"คลัง" ชี้การเมืองไม่นิ่งเมินแผนกระตุ้น ศก.


"คลัง" ชี้การเมืองไม่นิ่งเมินแผนกระตุ้น ศก.
คลังระบุ ท่ามกลางปัญหาการเมืองไม่นิ่ง ต้องเน้นติดตามผลเบิกจ่ายและจัดเก็บรายได้มากกว่า ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เผยล่าสุดยอดจัดเก็บเกินกว่าเป้าแล้ว 5 พันล้านบาท และสามารถเบิกจ่ายได้จริงถึง 38% ของเงินงบประมาณ 49 ชี้ภาครัฐยังต้องเป็นผู้นำการลงทุน หลังภาคเอกชนชะลอการลงทุน ขณะที่ผลวิจัยเครื่องมือเตือนภัยด้านการคลังเบื้องต้นระบุ สถานะเงินคงคลัง-ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคเป็น 2 ความเสี่ยง  ที่ต้องติดตามใกล้ชิด
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุ กระทรวงการคลังจะไม่มีการออกมาตรการใด ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ เพราะสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง ซึ่งเกิดการชุมนุมของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล   หากดำเนินการไปคงไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ คือ การจัดเก็บรายได้    ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐเร่งเบิกจ่าย และใช้เงินงบประมาณให้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะด้านการลงทุน เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ภาคเอกชนชะลอการลงทุน  "เราเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ได้ เพราะการเมืองไม่นิ่ง สิ่งที่ทำได้ คือ เร่งรัดการเบิกจ่าย จัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย และให้หน่วยงานภาครัฐเร่งลงทุน เพราะต้องยอมรับว่า เราจะหวังให้ต่างชาติ หรือภาคเอกชนเข้าลงทุนในช่วงนี้คงไม่ได้ ดังนั้นภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำในการลงทุนอีกระยะหนึ่งหรืออีก 1 ปี จากเดิมที่หวังว่าภาคเอกชนจะเป็นผู้นำในการลงทุนนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป"    สำหรับการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2549 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ถึงปัจจุบัน สามารถจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมายแล้วกว่า 5 พันล้านบาท     ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2549 นับตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 38% ของ      เงินงบประมาณ หรือเบิกจ่ายได้จริง 522,579 ล้านบาท สูงกว่าแผนการเบิกจ่าย ซึ่งอยู่ที่ 524,384 ล้านบาท
เขากล่าวว่า แม้กระทรวงการคลัง จะไม่สามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ได้ แต่ก็ต้องเตรียมมาตรการ เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้า และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้ เพราะเชื่อว่า น่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว   ทั้งนี้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้ คือ การปรับโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมอาหาร และปรับโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดังกล่าวในภูมิภาค  ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการมาระดับหนึ่งแล้ว ส่วนมาตรการอื่น ๆ ต้องรอนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่
เขายังกล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดทำเครื่องมือเตือนภัยด้านการคลังว่า ขณะนี้ดำเนินการได้ระดับหนึ่ง โดยได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการใน 4 ด้าน  ต่อ ดร.ทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ประกอบด้วย สัญญาณเตือนภัยสถานะเงินคงคลังของรัฐบาลที่แท้จริง สัญญาณเตือนภัยจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค สัญญาณเตือนภัยจากความเสี่ยงของหนี้สาธารณะ และสัญญาณเตือนภัยจากโครงสร้างรายได้และรายจ่ายของรัฐบาล   "เราได้เสนอให้รมว.คลังได้รับทราบในเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดทำเครื่องมือเตือนภัยดังกล่าว แต่ข้อมูลที่ได้ยังไม่ครบที่จะสามารถบ่งบอกถึงสัญญาณเตือนภัยที่ชัดเจน โดยเฉพาะ


ด้านสถานะเงินคงคลังของรัฐบาล ซึ่ง รมว.คลังได้ให้นโยบายไปว่า นอกจากจะมีการจัดเก็บข้อมูลย้อนหลังและ
มองไปข้างหน้าแล้ว ยังต้องมีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย ส่วนความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค ก็ต้องจับกระแสล่วงหน้าให้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพื่อเตือนภัยการคลัง เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ"
เขากล่าวด้วยว่า เท่าที่ประเมินความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค จากตัวเลขของการลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยวในปัจจุบัน พบว่า ยังไม่มีสัญญาณใดที่ถือเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยตัวเลขต่าง ๆ ยังอยู่ในเป้าหมาย ส่วนความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะและความเสี่ยงจากโครงสร้างรายได้และรายจ่ายของรัฐบาลก็ไม่น่าเป็นห่วง โดยในส่วนหนี้สาธารณะ ขณะนี้ ก็ปรับลดลงตามลำดับ และอยู่ต่ำกว่า ระดับ 50% ของจีดีพี   ส่วนโครงสร้างรายได้ของรัฐบาล ก็มีแหล่งที่มาของรายได้อย่างชัดเจน ส่วนโครงสร้างรายจ่าย  ก็ไม่ได้ใช้เพื่อการทหารและกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการผลิตมากเกินไป   "ที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจะมี 2 ความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากสถานะเงินคงคลังของรัฐบาล และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจมหภาค เพราะบางส่วนเกิดจากปัจจัยภายนอก ส่วนความเสี่ยงที่เกิดจากหนี้สาธารณะและความเสี่ยงที่เกิดจากโครงสร้างรายได้และรายจ่ายนั้นไม่น่าเป็นห่วง  ทั้งนี้ เราจะเร่งดำเนินการวิจัย เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของทั้ง 4 ด้านให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น" ดร.สมชัย กล่าว
กรุงเทพธุรกิจ  20  มีนาคม  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 19896เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท