บทความการปฏิรูปการศึกษา


“การปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตการศึกษาไทยในบทบาทผู้บริหารสถานศึกษา”

การปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตการศึกษาไทยในบทบาทผู้บริหารสถานศึกษา

 

 

ปิยพจน์ ตุลาชม

นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษา

มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

การปฏิรูปการศึกษาได้ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยที่ทุกคนในชาติต้องร่วมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น ทุกคนต้องรู้และเข้าใจเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก่อน นั่นคือ ต้องปฏิรูปเพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ หมายถึง ต้องมีความรู้ มีความสามารถ เป็นคนดีของชุมชน เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ และเป็นพลโลกที่ดี

ในปัจจุบัน การปฏิรูปการศึกษาของไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก การที่นักเรียนยังต้องเรียนพิเศษ ครูยังต้องได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถอีกมาก ผู้บริหารสถานศึกษาไม่สามารถบริหารจัดการศึกษาในส่วนที่ตนต้องรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่ ภาคประชาชนไม่มีความเข้มแข็ง ไม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน ทำให้ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการศึกษาในชุมชนของตนเอง

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องมุ่งเน้นปฏิรูปใน 4 ด้าน คือ 1) ปฏิรูปด้านสถานศึกษา 2) ปฏิรูปครู 3) ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน และ 4) ปฏิรูประบบการบริหารการจัดการศึกษา ซึ่งการที่จะปฏิรูปทั้ง 4 ด้าน ดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยการบริหารจัดการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีอิสระในการบริหารจัดการตามหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management : SBM) ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานและความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา ได้อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ได้มุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการศึกษาโดยสถานศึกษา กระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดการศึกษา ทำให้สถานศึกษามีอิสระและมีความคล่องตัวในการบริหารงานด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารบุคคล และบริหารทั่วไป พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในรูปคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนครู และผู้แทนชุมชน

จากหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งได้นำมาใช้ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของการปฏิรูปการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำพาอนาคตของการศึกษาไทยไปสู่เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา จึงต้องมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการปฏิรูปการศึกษา และได้นำกระบวนการในการบริหาร 7 ประการ (POSDCoRB) ของ Gulick และ Urwick มาประยุกต์ใช้ในการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM) ดังนี้

1.       การวางแผน (Planning) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องสามารถวางแผนและกำหนดเป้าหมายของการศึกษา/ผลผลิตทางการศึกษา ซึ่งเป็นผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายของระบบการศึกษา เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของผู้รับบริการ โดยเน้นคุณภาพผู้เรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวมทั้ง ต้องมีการกำหนดแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยการนำระบบข้อมูลสารสนเทศมาใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันตัดสินใจดำเนินงาน

2.       การจัดองค์การ (Organization) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องสร้างแบบของการพัฒนาองค์การในโรงเรียนขึ้นเอง โดยต้องมุ่งพัฒนาทั้งองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

3.       การจัดกำลังคน (Staffing) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีเทคนิคในการบริหารจัดการบุคลากรและการใช้ทรัพยากรบุคคล และรู้จักระดมทรัพยากรทางการศึกษาภายนอก เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น มาร่วมกันจัดการศึกษาอย่างชาญฉลาด เน้นการทำงานเป็นทีม ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน มีการพัฒนาศักยภาพของครูอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการให้รางวัลกับผู้ที่มีผลงาน เสริมสร้างระบบคุณธรรม เพื่อเสริมแรงจูงใจให้สมาชิกองค์กรได้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข

4.       การอำนวยการ (Directing) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีคุณลักษณะของผู้นำทางวิชาการอย่างแท้จริง สามารถให้ความช่วยเหลือทางวิชาการได้ นิเทศได้ และเป็นแบบอย่างที่ดี สามารถจูงใจให้ครูทุกคนอยากทำงานและมุ่งไปที่ความสำเร็จของงาน มีเทคนิคการบริหารที่ทันสมัย ใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมมากที่สุดในทุกกิจกรรม

5.       การประสานงาน (Co-ordinating) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเป็นผู้ประสานงานที่ดี สามารถสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ มียุทธศาสตร์การสร้างเครือข่าย เช่น เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายชุมชน เครือข่ายศิษย์เก่า ให้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการศึกษา สนับสนุนโรงเรียน และเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาในการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของสถานศึกษาร่วมกัน

6.       การรายงาน (Reporting) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องรายงานผลการปฏิบัติการบริหารการศึกษาให้แก่ผู้บังคับบัญชา และเผยแพร่ผลของการดำเนินการต่อสาธารณะ ซึ่งอาจแสดงในรูปของการประกันคุณภาพการศึกษา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน

7.       การงบประมาณ (Budgeting) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความสามารถในการจัดการงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งต้องมีความสามารถในการระดมทรัพยากรจากภายนอกสถานศึกษามาใช้ในการบริหารจัดการศึกษา

จากบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาในยุคการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า นั่นคือ คุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพในการบริหารสถานศึกษา หากผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่าน สามารถสร้างให้เกิดขึ้นกับตนเองได้ อนาคตการศึกษาไทยคงจะก้าวไปสู่เป้าหมายได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 196210เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2008 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท