้างประโยคเพื่อการสื่อสารที่พบบ่อยๆ ก่อนแต่ไม่ใช่การรู้ภาษาเพราะใช้เฉพาะสถานการณ์เท่านั้นโดยไม่รู้ภาษา

            3. ไวยากรณ์ช่วยในการปรับแก้การใช้ภาษาในกาสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  บางครั้งครูผู้สอนสามารถสอนไวยากรณ์แบบเข้มข้นแก่ผู้ที่ต้องรู้อย่างลึกซึ้งเพราะต้องใช้ในวิชาชีพของตนเอง เช่น ครูผู้สอนหรือภาษาศาสตร์  ครูผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ไวยากรณ์เพื่อตรวจแก้ตามความเหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ เช่น ใช้ไวยากรณ์ตรวจแก้ในการเขียน ส่วนการสื่อสารทั่วๆ ไปที่ไม่เป็นทางการไม่จำเป็นต้องตรวจแก้ก็ได้

            4. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมทั้งที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้ภาษาและเรียนภาษาแต่จะเน้นหนักกิจกรรมเพื่อการรู้ภาษา

            5. ครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนลดทัศนคติด้านลบและลดความวิตกกังวลในการเรียนภาษาที่สอง เช่น ไม่เร่งเด็กพูดเมื่อยังไม่พร้อม  ค่อยๆ ส่งเสริมทีละทักษะเป็นขั้นๆ ตอบสนองเริ่มจากคำ วลี และประโยค ไม่แก้ไขข้อผิดพลาดในขั้นแรกเพราะทำให้ทักษะเพื่อการสื่อสารช้าลง  กิจกรรมที่น่าสนใจทำให้บรรยากาศในห้องเรียนไม่เครียดผู้เรียนไม่วิตกกังวล

 

       References

Cook, V. (1993), Linguistics and Second Language Acquisition

Dulay, H.C, Burt, M. and Krashen, S. (1982) Language Two

Ellis, R. (1985) Understanding Second Language Acquisition, Oxford: Oxford University Press

Ellis, R. (1994) The Study of Second Language Acquisition, Oxford: Oxford

University Press

Klein, W. (1986), Second Language Acquisition

Larsen Freeman, D. and Long, M.H. (1991), An Introduction to Second Language Acquisition Research

Saville-Troike, M.(2006), Introducing Second Language Acquisition

 

หมายเลขบันทึก: 203450เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2008 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ตามมาดูเยี่ยมากๆๆ
  • มาเล่าเรื่องการสอนบ้างนะครับ
  • ผมมีเล่มนี้ครับ
  • Ellis, R. (1994) The Study of Second Language Acquisition, Oxford: Oxford

    University Press

  • ตอบแทนน้องได้มั้ยอาจารย์
  • อาจารย์ตามอ่านทุกบันทึกเลย
  • ไม่เป็นไร  พี่ตอบแทนเองนะ
  • น้องเขาพูดไม่เก่ง
  • ก็คงตอบไม่เก่งด้วย

ขอบคุณนะคะ เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ อยากให้เขียนแบบนี้อีกเยอะๆเลยค่ะ เป็นประโยชน์กับคนที่เรียน แล้วอ่าน text ไม่เข้าใจมากๆเลยค่ะ หาที่มีคนเขียนสรุปเป็นภาษาไทยแทบไม่มีเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท