การเมืองกับการศึกษา


การศึกษากับการเมือง

เอกสารประกอบการศึกษา

วิชา  430542  รัฐศาสตร์กับการศึกษา  (Politic  &  Education)

สาขาการบริหารการศึกษา   คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา

**********************************

 

การเมือง เรื่องการปฏิรูปการศึกษา

โดย วิชัย ตันศิริ

เป็นที่เข้าใจกันอย่างแพร่หลายในแวดวงการศึกษาว่าวิชาพื้นฐานทางการศึกษานั้นประกอบด้วยวิชาปรัชญา สังคมวิทยา และจิตวิทยา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเสาหลักของการจัดการศึกษา แต่ปัญหาของการจัดการศึกษาทุกยุคทุกสมัย และมักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ปัญหาทางการเมืองแต่ศาสตร์การเมืองนั้น เราศึกษากันน้อยมากในแวดวงการศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจที่การพัฒนาการศึกษา หรือแม้แต่การปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน จึงสะดุดลงเพราะปัญหาการเมืองอาจจะกล่าวเป็นหลักการทั่วไปได้ว่า การเมืองเป็นปัจจัยตัวแปรที่มีความสำคัญในทุกยุคทุกสมัย สำหรับสังคมไทยการแบ่งขั้วการเมืองเรื่องการศึกษา อาจไม่ชัดเจน หรือแผ่วเบามาก  แต่ในสังคมตะวันตกโดยเฉพาะประเทศที่มีพรรคการเมืองฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย แบ่งกันชัดเจน เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส พรรคการเมืองแต่ละขั้วจะมีอุดมการณ์ทางการศึกษาแตกต่างกัน   เช่น พรรคคอนเซอร์วาตีพ (อนุรักษ์นิยม) ในอังกฤษ จะให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาที่เน้นการพัฒนาจิตใจและสติปัญญา และเน้นความเป็น "หัวกะทิ"ส่วนพรรคเลเบอร์ (พรรคกรรมกร) อาจจะให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาให้แก่คนกลุ่มใหญ่ เน้นความเสมอภาคของโอกาส เป็นต้น หรือในฝรั่งเศส พรรครัดดิคาล (ฝ่ายซ้ายเสรีนิยม) ซึ่งต่อต้านการสอนศาสนาในสถานศึกษาของรัฐ ส่วนพรรคฝ่ายขวาที่ยึดหลักศาสนา จะเห็นชอบให้สอนศาสนาในสถานศึกษา ฉะนั้นการจัดการศึกษาของฝรั่งเศส องค์กรศาสนาคาทอลิก จึงจัดเอง โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ส่วนในโรงเรียนที่รัฐจัดเอง จะไม่สอนศาสนา เป็นต้น ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ ในสมัยก่อนยิ่งเน้นบทบาทของการศึกษาในการสร้างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ส่วนประเทศที่พรรคนาซี ฟาสซิสท์ เป็นผู้คุมอำนาจรัฐ การจัดการศึกษาก็จะมีแนวของการปลูกฝังแนวคิดและอุดมการณ์ของลัทธิเหล่านี้ 
                สำหรับสังคมไทยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่มีการแบ่งแยกทางอุดมการณ์แน่ชัดการจัดการศึกษา จึงมิใช่ประเด็นที่ทำให้เกิดแตกแยกทางความคิดแต่ "การเมือง" ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการศึกษา
"การเมือง" ดังกล่าวคือการเมืองเรื่อง "อำนาจ" และ "ผลประโยชน์" มิใช่การเมืองเรื่องลัทธิ-อุดมการณ์และการเมืองในความหมายดังกล่าว แทรกซ้อนมาในแวดวงการศึกษานับตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม ของการจัดการศึกษาไทยตามแผนใหม่ จากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจนถึงปัจจุบันผู้ที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ อาจจะเคยได้เห็นหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ The Politics of Reform in Thailand : Education in the Reign of  King Chulalongkorn ของเดวิด ไวอัท (David Wyatt) (การเมือง เรื่องการปฏิรูปในประเทศไทย : การศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ)  หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงจุดกำเนิดของการศึกษาแผนใหม่ในประเทศไทย และได้กล่าวถึงการแบ่งภารกิจการจัดการศึกษา ระหว่างกระทรวงธรรมการ และกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2441 โดยการประถมศึกษา ได้มอบให้สมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระสังฆราช) จัดร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ส่วนกระทรวงธรรมการ จัดมัธยมศึกษา และประถมศึกษาในกรุงเทพฯ   ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การศึกษานั้นขึ้นอยู่กับสองกระทรวงตั้งแต่เริ่มแรก และแม้ต่อมาจะได้โอนการศึกษาประชาบาล กลับมายังกระทรวงศึกษาธิการ แต่เมื่อถึงยุคจอมพลสกฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ได้มีการจัดโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯใหม่ แบ่งการอุดมศึกษามาบริหารนอกกระทรวง (ให้สภาการศึกษาดูแล) และต่อมา พ.ศ.2508
ได้แยกการศึกษาประชาบาลออกไปให้กระทรวงมหาดไทยจัดในนามขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น  การเปลี่ยนสังกัดดังกล่าวนี้ ในทรรศนะของนักรัฐศาสตร์การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเกมแย่งชิงผลประโยชน์ และอำนาจระหว่างเสนาบดีเจ้ากระทรวง  
                นักวิชาการจากต่างประเทศเช่นศาสตราจารย์เฟรค ริก ถึงกลับลงความเห็นว่า นี่คือการเมืองของระบบ "อำมาตยาธิปไตย" (
Bureaucratic Polity) ที่ข้าราชการประจำระดับเจ้ากระทรวง จะแย่งชิงทรัพยากรกันโดยไม่มีระบบการกำกับดูแลจากรัฐสภา หรือประชาชน   อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ระบบรัฐสภาเริ่มมีความหมายและความสำคัญ อีกทั้งมติมหาชน ก็กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทางการเมือง ขบวนการและแนวคิดของครูก็เริ่มจะมีความเป็นตัวเป็นตนขึ้น และครูประชาบาลเหล่านี้ก็ได้ดิ้นรนที่จะเป็นอิสระจากการบริหารภายใต้ร่มของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในที่สุดก็กลับมารวมอยู่ในกำกับกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2523
  ปัจจุบัน
                เมื่อได้มี พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.
2542 และมี พ.ร.บ.เรื่องการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเด็นเรื่องการย้ายสังกัดของโรงเรียนประถม ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบที่เรียกว่า "การโอน" และครูประถมศึกษาส่วนใหญ่ก็คัดค้านการโอน ดังที่เป็นเรื่องเป็นราวตลอดหลายเดือนที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน ประวัติศาสตร์เหมือนจะซ้ำรอยแต่ที่ดูน่าประหลาดก็คือขณะที่ครูโรงเรียนประถมศึกษา ไม่ต้องการจะโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็มีครูโรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวนหนึ่งที่ต้องการโอนไป จะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไรสืบสาวดูเรื่องราวก็อดกลับมาสู่ประเด็นการเมืองไปไม่ได้ แต่คราวนี้ เป็นประเด็น "
การเมือง" ภายในองค์กรเป็นประเด็นระหว่างครูประถม และครูมัธยมศึกษา ซึ่งแบ่งเป็นฝักฝ่าย ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะระบบการบริหารของสำนักงานการศึกษาพื้นฐาน หรือเพราะโครงสร้างการจัดระบบการบริหารปรากฏการณ์เช่นนี้ เท่ากับเป็นการเตือนใจให้คิดอีกครั้งว่า ในการปฏิรูปการศึกษาอย่าได้ลืมประเด็นการเมืองเป็นอันขาด และหน้าที่ของผู้วางกรอบนโยบาย ก็คือต้องหาทางลดประเด็นการเมืองหรือจัดโครงสร้างการบริหาร เพื่อลดปัญหาการเมืองให้มากที่สุดที่จะมากได้โดยเหตุที่การบริหารแบบไทย (หรือแม้แต่ฝรั่ง) อดที่จะแย่งชิงทรัพยากรและแย่งชิงความเป็นใหญ่อยู่เสมอ แนวทางปฏิรูปที่แท้จริงคือจะหาทางปลดแอก จากความเป็นอัตตา และอำนาจนิยมได้อย่างไรจะปฏิรูปกระบวนทัศน์ (ค่านิยม อุดมการณ์ จริยธรรมการทำงาน) ที่เน้นอำนาจไปสู่กระบวนการปลดปล่อย ที่ให้ความเคารพนับถือ เพื่อนร่วมงานอย่างผู้เท่าเทียมกันได้อย่างไรตัดเส้นสายของการบังคับบัญชาไปสู่การบริหารแนวราบที่เน้นหลักวิชาและคุณภาพอย่างไร  การปฏิรูปการศึกษาได้แสดงความปรารถนาที่จะเห็นสถานศึกษา บริหารตนเอง โดยหมู่คณะครูอาจารย์ ที่ร่วมมือกันพัฒนาโรงเรียนของตนเองให้เป็นองค์กรเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยทางหน่วยเหนือก้าวก่ายให้น้อยที่สุด กระจายอำนาจการตัดสินใจด้านวิชาการ การเงินการบริหารบุคคล มาให้สถานศึกษาให้มากที่สุด เรียกว่า การบริหารโดยยึดโรงเรียนเป็นฐาน  ในแนวคิดของการปฏิรูปการศึกษา สถานศึกษาจะต้องมีความสามารถที่จะบริหารตนเองได้ด้วยความร่วมมือจากชุมชน ที่เข้าร่วมเป็นกรรมการสถานศึกษา และด้วยความร่วมมือขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น  ส่วนหน่วยเหนือควรทำหน้าที่เพียงกำกับตามหลักวิชาการศึกษา มิใช่เข้ามาบริหารฉะนั้นเรื่องการโอน การย้ายสังกัด จึงไม่ควรจะกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันส่วนบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสองบทบาท คือ
                -  บทบาทแรกสนับสนุนสถานศึกษาในเขตพื้นที่ของตน
                -  บทบาท ประการที่สอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดแผนดำเนินการเพิ่มเติมจากการจัดการศึกษาที่มีอยู่แล้ว เช่น หากสถานศึกษาที่มีอยู่แล้วดำเนินการไม่ได้ตามเป้าหมายและความต้องการของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจดำเนินการจัดขึ้นเอง เช่นจัดสถานศึกษาขนาดเล็กใกล้บ้าน จัดศูนย์เยาวชน เพื่อการศึกษานอกระบบ จัดทุนการศึกษาให้ลูกหลานในท้องถิ่น เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลมารับใช้ท้องถิ่นของตน จัดการศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางร่างกาย และจิตใจ ฯลฯ และรัฐบาลก็ควรจะแบ่งงบฯ การศึกษา มาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแผนการพัฒนาการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนสถานศึกษาที่อยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ควรให้ความสำคัญต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในฐานะพันธมิตร และผู้ที่จะเข้ามาช่วยอุปถัมภ์การศึกษา ตลอดจนในฐานะที่ท้องถิ่นเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง จากการจัดการศึกษาของสถานศึกษา การตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น จึงมีความสำคัญเท่าๆ กับการตอบสนองต่อความต้องการระดับชาติวัฏจักรของการเมืองเรื่องการย้ายการโอนสถานศึกษา ซึ่งมีมานับแต่แรกเริ่มก็ควรจะได้ยุติกันเสียที เพราะผู้ที่น่าจะมีอำนาจที่แท้จริง คือสถานศึกษา และชุมชนรอบสถานศึกษามากกว่ากระทรวง หรือองค์กรบริหารใดๆ ทั้งสิ้น

 แหล่งที่มา :  มติชนรายวัน วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2549  หน้า 7  ปีที่ 29 ฉบับที่ 10182

ออกเอกสารโดย  นายไพฑูรย์  ทิพยสุข  รหัส  50926683

หมายเลขบันทึก: 200527เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2008 01:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอคุณเนื้อหานะค่ะ

ให้ความรู้มากค่ะ

ขอบคุณสำหรับเนื้อหานะคะ

กำลังเรียนเรื่องการเมืองกับการจัดการศึกษา

สาขาการบริหารการศึกษา

ขอบคุณนะค่ะกำลังเรียนวิชานี้พอดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท