ไปเยี่ยมโรงพยาบาลวิเชียรบุรี


ภูมิใจที่ได้ทำคลินิกเบาหวาน เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยเริ่มเข้าใจว่าตนเองเป็นเบาหวาน รู้ว่าตนเองต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ ดิฉันและกรรมการสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานอีก ๓ ท่าน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการทำงานของทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เป็นครั้งแรกที่ดิฉันมาที่จังหวัดนี้ สภาพแวดล้อมที่พบเห็นระหว่างทางดูสงบเงียบ น่าอยู่ไม่น้อย

โรงพยาบาลวิเชียรบุรี เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๙๐ เตียง การพัฒนาที่ผ่านมาเพิ่มแต่จำนวนเตียงรับผู้ป่วยใน เมื่อมีแพทย์ทางอายุรศาสตร์มาประจำและเริ่มทำเรื่อง HA ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลและพบว่าผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีจำนวนมากอยู่ใน ๕ อันดับแรก จึงตกลงที่จะพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

โรงพยาบาลวิเชียรบุรี ได้จัดตั้งคลินิกเบาหวานแยกจาก OPD ทั่วไป ปรับระบบการตรวจรักษาทั้งหมด เวลาที่ผู้ป่วยมา follow up แพทย์ไม่ได้ดูแต่ผลน้ำตาลในเลือดเพียงอย่างเดียว แต่จะมีสมาชิกทีมซึ่งเป็นพยาบาลซักถามข้อมูลการปฏิบัติตนของผู้ป่วย อาการต่างๆ ของเบาหวาน และตรวจสุขภาพเท้าก่อนที่จะพบแพทย์ มีการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเป็นกลุ่ม ให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล ติดตามเยี่ยมบ้าน ฯลฯ 

ทีมสหสาขาวิชาชีพมีจำนวนประมาณ ๒๐ คน ที่น่าชื่นชมคือต่างก็รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองชัดเจน นายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลให้การสนับสนุนและลงมือเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับใช้บันทึกข้อมูลผู้ป่วยเบาหวานด้วยตนเอง (ท่านบอกว่าศึกษาวิธีการด้วยตนเอง)

ดิฉันได้ไปเยี่ยมดูการทำงานของฝ่ายการพยาบาล ได้คุยกับคุณศรีไพร ว่องไวพานิช หัวหน้าพยาบาลหอผู้ป่วยหญิง คุณรุนิยา ตระกูลบุญ หัวหน้าพยาบาลหอผู้ป่วยชาย คุณภัชราภรณ์ บุญคง หัวหน้าพยาบาล ICU คุณเอื้อมเดือน นามวิเศษ พยาบาลผู้ให้คำปรึกษา และน้องๆ พยาบาลอีกหลายคน สิ่งที่ประทับใจคือพบว่าทุกคนมีความกระตือรือร้น ต้องการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานของตนให้ดีขึ้น 

ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิใจที่สามารถสร้างทีมสหสาขาวิชาชีพได้ คุณเชิดชัย คงจำนง พยาบาลชาย (หนุ่ม) บอกว่า "ภูมิใจที่ได้ทำคลินิกเบาหวาน เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยเริ่มเข้าใจว่าตนเองเป็นเบาหวาน รู้ว่าตนเองต้องทำอะไรบ้าง ภูมิใจที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย"

เพิ่งดำเนินงานมาประมาณปีกว่า เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นโอกาสในการพัฒนาของโรงพยาบาลวิเชียรบุรี การที่ผู้บริหารให้การสนับสนุนและลงมาร่วมทำด้วย ทีมบุคลากรมีความตั้งใจสูง มีเป้าหมายเดียวกันและมุ่งให้บริการโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

ในโอกาสนี้ดิฉันได้ประชาสัมพันธ์เครือข่ายของเรา Weblog Gotoknow และ Website ของ สคส. และแนะนำให้ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและงานด้านอื่นๆ

เมื่อเสร็จงานเราออกจากโรงพยาบาลไปรับประทานไก่ย่างที่ขึ้นชื่อ สำรวจและซื้อผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์จนแต่ละคนเกือบหิ้วกลับไม่ไหว

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘

 

 หน้าโรงพยาบาล

 

 หัวหน้าพยาบาลและทีมงานออกมาต้อนรับ

 

 ผู้ป่วยเบาหวานกำลังเรียนเรื่องการออกกำลังกาย

หมายเลขบันทึก: 1956เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2005 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่น่าผ่านมาตราฐานเลย เพราะไม่เห็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น สายออกซิเจนทางจมูกที่หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินของ อบต./เทศบาล ใส่มากับผู้ป่วยก็ไม่เปลี่ยนให้กับหน่วยบริการ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจก็มาก แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหน่วยบริการนั้นๆไม่ได้นำสายออกซิเจนที่ใช้แล้วมาใส่ให้เรา ทั้งๆที่ตั้งแต่เริ่มทำมาหลายปีเคยเปลี่ยนให้ทุกครั้งที่มีการใช้งาน หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้พยายามถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมไม่เปลี่ยนให้เพราะทุกครั้งเคยเปลี่ยนให้ก็ได้รับคำตอบว่าหัวหน้าไม่ให้เปลี่ยนพร้อมชี้ไปที่กระดาษ A4 ที่พิมพ์เป็นคำสั่งไม่ให้เปลี่ยนอุปกรณ์ให้กับหน่วยบริการ ไม่น่าจะทำดีแค่ตอนเขามาตรวจโรงพยาบาลเลยน่าสงสารคนวิเชียรบุรี

http://wichianhos.thaiddns.com/whboard/index.php?topic=765.0

ถ้าคลิ๊กไม่ได้ให้ copy แล้วเอาไปวางที่ Address ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท