เขาไม่ใช่พยาบาล


โรงพยาบาลไม่มีแนวทางในการที่จะป้องกัน/ลดความเสี่ยงของคนทำงานในโรงพยาบาลในการรับ/แพร่เชื้อเอชไอวีจากพฤติกรรมเสี่ยงส่วนตัวจริงหรือ?

เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสให้การปรึกษากับเคสผู้หญิงวัยกลางคนรายหนึ่งเกี่ยวกับการตรวจเลือดและการรักษาเอชไอวี เคสนี้เป็นภรรยาที่มีผลเลือดปกติอยู่และได้พาสามีมาตรวจรักษาที่นี่ได้ประมาณ3-4เดือนมาแล้ว โดยที่สามีรู้ผลการติดเชื้อของตัวเขาเองมาประมาณ2ปีแล้วแต่ว่าปฏิเสธที่จะยอมรับผลการตรวจ..สิ่งที่สะดุดใจและสะดุดตาก็คือ สีหน้าท่าทางและน้ำเสียงของเคส ขณะที่สอบถามเกี่ยวกับประวัติการตรวจเพราะเคสจะเปลี่ยนไปมีสีหน้าแดงและน้ำเสียงเข้มขึ้นมาอย่างชัดเจน จากที่ตอนแรกเคสไม่ได้แต่งหน้า ใบหน้าจะดูซีดๆและดูเหมือนจะหมกมุ่นกับความคิดอะไรบางอย่างอยู่
 เมื่อได้สอบถามถึงความสัมพันธ์และสภาพการดำเนินชีวิตภายในครอบครัวของเคส ก็ได้รับทราบว่า ปัจจุบันเคสแต่งงานมา30กว่าปีมีบุตร2คนลูกๆยังไม่ได้แต่งงานแต่ก็เรียนจบปริญญาตรีมีหน้าที่การงานที่ดีและมีธุรกิจของตนเอง ฐานะทางเศรษฐกิจดีพอสมควร มีคนรู้จัก หรือรับรู้ในท้องที่ก็ไม่น้อย ปัญหาที่เคสพูดถึงก็คือสามีเป็นคนที่มีความต้องการทางเพศสูง เขาจะออกไปนอกบ้านหลังเสร็จจากงานที่ร้านไปเที่ยวตามคลับ/ไนต์คลับ เพื่อหาคู่นอน ซึ่งสามีจะมีคู่นอนประจำ3-4คนและหนึ่งในนั้นมีอาชีพทำงานในโรงพยาบาล เคสบอกว่าเมื่อรู้ว่าสามีไปติดพันกับผู้หญิงอื่นนอกบ้านก็จะตามไปแยก/เรียกร้องให้ยุติความสัมพันธ์ ซึ่งในรายที่เป็นพยาบาลนี้(เป็นคำที่เคสเรียก)ปรากฏว่าเคสทำอะไรไม่ได้เพราะว่าเขาใจเย็นและช่างวางแผน

..เขาสามารถบอกให้สามีเข้าใจตัวเคสผิดและเกือบที่จะไปมีเรื่องราวกับอนุภรรยาอีกคนของสามี..เคส ได้เคยทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาก็ปรากฏว่าไม่สามารถจัดการอะไรได้..ทำได้แต่เพียงตักเตือนและยับยั้งการอนุมัติให้ไปศึกษาต่อเพื่อเลื่อนเป็นวิชาชีพ และสิ่งที่สะดุดใจและความรู้สึกในการฟังเรื่องเล่าจากเคสมีอยู่2เรื่องก็คือ

(1.) เคสบอกว่า ก่อนหน้านั้นประมาณ1-2ปีก่อน ผู้หญิงได้เจาะเลือดสามีไปตรวจแล้วกลับมาบอกว่าสามีไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งสามีของเคสก็ไม่ค่อยอยากที่จะยอมรับผลการติดเชื้ออยู่แล้ว เมื่อได้ฟังข้อมูลจากผู้หญิงก็เชื่อ และ ไม่พอใจเคสที่เหมือนกับว่าดูถูก /กล่าวหาทั้งตัวเขาและผู้หญิงว่าเป็นเอดส์ ทั้งนี้ เพราะเมื่อเคสไม่สามารถที่จะแยกสามีให้หลุดจากการติดพันกับพยาบาลคนนั้นได้ เคสก็ได้พยายามไปสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผูหญิงทำให้รู้ว่าตัวผู้หญิงเองก็มีคู่นอนมาก่อนหน้านี้หลายคนแม้ในระหว่างที่คบกันอยู่กับสามีของเธอก็ยังมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆอีกด้วย เคสจึงขอร้องให้สามีไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งนอกเขตที่อยู่ซึ่งที่นั่นผลของสามีพบว่า ติดเชื้อเอชไอวี จึงได้มีการต่อว่าต่อขานกันขึ้น ผู้หญิงก็อยากพิสูจน์ตัวเองก็เลยขอเจาะเอาเลือดของสามีไปตรวจแล้วกลับมาบอกว่าสามีของเธอไม่ได้ติดเชื้อ สามีก็เชื่อและโกรธเคสเลยออกจากบ้านไปอยู่ด้วยกันกับผู้หญิงคนนั้นระยะหนึ่ง

(2.)เคสตามไปเอาเรื่องเอาราวกับผู้หญิงถึงที่โรงพยาบาลทางโรงพยาบาลได้มีการตั้งกรรมการสอบวินัยและได้แจ้งผลการดำเนินการลงโทษทางวินัยให้แก่เคสได้รับทราบ โดยคำพูดแรกๆของหัวหน้าพยาบาลที่เคสจำได้ก็คือ...ทางโรงพยาบาลอยากทำความเข้าใจกับเคส

ก่อนอื่นเลยว่า..ผู้หญิงที่ไปมีอะไรกับสามีเคสนั้นเขาไม่ใช่พยาบาลและทางโรงพยาบาลได้ตักเตือนและตัดสิทธิ์การไปเรียนต่อเป็นพยาบาลวิชาชีพของเขาแล้ว
ในความรู้สึกของเคสขณะนั้นรู้สึกว่าไม่มีใครช่วยหยุดพฤติกรรมของผู้หญิงคนนั้นได้ เพราะสิ่งที่เคสเรียกร้องก็คือว่า เพราะสามีเธอเคยเข้าใจผิด..เห็นว่าผู้หญิงทำงานทำการดี มีความรู้ทางการแพทย์จึงน่าที่จะมีความรู้ในการดูแลและป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย เพราะกับนักร้องตามไนท์คลับ หรือ หมอนวดสามีจะใช้ถุงยางอนามัยมาโดยตลอด...

.ในตอนนี้สามีเองหลังจากที่ได้รักษาที่บำราศฯก็ยุติการเที่ยวเตร่ลงไปบ้างและก็มั่นใจว่าตัวเขานั้นรับเชื้อ

มาจากผู้หญิงคนนี้..เขาเลยหมดความเชื่อใจในโรงพยาบาลแห่งนั้นและคิดว่าจะเลิกติดต่อกับผู้หญิงคนนั้น

อย่างเด็ดขาด อีกทั้งตอนนี้ผู้หญิงก็กำลังติดพันอยู่กับข้าราชการอีก2-3คนในอำเภอแห่งนั้น
...และเพราะคำว่า ”เขาไม่ใช่พยาบาล”ของทางผู้บริหารโรงพยาบาลในความรู้สึกของเคสมันเหมือนกับว่า โรงพยาบาลปัดความรับผิดชอบ ว่าโรงพยาบาลไม่สามารถที่จะไปจัดการอะไรได้..

คำถามที่เคสได้ย้อนถามจนทำให้ฉันต้องกลับมานั่งขบคิดและเขียนเป็นบันทึกนี้ขึ้นมา คือ "คือถ้าผู้หญิงคนนั้นไม่ใช่หมอหรือพยาบาลแล้ว..ทางโรงพยาบาลไม่มีวิธีการที่จะป้องกัน/สกัดไม่ให้คนของโรงพยาบาลกลายเป็นคนเอาโรคนี้ไปส่งต่อให้กับคนอื่นๆจริงๆหรือ?"

เคสจึงได้แต่เก็บความรู้สึกไม่พอใจผู้บริหารโรงพยาบาลแห่งนั้นเอาไว้ในใจไม่กล้าพูดอะไรออกมาเพราะ

ยังต้องทำมาหากินและพึ่งพาอาศัยอยู่ที่ใกล้ๆโรงพยาบาลนั้นอยู่ ในเคสนี้ฉันได้อาศัยเทคนิคการสำรวจตนเองของSatir’sเข้ามาช่วยจัดการในความรู้สึกโกรธและสิ่งที่ติดค้างใจ
 จากการได้คุยกับเคสรายนี้ได้ให้ข้อคิด2-3ข้อแก่ตัวฉันเองก็คือ 1.เรื่องเสื่อมเสียศีลธรรมทางเพศมีอยู่ได้ในทุกวงการจริงๆและไม่ได้เลือกว่าจะเป็นคนที่มีความรู้หรือไม่มีความรู้ หากแต่มันเหมือนมีภาพมายา หรือสิ่งที่คาดหวังจากสังคมต่อคนที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลว่า

ควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในการที่จะต้องป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจาก

การไม่รับและแพร่เชื้อเอชไอวีแต่ในความเป็นจริงแล้วบางส่วนของคนทำงานในโรงพยาบาล

ยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงส่วนตัวต่อการรับและแพร่เชื้อเอชไอวีนี้อยู่ นอกเหนือไปจากการที่มีพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมและทำร้ายความรู้สึกของคู่สมรสของตนเอง

...เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หากวันใดที่เขาพลาดขึ้นมาเขาจะมีวิธีการปรับตัว หรือ ชดเชยความรู้สึกผิดพลาดในใจตนเองอย่างไร หรือว่า เวลาที่เขาบอก หรือสอนผู้ป่วยให้รู้จักรักษา หรือดูแลตนเองให้ดีๆแล้วแต่สิ่งที่เขาพูดมันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาทำอยู่ เขาไม่รู้สึกขัดแย้งในใจบ้างเลยหรือ?

2. การอบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานพยาบาล ควรมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าใจและมีโอกาสสำรวจถึงความเสี่ยงส่วนตัวของตนเอง(ที่นอกเหนือไปจากความกลัวว่าจะไปรับ/ส่งต่อมาจากผู้ป่วย)

และได้ไตร่ตรองถึงหนทางที่จะดูแลตนเองและครอบครัวให้มีความสุขและความปลอดภัยมากขึ้น

3.ทัศนคติที่แบ่งแยกคนตามฐานะ หรือวุฒิการศึกษาไม่ใช่เกณฑ์ในการจะประเมินได้ถึงความมีศีลธรรม/ความเป็นคนดีได้ เพราะพี่ๆเฉพาะกาล/น้องผู้ช่วยเหลือ,คนงานที่ฉันรู้จักหลายคนเป็นคนที่รักครอบครัว เขามีครอบครัวที่อบอุ่น รับผิดชอบดูแลสมาชิกในบ้านเป็นอย่างดีลูกๆก็ประสบความสำเร็จ...

เขาอาจไม่ใช่คนที่โดดเด่นในที่ทำงานแต่เป็นคนที่มีจิตใจที่ดี

ดังนั้นเวลาที่เกิดเรื่องราวอื้อฉาวอะไรบางอย่างขึ้นมาการจะให้น้ำหนัก/ความสนใจแต่เพียงว่า

คนที่ถูกฟ้อง(ผู้กระทำผิด)เป็นพยาบาลหรือไม่เป็นพยาบาล จึงอาจเป็นมุมมองที่แบ่งแยกมากเกินไปหรือเปล่า

..และควรมีมาตรฐานในการตัดสินลงโทษทางวินัยเกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่ลำเอียง หรือปล่อยปละละเลยหากผู้กระทำนั้นไม่ได้เป็นวิชาชีพ

เพราะเวลาที่ถูกชาวบ้านหรือเสียงของคนนอกโรงพยาบาลเขาตำหนิหรือต่อว่าโรงพยาบาล...

มันส่งกระทบกระเทือนจิตใจของคนที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล(ไม่ว่าจะในระดับบน หรือ ล่าง) ด้วยกันทั้งหมด ไม่ได้เลือกแต่ว่าเป็นเฉพาะในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 202450เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2008 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาอ่าน หายไปนานเลยนะ คิดถึงจ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท