การวิจัยในชั้นเรียน


การวิจัยในชั้นเรียนเป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอนมิได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แยกต่าง หาก และครูก็ได้จัดทำอยู่แล้ว เหมือนเชือกที่ต้องสอดประสานพันกันเป็นเกลียวไม่สามารถแยกออกเป็นเส้น ๆ ได้

 

1. เรื่องที่อ่าน  คือ   การวิจัยในชั้นเรียน  จากเว็บไซต์ ศูนย์วิจัยและพัฒนา  สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์  และบุคลากรทางการศึกษา

 

2. สาเหตุที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้   เพราะว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จมากที่สุด  คือ  ครู  ขณะที่ครู  ซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการทำให้การดำเนินงานการศึกษาเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ปัญหาที่พบ คือ ครูไม่รู้จักนักเรียน ไม่รู้ว่านักเรียนของตนเป็นใคร มีจุดเด่นจุดด้อยในเรื่องใดบ้าง มีศักยภาพมากน้อยเพียงใด ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ครูไม่มีการศึกษาปัญหาของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน และเพียงพอในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา   ทั้ง ๆ ที่ครูเหล่านั้นอยู่กับปัญหาการเรียนการสอนตลอดเวลา แต่มีงานวิจัยที่เกิดจากครู หรือเป็นผลงานของครูด้านการวิจัยทางการศึกษามีน้อยมากที่มีการพิมพ์เผยแพร่ออกมา  ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องจากความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษาของครูมีน้อย และที่สำคัญการวิจัยทางการศึกษายังเป็นภาระงานส่วนหนึ่งในการขอรับการประเมินวิทยฐานะ  และการประเมินเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครูอีกด้วย

สาระสำคัญของเนื้อหาโดยสรุป  การวิจัยเป็นกระบวนการแก้ปัญหาโดยผ่านการวางแผน การรวบรวมข้อมูลอย่างมีระบบ การวิเคราะห์ข้อมูลและการตีความหมายข้อมูล     ซึ่งสรุปได้ว่า การวิจัยเป็นการแสวงหาคำตอบของปัญหาหรือข้อสงสัยต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้มีระบบ มีขั้นตอนในการดำเนินงานที่จะได้คำตอบที่ถูกต้องหรือเชื่อถือได้

ลักษณะการวิจัยในชั้นเรียน  การวิจัยในชั้นเรียน มีลักษณะเป็นการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) จุดมุ่งหมายของการวิจัยลักษณะนี้ ก็เพื่อใช้ผลการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาทันที ไม่ต้องพัฒนาทฤษฎี หรือใช้ผลในแง่อื่น   เกิดขึ้นในชั้นเรียนเกี่ยวกับการเรียนการสอน  ผู้วิจัยก็คือ ครู  และตัวครูเป็นผู้สะท้อน (Reflect) ความรู้หรือข้อค้นพบออกมา

พันธกิจของครูในการพัฒนาและรับผิดชอบการเรียนการสอน   บทบาทหน้าที่ของครูมีตั้งแต่การวางแผนการสอน สอนทั้งในและนอกห้องเรียน ตรวจผลงาน ตรวจแบบฝึกหัด การให้คะแนน ฯลฯ ซึ่งงานดังกล่าวเป็นภาระหน้าที่ของครูโดยตรง   การวิจัยในชั้นเรียน เป็นงานวิจัย ของครูแต่ละคน  จะนำกระบวนการวิจัยตั้งแต่การวางแผนวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ การสรุปผล และการอภิปรายผล มาใช้ในระหว่างทำกิจกรรมการเรียนการสอนในวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบ   กล่าวคือ ครูยังคงทำหน้าที่จัดกิจกรรมการเรียน การสอน การจัดทำแผนการสอนและลงมือสอนเหมือนเดิมแต่ต้องวางแผนการเก็บรวบ รวมข้อมูลในระหว่างทำกิจกรรม การเรียนการสอน สังเกตและบันทึกข้อมูลตามแผนที่วางไว้ส่วนการวิเคราะห์ การสรุปผล อาจทำหลังจากเสร็จสิ้นการสอน, แต่ละหน่วยการเรียน หรือเสร็จสิ้นในแต่ละแผนการสอนก็ได้   การสรุปผลจะได้องค์ความรู้ที่ครูค้นพบจากการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนที่ครูได้วางแผนออกแบบไว้ก่อนแล้ว การอภิปรายผลองค์ความรู้ที่ได้มาเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของการวิจัยในชั้นเรียน ทั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผน  การลงมือสอน  การสังเกตบันทึกข้อมูลและได้ข้อสรุปเป็นองค์ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อครูได้เริ่มวางแผนการสอน  ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ จุดประสงค์การเรียนรู้    กิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผล

ความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการเรียนการสอนกับกระบวนการวิจัยในชั้นเรียน  การวิจัยในชั้นเรียนเป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอนมิได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แยกต่าง หาก และครูก็ได้จัดทำอยู่แล้ว   แต่ว่า การกระทำนั้นยังไม่เป็นระบบของการวิจัยที่ดี

กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน   ประกอบด้วย การวางแผนวิจัย (Planning) ปฏิบัติตามแผน (Acting)เก็บรวมรวมข้อมูล (Observing) และสะท้อนความรู้ ข้อค้นพบ ข้อสังเกต(Teflecting)  ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุป คือ  1) การสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอน   การวิจัยในชั้นเรียนจะต้องเริ่มต้นด้วยการมองปัญหาของเรื่องที่จะวิจัยอย่างชัดเจนเพราะการมองเห็นปัญหานำไปสู่ความต้องการในแก้ไขปรับปรุงหรือการพัฒนา    ผู้วิจัยจะสามารถมองปัญหาการเรียนการสอนในรายวิชาที่ตนรับ    ผิดชอบได้อย่างชัดเจน  โดยทำการสำรวจข้อบกพร่อง  นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุและความต้องการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุนั้นๆ แล้วเขียนออกมาในรูปวัตถุประสงค์ ของการวิจัย   2) การศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง   เมื่อได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยแล้วก็ควรศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องที่จะทำการ วิจัยนั้นว่ามีอยู่ก่อนแล้วอย่างไรบ้าง   3) การพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน  นวัตกรรมเป็นรูปแบบหรือวิธีการเรียนการสอนที่ครูอาจารย์พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในการเรียนการสอนหรืออาจนำรูปแบบและวิธีการสอนที่ทำไว้แล้วมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาที่ต้องการแก้ไข   4) การสร้างและพัฒนาเครื่องมือเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจะใช้เครื่องมือชนิดใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัยและตัวแปรที่จะวัด ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษาเครื่องมือแต่ละชนิดทั้งในด้านลักษณะของเครื่องมือวัด  วิธีการสร้าง  ข้อดีและข้อจำกัดของเครื่องมือแต่ละชนิดซึ่งเครื่องมือวัดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นหรือที่ผู้อื่นสร้างไว้แล้วจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ เช่น ความตรง (validity) ความเชื่อมั่น (reliability)   5) การทดลอง การรวบรวม การวิเคราะห์ และสรุปผล การวิจัย   เมื่อผู้วิจัยสร้างนวัตกรรมและเครื่องมือวัดแล้ว  ขั้นตอนต่อไป คือนำนวัตกรรมนั้นไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างและเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ตามแนวทางที่กำหนดไว้  ผู้วิจัยควรจัดทำปฏิทินปฏิบัติงาน กำหนดระยะเวลาของการดำเนิน งานในแต่ละขั้นตอนไว้   6) การเขียนรายงานการวิจัย   เป็นการรายงานการทำวิจัย เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์และสำรวจปัญหา การพัฒนานวัตกรรม การทดลองใช้ การวิเคราะห์ผลสรุปผลอภิปรายและเสนอแนะเป็นการเสนอสิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบเพื่อรายงานผลการศึกษาให้ผู้อื่นทราบ  เพื่อการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

3.  ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษา  จากการศึกษาทำให้ทราบว่าการวิจัยในชั้นเรียนกับกระบวนการเรียนการสอน  เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันเหมือนเชือกที่ต้องสอดประสานพันกันเป็นเกลียวไม่สามารถแยกออกเป็นเส้น ๆ ได้  และการจัดกระบวนการเรียนการสอนของครูเองก็เป็นกระบวนการวิจัยในชั้นเรียน  โดยที่ครูไม่ทราบ  เพียงแต่  การดำเนินการยังไม่เป็นกระบวนการดำเนินการที่ดี คือ ขาดความชัดเจนในการวางแผนและไม่ได้สะท้อน ข้อค้นพบ ขาดการเขียนรายงานการวิจัย   มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว คือ วิธีการให้นักเรียนสอบผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้เท่านั้นเอง  ผู้เขียนในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนในชั้นเรียน    จึงมีความสนใจที่จะพัฒนางานวิจัยในชั้นเรียน โดยใช้กระบวนการบริหารแบบพาคิดพาทำเพื่อเพิ่มทักษะการทำวิจัยในชั้นเรียน  เพื่อให้สามารถพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งนำไปสู่การปรับแก้ไขให้การเรียนรู้ในชั้นเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

วิชัย  กันสุข  ผู้บันทึก

......................................................................................

 

  ข้อมูลอ้างอิง   http://www.kunkroo.com/research1.html

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 195444เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ปัญหาการวิจัยในชั้นเรียนส่วนหนึ่งมาจากผู้รู้ดีทำให้ครูไม่มั่นใจในการทำงานวิจัย

วิจัยในชั้นเรียน ต้องเริ่มต้นที่ปัญหา ว่าปัญหานั้นมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่และอย่างแท้จริงๆๆ

ได้สาเหตุแล้ว หานวัตกรรมมาแก้ไข

นวัตกรรมควรทดลองใช้ก่อน

คู่หูของนวัตกรรมคือเครื่องมือวัด ที่เรียกเป็นภาษาวิจัยว่า เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล

อีนนี้ต้องชัวร์ว่า วัดได้จริง

เก็บข้อมูลแล้ว เอามาวิเคราะห์ สรุปผล อภิปรายผล มีข้อเสนอแนะด้วย

สรุปผลต้องตอบวัตถุประสงค์ให้ได้

ประโบชน์ต้องเป็นของผู้เรียนเต็มๆ ไม่เหมือนวิทยานิพนธ์เสียทีเดียวนะ ถ้าเหมือนแล้วส่งเป็นผลงานทางวิชาการ เขาจะดูที่ผู้เรียนได้ประโยชน์อะไร แก้ปัญหาผู้เรียนได้จริงหรือไม่

ขอบคุณ ที่กรุณา คอมเม้นท์ ...เยี่ยมมากครับ

เพื่อให้สมาชิกสามารถนำรูปแบบการวิจัยในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน ขอนำเสนอ แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ดังนี้

1.วิเคราะห์ปัญหา/ความต้องการการพัฒนาการเรียนรู้ (คุณภาพผู้เรียน)

ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ได้จาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้

ผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผลการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ เขียน ผลการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์

2. วางแผนการจัดการเรียนรู้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

2.1 วิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้/สาระการเรียนรู้/ ผลการเรียนรู้รายปี รายภาค

2.2 จัดทำแผนการเรียนรู้

3.จัดกิจกรรมการเรียนรู้

3.1 นำเข้าสู่บทเรียน

3.2 จัดกิจกรรมการเรียนรู้

3.3 สรุปสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง

4. ประเมินผลการเรียนรู้

4.1 วิเคราะห์จุดประสงค์/เนื้อหา/สาระ/กิจกรรมการเรียนรู้

4.2 จัดทำเครื่องมือประเมืนผล

4.3 ศึกษาคุณภาพเครื่องมือวัดประเมินผล

4.4 วัดประเมินผลตามที่กำหนดในแผนการเรียนรู้

5. จัดทำรายงานผลการเรียนรู้

5.1 วิเคราะห์ผลงานของผู้เรียน

5.2 จัดทำรายงานผลการเรียนรู้

5.3 เผยแพร่ผลการเรียนรู้แก่คณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้แนวทางนี้ พบว่า ครูสายปฏิบัติการสอนเกิดความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการทำการวิจัยในชั้นเรียนมากขึ้นโดยที่เค้าไม่รู้ตัว ต่อมาจึงฝึกให้เค้าเขียนรายงานการวิจัยจากงานที่เค้าทำอยู่แล้ว ลองเอาไปประยุกต์ใช้นะคะ

การสร้างให้ครูได้นำกระบวนการวิจัยในชั้นเรียน นับเป็นอานิสสงฆ์ ในด้านการศึกษา

สิ่งที่ควรเริ่มกับครูคือ การสร้างความมั่นใจให้กับครูว่าเป็นเรี่องไม่ยาก เป็นสิ่งที่ครูเคยทำมาอยู่แล้ว และให้กำลังใจ เริ่มง่ายก่อน แล้วค่อยเพิ่มขึ้นไปเรี่อย

ตามแนวคิดของผม

เริ่มจากการนำเอาข้อมูลที่ได้จากการบันทึกหลังการสอน มาวิเคราะห์ ดูว่าบรรลุเป้าหมาย เป็นที่น่าพอใจอยู่กี่คน เรื่องใดบ้างที่ยังไม่พอใจ เรื่อง มาตรฐานใดที่เป็นปัญ

- นำปัญหาที่ได้มา วิเคราะห์ สาเหตุเกิดจากอะไร (ครู ..)

- หาวิธีแก้ปัญหา ถ้ามีมากคนทั้งห้อง ก็ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ ไม่เหมือนเดิม

- จัดกิจกรรม ประเมินผล ว่าไม่มากน้อยเพียงไร สรุป รายงาน( เอาแบบง่าย ๆก่อน)

- เมื่อพบว่ามีบางคนยังมีปัญหา ก็ ศึกษารายกรณ๊

- ถ้าเป็นปัญใหญ่ ก็อาจช่วยกัน ระดับชั้น ระดับโรงเรียนครับ ครับ

เมื่อมีความชำนาญ ก็ค่อยๆเพิ่มวิธีการเขียน เพิ่มกระบวนการหาประสิทธิภาพของนวัตกรรม ก็จะเป็นผลงานทั้งของครู ของผู้บริหาร ในโรงเรียนรวมกัน ที่สำคัญเกิดผลต่อผู้เรียนครับ

นับเป็นข้อเสนอแนะที่ดีมาก ๆ ทั้ง 2 ท่านครับ

แวะมาเยี่ยมช่วงเย็นวันศุกร์ ชื่นชมเจ้าของบทความ... ปรบมือดัง ๆ ให้ทุก comment ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท