ปฏิบัติธรรมแบบพุทธมหายาน (3) : ความสุข


"เน้นการบรรลุธรรมโดยการทำประโยชน์แก่สังคม บรรลุธรรมท่ามกลางความยากลำบาก"

ความสุขของคนไต้หวันกับความสุขของคนไทย

         ก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะมาไต้หวัน   นิยามคำว่า  ความสุขที่ได้รับจากพุทธศาสนาแบบเถรวาทไทยก็คือ  การที่ได้อยู่สงบ ๆ นิ่ง ๆ ไม่มีใครมายุ่งกับเรา   และเป้าหมายสูงสุดในการแสวงหาธรรมะก็ต้องนั่งสมาธิ  หลับตา  ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้วสักวันหนึ่ง (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่?) เราจะสว่างโล่ง  เรียกว่า  เป็นความสุขขั้นนิพพาน

         แต่เมื่อมาถึงไต้หวัน  นิยามคำว่าความสุขเปลี่ยนไป  เพราะพุทธมหายานที่นี่สอนว่า  ความสุขจะเกิดต่อเมื่อได้ออกไปช่วยเหลือคนอื่นที่ลำบากยากเข็ญกว่าเรา   ด้วยรากฐานความคิดที่แตกต่างกันนี้ทำให้คนไทยไม่ค่อยนิยมหรือไม่มีกิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์เท่าใดนัก   ส่วนใหญ่จะถนัดจัดกิจกรรมนั่งสมาธิภาวนามากกว่า   และมองว่างานช่วยเหลือคนจนเป็นงานธรรมดา  ไม่ลึกซึ้งถึงโลกุตรธรรม   ให้ฝ่ายรัฐไปทำเอง   คนรวยในไทย (รวมถึงวัดที่มีเงินกองทุนมูลนิธิมากมาย)  จึงไม่มีการรวมตัวทำกิจกรรมสาธารณะกุศลมากเท่าไต้หวัน   ก็เพราะขาดกระแสการปลุกระดมโดยผู้นำทางศาสนาให้มากพอ   เงินที่วัดต่าง ๆ เก็บไว้ตามธนาคารในไทยไม่ได้ถูกใช้จ่ายหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่   กลายเป็นเพียงเงินคงคลังของแต่ละวัด   รอเพียงการใช้ดอกเบี้ยเท่านั้น

         เมื่อขาดผู้นำที่จะขวนขวายคิด - ทำกิจกรรมอันจะเกื้อกูลสังคมรอบวัด   ผู้คนก็ไม่คิดที่จะบริจาคเพิ่มเติมสมบท (อันนี้โยงใยไปถึงกรอบแนวคิดวัฒนธรรมของสังคมไทยด้วยที่ตีกรอบไว้แคบมากว่า  พระไม่ควรจะทำอะไรมากนัก  ควรอยู่เฉย ๆ ควรเป็นแบบอย่างของการปล่อยว่าง   ปล่อยวาง   อย่าขวนขวายเกินไปนัก   จะถูกตำหนิว่าจิตฟุ้งซ่าน  ไม่สงบ  พระควรมุ่งแต่การพาทำนั่งหลับตาทำสมาธิก็พอแล้ว   มรณภาพไปก็จะมีคนมายกย่องสรรเสริญล้นหลามเอง

         ต่างกับผู้นำศาสนาในไต้หวัน   ที่มีวัฒนธรรมสนับสนุนให้ท่านทำอะไรได้มากมายในสังคม   ไม่มีกรอบแคบคอยขีดเส้นให้เดิน   ขอเพียงเป็นกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้ว   ทำได้เต็มที่   ทั้งนี้เป็นเพราะคติทางมหายาน   ไม่ได้ถือว่าการปฏิบัติธรรมชั้นสูงคือการปล่อยวางเพื่อบรรลุสู่ขั้นอรหันต์   แต่คติพุทธมหายานมีปรัชญาทั้งกว้างทั้งยากขึ้นไปอีกว่า   หากพระอรหันต์บรรลุแล้วไม่กลับมาช่วยเหลือมนุษย์ในสังคม   ก็ไม่เป็นอุดมคติสูงสุดของความเป็นคน   จึงควรที่จะบำเพ็ญต่อไปในระดับโพธิสัตว์   คือ  ลงไปคลุกคลีเกลือกกลั้วกับความทุกข์ยากของชาวบ้าน   บรรลุธรรมท่ามกลางความลำบาก   กล้าแบกรับภาระของสรรพสัตว์ไว้   และตั้งจิตบำเพ็ญไปนานัปชาติ   ตราบจนกว่าจะสั่งสมเป็นประสิทธิภาพมากพอ   เรียกว่า "บารมีเปี่ยมล้น"  ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอีกองค์หนึ่งต่อไป   พระมหาเถระระดับสูงในไต้หวันเช่นท่านอิ้นซุ่นเถระ   ก็เทศน์ให้ชาวพุทธปฏิบัติธรรมด้วยการทำงานอยู่ในสังคม   จึงจะถือว่าเป็นงานลดความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง

วิจารณ์  พานิช
 18 มี.ค.49

หมายเลขบันทึก: 20238เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดิฉันกลับมองในมุมต่างกัน ดิฉันไม่ได้สนใจลึกซึ้งในการประกอบพิธีกรรมหรือปฏิบัติธรรม ขอมองในฐานะคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับที่บอกว่าความสุขในพุทธแบบเถรวาทมีเพียงแค่นั่งสมาธิ  เป็นความเข้าใจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการนั่งสมาธินะคะ เป็นการรวมจิตและกาย เพื่อให้จิตไม่ฟุ้ง จึงมีโอกาสได้อยู่กับตัวตนเพื่อพิจารณาสิ่งต่างๆได้แยบคายมากขึ้น รู้ปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่คิดถึงแต่ตนเอง นำสู่การแก้ไขปัญหาที่มีปัญญากำกับค่ะ นอกจากนี้กิจกรรมเพื่อสาธารณะไม่เพียงต้องเป็นภารกิจของสงฆ์ ชาวพุทธทุกคนควรจะได้โอกาสในการทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาไปด้วย การที่สงฆ์หลายแห่งไม่ได้มุ่งกิจกรรมดังกล่าวมิใช่ฆราวาทหรือค่ะที่ส่งเสริมให้เป็นไป พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีมีมากนะคะ เราต้องส่งเสริมท่าน แต่มุมมองนี้พอจะกระตุ้นให้เป็นไปได้หากไปในช่องทางที่ท่านสามารถรับทราบ และมีกระแสของสังคมร่วมกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท