ลมหายใจที่ไม่จางหายของเพลงเรือแห่งแหลมโพธิ์


“สวมผ้าปกปิดมิดชิดกายา ควรนอนกางมุ้งกันยุงมาหา กำจัดน้ำมาที่มาขึ้นขัง ใส่ทรายอาเบทวิเศษเสียจัง ถ้ามีน้ำขังในถังในกล่องในโอ่งในไห....”

เกริ่นนำ

            “สวมผ้าปกปิดมิดชิดกายา 
            ควรนอนกางมุ้งกันยุงมาหา
            กำจัดน้ำมาที่มาขึ้นขัง
            ใส่ทรายอาเบทวิเศษเสียจัง
            ถ้ามีน้ำขังในถังในกล่องในโอ่งในไห....”
            นี่เป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่ได้ยินเสียงเพลงเรือ แหลมโพธิ์ จังหวัดสงขลา ซึ่งกลั่นมาจากเสียงใส ๆ ของเด็กนักเรียนวัยประถมศึกษากว่า 10 ชีวิตของโรงเรียนคูเต่าวิทยา  แม้นจะไม่ใช่คนใต้ แต่ผู้เขียนพอจะจับใจความได้ว่า น้อง ๆ ชาวใต้รุ่นใหม่กำลังป่าวร้องให้พ่อแม่พี่น้องชาวใต้โปรดระวังยุงลายด้วยสำเนียงและเสียงเพลงเรือของคนใต้ เสียงเพลงที่กู่ร้องออกมาแสดงให้เห็นว่าลมหายใจของเพลงเรือที่เคยรวยรินกลับคึกคักขึ้นมา อีกทั้ง ยังเพิ่มหน้าที่รณรงค์ด้านสุขภาพอีกด้วย

ลำนำเพลงเรือที่แหลมโพธิ์

            หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับเพลงเรือในภาคกลาง และอาจสงสัยว่าในภาคใต้มีเพลงเรือด้วยหรือ? แม่เพลงเรือแห่งชุมชนแหลมโพธิ์อย่าง มาลี เถาถวิลให้อรรถาธิบายว่า ในจังหวัดสงขลาก็มีเพลงเรือเช่นกัน ลักษณะก็คล้าย ๆ กับเพลงเรือทั่วไป มีทั้งพ่อเพลงแม่เพลง แต่ที่จะแตกต่างก็คือ เพลงเรือที่นี่นั้นจะอยู่ในเทศกาลชักพระทางทะเล ในเดือน 11 (หรือเดือนตุลาคม) นอกจากนั้น เอกลักษณ์สำคัญอีกประการก็คือ เพลงเรือแหลมโพธิ์จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ภาคใต้ เช่น มีเนื้อหาที่กล่าวถึงธรรมชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญอีกประการก็คือ แก่นของเพลงเรือที่นี่ก็คือ “สำเนียงใต้”
            แม่เพลงรุ่นอาวุโสเล่าต่อมาว่า สิ่งที่ยายกังวลมากที่สุดก็คือ เพลงเรือกำลังสูญหายไปเรื่อย ๆ เพราะนานปีทีหนจะใช้เพลงเรือ ปีหนึ่งจะมีเทศกาลก็เพียงครั้งเดียว คนรุ่นเก่า ๆ อย่างย่ายายที่ชอบเพลงเรือก็เริ่มล้มหายตายจากไป ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็มองข้ามเพลงเรือหันไปสนใจเพลงสตริงแนวใหม่ ๆ ความกังวลใจของแม่เพลงเรือรุ่นอาวุโสกระตุ้นให้แม่เพลงพยายามหาวิธีการที่จะพัฒนาให้คนรุ่นใหม่สนใจเพลงเรือ ด้วยเหตุนี้ บรรดาแม่เพลงเรือจึงได้จับมือกับโรงเรียนคูเต่าวิทยา และโครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. เพื่อหันมาพัฒนาให้เพลงเรือยังอยู่ในหัวใจของเด็กรุ่นใหม่         

การต่อลมหายใจของเพลงเรือด้วยการเพิ่มหน้าที่ด้านสุขภาพ

            คุณครูหิรัญ เถาถวิล และคุณครูสุนิศา หวังสุข แห่งโรงเรียนคูเต่าวิทยา เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ทางโรงเรียนได้จับมือกับบรรดาแม่เพลงเรือรุ่นอาวุโสเพื่อสานฝันให้เพลงเรือแหลมโพธิ์ยังคงมีลมหายใจอยู่ ด้วยการเพิ่มบทบทหน้าที่ของเพลงเรือจากเดิมที่ทำหน้าที่เฉพาะงานเทศกาลชักพระมาสู่บทบาทหน้าที่เพื่อการพัฒนาสุขภาพ ดังเช่น การใช้เพลงเรือมาใช้กับการออกกำลังกาย การใช้เพลงเรือเพื่อรณรงค์กิจกรรมสุขภาพ ทั้งการป้องกันยุงลาย การป้องกันเหล้าและบุหรี่ สุขภาพอนามัย รวมทั้ง การเล่นเพลงเรือยังช่วยพัฒนาสุขภาพของเด็กและทำให้เด็กใต้ได้ฝึกฝนการใช้ภาษาไทย การแต่งกลอน และการกล้าแสดงออกได้อย่างดี
            พอลองถามว่า เหตุไฉนครูทั้งสองจึงสนใจเพลงเรือ ครูสุนิศา บอกว่า เพลงเรือมีทั้งความสนุกสนานจากคำร้อง เช่น คำร้องแบบสองแง่สองง่าม การได้ความรู้จากพ่อเพลงแม่เพลง เช่น ความรู้ทางโลกและทางธรรม และสำหรับกรณีเด็ก ๆ เพลงเรือฝึกฝนทั้งความจำ การต่อสายสัมพันธ์ของคนรุ่นย่ายายกับคนรุ่นหลาน ความสามัคคีหมู่คณะของเด็ก ๆ การยอมรับว่าใครเป็นผู้นำและใครเป็นผู้ตาม เช่น ในครั้งนี้ใครจะเป็นพ่อเพลงแม่เพลง และใครจะเป็นลูกคู่ นอกจากนั้น คุณครูยังแอบกระซิบกับผู้เขียนว่า ตนก็มีสายเลือดของเพลงเรือเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่ยอมให้ศิลปะพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของคนใต้ต้องมลายหายไปได้

เมื่อใช้ก็ต้องพัฒนาสุขภาพของเพลงเรือ

            คุณครูสุนิศาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงการปลูกหน่อใหม่ของเพลงเรือว่า ในขณะนี้ครูและแม่เพลงเรือกำลังเริ่มฝึกเด็กรุ่นใหม่ชั้นประถมกว่า 90 คนให้รู้จักเพลงเรือ เด็ก ๆ ที่เข้ามาร่วมมีตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 จนถึง ป. 6 แม้นว่า ในระยะแรก ๆ เด็ก ๆ อาจจะยังแต่งเพลงเรือไม่เป็นแต่เมื่อขึ้นชั้น ป. 5 และ ป. 6 ก็เริ่มมีแววแต่งเพลงได้บ้าง นอกจากนั้น ยังได้ตั้งชมรมเพลงเรือในโรงเรียน และกำลังวางแผนการจัดการแข่งขันการประกวดเพลงเรือ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจของเด็ก ๆ ให้เห็นคุณค่าของเพลงเรือ
            เด็กน้อยวัยใสกว่าสิบชีวิตที่มาร่วมงานนี้ กล้าที่จะร้องเพลงเรือด้วยนำเสียงใต้ แม้นว่า ในตอนนี้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ยังไม่ค่อยกล้าที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้าอย่างผู้เขียนเท่าไรนัก เพราะว่าเพิ่งเริ่มเข้าโครงการเรียนรู้เพลงเรือไม่กี่เดือนมานี่เอง แต่การเปล่งเสียงของเด็ก ๆ อย่างมั่นใจเวลาร้องเพลงเรือ ทำให้ผู้เขียนเริ่มมองเห็นว่า อนาคตของต้นอ่อนของเพลงเรือนี้กำลังค่อย ๆ เติบโตขึ้น และสิ่งที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กันก็คือ “อัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของสำเนียงใต้” ที่เด็กรุ่นใหม่จะกล้าพูดภาษาถิ่นได้มากขึ้น

ล่ำลา

            ในวันนี้ แม้ว่า เพลงเรือจะไม่สูญหายไปเพราะเรายังมีกลุ่มแม่เพลงและครูที่รักศิลปะพื้นบ้าน รวมถึงยังมีโครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุขที่เข้าใจการใช้เพลงเรือเพื่อสุขภาพ อีกทั้ง พัฒนาสุขภาพของเพลงเรือ แต่ปัญหาสำคัญของเพลงเรือที่ครูสุนิสาเล่าให้ฟังก็คือ “สำเนียงใต้” ที่เปลี่ยนไปของเด็ก ๆ ส่งผลให้เวลาร้องเพลงเรือไม่ได้อรรถรสของเพลงเรือแบบใต้ ๆ
            ต้นไม้เพลงเรือจะเติบโตหรือยั่งยืนได้นั้น แม่เพลงเรือและครูแห่งแหลมโพธิ์กำลังทำนุบำรุงและพัฒนาเหลี่ยมมุมหน้าที่ด้านสุขภาพ พร้อมทั้งย้ำว่า การสอนแต่เพียงให้เด็กร้องเพลงอาจจะไม่ทำให้ยั่งยืนเท่ากับการสอนให้เด็กเข้าใจแก่นแท้ และรากเหง้าของต้นไม้เพลงเรือ
--------------------------------
           
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 19818เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2006 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท