การปฏิวัติ และการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม มองจากสายตาทูตญี่ปุ่น


ญี่ปุ่นมีนักการทูตที่เกาะติดกับเหตุการณ์วงใน และสามารถวิเคราะห์ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างละเอียด

ฟ้าครับ

ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือเรื่อง "การปฏิวัติ และการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม" เขียนโดย ยาสุกิจิ ยาตาเบ

หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าในแง่การเล่าถึงประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ซึ่งเดินทางมาทำหน้าที่ ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การอ่านจะได้ประโยชน์มากถ้าผู้อ่านได้อ่านหนังสือที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มาก่อนจากหลาย ๆ แหล่ง และเห็นภาพของเหตุการณ์อยู่ก่อนแล้ว หนังสือเล่มนี้ จะให้ข้อมูลที่เป็นอีกภาพหนึ่งซ้อนทับเข้าไป ทำให้ภาพที่เห็น ปะติดปะต่อเข้าด้วยกันเป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์มากขึ้น (แม้ว่าข้อมูลไม่น้อยในหนังสือเล่มนี้ อ้างมาจากเอกสารของไทยเอง ด้วยเหตุผลในการแปล)

อีกประการหนึ่งผู้เขียนเป็นชาวต่างชาติ ไม่จำเป็นต้องหวั่นเกรงอิทธิพลของผู้ใดในเมืองไทย จึงนำเสนอความคิดของตนได้อย่างตรงไปตรงมาตามที่คิด สิ่งที่เห็นค่อนข้างเด่นชัดคือ สถานะของนายปรีดี พนมยงค์ในเวลานั้นซึ่งยังไม่ได้รับการยอมรับนักคือถูกมองว่าเป็นกลุ่มพวกหัวรุนแรง (ไม่แน่ใจว่าในต้นฉบับใช้คำว่า kageki-ha หรือ taka-ha) หากเปรียบเทียบกับทัศนคติในสมัยนี้อาจรู้สึกว่าไม่เหมือนกันนัก นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ "ชำระประวัติศาสตร์" โดยกาลเวลาอย่างหนึ่ง กล่าวคือบทบาทในการอุทิศตนเพื่อประเทศชาติของคนบางคน ต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานเป็นเครื่องพิสูจน์กว่าจะคลี่คลายและตกผลึก

อีกประเด็นหนึ่งคือ สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในช่วงเวลานั้นไม่ได้สูงส่ง หรือมั่นคง หากเทียบกับปัจจุบันนี้ ซึ่งก็คงเนื่องมาจากความผันผวนของสภาพแวดล้อมทางการเมืองในเวลานั้น ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ประเด็นนี้ถ้าได้ลองอ่านเรื่อง Revolutionary King ก็จะยิ่งเห็นภาพชัดเจนขึ้น

น่าชื่นชมสำหรับชาวญี่ปุ่นที่มีนักการทูตที่เกาะติดกับเหตุการณ์วงใน และสามารถวิเคราะห์ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างละเอียด กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ทั้งกับไทยและญี่ปุ่น (ในสมัยนั้นคงมีประโยชน์กับญี่ปุ่นมากกว่า) เวลานี้หน่วยงานของญี่ปุ่นในเมืองไทยเช่น สถานทูต, JETRO, JBIC ก็ทำหน้าที่ด้านข่าวกรองเช่นนี้อยู่ให้กับประเทศแม่ของเขาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องชวนคิดว่า บุคลากรระดับชั้นนำของไทย จะทำหน้าที่ด้านข่าวกรองระหว่างประเทศให้กับประเทศไทย เช่นนี้ได้มากน้อยเพียงใด

หมายเลขบันทึก: 197401เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2008 01:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณนเรศ

แวะมาอ่านด้วยสนใจในหัวข้อบันทึกค่ะ

อ่านแล้วได้ความรู้ดีค่ะ กรณีของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นั้น เป็นตัวอย่างของคำกล่าวที่ว่า "ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน" ค่ะ

กาลเวลาและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อทัศนคติของผู้คนในแต่ละยุคสมัย เพียงแต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้เท่าทัน..

ขอบคุณค่ะที่เขียนบันทึกนี้ให้อ่าน..^_^

สวัสดีครับคุณP ใบไม้ย้อนแสง

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมอีกครั้ง ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ไปทั้งสนุกและเศร้าใจ ที่เศร้าใจคือสภาพความสับสนทางการเมือง ความไม่มั่นใจในอนาคตของบ้านเมืองในเวลานั้น มาถึงวันนี้คล้ายกับจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ครับ พูดง่าย ๆ คือผมเกิดอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ตอนนั้นได้ง่ายมาก ทั้งที่จริงไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น... ใช่ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท