เล่าเรื่องเมืองหงสา (๒๔) ชิมหมากแตงใหย่ ของลาวใหม่ ชาวไปร หรือลั๊วะเมืองหงสา


“ตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติมากที่สุด”

 

วันนี้อยากเล่าเรื่องราวของพี่น้อง

ชาวเผ่าไปรเมืองหงสาครับ

ที่เมืองหงสาเราเรียกพี่น้องชนเผ่านี้หลายชื่อครับ เดิมชาวหงสาเรียกว่าคนไพร(เป็นชื่อเรียกในทำนองไม่สุภาพ หมายถึงคนป่าคนเขา) ต่อมาทางการท่านอย่างให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่านจึงเรียกลาวใหม่ (เดิมทีมีลาวลุ่ม ลาวเทิง ลาวสูง) ส่วนชาวไปรเป็นชื่อที่พี่น้องเรียกตัวเอง

อันที่จริงพี่น้องกลุ่มนี้ทางบ้านเราคือ ชาวลั๊วะนั่นเอง

 

ชาวไปรที่เมืองหงสาอาศัยในเขตขุนเขาห่างไกลแยกตัวจากชุมชนอื่น เมื่อสิบปีก่อนที่ผมมาเมืองหงสาได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านชาวไปร เห็นพี่น้องยังไม่รู้จักซื้อขายไม่รู้จักใช้เงิน อ้ายน้องลาวลุ่มที่นำทางไป นำเกลือ ผงชูรส ถ่านไฟแช็ค(หินเหล็กไฟ)และเสื้อผ้าเก่าๆติดตัวไป มีพี่น้องชาวไปรนำข้าวเปลือกมาแลกกับของเหล่านี้ได้มาหลายกระสอบจนม้าลาบรรทุกมาไม่หมด แม้ว่าทุกวันนี้พี่น้องชาวไปรรู้จักขายของแล้วแต่ชีวิตการเป็นอยู่โดยรวมก็ยังถือว่า ตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติมากที่สุด (ไม่อยากใช้คำว่าล้าหลัง)

 

ชาวไปรขึ้นชื่อในความดุหมั่น(ขยัน) ทำไร่ข้าวจนเหลือกิน วานนี้ผมนั่งกินเฝอที่ร้านเห็นแม่บ้านชาวไปรเดินสะพายย่ามใส่หมากแตงร้านลูกใหญ่เดินผ่านมา เรียกซื้อเขาขายให้ลูกละสองพันกีบสามลูกหกพันกีบ ยี่สิบสี่บาทครับ ถามว่ามาจากไหนเธอบอกว่าบ้านหนองหลวง เดินมาตั้งแต่หกโมงเช้ามาถึงหงสาเที่ยงวันขายได้เงินยี่สิบสี่บาท แตงร้านชนิดนี้ผมเคยได้กินครั้งหนึ่ง ญาติชาวปะกากะญอนำมาฝากจากดอยหัวแม่สุรินทร์แม่ฮ่องสอน ขนาดใหญ่โตลูกหนึ่งหนักกิโลกว่าๆทีเดียว

 

แม่บ้านชาวไปรอีกคนเปอะหน่อไม้มาขาย เจ้าของร้านเฝอเหมาไปทั้งหมดห้าพันกีบยี่สิบบาทครับ บางวันก็พบเห็นกลุ่มแม่บ้านชาวไปรจากบ้านภูแลงแบกม้วนเสื่อที่สานจากผิวไม้ไผ่มาเร่ขายคนละผืนสองผืนสนนราคาผืนละแปดสิบเก้าสิบบาท หากขายไม่หมดเขาก็พากันไปนอนค้างบนเถียงนาแถบนอกเมืองวันรุ่งขึ้นก็ออกเร่ขายอีกจนกว่าจะหมด วันท้ายท้ายหากขายไม่ออกก็ลดราคาลงเหลือผืนละห้าสิบบาท แล้วเอาเงินซื้อของใช้จำเป็นแบกเดินกลับบ้านอีกหนึ่งวันเต็มๆ เรื่องขึ้นรถโดยสารนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะค่ารถโดยสารจากหงสาไปภูแลงก็เกินร้อยบาท(สามสิบพันกีบ)

 

ได้พบเห็นวิถีชีวิตของชาวไปร ที่ต้องการเพียงข้าวอิ่มท้อง เสื้อผ้าพันกายพอให้อบอุ่น บ้านไม้ไผ่มุงใบต้นค้อ ผมว่าความต้องการพื้นฐานของคนเราก็เพียงเท่านี้ ก็เหมือนอย่างชาวไปรนี่แหละ หันกลับมามองตัวเองและคนรอบข้าง ที่ทุกวันนี้กลับต้องพึ่งพาข้าวของสิ่งอำนวยความสะดวก เสื้อผ้ามียี่ห้อ อาหารปรุงแต่ง เทคโนโลยีขั้นสูง จนลืมไปว่าความต้องการพื้นฐานของคนเรานั้นคือสิ่งใด ต้องการเพียงไหน พวกเราถูกลวงจนหลงลืมไปจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 199016เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2008 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ

เช้าวันนี้  อากาศดีมาก  เป็นอากาศหลังม่านฝนหยุดหายไปได้สัก 2 - 3  ชั่วโมง.

ลมเย็น ๆ  ใบไม้โยกไหว.

เช้านี้น่าจะเป็นเช้าชื่นของชีวิต...

....

มีความสุขมาก ๆ  นะครับ

 

เห็นด้วยค่ะว่าเขาไม่ได้ล้าหลัง แต่ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานธรรมชาติมากกว่าเรามากนัก

แตงสวยมากเลยนะคะ น่าทานค่ะ ^ ^

  • สวัสดีครับอ้าย เป-ลี่-ยน
  • แวะมาทักทายและเยี่ยมเยียน
  • สบายดีนะครับ
  • ผมเคยทำงานในพื้นที่ที่มีพี่น้องลั๊วะ ที่ อ.แม่แจ่ม (เขตติดต่อเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน) เขามีความขยันและมีความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากๆ (ในสมัยนั้นแต่ตอนนี้ไม่ค่อยจะแน่ใจ)
  • ขอบคุณมากครับที่บันทึกมาแลกเปลี่ยน

สวัสดีค่ะ น่าสงสารเขาะคะ นำเสื่อมาขาย ผืนละไม่ถึงร้อย นำมาได้ครั้งละ สองสามผืน เดินมาไม่นั่งรถ ได้เงินเต็ม ๆ ประหยัดค่ารถไปกลับสองร้อยกว่าบาท...ถ้าคิดแล้วเขามาขายได้สองร้อยบาท รวมค่ารถที่ไม่ต้องจ่ายเดินเอา เขาขายได้ถึงสี่ร้อยกว่าบาท....นับถือหัวใจเขาจริง ๆค่ะ

สวัสดีครับ

แตงร้าน ทำให้ผมคิดถึงงานปรับปรุงพันธุ์ครับ

หน้าตาแบบนี้ ฝรั่งเรียกว่า apple cucumber ครับ

แตงร้านพื้นเมืองพวกนี้ส่วนมากจะเป็นแหล่งพันธุกรรมของความแข็งแรง ทนทานโรค แต่เขาจะไม่ค่อยดกครับ (แปรผกผันกันครับ)น่าจะมียีนทนหนาวนะครับ

  • ตามมาดู
  • เขาอยู่กับธรรมชาติจริงๆๆ
  • บ้านเราไกลจากธรรมชาติไปเรื่อยๆๆ
  • สบายดีไหมครับพี่

สวัสดีทุกท่านครับ

บันทึกนี้มีผู้คนเข้ามาทักทายหนาตา ทำให้หายคิดถึงเมืองไทยไปเยอะเลยครับ

พี่น้องชาวไปร ในเมืองลาวนี้เขาว่ามีอยู่ที่เมืองหงสาที่เดียวครับส่วนใหญ่จะอยู่ทางเขตติดต่อจังหวัดน่าน

มีครั้งหนึ่งผมไปลงพื้นฐานกับอ้ายน้องที่หมู่บ้านไปร พบว่าพี่น้องชาวไปรส่วนมากไม่สามารถฟังภาษาลาวออก เพราะเขาอยู่กันแบบสังคมปิดไม่อยากยอมรับอารยธรรมภายนอก ในวันสุดท้ายของกองประชุมเขาจัดให้มีงานเลี้ยงและรำวงสามัคคีกัน ขนาดนายบ้านประกาศจัดรอบรำวงให้เป็นเกียรติต่อพวกเรา ยังประกาศภาษาลาวเพี้ยนไปหลายคำ เช่น "รอบรำวงต่อไปนี้ ขอจัดให้แก่ท่านแพงสวัสดี-(การสังคม) ส่วนคู่สมรสของท่านขอเชิญนางน้อย..." พวกเราตื่นเต้นกันใหญ่นึกว่าอ้ายแพงจะได้คู่นอนวันนี้แล้ว แต่ไม่ใช่ ที่แท้นายบ้านหมายถึงคู่ฟ้อนรำนั่นเอง

ทุกวันนี้เรายังเรียกท่านแพง พินทุอำมาตย์ ว่า ท่านแพง สวัสดี

ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งครับ 

หากหมดภาระหน้าที่ ที่จะต้องฝืนแรงโน้มถ่วงของธรรมชาติด้วยการสะสมเพื่อความมั่งคั่งของตัวเองและคนในตระกูลแล้ว.....

ก็อยากไปอยู่กับชาวไปร ไปศึกษาชีวิตกับธรรมชาติ...สักครั้ง

(คุณ paleeyon คงจะมีความสุขกับเมืองหงสามากนะครับ ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์...จริงๆ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท