ศักราช
อาจารย์ ศักราช ลุงปั๋น ฟ้าขาว

ความเชื่อข้อห้ามขึดล้านนา : อดีต ปัจจุบัน อนาคต(๑)


ผู้คนในล้านนาเรียกตนเองว่าคนเมือง แต่คนต่างถิ่นมักจะเรียกว่า ชาวโยน หรือ ยวน

บทนำ

              อาณาจักรล้านนา  เป็นอาณาจักรที่ก่อตัวจากกลุ่มบ้านเมืองที่มีการปกครองเป็นแคว้นอิสระมีความสัมพันธ์กันทั้งในทางการเมือง ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรม ก่อนการกำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐโบราณไม่มีอาณาเขตที่ชัดเจน แต่ก็พอมีหลักฐานกล่าวถึงประมาณอย่างคร่าว ๆ ได้ว่า อาณาเขตทางทิศใต้จดเมืองตาก(อำเภอบ้านตาก) และจดเขตแดนด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันตกจดแม่น้ำสาละวินฝั่งซ้าย ทิศตะวันออกจดแม่น้ำโขงฝั่งขวา ทิศเหนือจดเมืองเชียงรุ่ง  เมืองในบริเวณส่วนชายขอบของล้านนา เป็นส่วนที่รัฐล้านนาแผ่อิทธิพลไปถึงในบางสมัยเท่านั้น เช่น เมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย เป็นต้น  ในปัจจุบันล้านนาหมายถึงดินแดน 8 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่านและแม่ฮ่องสอน มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสำคัญของดินแดนล้านนานับจากอดีตถึงปัจจุบัน(สรัสวดี   อ๋องสกุล, 2539,หน้า 23-25)

                  ผู้คนในล้านนาเรียกตนเองว่าคนเมือง* แต่คนต่างถิ่นมักจะเรียกว่า ชาวโยน หรือ ยวน  มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรม อารยธรรม สร้างวัดวาอาราม ขุดคูเมือง สร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆประดิษฐ์คิดค้นและปรับประยุกต์เทคโนโลยี ผลิตงานศิลปกรรม วรรณกรรม และหัตถกรรมต่าง ๆ ทิ้งไว้เป็นหลักฐาน เป็นมรดกของแผ่นดินมากมาย (กรมศิลปกร, 2540,หน้า 8 )

                นอกจากนั้นสังคมล้านนา ผู้คนยังผูกพันอยู่กับความเชื่อที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน เกิดเป็นพฤติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ จากพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ความเชื่อทางโหราศาสตร์ (มณี  พยอมยงค์, 2537 หน้า 4) ความเชื่อของชาวบ้านในลักษณะข้อห้ามเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของมรดกทางปัญญาที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะได้มีส่วนกำหนดพฤติกรรมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการดำรงชีพตลอดจนความสงบเรียบร้อยของสังคม สิ่งที่เป็นข้อห้ามของชาวล้านนาไทยจะมีในลักษณะไม่ดีไม่งาม ไม่ควรกระทำ ชาวล้านนาเรียกลักษณะดังกล่าวนี้ว่า ขึด  (สุวรัฐ  แลสันกลาง, 2541,หน้า 1-2)

            ในกระแสโลกยุคโลกาภิวัตน์ บริบทของสังคมล้านนาเกิดการเปลี่ยนแปลง อันเกิดจากระบอบทุนนิยมหรือเสรีนิยม ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิม ความเชื่อด้านต่าง ๆ ตลอดถึงขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ทำให้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมล้านนาในภาพรวม  บทความนี้ประกอบด้วยความเชื่อของชาวล้านนา  ลักษณะข้อห้ามขึดล้านนาในอดีต และบทวิเคราะห์ข้อห้ามขึดที่จากสภาพบริบทในปัจุบันและอนาคต



* จิตร  ภูมิศักดิ์ อธิบายคำว่า คนเมือง เป็นคำที่ชาวล้านนาคิดว่า คำว่าไท(ยวน) ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อตนเองมาแต่ดั้งเดิมที่ใช้ร่วมกับคนไทกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทโหลง(ไทใหญ่) ฯลฯ นั้นเมื่อผ่านการเป็นเมืองขึ้น ของพม่าและมาตกเป็นเมืองขึ้นของสยามอีก ชาวล้านนารู้สึกว่าคำว่า ไท หรือ ไต นั้นไม่พอเสียแล้ว เพราะแม้แต่ไทด้วยกันก็ดูถูกกันเอง พม่าก็ดูถูกไทจึงเรียกตนเองว่า คนเมือง คงจะดีกว่าเพราะเป็นการประกาศว่าตนนั้นเป็นชาวเมืองไม่ใช่ คนป่าคนดอย(อรุณรัตน์  วิเชียรเขียว,2543, หน้า 41)

หมายเลขบันทึก: 201009เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท