คนฉลาดอ่านหยุดอ่านหน่อย


บัวมี ๔ เหล่า

“Why Smart People Can be so Stupid? เป็นหนังสือที่ดูชื่อแล้วน่าบันเทิงอย่างยิ่ง ตั้งชื่อดูแล้วน่าเป็นคอลัมน์หนังสือประเภทซุบซิบมากกว่าเป็นตำรา แต่เมื่อเปิดดูชื่อผู้เขียนนับแต่ Robert J. Sternburg ผู้เป็นบรรณาธิการของหนังสือ เจ้าของทฤษฎีดังทางจิตวิทยา ซึ่งคนในวงการจิตวิทยา และการศึกษา หากไม่รู้จักคนนี้สงสัยต้องไปเคาะสนิมโรคล้าหลัง

หรืออัลไซเมอร์   
นักเขียนทั้งเล่มล้วนแต่ดาราดังที่เป็นกลุ่มนักวิชาการเต็มตัว แม้ตัวจริงสเตอร์นเบอร์คจะเป็นคนน่ารัก น่าคบ มีอารมณ์ขัน แต่เมื่อทำงานแล้วก็ไม่ค่อยขำเท่าไร หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนจึงอดที่จะอ่านไม่ได้ และเมื่ออ่านแล้วก็เห็นว่าเห็นทีจะต้องมาแบ่งปันทัศนะกับท่านผู้อ่านซึ่งเป็นคนฉลาด หรือเป็นคนที่ต้องยุ่งกับคนฉลาดเช่นอาชีพของผู้เขียน ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้เข้าข่ายจะเป็นคนฉลาด ท่านก็ลองอ่านดูว่าใครเข้าข่ายไหน

ในอดีตเราก็ได้ฟังเรื่องพลาดแบบไม่น่าเป็นไปได้จากคนดัง ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก แน่นอนเขาเป็นอัจฉริยบุคคลตัวยง แต่เวลาที่ต้องหาทางเจาะช่องให้สุนัขกับแมวที่บ้านเข้าเขาเจาะถึงสองช่อง! ไอน์สไตน์ก็เป็นสัญลักษณ์ของอัจฉริยะของโลก แต่ในชีวิตส่วนตัวก็มีเรื่องน่าขันถึงความไม่รู้เรื่องของเขา เช่น หุงข้าวไม่เป็น และความซุ่มซ่ามหรือไม่เดียงสา หลายอย่างที่แม้แต่คนปัญญาอ่อนก็ไม่ทำ อัจฉริยะของโลกหลายคนอาจทำมาแล้ว นักวิชาการระดับโลกคนหนึ่งฉลาดเป็นกรด วันหนึ่งเพื่อนขอร้องให้ดูแลเพื่อนให้ เมื่อตื่นเช้ามาก็อยากดื่มกาแฟ กลายเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะไม่กล้าเปิดเตาแก๊ส สรุปต้องดื่มจากก๊อกน้ำร้อนแทน พอหนุ่มน้อยปัญญาอ่อนตื่นมา ศาสตราจารย์ท่านนี้ก็หิวเป็นกำลัง แต่ปรุงอาหารไม่ได้ ท้ายสุดหนุ่มน้อยปัญญาอ่อนต้องดูแลทำกับข้าวให้กิน เลยไม่แน่ใจว่าใครดูแลใคร

ตัวอย่างทางพฤติกรรมมากมายหลายกรณีในหนังสือเล่มนี้หยิบยกมาเป็นกรณีเด็ด มักจะนำมาจากผู้ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น กรณีของประธานาธิบดีคลินตัน กับลูวินสกี้ ถือเป็นคดีเด็ดเขียนวิเคราะห์หนึ่งบทเต็ม ๆ นอกนั้นก็มีนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงโด่งดังคับเมืองแต่ถูกจับเข้าคุกเพราะชอบหลอกล่อเด็กหนุ่มมาถ่ายรูปโป๊ ทำมานานแต่ท้ายสุดวิบากกรรมตามทันเมื่อเด็กคนหนึ่งไม่ยอมและเรียกร้องเป็นเงินราคาแพง เรื่องก็ต้องจบลงการเสียเงิน เสียอิสรภาพ เสียชื่อเสียง ความจริงบ้านเราก็มีหลายกรณีที่เป็นคดีเด็ดกว่าฝรั่ง ไม่อย่างนั้นจะมีคำพังเพยว่า “ปลาตัวโตตายน้ำตื้น” มาแต่โบราณหรือคะ ถ้าคนดัง ๆ บ้านเราหากไปอยู่เมืองนอกสงสัยได้ถูกเอามาวิเคราะห์ในหนังสือเล่มนี้แล้ว

นักจิตวิทยากลุ่มนี้ท่านก็ตั้งคำถามเป็นประเด็น ๆ ว่าทำไม….คนพวกนี้ที่แสนฉลาดถึงโง่ได้… และความโง่กับความฉลาดนี่มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ความงี่เง่านี่ไปสร้างพฤติกรรมงี่เง่าให้กับคนฉลาด แต่เรามีวิธีวัดความโง่บ้างไหมนี่? และท้ายสุดเรามีทางที่จะปรับความงี่เง่าของคนฉลาดให้น้อยลงไหม ?

เวลานักวิชาการเขาอยากหาคำตอบ ก่อนอื่นเขาต้องดูคำนิยามก่อนว่าความงี่เง่านี่หมายความว่าอย่างไร สรุปว่ายังไม่เคยมีใครให้คำนิยาม พวกเขาก็เลยลองตั้งความหมายของความงี่เง่าว่าคือความล้มเหลวในการใช้ปัญญาของตัวเองให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ท่านลองตั้งคำนิยามดูแล้วส่งไปขอรางวัลกับ ดร.สเตอร์นเบอร์คเอาเองแล้วกันนะคะ

เมื่อหกสิบปีที่แล้วมีหนังสือดังทางจิตวิทยาเรื่องหนึ่งชื่อ “ The Mentality of Apes’’ Wolfgang kokfer ซึ่งอาจเป็นคนแรกที่พูดถึงความผิดพลาดของสัตว์สายลิง (รวมคนด้วยมั้งคะ) ว่าความผิดพลาดมาจากสามสิ่ง คือ

  1. ความพลาดที่ดี เช่น การลองผิดลองถูกในการเรียนรู้ที่เป็นพฤติกรรมของลิง แน่นอนละ ถูกต้องมีผิดมาก่อนดังนั้นใครที่ชอบพูดว่าลองไปเถอะเดี๋ยวก็รู้เองว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยขาดการใช้ปัญญา ความรู้ ท่านก็ไม่ต่างจากลิงเจี๊ยก ๆ นะจะบอกให้
  2. ความผิดพลาดเกิดจากการขาดความเข้าใจในเรื่องของงาน เราได้เห็นตัวอย่างนี้จากคนที่มีตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเราหลายระดับที่มาครองตำแหน่งเพราะโควต้า ทั้ง ๆ ที่หาความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่แทบไม่ได้ ตัดสินปัญหาแบบลิงมากมาย จริงไหมคะ ? (ความงี่เง่าประเภทนี้ทางทฤษฎีอภิปัญญาเรียกว่าความอ่อนด้อย/ความล้มเหลวในการใช้ปัญญา มักพบในคนฉลาดน้อยเพราะคนฉลาดน้อยขาดความสามารถในการประเมินปัญญาของตนเองว่าตนเองมีความเหมาะสมกับงานหรือไม่)
  3. ความผิดพลาดเกิดจากนิสัยหรือกิเลส เช่น อารมณ์โกรธ เกลียด ที่เห็นบ่อยคือโลภอยากได้กล้วยมาก ๆ โดยไม่กลัวท้องแตกตาย หรือ อยากเหล่กับลิงสาวหลาย ๆ ตัวจนลืมสังขาร อันนี้ก็คล้าย ๆหลายคนนะคะ
ศาสตราจารย์เฮมาน ผู้เขียนบทที่วิเคราะห์ถึงเหตุผลว่า ทำไมคนฉลาดๆ ถึงมีพฤิกรรมโง่อย่างไม่น่าโง่ หรือโง่อย่างไม่น่าให้อภัยได้ เพราะความงี่เง่าของคนเป็นเรื่องที่มีสาเหตุมาจากหลายสิ่งหลายอย่าง และเรื่องของความโง่ของคนก็เป็นเรื่องสลับซับซ้อน (อ้าวเป็นอย่างนั้นไป) คลุมเครือ ไม่แน่นอนแล้วแต่กาลเทศะ อย่างไรก็ตาม คนฉลาดแล้วมีพฤติกรรมงี่เง่านี่มักมาจากความสับสนหลายเรื่องเพราะ
  1. ความโง่เง่าไม่ได้เป็นผลมาจากเรื่องสติปัญญาเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมและจารีตด้วย
  2. ความงี่เง่าหลายเรื่องมาจากความไม่ใส่ใจเรื่องนั้น หรือมองข้ามเรื่องนั้นไป หรือเอาใจไปคิดเรื่องอื่น
    จนลืมเรื่องที่ทำอยู่
  3. ความงี่เง่าหลายครั้งมาจากการได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ข้อมูลคาดเคลื่อนหรือความรู้ที่จำกัด (ข้อนี้นี่มาพูดเมืองไทยก็สะเทือนไปทั้งวงการ คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดก็อย่าอ่านตรงนี้เลย แสดงใจตัวเองเปล่า ๆ เพราะไปเลียนพฤติกรรมลิงเข้าเต็มเปา เช่น หนังสือที่ชื่อว่า “มนุษย์ไม่พัฒนา” )
  4. คนฉลาดก็สามารถพลาดได้เพราะกฎที่พระท่านว่าไม่มีใครสมบูรณ์มิฉะนั้นก็คงไม่ต้องเกิดมาเพื่อเรียนรู้หรอกจริงไหมคะ

ศาสตราจารย์เฮมานยังพยายามศึกษาความพลาดของคนปัญญาอ่อนว่าคนปัญญาอ่อนทำพลาดถือว่าเป็นความงี่เง่าไหม นักจิตวิทยาหลายท่านไม่มีใครกล่าวออกมาตรง ๆ ว่าสรุปว่าอย่างไร ดร.เฮมานก็วิเคราะห์จากข้อมูลแล้วบอกว่าคนที่สติปัญญาอ่อนด้อยเมื่อผิดพลาดเป็นเพราะขาดความสามารถที่เหมาะสมขาดความรู้ที่จะแก้ปัญหา สรุปว่าคนฉลาดน้อยไม่สามารถงี่เง่าได้ในความเห็นของท่าน

น่าเสียดายว่าด้วยเนื้อที่จำกัด ผู้เขียนไม่สามารถเล่าขานถึงแนวความคิดจากนักวิชาการดัง ๆ ที่วิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้หมด หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้พบว่า หลายแง่มุมทางจิตวิทยาได้ละเลยหลักการหรือเหตุผลทางทฤษฎีสำหรับคนฉลาดไปมากทีเดียว หนังสือเล่มนี้เขียนโดยกลุ่มนักจิตวิทยาระดับที่มีชื่อเสียงในวงการ และอธิบายแง่มุมที่ขาดหายทางจิตวิทยาได้เป็นอย่างดี

เห็นไหมคะว่าเราเองก็อาจงี่เง่าเรื่องความเชื่อที่ว่าคนฉลาดต้องฉลาดรู้ไปทุกเรื่อง ช่วยตัวเองได้หมด

  เด็ก ๆ ที่ฉลาดก็มีเรื่องที่แสดงถึงความงี่เง่าหลายประการที่เล่าทั้งปีก็ไม่จบ

คำสำคัญ (Tags): #พหุปัญญา
หมายเลขบันทึก: 19658เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2006 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท