ตำนาน นโม


เหตุใดหนอ จะกล่าวสวดเพื่อทำการกุศลใดๆ จึงต้องตั้ง "นโม" ก่อน

สรรพกิจทั้งหลายในพุทธศาสนพิธีจะเริ่มต้นด้วย นมการปาฐะ หรือปุพฺพภาคนมการคาถา ที่ว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า “นโม” เป็นคำอุทาน คือเปล่งวาจาออกมาด้วยความเลื่อมใสเบิกบานใจในพระพุทธคุณ หรือบาง ทีผู้นั้นมีความเลื่อมใสจับใจอยู่แล้ว มีเหตุมากระทบทำให้ตกใจ จึงได้อุทานว่า “นโม” เป็นต้น ในคัมภีร์ฎีกานโมกล่าวว่า สาตาคีรียักษ์ กล่าวว่า “นโม” อสุรินทราหูว่า “ตสฺส” ท้าวจตุมหาราชว่า “ภควโต” ท้าวสักกะว่า “อรหโต” และท้าวมหาพรหมว่า “สมฺพุทฺธสฺส” ท่านทั้ง ๕ นี้ ได้กล่าวถวายบังคม สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ เนื้อความของ “นโม” นั้นว่า...นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต กล่าวถึง “นโม” ไว้ในหนังสือมุตโตทัยว่า

“.....เหตุใดหนอ ปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นโม ก่อน จะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกขึ้นพิจารณา ได้ความว่า “น” คือธาตุน้ำ “โม” คือ ธาตุดิน พร้อมกับบาทพระคาถา ปรากฏขึ้นมาว่า มาตาเปติกสมุภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกัน จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้ “น” เป็นธาตุของมารดา “โม” เป็นธาตุของบิดา

ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟ ธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า “กลละ” คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เองปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ถือปฏิสนธิในธาตุนโมนั้น เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละ ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น “อัมพุชะ” คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น “ฆนะ” คือเป็นแท่ง และ “เปสี” คือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้าย รูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑

ส่วนธาตุ “พ” คือลม “ธ” คือไฟ นั้นเป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟ ก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่า เป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นเดิม ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย “น” มารดา “โม” บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อม เกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า บุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อน ใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดา จะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ทำให้กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิม ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของ ภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น “มูลมรดก” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่

เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อนแล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อม นั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตน ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ นโม นี้ เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะจากตัว “น” มาใส่ตัว “ม” เอาสระโอ จากตัว “ม” มาใส่ตัว “น” แล้วกลับตัว “มะ” มาไว้หน้าตัว “โน” เป็น “มโน” แปลว่าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจเต็มตามส่วน สมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้

มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ได้ใน พระพุทธพจน์ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจ คือมหาฐาน นี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตาม จนถึงรู้จักมโน แจ่มแจ้งแล้ว มโนก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมมติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมมติบัญญัติตามกระแส แห่งน้ำโอฆะ จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราไปหมด...”

คำสำคัญ (Tags): #นโม
หมายเลขบันทึก: 201826เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2008 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท