๑๑ องค์ความรู้ที่สังคมไทยควรรู้เกี่ยวกับ “คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย” ตอนที่ ๒


 ๑๑ องค์ความรู้ที่สังคมไทยควรรู้เกี่ยวกับ คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย

โดย อาจารย์ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง

เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑

บทความอันเป็นผลมาจากการค้นคว้าเพื่อทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท

เสนอต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑

----------------------------------------------------------------------------------------

          บทความฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อสรุปข้อค้นพบประการสำคัญที่ผู้เขียนค้นพบในการศึกษาวิทยานิพนธ์สาขากฎหมายระหว่างประเทศ ในหัวข้อ คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย ซึ่งเป็นการศึกษาที่มุ่งแสวงหาองค์ความรู้ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย(Legal Method of Legal Aid) แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย (Stateless Person) ในกรณีที่ตกเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล โดยมีวิธีการศึกษาผ่านกรณีศึกษาคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในสังคมไทย ทั้งนี้ โดยใช้แนวคิดพื้นฐานด้านมานุษยวิทยาทางกฎหมาย (Legal Anthropology)  และโดยการทำห้องทดลองทางสังคม (Social Lab) ร่วมกับบุคคลที่ยอมตนเป็นกรณีศึกษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งเมื่อจบการศึกษาผู้เขียนได้พบข้อค้นพบจำนวนมาก แต่สามารถสรุปข้อค้นพบที่สำคัญที่สังคมไทยควรรู้เกี่ยวกับคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้ ๑๑ ประการ ดังนี้

 

องค์ความรู้ประการที่สี่ : แม้เป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลแต่ก็มีความเป็น บุคคลตามกฎหมายเอกชน ย่อมมีความสามารถ และ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอาญา

          คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล แม้จะไม่ได้รับการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายมหาชน แต่ก็มีข้อเท็จจริงปากฎชัดเจนตามกฎหมายเอกชนว่าเป็น มนุษย์ ย่อมมีความเป็นบุคคลตามกฎหมายเอกชน ดังนั้น คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลทุกคนแม้ไม่มีเอกสารแสดงตน และ ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย โดยที่แม้เป็นบุคคลที่ ไร้รัฐไร้สัญชาติก็เป็นบุคคลที่ มีสภาพบุคคล มีความสามารถ และ มีความสิ้นสุดสภาพบุคคล ตามกฎหมายเอกชนในรัฐไทยได้

ดังนี้ คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทยย่อมมีสภาพบุคคล มีความสามารถ และสิ้นสุดสภาพบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยแพ่งและพานิชย์ของรัฐไทยทุกประการ[1] ทำให้มีความสามารถในการทำนิติกรรมใดๆ ได้ และย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายอาญา และ กฎหมายซึ่งรองรับสิทธิมนุษยชนของความเป็นมนุษย์ของรัฐไทยทุกประการ เช่น การได้รับความคุ้มครองในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน การเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา การเป็นผู้ทรงสิทธิในสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่รัฐจัดให้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากรัฐว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายมหาชน

            แต่อย่างไรก็ตาม คนในสังคมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมักมีความเข้าใจผิดว่าบุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากกฎหมาย ทั้งๆ ที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองความเป็นมนุษย์หรือสิทธิขั้นพื้นฐานนั้น ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ต้องได้รับการรับรองตามกฎหมายมหาชนจากรัฐใดๆ เลย ดังเช่นกรณีศึกษาของเด็กชายวิษณุ ไม่มีนามสกุล ด.ช.วิษณุ เกิดที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทยและเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย วิษณุซึ่งไม่ได้รับการแจ้งเกิดแม้เกิดในโรงพยาบาลจึงตกเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลตามบิดาและมารดาไปด้วย แต่เมื่อวิษณุโตขึ้นก็ย่อมได้รับการศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐไทยเพราะกฎหมายไทยไม่เคยปิดกั้นที่จะให้การศึกษากับมนุษย์ทุกคนในสังคมไทย[2] ตลอดจนเมื่อวิษณุต้องการการรักษาพยาบาลเพราะไส้ติ่งอักเสบก็สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยไม่ถูกจับและสถานพยาบาลก็ไม่ได้มีความผิดในการให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว และกรณีของนางบุญมี มารดาของวิษณุแม้จะเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ตนแต่ก็มีความสามารถตามกฎหมายเอกชนที่จะทำนิติกรรมต่างๆ ได้ โดยสัญญานั้นก็ไม่ถือว่าโมฆะเพราะเหตุความไร้ความสามารถของพี่บุญมีซึ่งเป็นคู่สัญญา

 

องค์ความรู้ประการที่ห้า : การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดจุดเกาะเกี่ยวของบุคคลกับรัฐ ทั้งนี้ย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐเจ้าของดินแดนและรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีเป็นอย่างน้อย  

            การแก้ไขปัญหาความเป็นบุคคลไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ต้องเริ่มต้นจากการกำหนดจุดเกาะเกี่ยวที่บุคคลมีต่อรัฐต่างๆ เพื่อทราบถึงรัฐที่มีความผูกพันในความเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล  อันได้แก่ จุดเกาะเกี่ยวที่บุคคลมีต่อโดยการเกิดและภายหลังการเกิด ผ่านหลักดินแดนที่บุคคลเกิดและอาศัยอยู่  ผ่านหลักบุคคลโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีเป็นอย่างน้อย ที่จะมีความผูกพันในการรับรองตัวบุคคลของคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลนั้น ตลอดจนบุคคลอาจมีสถานะบุคคลตามกฎหมายใดๆ ของรัฐที่ตนเองมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงอยู่ด้วย

            รัฐเจ้าของดินแดนที่คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเกิด หรือ อยู่อาศัย และรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีของคนไร้เอกสารพิสูจน์ตน ย่อมเป็นรัฐที่มีความใกล้ชิดกับคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่สุด ซึ่งตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว รัฐดังกล่าวย่อมมีภาระหน้าที่ในการรับรองตัวบุคคลของคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ดังนั้น ในทันที่ที่เราพบเจอคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล เราจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการสอบข้อเท็จจริงอันเป็นการกำหนดจุดเกาะเกี่ยวของรัฐที่จะมีความผูกพันในการแก้ไขปัญหา

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีการสอบข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวของนางเซาะเล้ง แซ่เต้ : นางเซาะเล้ง แซ่เต้ เป็นคนเชื้อชาติจีนที่เกิดในประเทศกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ จากบิดามารดาคนสัญชาติจีนที่อพยพไปอยู่ในประเทศกัมพูชา ต่อมาบิดาและมารดาได้รับสัญชาติกัมพูชา นางเซาะเล้งจึงเติบโต เรียนหนังสือ และทำงานอยู่ในประเทศกัมพูชาโดยได้มีสัญชาติกัมพูชาจนอายุ ๒๓ ปี ในปี เกิดสงครามกลางเมืองในกรุงพนมเปญ นางเซาะเล้งหนีภัยการสู้รบจากประเทศกัมพูชามาอาศัยอยู่กับญาติชาวจีนของบิดาและมารดาในประเทศไทย ต่อมาได้แต่งงานกับคนสัญชาติไทยและมีบุตรสัญชาติไทยรวม ๓ คน มารดาและน้องสาวชาวกัมพูชาที่อพยพตามมาในประเทศไทยถูกส่งตัวเข้าศูนย์ผู้อพยพและถูกส่งตัวต่อไปยังประเทศที่สามคือ ประเทศฝรั่งเศส จนภายหลังทั้งมารดาและน้องสาวได้รับการแปลงสัญชาติเป็นคนสัญชาติฝรั่งเศส แต่เนื่องจากห่วงลูกที่ยังเล็ก นางเซาะเล้งจึงไม่ยอมเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสแต่ยินดีอยู่ในประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับการไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล

            นางเซาะเล้งจึงมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับรัฐกัมพูชาและรัฐจีนจากการเกิดในประเทศกัมพูชาจากบิดาและมารดาสัญชาติจีนตามลำดับ และมีจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิดกับรัฐกัมพูชา รัฐไทย และรัฐฝรั่งเศสจากการที่มีสัญชาติกัมพูชาและเคยอยู่อาศัยในประเทศกัมพูชา การอยู่อาศัยในประเทศไทย การเป็นภรรยาและมารดาตามกฎหมายของคนสัญชาติไทย และ การเป็นบุตรตามกฎหมายของคนสัญชาติฝรั่งเศสตามลำดับ ดังนั้น รัฐกัมพูชา รัฐไทย รัฐฝรั่งเศส และรัฐจีน จึงเป็นรัฐที่มีความผูกพันในการขจัดการไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคลของนางเซาะเล้ง  และรัฐไทยในฐานะรัฐเจ้าของดินแดนที่นางเซาะเล้งอาศัยอยู่ย่อมมีความผูกพันในการรับรองตัวบุคคลของนางเซาะเล้งในทันทีที่พบว่านางเซาะเล้งเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ตน

 

องค์ความรู้ประการที่หก : ถ้าเราพบว่าบุคคลมีจุดเกาะเกี่ยวเข้มข้นกับรัฐต่างประเทศ การแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติย่อมทำได้โดยการพิสูจน์สัญชาติกับรัฐต่างประเทศ

            เมื่อเราตรวจสอบจุดเกาะเกี่ยวของคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลแล้ว หากเราพบว่า คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลนั้นมีจุดเกาะเกี่ยวที่เข้มข้นกับรัฐต่างประเทศ รัฐต่างประเทศนั้นย่อมมีความผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่จะรับรองบุคคลดังกล่าว ตลอดจนการรับรองให้สถานะคนชาติ หากคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลนั้นมีความสามารถในการพิสูจน์สัญชาติต่อรัฐต่างประเทศได้ ดังนั้นทันทีที่เราพบคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย เราจึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและกำหนดจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงที่คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลมีต่อรัฐต่างๆ เพื่อทราบถึงรัฐที่ผูกพันในความเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ดังนี้รัฐไทยจึงจะสามารถเรียกร้องให้รัฐต่างประเทศดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้ โดยการพิสูจน์ตนของคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลต่อรัฐต่างประเทศอาจได้โดยช่องทางทางการทูต (Diplomatic Channel) และ โดยความตกลงร่วมมือพิเศษของรัฐไทยต่อรัฐต่างประเทศนั้นเอง  ดังเช่น กรณีศึกษาของนายคำตุ่น  ไชยศรี  และ นางแสงเดือน ทานะสมบัติ : นายคำตุ่น ไชยศรี และนางแสงเดือน ทานะสมบัติ เป็นคนที่เกิดในประเทศลาว จากบิดาและมารดาที่มีสัญชาติลาว ทั้งคู่จึงมีสัญชาติลาวตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติลาว แต่เพราะมีชีวิตอยู่ในชนบทของประเทศลาว จึงยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชนของคนสัญชาติลาว เมื่อถึงวัยหนุ่มสาวทั้งคู่ได้ตัดสินใจเข้ามาทำงานในประเทศไทยเหมือนกันแม้จะเข้ามากันคนละช่วง ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทยมีการให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศลาวมาขึ้นทะเบียนแสดงตน ทั้งคู่ก็ได้ไปขึ้นทะเบียน ต่อมาแสงเดือนได้รับการพิสูจน์สัญชาติลาวจากโดยคณะทำงานของรัฐบาลลาวที่เข้ามาพิสูจน์สัญชาติให้ในประเทศไทยตามความตกลงร่วมมือกันกับรัฐบาลไทย ส่วนคำตุ่นแม้ไม่ได้พิสูจน์สัญชาติลาวกับคณะทำงานดังกล่าว แต่คำตุ่นก็ได้ไปพิสูจน์สัญชาติที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย ทั้งคู่ที่ไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลมาตลอด จึงได้รับการรับรองตัวบุคคลโดยรัฐไทย และด้วยทั้งคู่มีจุดเกาะเกี่ยวที่เข้มข้นกับรัฐต่างประเทศการพิสูจน์สัญชาติกับรัฐเจ้าของสัญชาติจึงเป็นไปได้แม้อยู่ในประเทศไทย

 

องค์ความรู้ประการที่เจ็ด :  ถ้าเราพบว่าบุคคลมีจุดเกาะเกี่ยวเข้มข้นกับรัฐไทย การแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติย่อมทำได้โดยการพิสูจน์สัญชาติกับรัฐไทย

          ขณะเดียวกัน การตรวจสอบจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงของคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ในหลายกรณีเราก็พบว่าคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงอย่างเข้มข้นต่อรัฐไทย อันทำให้คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเหล่านี้มีสถานะบุคคลเป็นคนที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ เราจึงอาจพบคนสัญชาติไทยจำนวนมากที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรไทยหรือเคยถูกปฏิเสธการมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรไทยทั้งๆ ที่เป็น บุคคลที่มีสัญชาติไทย

            แต่เพราะการไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลทำให้คนสัญชาติไทยตามกฎหมายเหล่านี้ ถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวเพราะไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย และเป็นบุคคลที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆ กับรัฐต่างประเทศในอันที่จะพิสูจน์สัญชาติต่อรัฐต่างประเทศใดๆ ได้[3] การบันทึกและรับรองตัวบุคคลให้กับคนไร้เอกสารพิสูจน์ตนจึงเป็นการช่วยให้รัฐไทยสามารถดึงบุคคลสัญชาติไทยกลับเข้ามาไว้ในทะเบียนราษฎรไทยได้ และเป็นการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยที่บุคคลเหล่านั้นมีแต่ได้ถูกละเมิด หรือถูกละเลยต่อการคุ้มครองมาตลอดระยะเวลาที่ตกเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ดังเช่น กรณีศึกษาของนายบ็อบบี้  สุทธิบุตร : นายบ๊อบบี้ เกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากบิดาและมารดาคนสัญชาติไทย บ๊อบบี้จึงมีสัญชาติไทยตามสายโลหิตจากบิดาและมารดาแม้ไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่บิดาและมารดาไม่ได้แจ้งเกิดให้บ๊อบบี้ ณ สถานทูตไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาบิดาและมารดาแยกทางกันและกลับมาประเทศไทย บ๊อบบี้ได้เดินทางตามกลับมาภายหลังตอนอายุประมาณ ๕-๖ขวบ ได้อยู่กับแม่ที่บ้านยายเกือบ๑ปี และได้ย้ายไปอยู่กับพ่อที่บ้านย่าโดยไม่เคยได้ติดต่อกับแม่อีกเลย บ๊อบบี้โตมากับปู่และย่าโดยไม่เคยมีใครพาไปเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านในรัฐไทย ทำให้บ๊อบบี้ไม่เคยปรากฏตัวกับรัฐไทยว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย และบ๊อบบี้สูญเสียความสามารถในการพิสูจน์ตนต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับบุคคลที่ปรากฎชื่อในสำเนาสูติบัตรของเด็กชายROBERT ALLEN SUTHIBUT บ๊อบบี้จึงไร้เอกสารพิสูจน์ตนอยู่ในประเทศไทยมาตลอดเกือบ ๔๐ ปี แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย

 



[1] เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล การพิจารณาความเป็นบุคคลให้ดูที่กฎหมายว่าด้วยการแก้การขัดกันแห่งกฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคล กรณีของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย จึงต้องพิจารณาจากมาตรา ๖ วรรค ๔ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. ๒๔๘๑  ซึ่งกำหนดให้ใช้กฎหมายของรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาของบุคคลในการกำหนดความสามารถในการทำนิติกรรมและสัญญาของคนไร้รัฐ

[2] รัฐไทยยืนยันข้อกฎหมายนี้อีกครั้งในปี ๒๕๔๘ ด้วยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่กำหนดวิธีการรับเด็กไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเข้าเรียน

[3] หรือหากมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐต่างประเทศก็เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่เบาบางหรือไม่อาจพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวนั้นได้

หมายเลขบันทึก: 195173เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท