คุยกับลูกง่ายๆได้ด้วยการดูหนัง


คุยกันง่ายขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ต้องไปดูหนังกับลูก

   ใครเคยพาลูกไปดูหนัง ยกมือขึ้น

   ใครเคยไปดูหนังกับลูก ยกมือขึ้น

   ใครไม่เคยทำทั้งสองอย่าง ยกมือขึ้น

          สามประโยคข้างบนนี้มีความหมายต่างกันค่ะ

  ประโยคแรกเราเป็นผู้คุมอำนาจอย่างสิ้นเชิง

  ประโยคที่สอง ลูกมีส่วนร่วมอย่างน้อย 70%

  ส่วนประโยคสุดท้าย อันนี้น่าเป็นห่วงมากค่ะ ว่าท่านอาจจะต้องเผชิญกับความย่งยากใจ เรื่องการสื่อสาร กับลูกได้ ไม่มากก็น้อยล่ะค่ะ

    ทำไมต้องเป็นการดูหนัง

    ทำไมต้องดูด้วยกัน

     ใครเป็นคนเลือกเรื่อง

    และหนังจะช่วยเรื่องการสื่อสารได้ยังไง น่าสนใจไหมคะ

           การดูหนังเปรียบเหมือนเป็นการพักผ่อนที่เด็กและวัยรุ่นชื่นชอบ นั่น หมายความว่า ถ้าเราเลือกกิจกรรมที่ดูเหมือนไม่จริงจัง เพื่อสอดแทรกเรื่องจริงจัง แบบไม่จริงจัง ลูกจะรับได้ง่ายกว่า สนุกกว่า จำได้นานกว่า ประทับใจมากกว่า

     และเหนือสิ่งอื่นใด ลูกรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขาหรือเข้าใจเขามากกว่านั่นเอง

          ที่ต้องดูด้วยกัน เพราะเราต้องการ บรรยากาศของการมีส่วนร่วม และการได้ใช้เวลาร่วมกันนั่นเอง สำคัญนะคะ ในเรื่องการมีส่วนร่วมกับลูก เพราะ หากขาดการมีส่วนร่วมแล้วล่ะก้ เรากับเขา จะเหมือนคนที่เดินคนละทาง ถ้าแค่คนละฟากแต่ยังพอเห็นกันก็ยังพอรับได้ แต่ที่กลัวมากก็คือ คนละทาง ยังไม่พอ ยังสวนทาง และมองไม่เห็นซึ่งกันและกันอีก อันนี้น่ากลัวมาก และหลายครอบครัวกำลังประสบเหตุนี้ ทำให้การสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูก เป็นไปแบบสวนทาง และ พูดเองเออเอง เพราะมองไม่เห็นอีกฝ่ายหนึ่งนั่นเอง

          ครั้งแรกคนเลือกเรื่องควรเป็นลูกก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศของการให้เกียรติ

ใช่แล้วค่ะดิฉันกำลังพูดว่า เราควรสอนเรื่องการให้เกียรติ อย่างง่ายๆ โดยการให้เขาเป็นผู้เลือกก่อน แล้วจากนั้น ก็เป็นการเลือกแบบเห็นพ้องต้องกัน ส่วนหลังจากนั้น อาจจะผลัดกันคนละที เขาบ้าง เราบ้าง อันนี้สอนเรื่องการยอมรับความคิดเห็น และสอนเรื่องการ เปิดโอกาสค่ะ ใช่แล้วค่ะ เรากำลังสอนเรื่องประชาธิปไตย อย่างง่ายๆ สนุก ทุกคนพอใจ และไม่ต้องมี ม็อบค่ะ

         แล้วเราจะคุยอะไรกับเขาหลังหนังจบล่ะ????

      เน้นว่าหลังหนังจบนะคะ อย่าคุยระหว่างหนังเล่น เพราะเป็นการรบกวนผู้ชมคนอื่น  

       อันนี้ผิดมารยาทอย่างแรง อย่าทำเด็ดขาดนะคะ

        ไม่ยากค่ะ หลังหนังจบสดๆ ร้อนๆควรถามเขาว่า

    ลูกรู้สึกยังไงกับหนังเรื่องนี้

    ลูกว่าเขาตั้งใจจะบอกอะไรกับคนดู

              มีฉากไหนที่ลูกประทับใจ เพราะอะไร

    มีคำพูดอะไรที่ลูกชอบ  เพราะอะไร

    มีคำพูดไหนที่ลูกไม่ชอบ  เพราะอะไร

              มีตอนไหนที่ลูกไม่ชอบ  เพราะอะไร

    มีตัวละครตัวไหนที่ลูกชอบ  ลูกว่าเขาเหมือนใครในบ้านเรา

    ตัวละครไหนที่ลูกไม่ชอบ  ลูกว่าเขาเหมือนใครในบ้านเรา

      หลักการถามที่ดี คือ ถามแบบตั้งใจฟัง ให้เกียรติ และไม่กระตือรือร้น จะอวดภูมิข่มลูก อีกทั้งไม่ด่วนที่จะแสดงความคิดเห็น หรือรีบแก้ไข หรือรีบไปบอกว่า นั่นไม่ใช่นี่ไม่ดี อันนี้ผิด นี่ไม่เหมือนที่เราคิด หรือต้องอย่างนั้นซิ อย่างนี้ซิ   ยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องศิลธรรม และจริยธรรม อันนี้รอไม่ได้ ต้องช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่นถ้าเขาชื่นชมตัวแสดงที่ข่มขืน หรือฆ่า เรารอไม่ได้ที่จะต้องรีบบอกเขาว่า ข่มขืนหรือฆ่า เป็นเรื่องที่ผิดศิลธรรม แต่เรื่องอื่นๆ เรารอได้ ให้เขาพูดก่อนนะคะ

    ถ้าถามลูกไปหมดอย่างที่แนะนำ แล้ว เราจะพอมองออกว่าลูกเราเป็นคนยังไง มีทรรศนะ การมองโลก และมองคนอย่างไร  จังหวะนี้เราอาจจะแสดงทรรศนะของเราให้เขาฟัง โดยไม่จำเป็นต้องสรุปว่าของใครถูก และของใครผิด

      หรือเราอาจจะแสดงความชื่นชม เมื่อเขาได้แสดงทรรศนะที่เป็นประโยชน์ก็ได้  ส่วนนี้เพื่อ สร้างความมั่นใจ และเสริมความภาคภูมิใจให้กับลูกค่ะ

     หนังเรื่องแรก อย่าเพิ่งไป เร่งรัด หรือตั้งอกตั้งใจเสียจนผิกธรรมชาตินะคะ

ค่อยทำ ทีละน้อยๆ  ภาษาวัยรุ่นว่า ต้องเนียน(แนบเนียน)

 แล้วเรื่องถัดๆไปถึงค่อยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ รับรองว่าไม่ผิดหวังค่ะ

     ก่อนจะจบ อยากฝากรายชื่อหนังที่ควรหามาดูพร้อมกันกับลูก เลือกให้เหมาะกับวัยนะคะ

ถ้าจะให้ดีแอบดู หรือถามคนที่ดูมาแล้ว หรือ อ่านบทวิจารณ์มาก่อน ก็จะดีค่ะ

    1.วัยอลวน4 ตั้ม โอ๋รีเทิร์น เหมาะกับลูกวัยรุ่น เราอยากสื่อเรื่อง ความสัมพันธ์ของลูกวัยรุ่นกับพ่อแม่ การยอมรับพฤติกรรม การให้โอกาส และการให้อภัย ตลอดจนสอนเรื่องการเปิดโอกาสจากพ่อแม่เม่อลูกทำไม่ได้ดั่งใจด้วยค่ะ

   2.Oh!! My Brother หนังเกาหลี สำหรับลูกประถม สื่อเรื่อง ความรักของพี่น้อง การดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน การให้เกียรติผู้อื่น และเรื่องของการมีน้ำใจค่ะ

   3.Zanthura เรื่องใหม่ล่าสุด เหมาะสำหรับลูกชั้นประถมที่ทะเลาะกันไม่หยุด สอนเรื่องการมองข้อดีของผู้อื่น การเสียสละในพี่น้อง และเรื่องการให้อภัย และการให้โอกาสค่ะ

   เหนือสิ่งอื่นใด เราในฐานะพ่อแม่

ต้องเข้าใจสาระ และมุมมองด้านบวก ที่หนังต้องการสื่อ

           ให้ถ่องแท้เสียก่อนนะคะ

ไม่งั้นงานนี้ หวิดวางมวยหน้าโรงหนังแน่ๆค่ะ

   

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 19769เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2006 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 00:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
วัยอลวน4 หนังดีดูสนุกสำหรับครอบครัว ลลนา สุลาวัลย์แสดงได้เจ๋งที่สุดในเรื่องนี้
ลลนา สุลาวัลย์ ได้รับรางวัลเกียรติคุณทางการแสดงครั้งที่3/2548 สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมในบทนำ จากกลุ่มผู้มีประสบการณ์ทางการแสดง ในหนังเรื่องวัยอลวน4 เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2549 ณ หอภาพยนตร์แห่งชาติ
ขอบคุณที่ส่งความเห็นมาร่วมให้กำลังใจ เรื่องหนังกับจิตวิทยากำลำงเป้นเรื่องที่กรมสุขภาพจิตให้ความสนใจและกำลังใช้ช่องทางของหนังในการสื่อความ ในหลายๆเรื่อง ล่าสุดมีหนังน่าดูว่าด้วยเรื่องของความรักหลายรูปแบบของเกาหลีเรื่อง Sad Movie น่าดูพอสมควร ส่วนเรื่องอื่นๆ ในฐานะจิตแพทย์ ยังไม่มีเรื่องไหนสะกิดใจค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท