ส.ว.ชุดรักษาการ ใคร...? "อดรับเงินเดือน"


ส.ว.ชุดรักษาการ ใคร...? "อดรับเงินเดือน"
       สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรก หมดวาระลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มีนาคม 2549 หลังจากที่อยู่จนครบวาระ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา   แต่เนื่องด้วยการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ จะมีขึ้นในวันที่ 19 เมษายน และกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว.จนครบ 200 คน และเข้ามารับหน้าที่  รวม ๆ แล้วนับจากวันที่ครบวาระ 21 มีนาคม เรื่อยไปจนถึงกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นในกลาง ๆ เดือนพฤษภาคม ส.ว.ชุดที่มีนายสุชน ชาลีเครือ เป็นประธาน จะนั่งรักษาการนาน 2 เดือนเต็ม ๆ
ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ เพื่อสอบถามการจ่ายเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ให้กับ ส.ว. ผู้ช่วยดำเนินงานและผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ว. รวมทั้งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง จะยังสามารถดำเนินการได้หรือไม่
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีความเห็นดังนี้
1. การเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของ ส.ว.   มาตรา 131 วรรคสอง (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 168 (3) ให้ ส.ว.      ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่า ส.ว. ที่ได้รับเลือกตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่    ดังนั้น การที่ ส.ว. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2549 ถือเป็นการทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นต่อไป ตามพระราชกฤษฎีกา    เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ พ.ศ. 2535
2. ค่าตอบแทนของผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ว. และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ว.   ประกาศสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภานำมาใช้กับการตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกวุฒิสภา ได้กำหนดเหตุประการหนึ่งของการพ้นจากหน้าที่ของผู้ช่วยดำเนินงานและผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ว. คือ "สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาได้สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ" จึงเห็นว่าการจะอยู่ทำหน้าที่    เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ว. และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ว. ได้ต่อไปหรือไม่ ย่อมขึ้นกับสมาชิกภาพ ส.ว.   เป็นสำคัญ   เมื่อปรากฏว่าสมาชิกสภา ส.ว. ได้สิ้นสุดลง จึงเห็นว่าผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ว.และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ว. ย่อมพ้นจากหน้าที่นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2549 และไม่มีสิทธิได้ค่าตอบแทนอีกต่อไป
3. เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการการเมือง  ตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ซึ่งยึดโยงกับตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา ได้แก่ ตำแหน่งที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา ที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภา เลขานุการ    รองประธานรัฐสภา เลขานุการประธานวุฒิสภา และเลขานุการรองประธานวุฒิสภา ตามมาตรา 61 (8) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 เห็นว่าการอยู่ในตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษา ย่อมขึ้นอยู่กับตำแหน่งประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาเป็นสำคัญ จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่า ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษา ต้องออกจากตำแหน่งพร้อมการพ้นตำแหน่งประธานวุฒิสภา ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ยังคงมีสิทธิได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2549 ต่อไปจนกว่าประธานวุฒิสภาจะพ้นจากตำแหน่ง
มติชน  22  มีนาคม  2549 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20291เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท