ธรรมาธิปไตยเสวนาเพื่อสติและปัญญาในยามนี้


ธรรมาธิปไตยเสวนา จัดขึ้นเป็นเวทีรองรับคนที่ตื่นตัว รวมทั้งใส่ใจต่อเหตุการณ์และวันข้างหน้าของสังคมแต่อยากเข้าใจและมีส่วนร่วมด้วยสติและปัญญา ให้มีเพื่อนมาร่วมประเมินสถานการณ์ เรียนรู้ และดูแลสติปัญญา เรียนรู้เข้าไปภายในตนเองให้เข้าใจตนเองและภาวะสังคมยามนี้ระดับลึก ซึ่งนอกจากจะเข้าใจสถานการณ์และจัดตนเองได้ดีที่สุดแล้ว เชื่อว่าจะเป็นเวทีสร้างปัญญา-สื่อสารกับสังคมได้เป็นอย่างดีทางหนึ่ง

         ในช่วงเวลานี้  คนจำนวนไม่น้อยต่างพากันปริวิตกว่าความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้น กับท่าทีและการจัดการของผู้นำประเทศ จะนำไปสู่อะไร และผลจะออกมาเป็นอย่างไร  หลายคนหวั่นเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง  แต่ถ้าหากประเมินจากความเป็นมาและพัฒนาการของเหตุการณ์ที่เป็นมาถึงวันนี้  ก็น่าจะคิดอย่างมีความหวังไปอีกทางหนึ่ง ประการแรก ไม่ใช่เหตุการณ์ยืดเยื้อ  เขม็งเกลียว และส่อเค้าความรุนแรง  แต่เพราะมีพัฒนาการและสังคมมีต้นทุนทางสังคมดีขึ้นมาต่างหาก ที่ทำให้สังคมเคลื่อนไหวได้ต่อเนื่องและยาวนาน  โดยไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรง ประการที่สอง หากมองเชิงบวกแล้ว ช่วงนี้  เป็นห้วงเวลาที่พาสังคมเรียนรู้การเมืองและเรียนรู้สังคมได้ดีที่สุด เป็นช่วงที่ได้เห็นพลังสร้างสรรค์และการให้การเรียนรู้สังคมของตัวเองเป็นอย่างมาก มิตรผู้พี่ท่านหนึ่งบอกว่า เป็นระยะเวลาของ Awaeken Period ประชาชนและสังคม อยู่ในภาวะตื่นตัว  คอยสดับตรับฟัง  เป็นผู้สังเกตการณ์ทางสังคม เป็นผู้ตื่นตัวต่อการมีส่วนร่วมในจุดที่ตนเองปฏิบัติได้  รอบข้างก็เคลื่อนไหว  พูดคุย  สื่อสารกันอย่างอึงมี่ หลากหลายความคิดอ่าน

         ภาวะความตื่นตัวในท่ามกลางข่าวสารท่วมท้น และการเคลื่อนไหวหลายระดับราวภาวะโกลาหลทางสังคมเช่นนี้ ทุกอย่างสามารถเป็นจริงและเกิดขึ้นได้แบบ 360 องศา มันเป็นไปทางไหนก็ได้ทั้งสิ้น ประมาณนั้น  เพราะฉนั้น ภาวะอย่างนี้จึงต้องการสติและปัญญาอย่างยิ่งยวด เพราะจิตใจอันหวาดวิตกโน้มไปทางไหน  หากขาดสติและปัญญา  อะไรที่ร้ายๆก็เข้ามาครองจิตใจของเรา ขับเคลื่อนการปฏิบัติ กุมจิตวิญญาณและสำนึกร่วมทางสังคมและพากันเตลิดเปิดเปิงได้ง่ายๆ  ด้วยเหตุนี้  พวกเรากลุ่มหนึ่ง  จึงจัดเวที ธรรมาธิปไตยเสวนา ขึ้น เพื่อเป็นเวทีรองรับคนที่ตื่นตัว รวมทั้งใส่ใจต่อเหตุการณ์และวันข้างหน้าของสังคมแต่อยากเข้าใจและมีส่วนร่วมด้วยสติและปัญญา ให้มีเพื่อนมาร่วมประเมินสถานการณ์  เรียนรู้  และดูแลสติปัญญา  เรียนรู้เข้าไปภายในตนเองให้เข้าใจตนเองและภาวะสังคมยามนี้ระดับลึก ซึ่งนอกจากจะเข้าใจสถานการณ์และจัดตนเองได้ดีที่สุดแล้ว เชื่อว่าจะเป็นเวทีสร้างปัญญา-สื่อสารกับสังคมได้เป็นอย่างดีทางหนึ่ง วิธีการและกระบวนการก็ดำเนินการอย่างไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก  กระบวนการหลักก็โดยการอ่านหนังสือ ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ (จุดบรรจบของรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์)  ซึ่งกลุ่มและเครือข่ายองค์กรที่ขับเคลื่อนทางปัญญาจำนวนหนึ่ง ได้ถอดเทปจากการสนทนาและตอบคำถามของเจ้าประคุณพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) แก่คณะบุคคลและเครือข่ายองค์กรพระพุทธศาสนา เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2549 ที่ผ่านมา  แล้วนำมาจุดประกายการพูดคุยกันในเวทีนี้

            เวทีนี้จะจัดในวันศุกร์ ที่ 24  มีนาคม  2549  เวลาบ่ายสองโมงครึ่งเป็นต้นไป  เจ้าภาพคือสมาชิกกลุ่มศาลายามเย็น ของทรานส์ทีม  มหาวิทยาลัยมหิดล และชมรมชีวเกษม ประชาคมซึ่งขับเคลื่อนการสรางสุขภาวะแบบองค์รวมอยู่ที่อำเภอพุมทธมณฑล นครปฐม  สถานที่คือ ห้องประชุม ณัฐ  ภมรประวัติ  สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท  มหาวิทยาลัยมหิดล  ศาลายา  จากกรุงเทพฯ  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขึ้นรถสาย  ปอ 515 และรถเมล์สาย 125  จากปิ่นเกล้า  ราชดำเนิน หน้าธรรมศาสตร์ และสนามหลวง  ขึ้น 124 ไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ เตรียมตัวเตรียมพลังใจ  ความเป็นมิตรทางปัญญาให้กันและกัน  พร้อมคิดและแสดงออกแบบให้สติปัญญาซึ่งกันและกัน แค่นี้ก็พอ ได้ผลอย่างไรจะถอดบทเรียนมาเล่าสู่กันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 20243เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
วิรัตน์ คำศรีจันทร์

        เป็นวงเสวนาเล็กๆ แต่กลุ่มคนที่คุยเป็นกลุ่มนักวิชาการและผู้นำทางสังคม  10  กว่าคน บรรยากาศของเวทีเสวนามีความเป็นกัลยาณมิตร  เคารพซึ่งกันและกัน

        ทิศทางการเสวนาและการสรุปบทเรียนของผู้ร่วมเสวนา เป็นไปในทางที่สอดคล้องกันว่า  สังคมกำลังวิกฤติหลายด้าน  กรณีการเมืองนั้น  เรากำลังวิกฤติภาวะผู้นำ และวิกฤติการพัฒนาทางการเมืองกับการพัฒนาเนื้อหาของสังคมไปไม่ทันกัน  สิ่งที่จะต้องร่วมกันฟื้นฟูให้มากขึ้นจึงเป็นธรรมาธิปไตย

        แนวคิดแบบหลวมๆก็คือ การสร้างสังคมที่แสวงหาปัญญา  แสวงหาความถูกต้อง  มีท่าทีต่อสิ่งต่างๆโดยใช้ความรู้  ความจริง  ความดี และความงาม  มากกว่าการใช้ความขัดแย้ง และความรุนแรง

        เวทีเสนอแนะการขับเคลื่อนแบบง่ายๆที่ต่างก็พากันทำได้ด้วยตนเองต่อไป คือ การเปิดเวทีพูดคุยกันแบบใช้ปัญญา  การทำเวทีกิจกรรมทางปัญญาที่หลากหลาย ทั้งในสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยและในชุมชน  ดดยเฉพาะชุมชนเมือง  การทำให้คนมีแหล่งสร้างสรรค์ทางปัญญาที่อยู่ใกล้ตัวและหลากหลาย  จะเป็นทางหนึ่งในการช่วยกันสร้างธรรมาธิปไตย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท