"KM ฉบับ LO" มุมมองแบบตีความจากเวที HA Forum เมื่อ 16 มีนาคม 49


ผมเดินจับภาพ (หมายถึงถ่ายภาพจริงๆนะครับ)  อยู่ในห้องประชุมย่อยว่าด้วย การจัดการความรู้  หรือที่เรียกว่าห้อง KM    ในงาน HA Forum  เมืองทองธานี  เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 49 ที่ผ่านมา            ในระหว่างนั้น  1 ใน 5 ประสาทสัมผัส ของผม   เรื่องการฟัง  ดูเหมือนว่าจะทำงานแบบ   "ทำๆหยุดๆ"   คือ  บางช่วงก็จะจดจ่อกับคำพูดของอาจารย์ประพนธ์  ผาสุขยืด     บางช่วงก็จะจดจ่ออยู่กับการมองหามุมภาพที่เราคิดว่าเก็บบรรยากาศของผู้เข้าร่วมในงานได้   ทำให้การฟังของผมในช่วงนั้น  ลดหย่อนประสิทธิภาพลงไปบ้าง

ด้วยประสาทสัมผัสทางตาที่ผมเห็น  ช่วงเช้าผู้คนให้ความสนใจห้อง KM มาก  แน่นชนิดต้องตีตั๋วยืนข้างห้อง    หรือตั๋วนั่งกับพื้นด้านหน้าเวที   พอปลายๆช่วงใกล้ๆจบผู้เข้าร่วมก็ค่อยๆลุกเดินออกไปทั้งๆที่ยังไม่จบ  ทำให้เห็นภาพนี้ในทุกช่วง   จึงคิดเอาเองว่าเขาอาจจะเป็นห่วงเรื่องความแออัดของการรอรับอาหารว่างหรือเปล่า    หรือว่ามีธุระสำคัญที่อื่นที่ต้องทำต่อ ก็อาจเป็นได้   ไม่เหมือนตอนที่ดูหนังในโรงหนัง  ถ้าตัวหนังสือไม่ขึ้นมาละก้อ  คนมักจะยังไม่ลุกออกไป   ส่วนช่วงบ่ายจำนวนคนลดกว่าช่วงเช้าไปหน่อยหนึ่ง    ว่าไปแล้วช่วงเช้ากับบ่ายนี่ต่างกันที่   เช้า  เป็นการนำเสนอภาพ  KM ใหญ่ๆจาก  สคส.   ส่วนบ่ายนั้น  เป็นการนำเสนอภาพ KM เล็กๆในมุมหนึ่งของคนหน้างาน        ผมเลยเดาเอาเองว่า  "จริตของคนส่วนใหญ่ในวันนั้น  คงจะชอบความรู้ก้อนใหญ่ๆ  มากกว่าก้อนเล็กๆ"  

อย่างไรก็ตามผมสรุปเอาเองอีกนั่นแหละว่า  มีหลายคนไม่น้อยที่สนใจ  KM   ส่วนที่สนใจแบบไหนนั้น  ด้วยสาเหตุใด   อันนี้ยังเป็นคำถามอยู่ในใจตัวเองเหมือนกันครับ

"องค์กรแห่งการเรียนรู้" (Learning Organization: LO) ในวันนั้นถูกชำแหละด้วยมีดของ Peter M. Senge   ที่โด่งดัง  คือ  5 disciplines นั่นเอง  โดย   ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด  จาก สคส. 

กายวิภาคของ  LO  ในวันนั้นจึงดูเหมือนมี 2 ปมใหญ่ๆ

ปมแรก   มี 2 ตัว   เป็นปมระดับองค์กร   คือ  Share Vision และ  Team Learning   ที่ดูเหมือนว่าทุกองค์กร   ทุกหน่วยงาน  หากต้องการพัฒนาไปเป็น LO  ก็ต้องมีวินัย 2 ตัวนี้ประกอบด้วย

ปมที่ 2   มีมากกว่า คือ 3 ตัว  ได้แก่  System Thinking, Mental Model, และ Personal Mastery   ทั้ง 3 ตัวนี้  อาจารย์ประพนธ์กระตุกให้เห็นว่า  "มันเป็นเรื่องของการพัฒนาระดับปัจเจก"  ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และการเรียนรู้ขององค์กรได้   

คำถามต่อมาก็คือ  แล้วจะทำอย่างไร  จึงสามารถเอาไปปฏิบัติได้?

ตรงนี้อาจารย์ประพนธ์  ได้โยงใยให้เห็นถึงที่มาของความคิด   หัวจิต หัวใจของคนว่า    ด้วย ประสาทสัมผัสทั้ง 5  (รูป  รส  กลิ่น เสียง สัมผัส) บวกกับ  จิตใต้สำนึก  ซึ่งสะสมผ่านประสบการณ์มาต่างกันทำให้เราตีความเรื่องราวต่างกัน   ถึงแม้จะรับรู้เรื่องราวเรื่องเดียวกัน  ตรงนี้ เป็นส่วนของ  "สติ"   เป็นเรื่องของการรับรู้  บวกกับความรู้สึก  และอารมณ์  ที่บางครั้งอาจทำให้เรา  สติแตก  ได้เหมือนกัน       อย่างที่ผมเล่าในตอนต้นๆของบันทึก  ก็น่าจะนับอยู่ในส่วนนี้  ผมเห็นแล้วผมก็เอาประสบการณ์ส่วนตัวประมวล  แล้วก็แปรผลออกมาเป็นอย่างนั้น   ซึ่งจริงๆอาจจะผิด  หรือถูกก็ได้ 

ยังมีอีกเสี้ยวหนึ่ง  ที่ในตัวคนเรานั้น  มีมากน้อยไม่เท่ากัน  เป็นสัมผัสที่หก  ที่เรียกว่า  "เมตตา"   ตัวนี้แหละ   ที่เป็น buffer zone คอยเบรก  อาการสติแตก หรือ พายุอารมณ์   ของคนเราได้   หากมีมากก็ช่วยให้จิตใจสงบได้เร็ว   แต่หากมีน้อยก็พอช่วยชะลอ โลภะ โทสะ ลงไปได้บ้างเหมือนกัน  ดีกว่าไม่มีเลย          

"สมาธิ"  เป็นเสี้ยวหนึ่งที่สำคัญมากอีกตัวหนึ่ง   เป็นตัวที่มีผลต่อการรับรู้และการเรียนรู้ของคนเรา  สมาธิเป็นเรื่องที่ต้องฝึก  จึงจะเกิดขึ้นมาได้ 

ทั้งสามส่วนนี้  เมื่อรวมกันแล้ว  ก็จะก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนความคิด  และแสดงผลออกมาเป็นการกระทำในที่สุด      ดังนั้น  ผลของการกระทำ  หรือ ผลลัพธ์  นั้นจึงเป็นกระจกสะท้อนถึงระดับ  สติ  เมตตา  สมาธิ  ของแต่ละคนในองค์กรได้อีกทางเช่นกัน

เส้นทางสู่ LO   จึงต้องมองหาวิธีการแก้ปมใหญ่ทั้ง 2 ปม  และต้องทำแบบควบคู่กันไปด้วย  

วิธีแก้ปมก็คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวอีกเหมือนกัน    คนต่าง   สติต่าง  เมตตาต่าง  สมาธิต่าง   ทำให้คิดต่าง   และกระทำต่าง     

KM  ก็คงต้องมีอะไรแตกต่างหลากหลาย  และไม่หยุดนิ่งตามไปด้วย    

คล้ายๆกับจะย้ำว่า  "อย่ารอจนกว่าจะเข้าใจ KM เลย  แล้วจึงค่อยทำ KM    เริ่มจากสิ่งที่ทำได้ก่อนแล้วกัน"

ว่าแล้วก็  ลุกขึ้นมาเขียน blog ใน gotoknow  ก่อนแล้วกัน   หากยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี? 

  

คำสำคัญ (Tags): #ha
หมายเลขบันทึก: 19974เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีโอกาสได้เข้าร่วมรับฟังในห้องนี้ด้วย ไม่ได้ตั้งใจเข้าแต่เป็นเรื่องที่เค้าพูดกัน เลยอยากรู้ว่า KM การจัดการความรู้ทำได้อย่างไร สังเกตเห็นว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังให้ห้องนี้เยอะ ทั้งล้นห้อง นั่งด้านหน้าห้อง ทำให้รู้สึกว่า เอ๊ะ ที่ผ่านมา ความรู้เราไปไหนกันหมด แล้วต้องมาให้ความสนใจกับการจัดการความรู้ของเรากัน ฮะ ฮ่า ๆ  แต่บรรยากาศการเรียนรู้ สนุก น่าสนใจ มากเนื่องจาก ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืน ด้วยการยกตัวอย่างที่สนุก สุดๆ คือการยกตัวอย่างการเรียนรู้จากตัวท่านเอง ท่านเรียนรู้จากการค้นหาตัวเอง ทำให้เกิดปัญญาบางอย่าง ทำให้ ย้อนกลับมามองตัวเองว่า ยังหาความรู้ จากตัวอย่างคนอื่นอยู่ เราควรจะกลับมาเรียนรู้ปัญหในตัวเองกันบ้าง จะได้เกิดปัญญาที่สามารถแลกเปลี่ยนร่วมกัน ยิ่งมองตัวเอง ก็จะยิ่งเห็นว่า ในตัวเองมีอะไรน่าเรียนรู้ ซึ่งยังไม่รู้ ก็ควรจะจัดการเรียนรู้ตัวเองกันก่อน ละกัน นะค่ะ

ขอบคุณมากที่นำสาระดีๆมาเสนอครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท