เด็กติดเกม


ชีวิตจริงไม่ได้ “play again” ได้ทุกครั้งที่ “game over” (ย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตไม่ได้เลย) ทุกคนไม่ว่าจะรวยมากเพียงใดก็ไม่สามารถซื้อเวลาได้ ทุกชนชั้นวรรณะมีคนละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน

จากการที่ได้เข้าร่วมกระบวนการวิจัยของทีมงานอาจารย์อิทธิพล  ปรีติประสงค์ (archangoh) สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อคราวลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัย ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านได้เขียนไว้ใน http://gotoknow.org/blog/thaikm/165879 อาจารย์วิจารณ์ให้ความคิดเห็น และทิศทางที่ดีและมีประโยชน์ยิ่งต่อทีมงาน และเป็นเหตุแห่งการเกิด blog พัฒนาการสมองมนุษย์นี้ด้วย ดิฉันทำหน้าที่วิเคราะห์เกมที่เด็กไทยกำลังติดอยู่ในเวลานี้ กับผลกระทบทางด้านพัฒนาการสมองและพฤติกรรมของเด็ก รวมทั้งจะสามารถจัดระดับความเหมาะสมของเกมเหล่านี้ที่อายุเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับทฤษฎีพัฒนาการ (ในต่างประเทศมี และใช้แล้ว)

หัวใจสำคัญในการทำงานครั้งนี้ไม่มุ่งหวังห้ามเล่นเกม ทุกคนมีสิทธิ์เล่นเกมได้ทั้งนั้นทีมงานเคารพสิทธิส่วนบุคคล คุณหรือใคร ๆ เด็ก หรือผู้ใหญ่เล่นได้ทั้งนั้นเกมรุนแรงแค่ไหน เรตเอกซ์ขนาดไหนเล่นได้เล่นไป แต่การทำงานครั้งนี้มุ่งหวังติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กมีวิจารณญาณในการเล่น เจ้าของร้านมีจิตปัญญาในการคิด ส่งเสริมคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ใช้ให้อยู่ในโลกไซเบอร์อย่างเหมาะสมและเท่าทันเพื่อเกิดประโยชน์ เกิดความสุขต่อตนเองและสังคมส่วนรวม

จากการลงพื้นที่ดังกล่าวพบว่าร้านอินเทอร์เนต มีไว้บริการบุคคลทุกระดับ ชาวต่างชาติและผู้ใหญ่มักใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารและสืบค้นงาน มีอยู่บ้างที่เล่นเกม นักเรียน นิสิต นักศึกษา มาใช้บริการการสืบค้นข้อมูลเพื่อทำรายงาน และสื่อประกอบการเรียน และเล่นเกม ส่วนเด็กที่ตั้งใจเข้ามาเล่นเกมอย่างเดียวก็มีมากเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาปิดภาคเรียน(อาจต้องทบทวนเวลาเข้าร้านในช่วงปิดภาคเรียน หรือไม่?) เกมที่นิยมเล่นกัน เช่น เกม audition เกมcabal และ เกม GTA(Grand Theft Auto) มาวิเคราะห์ทีละเกม

1.     เกม Audition เป็นเกมเต้นออนไลน์ที่ผู้เล่นสามารถแข่งเต้นได้แบบเดี่ยว แบบทีม หรือแบบคู่รัก ตัวละครแต่งกายทันสมัย จากการลงพื้นที่เยี่ยมร้านอินเทอร์เน็ต พบผู้เล่นมีอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป นิยมเล่นทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง ไม่พบวัยรุ่นชาย หรือผู้ใหญ่ เล่นเกม audition และจากการสอบถามผู้เล่นที่ชื่นชอบเกมนี้จะมาเล่นทุกวันหลังเลิกเรียน และถามต่อว่าได้อะไรจากการเล่นเกมนี้ ทุกคนตอบว่าได้ความสนุก เพลิดเพลิน เรียนรู้ท่าเต้น เอาไว้ไปใช้เต้น 

2.     เกม cabal เป็นเกมการต่อสู้ ที่ผู้เล่นแต่งตัวละครได้ สะสม เลือกอาวุธได้ เพื่อกอบกู้อาณาจักร ถ้ามองในการสร้างเกมแล้วจะเห็นได้ว่า ทำ animation ได้อย่างดีมาก ๆ ทีเดียว จากการลงพื้นที่เยี่ยมร้านอินเทอร์เน็ต พบผู้เล่นมีอายุตั้งแต่ 9 ปี ขึ้นไป นิยมเล่นทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย และวัยรุ่นชาย รวมทั้งผู้ใหญ่ และจากการสอบถามผู้เล่นที่ชื่นชอบเกมนี้จะมาเล่นทุกวันหลังเลิกเรียน และเมื่อมีเวลาว่าง เล่นครั้งหนึ่งนานมากกว่า 3 ชั่วโมง และถามต่อว่าได้อะไรจากการเล่นเกมนี้ ทุกคนตอบว่าได้ความสนุก เพลิดเพลิน สะใจ

3.     เกม GTA(Grand Theft Auto) สามารถซื้อแผ่นมาเล่นได้ มีหลาย version เกมนี้มีภารกิจมากมายให้ผู้เล่นต้องปฏิบัติ เช่น ปล้น ฆ่า (ฆ่าได้แม้กระทั่งตำรวจ) จากการลงพื้นที่เยี่ยมร้านอินเทอร์เน็ต พบผู้เล่นมีอายุตั้งแต่ 9 ปี ขึ้นไป นิยมเล่นในเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชาย รวมทั้งผู้ใหญ่ และจากการสอบถามผู้เล่นที่ชื่นชอบเกมนี้จะมาเล่นทุกวันหลังเลิกเรียน และเมื่อมีเวลาว่าง เข้าเล่นครั้งหนึ่งนานมากกว่า 3 ชั่วโมง และถามต่อว่าได้อะไรจากการเล่นเกม GTA นี้ ทุกคนตอบว่าได้ความสนุก สะใจ ได้ใช้อาวุธ และอยู่ในเหตุการณ์เหมือนจริง

 

เมื่อประยุกต์ทฤษฎีพัฒนาการสมองมาวิเคราะห์พฤติกรรมการติดเกม จะพบว่าในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นจะมีพัฒนาการสมองของระบบลิมบิกเจริญมากที่สุด เจริญกว่าสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนคิด วิเคราะห์ เป็นเหตุเป็นผล (สมองส่วนหน้าจะมีพัฒนาการเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 20ปี ในบางตำราให้ไปถึง 25 ปี)  ระบบลิมบิกเป็นระบบที่ตอบสนองอารมณ์และพฤติกรรมสัญชาติญาณ รวมทั้งความจำและการเรียนรู้ ดังนั้นทุกคนจึงมีอารมณ์ก่อนเหตุผล แต่ต่างกันที่รู้ยั้ง รู้หยุดอารมณ์ แล้วเปลี่ยนเป็น รู้ผิด รู้ชอบ ขึ้นอยู่กับร่องรอยในสมองส่วนหน้าที่กำลังเจริญนี้ได้ใช้อย่างแข็งแรง ใช้บ่อยจนตัดวงจรของลิมบิกได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ยังเด็ก ตรงนี้ละที่เป็นความหวังที่เรียกว่ามีปัญญาเหมือนมีอาวุธ ในวัยเด็กและเยาวชนนี้เขาควรใช้เวลาในการได้เรียนรู้ ได้บ่มเพาะวิธีคิดในการตอบโต้สัญชาติญาณอย่างปราณีต  เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่งดงาม ไม่ได้หมายความว่าต้องพับเพียบเรียบร้อย แต่ผู้ใหญ่ที่งดงามหมายถึงมีวิธีคิด มีวิธีแก้ปัญหา มีการเรียนรู้เข้าใจและอยู่ได้กับกฎ กติกา มารยาทในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  

ในเด็กที่เล่นเกมทุกวัน พบว่าวัน ๆ หนึ่งเขาใช้เวลาในการบ่มเพาะจิตปัญญาน้อยมาก ใน 24 ชั่วโมง/วัน เด็กจะอยู่ที่โรงเรียนประมาณ 8 ชั่วโมง นอน 4 6 ชั่วโมง รับประทานข้าว ดูทีวี โทรศัพท์ เดินทาง 2-4 ชั่วโมง ที่เหลือคือเล่นเกม  6 10 ชั่วโมง โอ้โห!!! ไม่น่าเชื่อ เมื่อนำตัวเลขไปคุยกับเด็กพบว่าเขาไม่สะทกสะท้าน หรือตกใจ กลับบอกว่าเล่นถึงเช้าบ่อย ๆ แล้วก็ไม่ไปโรงเรียนปวดศรีษะ เมื่ออยู่บ้านนอนพักสักครู่เมื่อดีขึ้น ลุกมาเล่นเกมใหม่อีก ทำแบบนี้แทบทุกวัน !!! โดยสรุปจะมีพฤติกรรมดังนี้  

# ตื่นเช้ามาพบว่ามีการปวดศรีษะจากการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ได้ทำการบ้าน ไม่มีงานส่งครู จึงเริ่มโกหกครูเริ่มจากลืมเอามาส่ง จนถึงต้องจ้างวานคนอื่นทำให้

# ไม่มีสมาธิในการเรียนในห้องเรียน เหม่อลอย หมกมุ่นคิดถึงแต่เกมส์ที่ต้องแก้ปัญหา หรือวางแผน เช่น แต่งตัวละคร สะสมอาวุธ (ในเกม cabal) วางแผนฆ่าตำรวจ ชิงรถแทกซี่ (ในเกม GTA) คิดถึงท่าเต้นใหม่ ๆ (ในเกม audition )

# ไม่สุงสิง สังคม เมื่อว่างปุ๊บจะไปเล่นเกมทันที (ถ้าไม่ว่างจะพยายามให้ว่าง เช่นทิ้งงาน หนีเรียน) หรือในวันหยุดจะตื่นแต่เช้าเพื่อเข้าเล่นเกมทันที

ทำไมเด็กจึงติดเกม เด็กเหล่านี้ตอบว่า

# สนุก เพลิดเพลิน ตื่นเต้น

# ไม่น่าเบื่อ

# ทันสมัย

# ทุกอย่างเราควบคุมได้เอง (อยู่ในการควบคุมของเราเอง ทั้งการสะสมอาวุธ ความเร็ว)

# รู้สึกมีโลกส่วนตัว

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องมาใส่ใจระดับความเหมาะสมของเกมอย่างจริงจรัง (ในต่างประเทศเขา มีและให้การศึกษาไปในโรงเรียนมานานแล้ว) เด็กต้องมีปัญญาตามช่วงวัย เพื่อจะได้รู้ว่านี่คือเกม เล่นเพื่อผ่อนคลาย การต่อสู้ในเกมนั้นจำเป็นต้องแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อกอบกู้จากเหล่ามารทั้งหลาย (คลายเครียดตรงไหนเนี่ย! กว่าจะกอบกู้เสร็จต้องผ่านด่านหลาย level ทีเดียว!!!) แต่ชีวิตจริงจะตีรันฟันแทง กระโดด หรือโจนทะยานไม่ได้ ชีวิตไม่มี animation จะทำอะไรต้องอยู่ และรับได้กับความเป็นจริงทางสังคม ไม่มีหมู่มิตร หมู่มารถาวร รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รู้วัฎจักร วัน เวลา อาณาจักรที่แท้คือความสุขในการประสบความสำเร็จในชีวิตท่ามกลางครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ

เมื่อประยุกต์ทฤษฎีพัฒนาการสมองดังกล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นว่าสมองมนุษย์ที่ทุกคนมีคนละประมาณ 1 กิโล กับ 3 ขีด และมีกันคนละ แสนล้านเซลนั้น น่าจะถูกสร้างวงจรเชื่อมโยงในส่วนสร้างสรรค์ และเกิดจิตปัญญา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับชุมชน สังคม ให้มาก ๆ  เพราะโดยสัญชาติญาณก็ต้องใช้อารมณ์เป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกระตุกกระตุ้นความรุนแรง หยาบ และเถื่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกม GTA น่าจะเหมาะสมกับผู้ใหญ่ และต้องรู้ว่าตัวเองมีวิจารณญาณมากเพียงพอ ที่จะไม่ไปทำอะไรไร้จริยธรรม คุณธรรมได้ เล่นเกม GTA นี้เพียงเพื่อเพลิดเพลิน นิดหน่อยก็เลิก เพราะชีวิตจริงนั้น บ้านเมือง มีขื่อมีแปร ภารกิจของมนุษย์ที่แท้เป็นการร่วมสร้าง ร่วมสรรค์ ร่วมกันรู้รักษ์สามัคคี ปกป้องคุ้มครองโลกให้อยู่ต่อไปอย่างงดงาม

ท้ายนี้ขอย้ำว่า เกมมีให้เล่นยามว่าง คลายเครียด ได้แสดงออก ได้ระบายความอัดอั้นที่กดดันมาจากระบบชีววิทยา แต่ขออย่าไปเสียเวลากับการเล่นเกมมากนัก ชีวิตจริงไม่ได้ “play again” ได้ทุกครั้งที่ “game over”  (ย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตไม่ได้เลย) ทุกคนไม่ว่าจะรวยมากเพียงใดก็ไม่สามารถซื้อเวลาได้ ทุกชนชั้นวรรณะมีคนละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน นอน 8 ชั่วโมง เรียนหนังสือ หรือทำงาน 8 ชั่วโมง ที่เหลืออีก 8 ชั่วโมงเอาไปใช้ทำอะไร!! เล่นเกมสักประมาณ 3 ชั่วโมง เหลืออีก 5 ชั่วโมงเอามาใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวดีกว่า เรียนรู้ร่วมกัน สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะร่วมกัน ฝึกฝนร่องรอยคุณธรรม จริยธรรมของวงจรสมองส่วนหน้าร่วมกัน เพื่อพลังครอบครัว พลังชุมชน และเป็นพลังประเทศชาติต่อไป

หมายเลขบันทึก: 198638เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2008 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นคนเล่นเกมออนไลน์บ้างเหมือนกัน ตอนที่เริ่มเล่นเกมใหม่ เพราะอยากรู้ว่าทำไมเด็กถึงชอบเล่นเกม พอดีมีหลานชายเรียนอยู่ ม.ต้น เขาก็หนีเรียนไปเล่นเกม ในเมื่อเราเองก็ออนไลน์เกือบทุกวัน มีเวลาก็ลองเล่นบ้าง ปรากฏว่าติดเกมซะเอง แต่ดีว่าติดในตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จะคล้ายๆ ติดหนังสือเล่มที่ชอบ ก็ต้องตัดใจ แบ่งเวลาบ้าง แต่เล่นไปสักพัก จนกระทั่งรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็เบื่อไปเอง แต่ต้องยอมรับว่าสังคมในเกม สังคมของเด็กที่คุยกันในเกม มีก๊วน มีกลุ่มนั้น น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กติดเกม ความสัมพันธ์ของคนเล่นเกมที่พูดคุยกันผ่านตัวละครนั้นมีหลายรูปแบบ และอยู่ที่วัยด้วย อีกทั้งในเกมนั้นถ้าเจอคนเล่นที่ไม่ดี จะพบว่ามีความหยาบคายที่ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นก็มี เรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่เด็กๆ ก็เอาจิตไปจับมัน มีทะเลาะเบาะแว้ง ลามไปจนถึงชีวิตจริงก็มี หรือเรื่องดีๆ ก็มีอย่างเช่น เด็กที่คุยกันถูกอัธยาศัยก็พบเจอคบหาเป็นเพื่อนกัน ถ้าเลยเถิดหน่อยก็เป็นแฟนกัน หรือเลยไปกว่านั้นก็มีการหลอกลวงกัน ที่สำคัญ ในเกมแต่ละเกมมีการขายของ (Item) ที่เงินจริงเท่านั้นที่ซื้อได้ อาจจะผ่านบัตรเติมเงินเติมของ แล้วแต่กลยุทธของบริษัทเกม แต่ก็มีการขายกันนอกระบบ คือตัวละครหนึ่ง ขายให้อีกตัวละครหนึ่ง ด้วยเงินจริงๆ และของบางอย่าง ขายเป็นเงินจริงราคามากกว่า 10,000 บาท เงินจริงก็มี นี่น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งของอำนาจเงิน ที่กระจายไปได้ทั่วทุกหัวระแหง

จริงๆ อย่างเกมที่อาจารย์ยกตัวอย่างมา ก็เคยเล่นบ้าง อย่าง เกม Audition และเกม cabal แต่คงเนื่องจากลักษณะเกมที่ซ้ำกันไปซ้ำกันมาหลายเกม ก็เลยเล่นไปนิดหน่อยก็เบื่อ เดี๋ยวนี้เลยกลายเป็นว่า เล่นเกมอะไรก็เบื่อง่าย ก็ได้แต่หวังว่าน้องๆ บางคนที่เล่นพอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วจะเบื่อไปเอง

บางเรื่องทำแค่พอรู้ก็พอ และเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ทำไมเด็กถึงติดเกม และเด็กที่คิดว่าสิ่งที่อยู่ในเกมคือสาระสำคัญของชีวิตนั้นยังมีอยู่

คนทำงานเกี่ยวกับสื่อและเด็กอย่างเราก็ต้องทำต่อไปแหละค่ะ

ขอบคุณน้องนารถที่รัก ที่สะท้อนความเห็นดี ๆ อยากให้เด็กที่ติดเกมทุกคนเป็นอย่างน้องนารถ ที่ไม่เอาจิตไปจับกับเกมจนเกินยับยั้ง ขอบคุณอีกครั้ง เดี๋ยวเราก็เจอกันใน trip ระยอง อุดร และขอนแก่นใช่หรือเปล่า

  • มาทักทายอาจารย์
  • วันที่ 7 ตค นี้ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์
  • จะได้พบอาจารย์ไหมครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต ขอบคุณที่เข้ามาทักทาย ไม่อยู่แล้วค่ะ เดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ mind,brain, and education program ที่มหาวิทยาลัย HARVARD อเมริกา ตั้งแต่ 2 ตุลาคม - 8 ธันวาคม นี้ค่ะ เอาไว้เราติดต่อกันผ่าน blog นะคะ

  • หลัง 8 ตุลาคม
  • คงได้พบอาจารย์ใช่ไหมครับ
  • พลาดๆๆอีกแล้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท