เรื่องข้าว... และชาวนา


ข้าว

เรื่องข้าว... และชาวนา

ข้าวเม็ดใหญ่ สามก๋ำ

บ่ต้องต่ำต้องตาก

เอาพร้าถาก นึ่ง และหุงกิ๋น...

                                                                                เพลงซอพื้นบ้านเมืองน่าน

 

คล้ายกับเรื่องเล่าปรัมปรา...ที่รับฟังมาแต่เด็ก ข้าวนั้นแต่เดิมใหญ่เท่าลูกฟัก จะเข้าสู่เล้า สู่เยือ (ยุ้งข้าว) เอง ต่อมาแม่หม้ายไม่เคารพแม่ขวัญข้าว และใช้ไม้คานตีเม็ดข้าว จึงแตกเป็นเม็ดเล็กๆ และชาวบ้านต้องปลูกแล้วขนสู่ยุ้งข้าวเอง นับจากนั้นมาเมล็ดข้าวจึงมีเม็ดเล็กแล้ว ต้องปลูกเอง จึงจะมีกิน...

                ข้าว เป็นเจ้าเป็นเทพ ชาวนานับถือบูชาเทพของข้าว คือแม่ขวัญข้าว ต้องกราบไหว้บูชา ต่อมาชาวนาหันมากราบไหว้ พระพุทธเจ้า และสาวก ที่เผยแพร่ศาสนา...แม่ขวัญข้าวจึงหนีไปดินแดนดับสิ่ง ร้อนถึงพระอินทร์ต้องแปลงกายเป็นนกขนปุยลอบเข้าไปดินแดนที่เก็บกักข้าวไว้ เมื่อบินออกมาต้องโดนกับดักมากมาย ขนหลุดติดอยู่กับดัก นกขนปุยสามารถนำเมล็ดข้าวได้เพียงหนึ่งเมล็ด นำมาให้ชาวนาปลูก นับแต่นั้นต่อมา ชาวนาจึงมีข้าวเต็มทุ่ง เต็มนา มีอาหารสมบูรณ์

เพลงพื้นบ้าน ตำนานปรัมปราพื้นบ้าน สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องข้าว และชาวนาที่ผูกพันในฐานะอาหาร และเทพที่ชาวนาเคารพเสมือนแม่ เมื่อวันใดชาวนาไม่มีอาหารไม่มีแม่ ชาวนาก็จะเดือนร้อน การนำ เมล็ดข้าวกลับคืนสู่นาอีกครั้ง มีความยุ่งยาก และเต็มไปด้วยภยันตราย เมื่อคืนนาแล้ว หลังเก็บเกี่ยวต้องสู่ขวัญแม่ขวัญข้าวทุกปี...

ชาวนา วันนี้ กับวิถีปฏิบัติต่อแม่ขวัญข้าว

                เมื่อเริ่มไถหว่าน ครั้งใหม่ของชาวนารุ่นใหม่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ พ่นยาฆ่าหญ้าบนคันนา ในผืนนาแล้วตามด้วยควายเหล็กทั้งไถดะ ไถแปร ไถพรวน ทำเทือก แบบม้วนเดียวจบ ใส่ปุ๋ยรองพื้น หว่านยาคลุม แล้วย้ายกล้าปลูก

                จากนั้นก็บำรุงด้วยปุ๋ย ในระยะแตกกอ ระยะเติบโต พร้อมๆ กับกำจัดแมลงด้วยสารเคมี รอจนเก็บเกี่ยว มีพ่อเลี้ยงโรงสีจัดการให้แล้วเสร็จ ชาวนารอแต่นัดพบกับพ่อเลี้ยงเพื่อเคลียร์ต้นทุน หักกลบลบหนี้เสร็จที่เหลือคือ กำไร ทำเช่นนี้ทั้งนาปี นาปรัง ไม่มีพิธี ไม่มีสู่ขวัญข้าวอีกแล้ว

                วันนี้ชาวนา ทำนาปีก็ได้หนี้กับซัง ทำนาปรังก็ได้ซังกับหนี้ สายพันธุ์ข้าวก็หลงเหลือไม่กี่สายพันธุ์ รู้จักเพียง กข.6, กข.10, สันป่าตอง,...รู้จักกับโรค แมลง และยาเคมีชนิดใหม่ๆ เรื่อยๆ ข้าวพื้นเมืองหายไปไหน? จะกลับมาอย่างไร? ชาวนาจะฟื้นฟูตนเอง สร้างสุข คืนดีกับแม่ขวัญข้าว สร้างรายได้จากข้าวได้อย่างไร?

ข้าวพื้นบ้าน และการพัฒนา

ข้าวปลูกของไทย ทั้งข้าวป่าเคยถูกศึกษารวบรวม จัดเก็บในธนาคารเชื้อพันธุ์แห่งชาติที่ปทุมธานีถึง 17,200 ตัวอย่าง เป็นของภาคเหนือถึง 4,079 ตัวอย่าง และเป็นของน่านถึง 780 ตัวอย่าง(ข้อมูลจากธนาคารเชื้อพันธุ์แห่งชาติ) จากการสำรวจของมูลนิธิฮักเมืองน่าน เมื่อปี 2537 ข้าวในเมืองน่านมี 316 ตัวอย่าง

การจัดเก็บนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว พันธุ์ใหม่ๆ สู่นา การยอมรับข้าวพันธุ์ใหม่ๆ คือการแทนที่ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ข้าวพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง อร่อย ตอบสนองต่อวิถีการผลิตแบบใหม่ที่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี และเครื่องไถพรวนจักรกล

                ขณะที่ข้าวพื้นบ้านก็ถูกจัดเก็บไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ เพื่อเป็นวัตถุดิบทางพันธุกรรมในการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคต การพัฒนาเกิดขึ้นจากการริเริ่มของนักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา แล้วนำกลับมาสู่ชาวนาใหม่ ในฐานะผู้ใช้พร้อมๆ กับกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ของนักส่งเสริมการเกษตร ชาวนารอรับเทคโนโลยี และรอรับเมล็ดพันธุ์ดีจากผู้เชี่ยวชาญ เกือบครึ่งศตวรรษ เข้าไปแล้ว

                ความสูญเสียพันธุ์ข้าวหายไปพร้อมๆ กับความรู้พื้นบ้านที่กำกับใช้พันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ และที่สำคัญชาวนาสูญเสียความมั่นใจในตนเองว่า ความรู้ และพันธุ์ดั้งเดิมที่สืบรุ่นกันมาแต่ปู่ย่าตายายไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหา ที่เป็น ทุกข์ ของชาวนา ณ วันนี้เสียแล้ว

                ข้าวจึงเต็มไปด้วยสารพิษ ผืนนา จึงมีแต่ข้าว ไร้ ปลา หอย ปู และพืชอื่นๆ ปลูกข้าวได้แต่ข้าวคลุกสารพิษ ไม่มีอาหารดังเช่นอดีต

รูปธรรม...ข้าวคืนนา

        ปลาคืนน้ำ...ที่เมืองน่าน

                ชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้านน่าน ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโจ้โก้ ทำการสำรวจพร้อมจัดเก็บพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน พันธุกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่พบว่ามี 316 สายพันธุ์ แบ่งเป็น ข้าวไร่ 242 สายพันธุ์ ข้าวนา 74 สายพันธุ์

                จากนั้นได้บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ คุณสมบัติเบื้องต้น พร้อมกับเหตุผลที่ชาวนาเมืองน่านยังคงจัดเก็บ และใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้

                มีข้อค้นพบน่าสนใจหลายประเด็น เช่น ข้าวเมืองน่านกระจายการใช้ไปตามภูมินิเวศน์ที่หลากหลาย ชาวบ้านเรียกว่า โหล่ง แต่ละโหล่งจะมีข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมประจำถิ่นอยู่ ยกตัวอย่าง ดอหม่าและ เดิมชื่อดอเมืองและ (อำเภอทุ่งช้างปัจจุบัน) ถูกยอมรับในแถบอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว และอำเภอท่าวังผา เพราะว่าชาวนาแถบนี้ต้องการข้าวอายุสั้น (ดอ แปลว่า อายุเก็บเกี่ยวสั้น) ให้ฟางเยอะ ชาวนาต้องการเอาไว้คลุมแปลงพืชหลังนา ให้ผลผลิตสูง อร่อย ทนโรค ทนแล้ง มีข้อตำหนิเพียงเมล็ดใหญ่ ขายได้ราคาถูก

                อีกตัวอย่าง เช่น ข้าวหอมทุ่ง ข้าวเหนียวหอมมะลิ ทั้ง 2 พันธุ์นี้ โดดเด่นในเรื่องความหอม และความแข็งแรงของลำต้น ไม่หักล้มง่าย มีความอร่อยสู้กลุ่ม กข.6 ได้

                อาสาสมัครของศูนย์เริ่มทำเป็นทะเบียนพันธุ์พร้อมกับรายละเอียดพันธุ์ แล้วนำเสนอไปยังหมู่บ้านต่างๆ พบว่า ชาวนาแจ้งจำนงจอง และขอกลับไปปลูกในโหล่งเดิมของตนอีกครั้ง เหตุผลที่สำคัญคือ ข้าว กข. ได้แสดงอาการของโรค และความอ่อนแอให้เห็นหลายประการ เช่น กข.6 ล้มง่าย กข.10 มีหน่อเยอะแมลงบั่วชอบมาก อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนจาก ข้าวกข. มาหาพื้นเมืองอีกรอบก็ทำได้ลำบาก เพราะติดใจในรสหุงต้มที่อร่อย ความสวย เรียวงามของเมล็ด และราคาที่สูง

                นายหวัน  เรืองตื้อ  ผู้ผสมผสานปัญญาพื้นบ้าน กับปัญญาใหม่ทางวิทยาศาสตร์

โดย  สำรวย  ผัดผล

ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน

 

 

 

หวันเป็นชาวนารุ่นใหม่วัยสี่สิบต้นๆ ได้บุกเบิกแนวทางใหม่ ให้กับชาวนาเมืองน่าน ตั้งแต่ปี 2539 โดยเริ่มจัดเก็บข้าวพื้นเมือง ประมาณ 41 สายพันธุ์เพื่อศึกษาพร้อมกันนั้นได้ทดลองผสมข้ามพันธุ์ โดยเอาข้าวหอมทุ่ง เป็นฐานพันธุ์ แล้วนำเอาเกสรตัวผู้ กข.6 เป็นพ่อ

จากนั้นอาศัยความเพียรอย่างยิ่งยวดอีก 8 ปี ในการคัดเลือกลูกผสม จนได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติเด่นกว่าพ่อ และแม่  โดยข้าวพันธุ์ใหม่ ให้ผลผลิตสูง, ลำต้นแข็งแรง, หอมอร่อย เมล็ดเรียวสวยงาม จากนั้นได้นำมาทดลองปลูก ถูกยอมรับในโหล่งของตนเอง และข้าวยังกระจายไปต่างอำเภอจนเกือบครบทุกพื้นที่ของจังหวัดน่าน นอกจากนั้นยังกระจายไปในหมู่ญาติมิตรต่างจังหวัด เช่นที่ พะเยา เลย หนองคาย และเชียงราย เป็นต้น  ที่แน่ๆ ข้าวพันธุ์นี้เหมาะกับระบบอินทรีย์ที่เจ้าของพันธุ์พัฒนามาให้ตอบสนองต่อวิธีการผลิตแบบชาวบ้าน

                วันนี้ หวัน  เรืองตื้อ จึงเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับสมาชิกชาวนาอื่นๆ ในการนำใช้สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมมาปรับปรุงใช้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง ชาวนาที่บ้านทุ่งฆ้องได้คัดเลือกข้าวหอมสกล ซึ่งเป็นลูกผสมของพันธุ์ดั้งเดิม คือ หอมอ้ม ผสมกับ กข.10 ขณะที่ชาวนาอำเภอภูเพียง ทำข้าวเหนียวหอมมะลิ คัดเลือกให้บริสุทธิ์ นำมาปลูกใช้ใหม่ เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย

                ปีนี้ 2551 ชาวนาที่น่านได้ร้องขอข้าวอีก 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ขี้ตมขาว เจ้าดอ นางเก๋า ผาโก้งน้อย และมะน้ำปัว จากกรมการข้าว ขณะนี้ กลุ่มโรงเรียนชาวนาบ้

พวกเขาตั้งใจว่า จะขอดูแลแม่ขวัญข้าว โดยยกขบวนไปรับจากกรมการข้าวพร้อมๆ กับเพื่อนชาวนาอีกกว่า 20 จังหวัด ได้ทำพิธีสู่ขวัญรับแม่ขวัญข้าว แล้วนำกลับที่วัดให้หลวงพ่อได้เปิดถุงนำมาเพาะ ตั้งใจจะใช้เป็นฐานพันธุกรรมในการพัฒนา

                วันนี้แม่ขวัญข้าวกลับสู่นาอีกครั้ง ชาวนาได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลแม่ขวัญข้าวคืนสู่นา สัตว์คู่นา คู่น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาอีกครั้ง

านป่าอ้อย อำเภอสันติสุขได้ปลูกดูแล พร้อมกับบันทึกลักษณะอยู่

                                                    ข้าวคืนนา...ปลาคืนหนองน้ำ

                                                          ชาวนาฟูมฟักรักษา แม่ขวัญข้าว....ไม่จมอยู่กับสารพิษ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าว#ชาวนา
หมายเลขบันทึก: 200411เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2008 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ทุกวันนี้ ทำอะไรก็ดูเหมือนธรุกิจไปหมด

เร่งรีบแม้จะมีเวลาเท่าเดิม หรือไม่ก็มีมากกว่าเดิมเพราะที่นาน้อยลง

อยากให้บรรยากาศชาวนาไทย กลับมาเหมือนเดิม

อยากปลูกข้าวเป็น..อยากเห็นชาวนายิ้มแย้มเหมือนเดิม..อยากเห็นควายแทนรถไถ..อยากเห็นดิน น้ำที่เคยดี..ไม่อยากเห็นลัทธิเปลี่ยนดินเป็นเงิน..สงสัยว่าตายแล้วเกิดใหม่อีกสิบชาติคงไได้เห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท