ประสบการณ์สดๆร้อนๆจากวินัยเชิงบวก


นางสาวพรรณา แสงนภาเพ็ญ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้รับการอบรมเรื่องวินัยเชิงบวกเป็นหัวข้อหนึ่งของหลักสูตรการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ดิฉันได้ฟังวิทยากร คงมีครูหลายท่านคงคิดเหมือนดิฉันจะทำได้มากน้อยเพียงใด จะใช้วินัยเชิงบวกล้วนๆได้ไหม  ที่ผ่านมาในความคิดเห็นของดิฉันมีความคิดว่า  มันต้องเป็นการผสมผสาน  พิจารณาตามความเหมาะสม ดูจังหวะ  โอกาส และพฤติกรรมของนักเรียนจะใช้วิธีทางตะวันตกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่า  วัฒนธรรมการเลี้ยงดูต่างกัน เด็กไทยตอนเล็กมีแต่พ่อแม่ทำให้หรือตามใจด้วยความรักเมตตาจนเคยชิน  เด็กก็เลยกลายเป็นคนตามใจตนเองขาดระเบียบไปโดยไม่รู้ตัว เรามีวัฒนธรรมไม้เรียว แก้ไข จนมีสุภาษิตรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ส่วนเด็กทางตะวันตกการเลี้ยงดูจะช่วยเหลือตัวเอง มีวินัยตั้งแต่ในครอบครัว  จริงไหมค่ะ 

การผสมผสานวินัยเชิงบวกและวินัยเชิงลบ ในบางครั้งดิฉันก็ใช้วินัยเชิงบวกโดย ยกย่อง  ชมเชย   หรือบางครั้งให้คะแนน  ดิฉันมักบอกเด็กว่า ให้ทำกิจกรรมที่ดิฉันกำหนดเสร็จ ดิฉันจะให้คะแนนพิศวาส ซึ่งเด็กจะชอบมาก  เวลาเขาทำอะไรให้ดิฉันก็มักล้อเลียนขอคะแนนพิศวาส หรือดิฉันจะตั้งคะแนนสูงๆให้คราวละมากๆเพื่อจูงใจให้เด็กทำงานซึ่งก็ได้ผลเพราะเด็กๆอยากได้คะแนนกัน  บางครั้งมานินทาครูบางท่านให้งานคล้ายครูแต่ให้คะแนนนิดเดียวสู้ครูไม่ได้  ดิฉันยังขำเลยเพราะคะแนนที่เขาได้อย่างไรก็ต้องมาเฉลี่ยอยู่ดีแต่การทำแบบนี้เด็กๆส่วนใหญ่ก็รู้นะ   แต่ก็ยินดีทำเพราะเขาอยากได้เกรดดีๆกัน  วิธีนี้เหมาะใช้กับเด็กที่มีพื้นฐานเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่ปัญหาเด็กที่ขี้เกียจเอามากๆต้องเตือนหลายครั้ง ขอกิจกรรมมากรอกคะแนนเป็นต้องว่าง ไม่มีคะแนนสักช่อง  เตือนแล้วเตือนอีกก็ไม่ทำ  พูดดีก็แล้ว  ให้โอกาสก็แล้ว ก็ยังไม่ทำอย่างนี้  คุณครูทำอย่างไรค่ะ  สำหรับดิฉันก็ต้องให้ยาขนานพิเศษ เหมือนหมอที่ให้ยาคนไข้ครั้งแรกให้ยาอ่อนก่อนแล้วให้ยาแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นครูก็เหมือนกัน  วินัยเชิงบวกขั้นที่สองที่ดิฉันใช้คือ  เห็นเด็กไม่ตั้งใจเรียนพูดคุยไม่ทำกิจกรรมวิธีนี้ได้โดยบังเอิญเพราะวันนั้นมีกล้องถ่ายรูปอยู่พอดีดิฉันเลยใช้วิธีถ่ายเขาไม่ตั้งใจทำกิจกรรมที่กำหนดแล้วบอกว่าจะเชิญผู้ปกครองมารับทราบการเรียนของลูกที่โรงเรียน  เชื่อไหมคะวิธีนี้ดีมากๆเลย  พอหลังจากนั้นเด็กกลุ่มนี้กลัวเชิญผู้ปกครองมาดูภาพไม่ตั้งใจเรียน  นับจากนั้นตั้งใจเรียน  มีงานส่ง ซึ่งดิฉันก็จะชมเชยและถ่ายรูปตอนเขาเริ่มตั้งใจเพื่อเป็นแรงเสริมให้เด็กๆมีความขยันตั้งใจเรียนขึ้น  วิธีนี้ใช้ได้กับเด็กที่ขี้เกียจแต่ยังพอพูดกันรู้เรื่อง  แต่ก็ยังมีเด็กอีกประเภทชนิดดื้อมาก  อยากลองของ  แม้ให้โอกาสแล้วแต่พฤติกรรมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ดีขึ้น แถมเกียจคร้านไม่สนใจเรียน  ชวนเพื่อนในห้องให้มีพฤติกรรมแบบเขาอีก  อย่างนี้นะ ดิฉันจำเป็นต้องใช้วินัยเชิงลบ  แต่ดิฉันยังให้โอกาสเด็กกลุ่มนี้โดยใช้วิธีนี้โดยวางกติกาให้เด็กร่วมกำหนดพฤติกรรม ถ้ายังมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนครั้งต่อไปว่าจะทำอย่างไร  ซึ่งแน่นอนเด็กจะตอบว่า แล้วแต่ครู  ซึ่งดิฉันมักตอบกลับว่า  ไม่ได้  ให้กำหนดมา  ก็บอกว่า  ให้ลงโทษโดยการตี  ดิฉันก็มักแกล้งถามเด็กกลับว่า  จะให้ตีกี่ทีละ  เด็กส่วนใหญ่ก็มักตอบ 1 ที  2  ที  ซึ่งดิฉันบอกว่าได้แต่ดิฉันไม่ลงโทษเอง  ดิฉันจะเชิญผู้ปกครองมาลงโทษ  ซึ่งก็ได้ผลเช่นกัน ทำให้เด็กขยาด  เกรงผู้ปกครองรู้พฤติกรรมของตนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งดิฉันเคยใช้กับเด็กดื้อมากๆก็ช่วยให้เด็กปรับพฤติกรรมได้ดีขึ้นตั้งใจเรียนมากขึ้นและไม่กล้าทำผิดอีก เพราะกลัวผู้ปกครองต้องมาลงโทษที่โรงเรียน ทำให้เขารู้สึกอาย  ดิฉันจึงว่ายาขนานนี้ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ดิฉันขอแนะนำว่า  ต้องขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง  อธิบายเจตนาของการลงโทษแบบนี้  ซึ่งผู้ปกครองให้ความร่วมมือด้วยดี  อีกวิธีการลงโทษวินัยเชิงลบแต่เด็กชอบ สามารถช่วยให้เขาขยันขึ้น   ดิฉันเรียกว่า  ตีเอาตัวผีขี้เกียจออก  เหมาะสำหรับใช้เด็กเล็ก ( ม.1-ม. 3  โรงเรียนดิฉันเป็นโรงเรียนมัธยมค่ะ ไม่ใช่โรงเรียนประถม  จะลองใช้วิธีนี้ก็ได้นะค่ะ) วิธีตีผีขี้เกียจดิฉันมักถามก่อนให้ตีกี่ทีก่อน  หรือถามมติในห้องว่า สมควรลงโทษไหม  ดิฉันจะใช้วิธีเอาไม้เรียวไล่ตัวผีขี้เกียจเบาๆแต่รัวนาน เล่นละครถามไปเรื่อยว่า  เจ้าผีขี้เกียจออกจากตัวหรือยัง  เด็กที่ถูกตีเบาๆในที่สุดก็บอกว่า ออกแล้วจึงหยุดตี แล้วให้เด็กทำกิจกรรมที่ค้าง เด็กจะรีบทำส่งเพราะกลัวว่าจะถูกตีไล่ผีอีกเพราะการเกรงตีรัวไปเรื่อยแล้วพูดทีเล่นทีจริงแต่นานๆในที่สุดเด็กจะก็รู้สึกอายเพื่อนที่ตัวเองเป็นคนเกียจคร้านแล้วถูกครูว่า ให้เพื่อนๆฟังเหมือนถูกประจาน  ซึ่งเด็กๆในห้องจะชอบเพราะช่วยเพื่อนเขาตั้งใจเรียนร่วมทำกิจกรรมได้ การใช้วิธีนี้ขอแนะนำอยากทำซ้ำซาก  อย่าใช้บ่อยนักเพราะเด็กดื้อมากๆไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้เพราะเขาคิดว่าเราไปเล่นกับเขา  ในปีหนึ่งห้องเรียนห้องหนึ่งควรใช้สัก  2 – 3  ครั้งก็พอเอาชนิดประเภทไม่ส่งงานเลยจะเหมาะที่สุด  ส่วนเด็กดื้อประเภทดื้อมหาศาลเพื่อนครูทำอย่างไรค่ะ  ดิฉันเคยใช้วิธีให้เข้าค่ายธรรมะเพื่อขัดเกลาประคับประคองเขาให้ไปถึงฝั่งก็มีเหมือนกัน หรือในรายผู้ปกครองมาหาเราเราใช้วิธีเยี่ยมบ้าน  ไปพูดคุยแจ้งพฤติกรรเขาที่โรงเรียนและดูพฤติกรรมทางบ้านจะทำให้ทราบว่าจะแก้เด็กเหล่านี้อย่างไร  เร็วๆนี้มีเด็กเอาโทรศัพท์มือถือของครูไปเป็นของตนเองแต่งเรื่องว่าไปซื้อมา ดิฉันสอบสวนในฐานะเป็นครูหัวหน้าระดับ ม.4  เพื่อนครูให้ลงโทษสั่งพักการเรียน  ดิฉันเป็นคนให้โอกาสเด็กก็เลยถามว่า การสั่งพักการเรียนมีประโยชน์อะไรจะทำให้เด็กไปทำเรื่องวุ่นภายนอกมากขึ้น  ดิฉันคิดใช้วิธีให้เด็กนักเรียนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนกลุ่มเสี่ยงล้วนๆเข้าค่ายธรรมะแทนในช่วงเดือนตุลาคมนี้ดีกว่า ผลเป็นอย่างไรจะเล่าให้ฟัง  ซึ่งเพื่อนครูที่ถูกเด็กเอาโทรศัพท์มือถือของครูไปเป็นของตนเองเห็นดีด้วยยังชมดิฉันเลยว่า มองเรื่องได้ไปไกลไม่เพียงแต่ลงโทษสั่งพักการเรียนเท่านั้น  หรือเมื่อวานนี้ในคาบกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมดิฉันให้เด็กกราบเบญจางคประดิษฐ์เพื่อบูชาพระรัตนตรัย มีเด็กนักเรียนไม่อยากปฏิบัติกราบไหว้ ดิฉันเลยใช้วิธีเรียกเด็กคนนั้นร่วมกิจกรรมที่เวทีเสียเลย  ก็ทำให้เพื่อนทุกคนไม่กล้าทำพฤติกรรมไม่ดีเพราะกลัวถูกครูลงโทษเหมือนเพื่อนขณะเดียวกันนักเรียนที่คิดไม่ปฏิบัติก็กลายเป็นผู้ช่วยครู  มีกิจกรรมร่วมกับครู  ไม่ต้องใช้เสียงดุว่าเด็กให้เสียบรรยากาศการอบรม

                 อย่างนี้ไม่ทราบว่าเป็นประสบการณ์สดๆร้อนๆจากวินัยเชิงบวกได้หรือเปล่าค่ะ  แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันได้นะค่ะ

 

คำสำคัญ (Tags): #วินัยเชิงบวก
หมายเลขบันทึก: 202898เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2008 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สุนันท์ โรงเรียนมัธยมด่านสำโรง

เห็นด้วยกับวิธีแก้ปัญหาของอาจารย์คะว่าเป็นวินัยเชิงบวก จะนำไปใช้กับนักเรียนบ้างคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท