มาจัดการสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติเป็นแหล่งเรียนรู้


มาจัดการสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติเป็นแหล่งเรียนรู้

การจัดการสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติเป็นแหล่งเรียนรู้

วรดลต์ แจ่มจำรูญ*

คำนำ

                                ในปัจจุบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องสำคัญได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๕ รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์กีฬาและนันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ รัฐจะดำเนินการให้มีการปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้ก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนรู้ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ โดยมีแหล่งเรียนรู้ที่จะสามารถเกื้อกูลการปฏิรูปการเรียนรู้ให้ได้ผล สวนพฤกษศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตประเภทหนึ่งที่รัฐจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาเพื่อให้ความรู้ในแง่ของการเรียนรู้จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ มีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาไว้เป็นสมบัติสืบทอดต่อลูกหลานให้คงอยู่ตลอดไปและหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้ระบุไว้ว่า ในการจัดการเรียนรู้เน้น การจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และการเรียนรู้แบบบูรณาการ การใช้วิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้คู่คุณธรรม ทั้งนี้ต้องพยายามนำกระบวนการจัดการ กระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม กระบวนการคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปสอดแทรกในการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เนื้อหา และกระบวนการต่างๆ ข้ามสาระการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม

สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรพืช โดยเป็นทั้งการอนุรักษ์พืชในถิ่น และนอกถิ่น โดยมีสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติตั้งอยู่ในทุกภาคของประเทศโดยมีแหล่งรวบรวมพืช และป่าธรรมชาติสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ให้แก่เยาวชน และประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้  การจัดการสวนพฤกษศาสตร์เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้นั้นเป็นแนวทางที่สวนพฤกษศาสตร์ในระดับสากลให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำให้การอนุรักษ์พืชไปสู่ความสำเร็จได้ คือให้ผู้คนทุกระดับเห็นความสำคัญ สามารถใช้ประโยชน์จากพืชได้ ในแง่มุมต่างๆ การจัดการสวนพฤกษศาสตร์เป็นไปตามหลักสากล

*นักวิชาการป่าไม้ 7 ว หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้(ทุ่งค่าย) จ.ตรัง

แนวความคิด

                                แหล่งเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ คือ มีจุดที่น่าสนใจ มีความหลากหลายของแหล่งเรียนรู้ มีการจัดออกแบบระบบการเรียนรู้โดยจำแนกกลุ่มตามอายุ มีการสนับสนุนจากท้องถิ่น และได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

                                ในการที่จะพัฒนาให้สวนพฤกษศาสตร์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีความสามารถที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ได้นั้นจำเป็นต้องจัดการสวนพฤกษศาสตร์ให้ถูกต้องตามหลักสากล คือ มีองค์ประกอบสำคัญที่สวนพฤกษศาสตร์พึงมี ได้แก่ สวนรวมพรรณไม้ ห้องสมุดพฤกษศาสตร์ หอพรรณไม้ งานวิจัย เป็นต้น

                                นอกจากนั้นการบริหารแหล่งเรียนรู้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความรู้และกระบวนการจัดการเรียนรู้ดังต่อไปนี้

1. มีการกำหนดนโยบายและจุดมุ่งหมายของแหล่งการเรียนรู้

1.1   การกําหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ เช่น

วิสัยทัศน์   วิจัย  อนุรักษ์  พรรณพฤกษชาติ  พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต  มุ่งสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  สร้างรายได้แก่ชุมชน

พันธกิจ    ดำเนินการรวบรวมและขยายพันธุ์พืช ในรูปแบบต่าง ๆ  และให้ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ และการอนุรักษ์ธรรมชาติแก่ผู้คนทุกระดับ

ยุทธศาสตร์ การวิจัยและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

1.2   การกําหนดนโยบายและจุดมุ่งหมาย เช่น  สำนักงานหอพรรณไม้ได้จัดทำวิสัยทัศน์ คือ วิจัยพรรณไม้ไทยสู่ความเป็นเลิศ หอพรรณไม้และฐานข้อมูลได้มาตรฐาน บริหารจัดการสวนพฤกษศาตร์และสวนรุกขชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต

1.3  จะต้องให้พนักงาน/บุคลากรภายในองค์กรมีส่วนร่วมกําหนดแผนกลยุทธ์และแผนงาน

2. การบริหารจัดการของแหล่งการเรียนรู้

2.1 ระบบการบริหารจัดการ

1)   มีการจัดองค์กร โครงสร้างการบริหารจัดการตอบสนองงานด้านแหล่งเรียนรู้

2)  กําหนดภารกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และมอบหมายผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน

3)  กําหนดระบบการบริหารจัดการเอื้อให้การดําเนินงานมีประสิทธิภาพ

4)   การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

2.2 ทรัพยากรและการลงทุน

1)   การระดมทรัพยากรและการลงทุน

การระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ควรใช้หลายแหล่ง และ

ทรัพยากรเพื่อพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ควรได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นและหน่วยงานหลัก เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

2)   การบริหารทรัพยากรและการลงทุนที่เหมาะสมและคุ้มค่า

จัดระบบบริหารจัดการทรัพยากร และระบบการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เช่น การจัดระบบนิทรรศการหมุนเวียนตามสวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ

2.3 การพัฒนาบุคลากรของแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

1)   กำหนดแผนงานส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาแหล่งเรียนรู้

2)   จัดระบบการสร้างขวัญ กําลังใจ และให้โอกาสในการทํางาน เช่น การคัดเลือกไปศึกษาดูงานในแหล่งเรียนรู้อื่นๆ  หรือการกำหนดสัญญาจ้างในระยะยาว

3. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

3.1   จัดการความรู้ที่เอื้อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้โดยสะดวก

การจัดการความรู้ควรจัดทำระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการถ่ายทอดความรู้จากผู้ปฏิบัติงานจริง และให้บริการสื่อและเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เพื่อกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงความรู้ได้สะดวก

3.2   กำหนดให้มีการถ่ายทอด/เผยแพร่ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน โดยจากการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนเดียวกัน และโดยการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนอื่น

3.3   การกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทํานุบํารุง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน/ชุมชน และการทํานุบํารุง/พัฒนาแหล่งการเรียนรู้  รวมทั้งการสรรหาแหล่งการเรียนรู้ใหม่เพิ่มเติม

3.4  ดำเนินการสร้างเครือข่ายแหล่งการเรียนรู้โดยการเลือกเครือข่ายมีความเกี่ยวเนื่องกัน

4.  ดำเนินการติดตามและประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

4.1   ให้มีการสํารวจข้อมูลของผู้ใช้บริการทั้งความคิดเห็น และความพึงพอใจ

4.2   นำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลและการจัดระบบข้อมูล โดยจํานวนครั้งที่แสดงผลการวิเคราะห์ควรกำหนดอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี

4.3   ให้มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแผนจํานวนครั้งของการติดตามประเมินผลทุกครั้งที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้

4.4   ดำเนินการติดตามผลกระทบกับกลุ่มเป้าหมายและชุมชน ว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายเป็นไปอย่างไร สามารถเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้/การพัฒนา และชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

4.5   นําผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนา ปรับปรุง แหล่งการเรียนรู้จากผลการประเมิน……

หมายเลขบันทึก: 195253เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

เป็นเรื่องดีมีประโยชน์

ชอบมากค่ะ เรื่องต้นไม้ป่าไม้ภูเขา

ดีใจมากครับ?...ที่นำเรื่องดีๆมาฝากและแบ่งปัน..กำลังพยายามดำเนินการครับ..เพื่อลูกหลานใช้เป็นแหล่งเรียนรู้?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท