สถาบันการฝึกหัดครูเต็มไปด้วยครูของครูที่อ่อนแอ


บุคลากรที่มีหน้าที่เป็นครูในสถานฝึกหัดครูต่าง ๆหรือที่เรามักเรียนกันสั้น ๆว่าครูของครูนั้น ควรมีลักษณะของความเป็นนักคิด หรือนักปราชญ์ทางการศึกษาเป็นลักษณะเด่นพอ ๆกับความเป็นนักปฏิบัติ หรือนักเทคนิค

 

 

 

 

                         

 

 

สถาบันการฝึกหัดครูเต็มไปด้วยครูของครูที่อ่อนแอ

 

          การหยิบประเด็นลบ ๆมาเขียนแบบนี้  ใช่ว่าผู้เขียนจะมีความสุขก็หาไม่
          แต่มีความเห็นว่า  การพูดกันตรง ๆมันเข้าใจง่ายดี
          จึงต้องขออภัยด้วย  หากมันกลายเป็นตัวการทำลายบรรยากาศ
          ขอให้ท่านทั้งหลาย มองว่าเป็นการมองให้เห็นจุดอ่อน  เพื่อกำจัดจุดอ่อน นะ

          ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตกับตนเองว่า  น่าสังเกตนะ ในบ้านเรานี้  คนพูด(เขียน)เรื่องการศึกษาได้ดัง ๆ และก็มีคนฟัง  มีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของคนทั่ว ๆไปในสังคม กลับเป็น  พระ หมอ  และชาวบ้าน  มากกว่า คนที่เป็นนักการศึกษา  หรือ ครู

          ท่านที่เป็นพระ  ได้แก่  พระพุทธทาส ภิกขุ  และพระธรรมปิฎก(ขอใช้สมณศักดิ์นี้ เข้าใจเอาเองว่า คนจะรู้จักเยอะกว่าสมณศักดิ์ปัจจุบัน)
          ท่านที่เป็นหมอ ได้แก่  นายแพทย์ประเวศ  วะสี  นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลาและ นายแพทย์เกษม  วัฒนชัย
          ท่านที่เป็นชาวบ้าน หรือปราชญ์ชาวบ้าน  ได้แก่  ครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์ และผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม
   


                                                                         เป็นต้น

          ในด้านการศึกษา  ผู้ที่พอจะยกย่องได้ว่าเป็นนักคิด  และมีคนยอมรับฟังความคิดความเห็นของท่าน  มีอิทธิพลต่อความคิดทางการศึกษาของคนทั้งหลายอยู่ไม่น้อย ได้แก่ ศาสตราจารย์ดร.สาโรช   บัวศรี  ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร  ศรีสะอ้านและ ศาสตราจารย์สุมน  อมรวิวัฒน์  

           ผู้เขียนพยายามนึกแล้วนึกอีก  ในช่วง  30-40  ปีที่ผู้เขียนเข้ามาสู่วงการฝึกหัดครู  ตั้งแต่เป็นนักเรียนโรงเรียนฝึกหัดครู  วิทยาลัยวิชาการศึกษา  ไปสอนที่วิทยาลัยครู  จนกระทั่งบัดนี้  เห็นภาพชัดเจนอยู่  3  ท่าน  ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร  ศรีสะอ้าน และ ศาสตราจารย์สุมน  อมรวิวัฒน์  คนอื่น ๆพอเห็นรำไร ๆอยู่บ้าง  เช่น  ศาสตราจารย์  ดร.  ไพฑูรย์  สินลารัตน์  เป็นต้น
         
          นี่ แสดงให้เห็นว่า  ในวงการศึกษา  วงการฝึกหัดครูมีนักคิด นักปราชญ์ทางการศึกษาน้อยมาก

          ผู้เขียนมีความเห็นว่า  บุคลากรที่มีหน้าที่เป็นครูในสถานฝึกหัดครูต่าง ๆหรือที่เรามักเรียกกันสั้นๆว่าครูของครูนั้น  ควรมีลักษณะของความเป็นนักคิด หรือนักปราชญ์ทางการศึกษาเป็นลักษณะเด่น พอ ๆกับความเป็นนักปฏิบัติ  หรือนักเทคนิค

          แน่นอน   ผู้เขียนเห็นว่า การฝึกหัดครูมีมิติของความเป็นอุดมการณ์พอ ๆกับความเป็นวิธีการ    

          และ  เช่นเดียวกัน  ผู้เขียนเห็นว่า ผลผลิตของการฝึกหัดครู(ครุศาสตร์  ศึกษาศาสตร์) ซึ่งหมายถึงครูทั้งหลายก็ควรมีมิติทั้งสองนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในตน 

          หันกลับมาดู  ครุศาสตร์ราชภัฏของเรา   เราไม่มีคนพูด(เขียน)เรื่องการศึกษาได้ดัง ๆ และก็มีคนฟัง  มีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของคนทั่ว ๆไปเลย
          มองย้อนกลับไป  30 - 40  ปี  ก็ไม่พบว่ามีใครที่ปรากฏโดดเด่นขึ้นมา   ยิ่งในปัจจุบันยิ่งเงียบสงัดไร้วี่แวว

          เรามีแต่นักเทคนิคที่คับแคบ  และหลวมฟ่ามเต็มไปหมด  ซึ่งในนั้นมีผู้เขียนรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

          ผู้เขียนเห็นว่า  นี่คือ สาเหตุสำคัญของปัญหาการศึกษาของชาติประการหนึ่ง 

          มีผู้คนเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษา  ต้องเน้นที่การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนและหัวใจของการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนอยู่ที่ปรับคุณภาพครู            

      ผู้เขียนอยากให้พิมพ์ตัวหนา ๆขีดเส้นใต้หลาย ๆเส้น พร้อมทั้งทำเชิงอรรถขยายความไว้ว่าหมายถึงครูของครูในสถาบันฝึกหัดครูเป็นสำคัญและเป็นกลุ่มแรกด้วย

                                              

 

 

                                                                                                                      Paaoobtong                                                                                                               

 

                                                                                                    @@@@@@@@@@@@@@@@@@                                                            

 

หมายเลขบันทึก: 197455เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2008 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมมีโอกาสไปที่ ม.แห่งหนึ่ง ...เพื่อจะไปยังศูนย์วิทยบริการ... แล้วขับรถหลงไปทางบ้านพักอาจารย์ใน ม.แห่งนั้น...พบว่า บ้านพักอาจารย์แทบทุกหลัง ติดป้ายหน้าบ้านว่า...รับปรึกษาทำผลงานอาจารย์3...บางบ้านก็ต่อเติมเป็นร้านซุปเปอร์มาร์ท รับพิมพ์งาน ถ่ายเอกสารเข้าปก วิทยานิพนธ์ ขายเครื่องดื่ม แทบทุกชนิดฯ... ฯลฯ...ผมหวลนึกถึงเด็กนักศึกษาที่เขาเคยพักอาศัยห้องข้างล่างที่บ้านพักราชการของผม (ปัจจุบันเขาเป็นครูอยู่โรงเรียนที่บ้านเกิดในชนบทของเขา)...เขาแอบเขียนป้ายขนาดยาว 1 เมตร กว้างสักคืบหนึ่ง ผูกเชือกห้อยไว้ที่หน้าห้องว่า.... อาศรม ปัญญา.... เด็กคนนี้เรียนดี เพื่อนๆรัก และชอบมาทำการบ้านกับรายงานด้วยเสมอๆ.....

บางอย่าง และหลายอย่างที่เรียนมา อาจไม่ได้นำมาใช้ในสถานศึกษาจริงก็ได้

เพราะมัวแต่วุ่นอยู่กับเอกสาร จนไม่มีเวลาได้ดูแลเด็กอย่างเต็มที่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท