แผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับที่ 1พ.ศ.2551-2554(ตอนที่ 1 )


สาระของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2551-2554

คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ  ได้จัดทำเอกสาร แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2551-2554 ส่งมาให้จังหวัดขอนแก่น 2 เล่ม (คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์นี้เมื่อวันที่  22 มกราคม 2551)  เพื่อให้เราได้ใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อน...  อ่านแล้ว..เป็นเอกสารวิชาการที่มีประโยชน์มากคะ  ข้อมูลเป็นปัจจุบัน..เลยขออนุญาตนำสาระมาเล่าในบันทึกนี้นะคะ..

 

                                  

     บทนำได้เกริ่นให้ทราบว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 ได้สนับสนุนให้มีเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ  เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยและพร้อมที่จะเป็นครัวโลกในอนาคต  ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่  16 ตุลาคม  2550 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ  ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม) เป็นประธาน และมี สศช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม  กรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง  ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ  เอกชน  องค์การพัฒนาเอกชน  ผู้ทรงคุณวุฒิและปราชญ์ชาวบ้าน เป็นกรรมการ  ได้ร่วมพิจารณาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับนี้ขึ้นมา..

     แนวคิดและหลักการ

  1.  ยึดแนวคิดการพัฒนาแบบองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง   ทั้งกลุ่มผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกรที่ผลิตวิถีพื้นบ้านและเกษตรกรที่ผลิตเชิงพาณิชย์  กลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้ประกอบการ  ให้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเป็นธรรม  เพื่อแก้ปัญหาความยากจน  การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  2. แนวทางการพัฒนาอยู่บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นไปในทางสายกลาง  มีความสมดุล พอประมาณ  มีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้มกัน สอดคล้องกับภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ และวิถีชีวิตดั้งเดิม  เป็นการพัฒนาตามลำดับขั้น  โดยเริ่มจากการผลิตเพื่อพอมี พอกิน  พอใช้  ให้พึ่งตนเองได้ และพัฒนาไปสู่การแลกเปลี่ยนและการรวมกลุ่มช่วยเหลือพึ่งพากันในชุมชนให้เข้มแข็ง  แล้วจึงพัฒนาเป็นการผลิตเชิงการค้าและขยายเครือข่ายเชื่อมสู่การค้าระดับประเทศและการส่งออกต่อไป
  3. เน้นการดำเนินงานในเชิงบูรณาการการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ  และการทำงานที่เป็นเอกภาพระหว่างภาครัฐ  ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน  เครือข่ายเกษตรกรและศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน
  4. เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะ 4 ปี ที่ต่อยอดการพัฒนาที่ผ่านมา  โดยนำประสบการณ์ที่ผ่านมาของทั้งภาครัฐ  เอกชน และองค์กรต่างๆมาต่อยอดการพัฒนา....

     ยุทธศาสตร์การพัฒนา   มี  4 ยุทธศาสตร์หลัก

  1.     ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม   มีมาตรการ 3 ด้าน ได้แก่
  •      การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมทั้งห่วงโซ่อุปทาน  ตั้งแต่การผลิต  ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว  การแปรรูป  บรรจุภัณฑ์  การขนส่ง  ไปจนถึงการตลาดเพื่อสร้างมูลค่า
  •      การส่งเสริม ให้มีการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ทั้งต่อผู้ผลิต  ผู้ประกอบการ  ผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่
  •     การจัดทำฐานข้อมูลด้านเกษตรอินทรีย์ในทุกระดับ  โดยจัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

   2.     ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพื้นบ้าน  มีมาตรการ 2 ด้าน ได้แก่

  •     การพัฒนาการผลิตและสร้างเครือข่ายสู่การพึ่งพาตนเอง  โดยสนับสนุนให้มีการผลิตปัจจัยการผลิตที่เป็นอินทรียวัตถุอย่างเพียงพอ เช่น เมล็ดพันธุ์  ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น
  •    การพัฒนาช่องทางการตลาดรองรับผลผลิตส่วนเกิน  โดยพัฒนาและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทางการค้าและการตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์  โดยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการที่จะนำผลิตภัณฑ์สินค้าอินทรีย์ในท้องถิ่นออกสู่ตลาด  รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของตลาดชุมชนและตลาดเชิงสถาบันอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงเรียน  โรงพยาบาล เป็นต้น

   3.    ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างศักยภาพการเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์  มาตรการ 3 ด้าน ได้แก่

  •    การพัฒนาการผลิตและเครือข่ายทั้งระบบเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง โดยสนับสนุนการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร  สถาบันเกษตรกรและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
  •    การพัฒนาระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย  โดยศึกษาทบทวนและพัฒนาระบบมาตรฐานและการตรวจรับรองของประเทศให้เป็นระบบ  และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • การพัฒนาการตลาดสู่สากล  โดยจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง

   4.   ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์  มี มาตรการ 2 ด้าน ได้แก่

  •      การจัดให้มีกลไกระดับนโยบายในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นเอกภาพ  มีการบูรณาการแผน  งบประมาณและประสานการปฏิบัติกับทุกภาคส่วนในทุกระดับ และติดตามประเมินผลการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
  •     การจัดให้มีระบบการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในทุกระดับ  โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์และเสริมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ...

        ..เป็นเนื้อหาวิชาการ..เรารับผิดชอบในส่วนใด..ก็ร่วมขับเคลื่อนในส่วนนั้นนะคะ...

หมายเลขบันทึก: 201804เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2008 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท