Self AAR 7


มีคนถามว่า หัวปลา คืออะไร?? ทำให้ผู้จัดกิจกรรมได้คิด ต้องรีบให้คำอธิบายกันอีกครั้ง และนี่ เป็นเครื่องยืนยันว่า ทฤษฎีก็มีความสำคัญเหมือนกัน

เดือนมีนาคม (สรุป 3 สัปดาห์)

  • ต้นเดือน นิสิตในโครงการสหกิจศึกษา 2 คน กลับจาก National University Hospital of Singapore แล้ว หลังจากฝึกงานนานรวม 4 เดือน (พ.ย. 48 - ก.พ. 49) นิสิตทั้ง 2 เป็นชายทั้งคู่ มาจากสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 1 คน และรังสีเทคนิค 1 คน ทั้งคู่พาอาจารย์ผู้คุมฝึกงาน 1 ท่าน (คุณโก๊ะ : นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก : คนใส่เสื้อสีฟ้า) มาเที่ยวพิษณุโลกด้วย

ทั้งนิสิต และอาจารย์ผู้คุมฝึกงาน ดูจะสนิทสนมรักใคร่กันดี ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสหเวชฯ มน. และแหล่งฝึกงานต่างประเทศก็แนบแน่นขึ้น  ส่วนตัวนิสิตเอง ทั้งปีที่แล้ว และปีนี้ ก็ได้รับข้อเสนอจากแหล่งฝึกให้ทำงานกับเขาต่อไปด้วย (สาวสวยซ้ายสุด คือนิสิตเทคโนฯ ที่ไปสหกิจปีที่แล้ว และกำลังจะไปทำงานที่โน่น) เพราะเขาพึงพอใจในความสามารถ และความรับผิดชอบของนิสิต  และอีกอย่าง ทางสิงคโปร์เองก็ขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้เช่นกัน  สำหรับโครงการสหกิจศึกษาของคณะสหเวชศาสตร์  ดิฉันจึงประเมินว่า งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย สามแสนบาท ต่อ ปีต่อคณะ ทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา  นับว่าเกินคุ้ม ดังนี้

  1. คณะฯ มีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านการฝึกงานแก่นิสิต เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพของบัณฑิต
  2. นิสิตที่มีศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ พร้อมด้วยผลการเรียนที่ดี และมนุษยสัมพันธ์ดี (ตามเกณฑ์การคัดเลือก) ได้รับโอกาสในการเพิ่มพูนศักยภาพที่มีอยู่ของตนเองให้สูงยิ่งๆ ขึ้น
  3. เป็นโอกาสในการเทียบเคียงสมรรถนะของผลผลิตภายในประเทศ กับมาตรฐานความต้องการของผู้ใช้ระดับต่างประเทศว่า มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่
  4. นิสิตได้ฝึกทั้งทักษะในวิชาชีพ และทักษะด้านภาษา (ที่สิงคโปร์  นอกจากจะได้ภาษาอังกฤษ ยังได้ภาษาจีน มาเลย์ อินเดีย อีกด้วย)
  5. นิสิตได้มีโอกาสฝึกงานในที่ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านเครื่องมือที่ทันสมัย  เทคโนโลยีใหม่ๆ  ตลอดจนระบบบริหารจัดการที่ดี (ซึ่งในบ้านเรายังไม่มีที่ๆ พร้อมเท่า)
  6. นิสิตได้ประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง ปรับตัวเข้ากับภาวะแวดล้อมที่ต่างไปจากตอนอยู่ในเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง  (ที่สิงคโปร์ ถึงจะต่างแต่ก็ยังเป็นแบบเอเชีย ช่วยให้ปรับตัวได้ไม่ยากนัก)
  7. นิสิตรุ่นน้องๆ ที่เห็นแบบอย่างจากรุ่นพี่ ได้นำบทเรียนต่างๆ ที่พี่กลับมาเล่าให้ฟัง ไปเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ เช่น หลายคน ตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น (เพราะเป้าหมายชัด)
  8. เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ดีๆ นิสิตคนหนึ่งบอกว่า เราคนไทยทำให้เขาประทับใจในวัฒนธรรมความนอบน้อม เช่น การไหว้อาจารย์ ซึ่งเขาประทับใจ เพราะไม่มีใครเคยปฏิบัติกับเขาอย่างนั้น  ส่วนนิสิตเองก็ประทับใจว่า ชาวสิงคโปร์มีน้ำใจ เวลาคนแปลกหน้าถามถนนหนทาง หรือขอความช่วยเหลืออะไร ชาวสิงคโปร์จะเต็มใจและให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ

ดิฉันจึงอยากให้มหาวิทยาลัยมั่นใจว่า มหาวิทยาลัยได้ประโยชน์จากโครงการนี้เกินคาดจริงๆ โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ตกแก่นิสิต และอยากให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนเช่นนี้อีกต่อๆไป

  • สัปดาห์ที่สองของเดือน งานที่ช่วยเสริมบทเรียนสำคัญๆ แก่การทำงานของดิฉัน คือ การเป็นวิทยากรอบรม KM ที่วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา มน. ซึ่งบันทึกไว้แล้วที่ บันทึกจาก FA ฝึกหัด กับ การไปดูงาน Toyota กับ UKM ซึ่งดิฉันได้บันทึกไว้แล้ว มีรูปที่พะเยาเก็บไว้กันลืมอีกเล็กน้อย 

 

  • สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มหาวิทยาลัย โดยกองแผนงาน นำโดยท่านรองอธิการบดีฝ่ายแผนฯ (ดร.สำราญ  ทองแพง) ได้เรียกประชุม ทุกหน่วยงาน เพื่อแจ้งให้คณะฯ และสำนักฯต่างๆ ทราบว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยท่านอธิการบดี ได้ลงนามในคำรับรองปฏิบัติราชการ (ตามข้อกำหนดของ กพร.) กับ ท่านเลขาธิการ สกอ. (ต้นสังกัด) แล้ว  รายละเอียดการให้คำรับรองว่าจะต้องทำงานให้ได้ตามเป้า เท่าไหร่ อย่างไร  มีใครบ้างเป็นผู้รับผิดชอบในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีเอกสารแจกให้โดยละเอียดด้วย  ดิฉันเกณฑ์ผู้บริหารทุกท่านของคณะฯ  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งงานแผน  งานวิจัย และงานบริการการศึกษา เข้าฟังหมด  จะได้ไม่ต้องอธิบายให้ฟังอีกต่อหนึ่งประเดี๋ยวจะเพี้ยนกันไปอีก  ที่สำคัญ ท่านรองสำราญมอบให้คณะฯ ไปร่างคำรับรองเช่นเดียวกันนี้มาด้วย แล้วส่งให้กองแผนฯ ภายในเดือนเมษายน  เพราะคณะฯ จะต้องเซ็นสัญญากับมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกันนี้ ตรงนี้แหละที่ดิฉันให้ความสำคัญมาก  หลังจากประชุม ดิฉันจึงเตรียมการกับท่านรองวิจัยและประกันฯของคณะ (ดร.ศิริลักษณ์  ธีระภูธร) กับงานแผนฯ (คุณสริตา  เถาลอย) โดยเริ่มจากการนำ Template คำรับรองของมหาวิทยาลัยมาลองกรอกดู  เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกับตัวชี้วัดต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับคณะ  แล้วเตรียมประชุมแจกงานในระดับหน่วยงานย่อย ทั้งภาควิชาและสำนักงานต่อไป  ต้องทำสัญญากันเป็นทอดๆ ลงไปถึงระดับบุคคล กันเลยทีเดียว จะได้ควบคุมคุณภาพทั้งระบบ งานจะได้ประสานเชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ อย่างนี้ก็ดีนะค่ะ

 

 

  • วันที่ 16 เป็นวันของการเตรียมตัวไปทำกิจกรรมสัมมนาการประกันคุณภาพการศึกษาและกิจกรรมการจัดการความรู้ของคณะสหเวชศาสตร์ ครั้งที่ 5 โดยท่านรองวิจัยและประกันฯของคณะ (ดร.ศิริลักษณ์  ธีระภูธร) จัดกิจกรรมหาหัวปลาเพื่อไปสัมมนากันทั้งคณะฯ ในวันเสาร์ที่ 1 และอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนเมษายน ที่จังหวัดชะอำ เพชรบุรี  โดยอาจารย์ได้จัดทำและนำเสนอผลการประเมินตรวจสอบของภาควิชาทั้ง 4  ภาค  เป็น River diagram และ Stair diagram  อย่างสมบูรณ์ทีเดียว  ส่วนหัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะสหเวชศาสตร์ (คุณบอย : คุณอนุวัทย์  เรืองจันทร์  ) ก็เช่นกัน ได้เก็บข้อมูลนำเสนอ River diagram ของสำนักงานเลขานุการคณะสหเวชฯ เทียบกับคณะพยาบาล ทันตฯ วิทย์การแพทย์ และสาธารณสุข ทำให้พวกเราเห็นภาพของคณะฯ ชัดเจนขึ้นอีกมาก  หลังจากนั้น มีคนถามว่า หัวปลา คืออะไร??  ทำให้ผู้จัดกิจกรรมได้คิด ต้องรีบให้คำอธิบายกันอีกครั้ง  และนี่ เป็นเครื่องยืนยันว่า ทฤษฎีก็มีความสำคัญเหมือนกัน  บ้านจะแข็งแรง รากฐานต้องมั่นคง ต้องปูพื้นก่อนขึ้นเสา ขึ้นหลังคา หลังจากนั้น เราก็จับกลุ่มเป็น 2 วง วง Teaching และวง Non-Teaching  เพื่อระดมความคิดเห็นในการหาหัวปลากันอย่างเมามัน  ผลสรุปดิฉันจะได้นำเสนอต่อไป
คำสำคัญ (Tags): #self#aar
หมายเลขบันทึก: 19799เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2006 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์ ทีมงาน และท่านผู้มีส่วนร่วม...
  • อ่านแล้วดีใจมาก ยินดีด้วยที่คณะสหเวชศาสตร์ มน.
    ประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนนิสิตกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
  • ดีใจยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่า นิสิตได้รับการทาบทามให้ไปทำงานในสิงคโปร์ บัณฑิตเองก็ทำงานในสิงคโปร์ นี่เป็นหลักฐานหนึ่งที่รับรองมาตรฐานการศึกษาได้เป็นอย่างดี...
  • ถ้าเป็นไปได้... ขอเรียนเสนอให้มีโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตประเภทให้สิงคโปร์มาไทยบ้าง แลกเปลี่ยนอาจารย์ หรือหาช่องทางให้ผลงานวิจัยและพัฒนา (R&D) มน. ได้ไปลงตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศบ้าง
  • รูปนิสิตกับอาจารย์มีอะไร "พิเศษ" อยู่เหมือนกัน คือดูไม่ค่อยออกว่า ใครเป็นอาจารย์ ใครเป็นศิษย์ เข้าใจว่า อาจารย์ของคณะฯ คงจะมีบุญ และรักษาสุขภาพดี ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย
  • ขอแสดงความยินดี และขอขอบคุณ...

ขอบคุณอาจารย์ มากครับ สำหรับ คอมเมนต์

และกำลังใจ :-)

ผู้เข้าร่วมประชุมฯค่ะ

เรียน ท่านอาจารย์มาลินี ธนารุณ

      วันนี้กลับจากการร่วมงานรวมพลังเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย ครั้งที่ 2  ทานข้าวเย็นเสร็จก็มาทดลองส่งข้อความถึงท่านอาจารย์ก่อนเลยค่ะ  

       วันนี้พอเปิด gotoknow.org  ก็เห็นช่องทางในการพัฒนาตนและพัฒนาองค์กรเต็มไปหมด เพราะเข้าใจเรื่อง KM มากขึ้นจากการบรรยายของท่านอาจารย์ค่ะ    ซึ่งคิดว่าอีกไม่กี่วันคงสามารถประยุกต์ใช้ Blog ได้   และคงต้องทุ่มเทและให้เวลาศึกษาเรื่องการจัดการความรู้อย่างเต็มที่จริงจัง   ท่านอาจารย์เป็นกำลังใจให้พวกเราที่กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่นี้ด้วยนะคะ  

        ขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาของท่านอาจารย์อีกครั้งค่ะ

ผู้เข้าร่วมประชุมฯค่ะ

หมายเหตุ

 ท่านอาจารย์น่ารักทั้งในรูปและตัวจริงเลยค่ะ ^_^

ขอบคุณท่านผู้เข้าร่วมประชุมผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม จริงๆ ค่ะ ที่ขอบคุณนั้น ก็เพราะท่านได้ทำให้ดิฉันมีกำลังใจที่จะถ่ายทอดความรู้ต่อไปอีก

สำหรับคนเป็นวิทยากรหรือเป็นครู สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในการทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือสอน ก็คือ มีผู้เห็นคุณค่าและนำไปปฏิบัติ และก่อให้เกิดประโยชน์ได้จริง แม้เพียง 1 ในร้อย ก็ถือว่าเกินคุ้ม 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท