50 ปี โรงพยาบาลน่าน


สำหรับผมแล้ว “ห้อง 3” คือ ห้องวิเศษที่รักษา “โรค” ของ “โลก” และเปลี่ยนชีวิตสาธารณะที่มีความทุกข์ทางสังคม เป็นชีวิตสาธารณะที่มีความสุข คือ สาธารณสุข ครับ

50 ปี โรงพยาบาลน่าน

โดย  นายสำรวย  ผัดผล  ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน

27 มิถุนายน  2551

เขียน... ณ ห้องพิเศษ 206 ตึกศัลยกรรมชาย โรงพยาบาลน่าน   เขียน... ขณะที่เฝ้าไข้คุณพ่อที่เพิ่งออกจากห้องผ่าตัด นอนรอการฟื้นสภาพ   เขียน... ในห้องเดือนที่สมาชิกในครอบครัว ครองเตียง ในโรงพยาบาลน่านกันมานานเป็นเกือบ 3 อาทิตย์เข้าไปแล้ว จากลูกชายคนเล็กที่ผ่าตัดไส้ติ่ง ต่อด้วยไข้เลือดออกอีกหนึ่งโรคพร้อมทั้งจูงพี่ชายเข้ามาอีกคนหนึ่ง พอนำลูกชายทั้ง 2 กลับ แม่ยายก็เข้าต่อ แม่ยายกลับถึงหัวกะไดบ้านเสร็จ พ่อตัวเองก็ผลัดไม้เข้าผ่าตัด และเข้ารักษาอีกหลายอาการด้วยวัยที่ร่วงโรย….ผมจึงเข้าๆออกๆ ในโรงพยาบาลน่าน จึงได้เดินทะลุหลายตึก หลายหน่วยบริการ พบปะพูดคุยหลายๆ หมอ หลายๆ พยาบาล ญาติมิตรคนไข้ท่านอื่นๆ จนกลายเป็นเสมือนหนึ่งบ้าน และชุมชนของผมแห่งหนึ่งไปด้วย

เขียน....ขึ้นครั้งนี้   ไม่ขอกล่าวถึงคำชม คำติในฐานะผู้ใช้บริการ จากสถานบริการสุขภาพของประชาชนที่ชื่อ โรงพยาบาลน่าน แล้วเข้าใจดีว่าผู้ใช้บริการรู้เห็นเป็นประจักษ์กันอยู่แล้วในหมู่ประชาชนชาวจังหวัดน่าน นับตั้งแต่มีโรงพยาบาลมาจวบจนทุกวันนี้ เช่นดังที่ครอบครัวของผมได้รับอยู่ขณะนี้นี่คือ รักษาโรค รักษาคนป่วย เขียนถึงโรงพยาบาลน่านในมุมหนึ่งที่อยากบอกที่ผมเองได้เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลในฐานะ คณะทำงานศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ที่คนในโรงพยาบาลรู้จักกันว่า ห้อง 3” หรือ ห้องประชุม 3 ข้างๆ ห้องผู้อำนวยการคณิต  ตันติศิริวิทย์ ที่มีอีกฐานะหนึ่งคือ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน

                ศูนย์ฯ นี้ก่อเกิดจากคณะผู้ก่อการจำนวนหนึ่งที่มีบุคคลพิเศษ คือพ่อหมอบุญยงค์ วงค์รักมิตร เป็นแม่เหล็กใหญ่ที่ดึงเอากัลยาณมิตรจากทั่วทุกสารทิศแวะเวียนกันเข้าไปเป็นชุดทำงานประเภทต่างๆ บางประเภทเป็นแบบชั่วคราวเฉพาะกิจ บางประเภทเป็นแบบโครงการระยะสั้นหรือระยะยาวไปตามแต่ผลของการปรึกษาหารือ และเงื่อนไขในการจัดตั้งขึ้น ตั้งขึ้นทำไม คนไม่ใช่บุคลากรสาธารณสุข และก็ไม่ใช่คนไข้มาใช้อุปกรณ์จากงบประมาณโรงพยาบาลทำไม? มันเป็นกิจ (ภารกิจ) ของหมอหรือไม่ที่ไปยุ่งกับสังคม? หรืออีกหลายคำถามที่ประเดประดังกันเข้ามา ทั้งคนนอก และคนใน จนหลายครั้งคนมอง ห้อง 3” เหมือนห้องพิเศษ ประหลาดๆ ที่งอกมาผิดภารกิจ งุนงงในบทบาท และหน้าที่ พี่น้องครับผมขออธิบายว่า ห้อง 3” ไม่ได้งอกจนผิดปกติ เหมือนอวัยวะที่งอกมาแล้วทำหน้าที่ผิดเพี้ยนออกไปจนต้องเฉือนต้องตัดให้ร่างกายกลับเป็นปกติ แต่นี่ คือห้องพิเศษ หรืออวัยวะพิเศษที่เกิดขึ้นในการรักษาโรคของสังคม หลายๆ โครงการเกิดขึ้นจากการพูดคุยบนโต๊ะกลม (รูปทรงสี่เหลี่ยม) จากห้อง 3 แล้วแก้ทุกข์ให้กับชาวบ้านชาวน่านได้ เช่น กองทุนขวัญข้าวน่าน แก้ทุกข์นาล่มหลังน้ำท่วม ปี 49

การฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ โครงการผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ จนวันนี้นักเดินทางที่มาจังหวัดน่าน หรือบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารระดับสูง และนักพัฒนาหลากหลายสาขา รู้จัก ห้อง 3” พอๆ กับชื่อเสียงของขบวนการภาคประชาสังคมอื่นๆ ของจังหวัด และเป็นกลไกหนึ่งที่เป็นฟันเฟื่องขับเคลื่อนสังคมให้เปลี่ยน ทุกขภาวะ เป็น สุขภาวะ เกิดขึ้นมาในสังคมน่าน ต้นแบบ ถูกยืนยันจากเวทีแห่งนี้ บทเรียนดี ถูกขยายจนเป็นนโยบายสาธารณะของประเทศก็เกิดขึ้นที่นี่

สำหรับผมแล้ว ห้อง 3” คือ ห้องวิเศษที่รักษา โรค ของ โลก และเปลี่ยนชีวิตสาธารณะที่มีความทุกข์ทางสังคม เป็นชีวิตสาธารณะที่มีความสุข คือ สาธารณสุข ครับ

หมายเลขบันทึก: 200421เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2008 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • น่าสังเกตว่า เดี๋ยวนี้ โรงพยาบาลทำหน้าที่แทนบ้านไปแล้วครับ
  • โรงพยาบาลเป็นทั้งที่เกิด และที่ตายของคน
  • บางที่ก็มีร้านอาหาร มีสนามเด็กเล่น
  • ถ้าเป็นโรงบาลเอกชนนี่มีหนังให้ดูด้วย แถมมีศูนย์ออกกำลังกายอีก
  • แต่สิ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลต่อให้ทันสมัยใหญ่โตแค่ไหน จะมาแทนบ้านไม่ได้ ก็คือความรักความผูกพัน
  • วิธีคิดของคนต่อบ้าน กับโรงพยาบาลจึงต่างกันลิบ
  • ผมก็คิดว่า ส่วนใหญ่คนก็ยังชอบบรรยากาศของบ้านที่มีความผูกพันมากกว่านะครับ
  • เวลาคุยงานหรือประชุม กลุ่มเล็กๆนี่ผมจึงชอบไปคุยที่บ้านนะครับ
  • แวะมาเยี่ยมบ้านของคุณสำรวยแล้วนะครับ

ทำไม รพ.น่านตอนนี้เขาเอานโยบายอะไรมาใช้โดยปล่อยแอร์เข้าห้องพิเศษเวลา 1300

ของทุกวัน บางวันเช้าหน่อยก็ 1230 คนป่วยก็ร้อนแถมจ่ายค่าแอร์เต็มตามจำนวน รพ.ปัวไม่เห็นทำกับผู้ป่วยแบบนี้ ผอ.มีใจเป็นแพทย์หน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท