ผู้นำ


บุคคลที่มีผู้ตาม มีอิทธิพลที่จะทำให้ผู้ตามร่วมกันปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือบุคคลที่สามารถถ่ายทอดความต้องการของตนให้ผู้อื่นรับทราบได้ และสามารถทำให้ผู้อื่น กระทำการสอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวของตน หรือ บุคคลที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จก้าวหน้า โดยใช้อิทธิพลจูงใจ ให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม

หากจะถามถึงความหมายของ ผู้นำต่างคน อาจจะให้ความหมายที่ต่างๆกันไป ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า ผู้นำคือ ผู้ที่มองเห็นในสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็น คิดในสิ่งที่ผู้อื่นคิดไม่ถึง ศรัทธาในความคิดของตนในอันที่จะเปลี่ยนแปลง พัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น ลงมือทำในสิ่งที่ตนศรัทธาอย่างมุ่งมั่น ให้สำเร็จลุล่วง ด้วยตัวเอง เป็นตัวอย่างให้ผู้คนในองค์กรได้เห็นดีด้วย และทำตาม นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น

ตามนิยามนี้ ผู้นำจึงต่างจาก ผู้บริหารตรงที่ ผู้นำนำคนด้วยศรัทธา ส่วนผู้บริหารนำคนด้วยอำนาจบังคับบัญชา ผู้ใดจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้ ผู้นั้นจะต้องมีภาวะผู้นำอยู่ในตัว และผู้นำใช่ว่าจะพบเห็นได้แต่เฉพาะบุคลากรในระดับผู้บริหาร แต่ผู้นำสามารถมีอยู่ได้ในทุกระดับสังคม ทุกชั้นชน                  

ตามนิยามที่กล่าวข้างต้น ผู้นำจึงมีบทบาทต่อองค์กร หรือสังคมอย่างมาก องค์กรใด หรือ สังคมใด จะดำรงอยู่ด้วยความมั่นคงสถาพร และดำเนินกิจการงานใดๆได้ด้วยความเจริญรุ่งเรือง ผ่านพ้นอุปสรรค วิกฤติไปได้นั้น ต้องมีผู้นำที่ดี มีความสามารถ และมีคุณธรรม  อันจะเห็นได้จากผู้นำประเทศต่างๆในประวัติศาสตร์ ประเทศที่มีผู้นำที่ดี ก็สามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญวัฒนา แต่ผู้นำที่เลว ก็นำประเทศสู่ความหายนะ ตกต่ำล่มสลาย ลักษณะของผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษา    

มีนักวิจัยหลายท่านที่ได้ทำการศึกษาเรื่องภาวะผู้นำ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มงานวิจัยตามลักษณะแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับผู้นำได้เป็น 4 กลุ่ม กล่าวคือ  

·       กลุ่มทฤษฎีลักษณะเด่นของผู้นำ เน้นศึกษาที่คุณลักษณะส่วนตัวของผู้นำ

·       กลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมของผู้นำ เน้นศึกษาที่พฤติกรรมของผู้นำต่อผู้ตาม

·       กลุ่มทฤษฎีผู้นำตามสถานการณ์ เน้นศึกษาที่ความเหมาะสมระหว่างพฤติกรรมของผู้นำต่อสถานการณ์

·       กลุ่มทฤษฎีผู้นำการเปลี่ยนแปลง เน้นศึกษาที่คุณภาพของผู้นำในด้านการสร้างวิสัยทัศน์ การสร้างแรงบันดาลใจ และการสร้างพลังให้เกิดในผู้ตาม              

 กลุ่มที่ 1 กลุ่มทฤษฎีลักษณะเด่นของผู้นำ (Leadership Traits) มีแนวคิดศึกษาวิจัยโดยสังเกตดูลักษณะเด่นอะไรบ้างของคนที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มว่าเป็นผู้นำ ผลจากการวิจัยต่างๆพบว่าลักษณะเด่นของผู้ที่เป็นผู้นำจะมีดังนี้

-                 มีพลัง ความมุ่งมั่นสูง         

-                 มีความเชื่อมั่นในตนเอง        

-                 มีความคิดสร้างสรรค์         

-                 มีความคิด สติปัญญาเฉียบคม          

-                 มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเป็นอย่างดี (ถ้าเป็นองค์กรธุรกิจ ก็จะรู้ดีในเรื่องธุรกิจ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับตน)          

-                  มีความสามารถในการจูงใจคน         

-                  มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์          

-                 มีความซื่อสัตย์และโปร่งใส                  

กลุ่มที่ 2 กลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมของผู้นำ (Leadership Behaviors) มีแนวคิดว่าการกระทำ หรือพฤติกรรม เป็นสิ่งที่สำคัญควรได้รับการศึกษา มากกว่าการศึกษาในสิ่งที่ผู้นำเป็น หรือในลักษณะของผู้นำ คำถามที่สำคัญในการวิจัยศึกษาภาวะผู้นำในกลุ่มนี้คือ พฤติกรรมที่ดี หรือพฤติกรรมแห่งความสำเร็จของผู้นำมีอะไรบ้าง ซึ่งพฤติกรรมของผู้นำเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ พฤติกรรมที่มุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับงาน (Task-related Issues) และพฤติกรรมที่มุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับคน (People-related Issues)    พฤติกรรมที่มุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับงาน ครอบคลุมในเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ เช่น การวางแผน การจัดรูปองค์กร และการอำนวยการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ตามมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมที่มุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับคนนั้น หมายรวมถึงพฤติกรรมที่ผู้นำสร้างความสัมพันธ์อันดี ความเชื่อถือ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน (mutual trust) ให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ตาม  การรับฟังความคิดเห็นของผู้ตาม ความห่วงใยในความรู้สึกของพวกเขา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสามารถของผู้นำในการบริหารคนนั้นเอง      พฤติกรรมใน 2 กลุ่มดังที่กล่าวข้างต้น อาจมองได้เป็น 2 มิติของพฤติกรรมผู้นำ มิติที่เกี่ยวกับการบริหารงาน หรือการมุ่งเน้นงาน และมิติที่เกี่ยวกับการบริหารคน หรือการมุ่งเน้นคน ซึ่งบนพื้นฐานของมิติทั้งสองนี้ นักวิจัยศึกษาภาวะผู้นำในกลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมผู้นำนี้ได้จำแนกผู้นำโดยใช้เมตริกซ์ 2 มิตินี้ ที่เรียกว่า ตะแกรงการจัดการ” (หรือ Managerial Grid; ผู้พัฒนาเครื่องมือนี้คือ Robert Blake และ Jane Srygley Mouton จาก มหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา) ซึ่งสามารถจำแนกผู้นำเป็น 7 แบบหลักดังนี้  

1. ผู้นำสู่ความถดถอย (Impoverished Leader) เป็นผู้นำที่ไม่ให้ความสนใจกับทั้งงาน และคน มักจะปล่อยให้กลุ่มตัดสินใจกันเอง และแสดงความสนใจแต่เพียงเล็กน้อยในกระบวนการทำงาน หรือผลลัพธ์

2. ผู้นำใช้อำนาจหน้าที่-การสนองตอบ (Authority-Compliance Leader) เป็นผู้นำที่แสดงความสนใจในงานสูง แต่ไม่ค่อยให้ความสนใจในด้านคน มักจะตัดสินใจในเรื่องต่างๆด้วยตนเองทั้งหมด บัญชาการลูกน้อง โดยคาดหวังว่าลูกน้องจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

3. ผู้นำสโมสรกีฬา-สังคม (Country Club Leader) เป็นผู้นำที่แสดงความสนใจเอาใจใส่ในเรื่องของคนอย่างยิ่ง แต่ไม่สนใจในเรื่องงานเท่าใด เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี อบอุ่น หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และแสวงหาความประสานสอดคล้องของคนในกลุ่มในการตัดสินใจ

 4. ผู้นำใช้พระเดชพระคุณ (Paternalistic Leader) เป็นผู้นำที่ผสมผสานกันระหว่าง ผู้นำแบบที่ 2 และ 3 กล่าวคือ ใช้ตัวตน หรืออัตตาเป็นที่ตั้ง ยึดมั่นในประสบการณ์ของตนเป็นสำคัญ มุ่งหวังให้ลูกน้องทำงานให้ เชื่อถือ และรับฟังตน ด้วยความเคารพยำเกรง

5. ผู้นำรักษาสมดุลย์ (Middle-of-the-Road Leader) เป็นผู้นำประเภทไม่ยอมผูกมัดตัวเองกับเรื่องใดๆ แต่จะเน้นการรักษาสมดุลย์ระหว่างคนกับงาน ไม่เน้นการดำเนินการที่เป็นเลิศ เพียงแค่การดำเนินการที่อยู่ในขั้นดีพอใช้ก็พึงพอใจแล้ว

6. ผู้นำทีมงาน (Team Leader) เป็นผู้นำที่เชื่อในความสำเร็จของการดำเนินงานที่เป็นเลิศ และดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายโดยการสร้างทีมงานที่ประกอบด้วยสมาชิกที่ยอมผูกมัดตัวเองกับความสำเร็จขององค์กร มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน พึ่งพาอาศัยกัน เคารพและไว้วางใจซึ่งกันและกัน     

7. ผู้นำนักแสวงหาโอกาส (Opportunistic Leader) เป็นผู้นำที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน สามารถปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ และพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ เพื่อความสำเร็จส่วนตัว ผู้นำในลักษณะนี้เป็นผู้นำแบบนักการเมืองบางคนที่ยึดถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งมากกว่าอุดมการณ์                  

ในบรรดาผู้นำแบบต่างๆนี้ ผู้นำแบบไหนเป็นผู้นำที่ดี ที่เหมาะสม เราอาจจะเห็นว่าผู้นำแบบที่ 1 ไม่น่าจะเป็นผู้นำที่เหมาะสมเลย ไม่ว่าจะกับลักษณะการดำเนินงานองค์กรใดๆ ส่วนผู้นำแบบที่ 7 ก็ออกจะเป็นผู้นำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแบบนักการเมืองบางคน จึงเป็นผู้นำที่ไม่ดี สำหรับผู้นำแบบอื่นๆน่าจะมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน จึงเหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์ที่ต่างกัน                  

 กลุ่มที่ 3 กลุ่มทฤษฎีผู้นำตามสถานการณ์ (Situational Leadership) มีแนวคิดว่าภาวะผู้นำที่ดีนั้นผู้นำจะต้องมีพฤติกรรม หรือมีรูปแบบการบริหารที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ปัจจัย หรือตัวแปรที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น สถานภาพความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับกลุ่มผู้ใต้บังคับบัญชา ลักษณะโครงสร้างของงาน อำนาจตามหน้าที่ของผู้นำ และความพร้อมในด้านความสามารถ และประสบการณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาในการดำเนินงาน เป็นต้น ผลจากการศึกษาวิจัยในกลุ่มทฤษฎีนี้ได้เป็นข้อเสนอแนะในเรื่องของพฤติกรรมผู้นำที่เหมาะสมให้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานในสถานการณ์ต่างๆ เช่น    

ในสถานการณ์ที่ลูกน้องมีความพร้อมในการดำเนินงานต่ำมาก คือไม่เก่ง และขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้นำควรให้ทิศทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง มอบงานที่ไม่ยากเกินความสามารถให้ลูกน้องทำ และกำกับดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบมุ่งงาน

 ในสถานการณ์ที่ลูกน้องมีความพร้อมต่ำ แต่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้นำควรเพียงแค่อธิบายทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และสร้างบรรยากาศในการเอื้ออำนวยและสนับสนุนการทำงาน พร้อมติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการบริหารแบบมุ่งงาน และมุ่งความสัมพันธ์ในทีมงานควบคู่กันไป         

ในสถานการณ์ที่ลูกน้องเก่ง แต่ไม่เต็มใจ หรือขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้นำควรเน้นให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันคิดตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน และให้อิสระในการทำงาน ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบมุ่งเน้นความสัมพันธ์ในทีมมาก          

ในสถานการณ์ที่ลูกน้องเก่งและเต็มใจในการทำงาน ผู้นำไว้วางใจให้กลุ่มได้ตัดสินใจ และมอบหมายความรับผิดชอบให้ดำเนินงานอย่างอิสระ โดยติดตามการทำงานเป็นระยะ เป็นต้น                 

ภาวะผู้นำตามสถานการณ์ต่างๆนี้อาจแบ่งเป็นประเภทได้เป็น ภาวะผู้นำแบบชี้นำ (Directive Leadership) ภาวะผู้นำแบบสนับสนุน (Supportive Leadership) ภาวะผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ (Achievement-Oriented Leadership) และภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Participative Leadership) ผู้นำที่เก่งต้องรู้ว่าเมื่อใด ในสถานการณ์เช่นใดจึงจะนำทีม                  

กลุ่มที่ 4 กลุ่มทฤษฎีผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leadership) ภาวะผู้นำที่ได้กล่าวมาตั้งแต่กลุ่มที่ 1 ถึง 4 จะเน้นบทบาทผู้นำในการจูงใจลูกน้องในขั้นปฏิบัติงาน หรืออาจเรียกว่าเป็นผู้นำการปฏิบัติ (Transactional Leaders) แต่การปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพอย่างเดียวไม่พอ องค์กรปัจจุบันต้องมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับการดำเนินงานขององค์กรให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลในองค์กรจำนวนมากได้ดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ และยกระดับการปฏิบัติงานให้สูงขึ้น เพื่อเป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาองค์กรให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น จะเรียกว่าผู้นำการปฏิรูป (Transformational Leaders) ซึ่งมีนักวิจัยได้ทำการศึกษารวบรวมคุณสมบัติพิเศษของผู้นำการปฏิรูปได้ 6 ประการ ดังนี้  

วิสัยทัศน์ (vision) คือมีความคิดและความสามารถในการหยั่งรู้ทิศทาง สร้างวิสัยทัศน์องค์กร และสื่อความหมายของวิสัยทัศน์สู่ผู้ใต้บังคับบัญชา สู่การปฏิบัติ

คาริสมา (charisma) คือความเก่ง ดี มีเสน่ห์ของผู้นำ ที่สามารถจูงใจคน ให้เกิดความกระตือรือร้น ศรัทธา ในการที่จะร่วมทำงานด้วยความมุ่งมั่นเต็มที่

 การแสดงนัยของความเป็นเลิศ (symbolism) คือการจัดการค้นหาบุคคลที่ดีเด่น และให้รางวัล เพื่อเป็นการจูงใจให้มุ่งมั่น ทำงานด้วยความเป็นเลิศ

การเอื้ออำนาจ (empowerment) คือมอบหมายงานที่ท้าทายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาความรับผิดชอบดำเนินงานเพื่อให้โอกาสได้พัฒนาตนเอง โดยผู้นำเฝ้าติดตาม สนับสนุน อำนวยความสะดวก

 การกระตุ้นภูมิปัญญาให้เกิดขึ้น (intellectual stimulation) คือกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เรียนรู้ในงานอย่างถ่องแท้จากการที่ใส่ใจในการทำงาน คิดแก้ไขปรับปรุงงานอยู่ตลอดเวลา จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญในงาน และเกิดเป็นภูมิปัญญา

ความสัตย์ซื่อถือมั่น (Integrity) คือมีความซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือไว้วางใจ                  

 การศึกษาวิจัยเรื่องภาวะผู้นำดังได้กล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นและเข้าใจถึงภาวะผู้นำ เริ่มตั้งแต่ลักษณะของผู้นำ ซึ่งเป็นลักษณะภายในตัวผู้นำ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้นำ ซึ่งเป็นการกระทำของผู้นำต่อปัจจัยภายนอก คืองานและคน จากนั้นยังสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้นำที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานะการณ์รอบด้าน จนถึงภาวะผู้นำ ที่นำการเปลี่ยนแปลงองค์กร เพื่อปฏิรูปยกระดับการดำเนินการขององค์กรให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งเราอาจจะมองทั้งหมดนี้เป็นกรอบของการศึกษาในเรื่องของภาวะผู้นำ โดยกรอบการศึกษานี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษา และฝึกตนเอง เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำในตนเอง         กรอบการศึกษา และพัฒนาภาวะผู้นำในตนเอง                  

จากความรู้ทางทฤษฎีภาวะผู้นำ ร่วมกับนิยามของผู้นำในความคิดของข้าพเจ้า ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้าได้พัฒนากรอบการศึกษาภาวะผู้นำ และการฝึกพัฒนาภาวะผู้นำด้วยตัวเอง กรอบการศึกษาฯนี้จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษาและพัฒนาภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นในตนเอง ซึ่งกรอบการศึกษาพัฒนาฯนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก เริ่มต้นด้วยการพัฒนาลักษณะเด่นผู้นำให้เกิดขึ้นในตนเอง นั้นคือการพัฒนาให้เป็นคนที่เก่ง ดี และมีเสน่ห์  คำว่า เก่งหมายถึง การพัฒนาให้ตนเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในรอบด้าน รู้จักคิด รู้จักสร้างสรรค์ รู้เท่าทันเหตุการณ์ รอบคอบ เป็นนักปฏิบัติ เป็นนักแก้ปัญหาที่ชาญฉลาด ใฝ่รู้ และบริหารเวลาเป็น  คำว่า ดีหมายถึงการพัฒนาตนเองให้ยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี เป็นผู้บริสุทธิพร้อมซึ่งกาย วาจา ใจ โดยเฉพาะการฝึกจิตให้เกิด ศีล สมาธิ  ปัญญา เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม สัตย์ซื่อ สุตริจ ยุติธรรม  ส่วนคำว่า เสน่ห์หมายถึงการฝึกตนให้มีบุคลิกภาพที่ดี มีร่างกายที่แข็งแรง มีความสง่างาม อ่อนน้อมถ่อมตน มีวาทะศิลป์ เป็นต้นการสร้างลักษณะผู้นำให้เกิดแก่ตน เป็นการพัฒนาตนจากภายใน ให้เกิดลักษณะเด่นของผู้นำทั้ง 3 มิตินี้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับผู้นำในการที่จะดำเนินชีวิตให้ประสบกับความสำเร็จทั้งในเป้าหมายชีวิตส่วนตัว และเป้าหมายขององค์กร                  

 สำหรับส่วนที่ 2 ของกรอบการศึกษาพัฒนาภาวะผู้นำเป็นส่วนที่มุ่งเน้นการกระทำ หรือพฤติกรรมของผู้นำที่มีต่อองค์ประกอบภายนอก กล่าวคือเป็นการพัฒนาความสามารถของผู้นำในการบริหารงาน และบริหารคน ทั้งนี้ผู้นำเป็นผู้ที่จะต้องนำกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นองค์กร หรือชุมชน หรือสังคม ให้ดำเนินงานให้เกิดการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ไปในทางที่ดีขึ้น ลักษณะและวิธีการในการดำเนินงานนี้มีมิติของ งานและ คน”  รูปแบบการบริหารงาน หรือพฤติกรรมของผู้นำที่มีต่อทั้ง 2 มิตินี้ เป็นส่วนสำคัญของภาวะผู้นำ  สำหรับมิติด้าน งานนั้น ผู้นำจะต้องสามารถสร้างวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล วางแผนกลยุทธ์ได้แยบยล สามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินงานสำฤทธิ์ผล และบรรลุวิสัยทัศน์ที่วางไว้  ส่วนมิติด้าน คนนั้น คนในที่นี้ ไม่ใช่หมายเพียงถึง ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้องเท่านั้น แต่รวมถึง เพื่อนร่วมงานที่อยู่ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร  เพื่อนที่เป็นผู้นำ ตลอดจนผู้บังคับบัญชา หรือเจ้านายที่เหนือเราขึ้นไป เนื่องจาก คนเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนองค์กร หรือสังคม การบริหารคนต้องบริหารที่ใจ ผู้นำจะต้องมองคนเป็น และใช้คนให้เป็น และเลี้ยงคนให้เป็น รู้จักเอาใจเขา ใส่ใจเรา รู้จักศิลปะในการจูงใจคน รู้จักชนะใจคน สร้างความศรัทธา รู้จักการสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง สร้างทีมผู้นำ เพราะการนำการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว                  

การบริหารมิติทั้ง 2 นี้ต้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมที่เป็นไป ผู้นำอาจจะมุ่งเน้นงานมากในบางสถานการณ์ หรืออาจจะมุ่งเน้นที่คนมากสำหรับสถานการณ์ที่ต่างกัน ดุลยพินิจของผู้นำในรูปแบบการบริหาร โดยยึดหลักความเหมาะสม หรือสมดุลย์เป็นหลัก เป็นสิ่งที่ผู้นำจะต้องฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดเป็นประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในที่สุด  สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ การตั้งเป้าหมายชีวิตของตัวผู้นำเอง และวิสัยทัศน์ขององค์กร (หรือของสังคม) ที่ผู้นำสร้างขึ้น ควรสอดคล้อง และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ถ้าวิสัยทัศน์องค์กรไม่สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของผู้นำ ตัวผู้นำเองอาจจะไม่มีแรงบันดาลใจในการนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าผู้นำวางวิสัยทัศน์องค์กรให้เอื้อกับเป้าหมายส่วนตัวเป็นประโยชน์ส่วนตน ก็จะเป็นผู้นำที่ไร้คุณธรรม ซึ่งจะนำมาสู่ความล่มสลายขององค์กร และสังคม จึงควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษจะเห็นว่าถ้ามองภาพกรอบการศึกษาพัฒนาฯนี้ในภาพรวมใหญ่แล้ว ก็คือกรอบของการ ครองตน” “ครองคนและ ครองงานนั้นเอง

ทฤษฎีจาก: www.nrru.ac.th/article/leadership/page1.1.html

                    www.sombatlegal.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=421796

                    www.chaibadancrime.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=53571

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 203068เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2008 03:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความเชื่อถือ  ศรัทธาในตัวผู้นำ   มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาทุกๆอย่าง

นี่คือบทสรุปว่าคนพลัดถิ่นทำข้อสอบในวันนี้ได้แน่นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท