สมรรถนะและการจัดทำแผนพัฒนาสมรรถนะตนเองของครูและบุคลากรทางการศึกษา


ทุกคนมีสมรรถนะในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน แต่ส่งผลต่อสมรรถนะขององค์กร ทุกหน่วยงานจึงให้ความสำคัญกับสมรรถนะ เราจึงได้พบกับ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

เนื้อหาที่สนใจ

สมรรถนะและการจัดทำแผนพัฒนาสมรรถนะตนเองของครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

สาระสำคัญของเนื้อหาโดยสรุป

                        สมรรถนะ หมายถึง  ขีดความสามารถในการผสมผสาน  ความรู้  ทักษะ  แรงใจ  ทัศนคติ  และคุณลักษณะส่วนตัวของบุคคลแล้วแสดงออกในเชิงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อความสำเร็จของงานในบทบาทหน้าที่อย่างโดนเด่นและมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ

                        1. สมรรถนะหลัก (Core  Competency) โดยที่ สมรรถนะหลักองค์กร (Organization Core  Competency) เป็นความสามารถที่เกิดจากผสมผสานทั้งความรู้  ทักษะ  และเทคโนโลยีทั้งมวลขององค์กรเข้าไว้ด้วยกัน  ส่วนสมรรถนะหลักของบุคคล (Personal Core Competency)  เป็นการหลอมรวม  ความรู้  ทักษะ  ความสามารถ  คุณลักษณะที่มีในตัวบุคคลเข้าด้วยกันและแสดงออกเชิงพฤติกรรมที่ดีต่อการปฏิบัติงาน  

                        2. สมรรถนะในงาน (Functional Competency) เป็นขีดความสามารถของบุคคลในการปฏิบัติงานให้ได้ผลที่สำเร็จตามที่องค์กรต้องการ  แบ่งเป็นสมรรถนะทั่วไป (Common Functional Competency) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของบุคคลทุกตำแหน่งในกลุ่มงานเดียวกันที่จะต้องมี  นอกจากนี้  ยังมีสมรรถนะเฉพาะตำแหน่ง (Specific  Functional Competency)

 

                        องค์ประกอบของสมรรถนะ  ประกอบด้วย

                        1. กลุ่มของสมรรถนะ (Competency Categories) โดยปกติกำหนดเป็น 4 มิติ คือ มิติด้านความรู้ ทักษะ  มิติด้านการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน  มิติด้านคุณลักษณะ/จริยธรรม  และมิติด้านการคิดวิเคราะห์  

                        2. ชื่อสมรรถนะและคำนิยาม (Competency Name & Definition) เป็นการกำหนดชื่อเรียกสมรรถนะ และกำหนดความหมายหรือคำอธิบายเพื่อการสื่อสารให้เข้าใจ

                        3. ระดับสมรรถนะหรือ  ระดับความชำนาญ  กำหนดเป็น 3 – 5 ระดับตามระดับการเรียนรู้ หรือ ความชำนาญหรือการกำหนดโครงสร้างองค์กร

                        4. การนิยามพฤติกรรมในแต่ละระดับ (Behavioral Indicators) ซึ่งเป็นการสะท้อนพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกในการทำงานว่า ควรมีกี่ระดับ แต่ละระดับที่กำหนดนั้นๆ ว่าต้องมีพฤติกรรมการเรียนรู้  หรือ ความชำนาญ หรือความชำนาญในรูปแบบ หรือลักษณะอย่างไร

 

                        ประโยชน์ของสมรรถนะในการพัฒนาบุคลากร

                        การนำแนวคิดเกี่ยวกับสมรรถนะไปใช้ในการพัฒนาบุคลากร  ได้แก่  การเลือกสรรบุคลากรให้เหมาะสมกับองค์กรและงาน  การพัฒนา ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินผลการปฏิบัติงานการบริหารผลงาน  ตลอดจนการเลื่อนระดับ  ปรับตำแหน่งงานให้มีความชัดเจนมากขึ้น

 

การจัดทำแผนพัฒนาสมรรถนะตนเองของครูและบุคลากรทางการศึกษา

               

                แผนพัฒนาสมรรถนะตนเอง (Individual Development Plan : IDPs) ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  คือ  แผนปฏิบัติการ (Action Plan) จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของสมรรถนะ ซึ่งต้องมีการประเมินความแตกต่างระหว่างสมรรถนะที่ต้องการ  เปรียบเทียบกับสมรรถนะที่เป็นจริง  แล้วนำผลความแตกต่างมากำหนดกิจกรรมพัฒนาตนเองด้วยรูปแบบ  วิธีการต่างๆ  เพื่อให้ครูและบุคลกรทางการศึกษาใช้เป็นแนวทางในการเรียนรู้และพัฒนาสมรรถนะตนเองให้มี ความรู้  ทักษะ  และพฤติกรรมใหม่ๆ ที่ดีขึ้น  เพิ่มพูนความสนใจ  แนวทาง  ความพึงพอใจ และกำลังใจในการทำงานตามบทบาทหน้าที่ในปัจจุบันให้มีผลสำเร็จ ส่งเสริมความสำเร็จขององค์กรได้สูงสุด และเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรได้มาซึ่งสมรรถนะที่จำเป็นต่อตำแหน่งงาน  การเลื่อนระดับชั้น  หรือการเปลี่ยนสาขางาน 

               

                การออกแบบการพัฒนา

กระบวนการพัฒนาเกิดจากการวางแผนระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชา โดยผู้ปฏิบัติงานจัดทำร่างแผนพัฒนาสมรรถนะตนเอง  ส่วนหัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชา มีหน้าให้คำปรึกษา  แนะนำเป้าหมายของงาน/สถานศึกษา/หน่วยงาน  ระบุความสามารถที่ต้องการให้บุคลากรพัฒนา  กำกับ  ดูแล  สอน แนะนำ  และกำหนดแนวทางหรือมอบหมายงานแก่บุคลากร ที่สอดคล้องกับงานที่ได้รับมอบหมายกับยุทธศาสตร์ขององค์กร  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความพึงพอใจต่องานที่ดีขึ้น  รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ร่วมมือในการทำงาน  โดยข้อตกลงและตัดสินใจให้เกิดการยอมรับร่วมกันระหว่างบุคลากรกับหัวหน้างานภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้รับการพิจารณาไว้แล้ว ดังนั้น  การสร้างแผน IDPs ควรจะต้องมีการอธิบายตำแหน่งงาน (Job Description) ที่มีความชัดเจน ทำอย่างเป็นระบบและขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง  มีการทบทวน  ตรวจสอบและปรับปรุงได้  อย่างน้อยทุกๆ หกเดือน

 

ขั้นตอนการจัดทำแผนพัฒนาตนเอง

1.  การประเมินสมรรถนะตนเอง เพื่อรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นแล้วนำไปจัดทำร่างแผน IDPs ของตนเอง

2.  การพบปะ ประชุมร่วมกับผู้ให้คำปรึกษา เพื่อทบทวนข้อมูลหาทางเลือกถึงแนวทางการพัฒนาสมรรถนะตนเอง

3.  การประชุม ปรึกษาระหว่างบุคลากรกับหัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชา  เพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับการหาข้อตกลงร่วมกันถึงแผนพัฒนาสมรรถนะตนเองที่ได้จัดทำขึ้น

4.  การประชุมสรุปผลและการดำเนินการพัฒนา เพื่อสรุปผลข้อตกลงและนำ IDPs  ไปปฏิบัติ

5.  การติดตามทบทวน  เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานพัฒนาตามแผน  IDPs  อย่างเป็นระบบและสนับสนุนต่อการพัฒนาอาชีพ

 

แง่คิดที่ได้จากเนื้อหา

                ทุกคนมีสมรรถนะในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน  แต่ส่งผลต่อสมรรถนะขององค์กร  ทุกหน่วยงานจึงให้ความสำคัญกับสมรรถนะ  เราจึงได้พบกับ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แนวคิดและหลักการของ IDPs  จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรในวงการศึกษาเป็นอย่าง  เพราะหากบุคลากรทางการศึกษา  โดยเฉพาะครูและผู้บริหารนำแนวคิด  หลักการและวิธีการไปใช้ในการพัฒนาตนก็ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรเกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 

ลงชื่อ  จารุวรรณ  พูพะเนียด ผู้เขียน

ที่มา

http://www.nidtep.go.th/inno/data_pro/chatcharin/essay.pdf

http://www.nidtep.go.th/inno/data_pro/chatcharin/essay3.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 194605เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2008 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีมากๆๆๆ ขอขอบคุณที่ให้ความรู้ มีประโยชน์มาก

อาจารย์คะ ลองไป share กับ อ. ไก่ และ อ. อุ๊นะคะ สองท่านนี้ก็สนใจเรื่อง competency เช่นเดียวกัน เดี๋ยวจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสมรรถนะบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มเติมในเว็บไซต์นะคะ และในบล็อกของ ผชช. ก็มีเรื่องเครื่องมือประเมินสมรรถนะค่ะ ลองอ่านดูเล่น ๆ นะคะ

ดีครับ กลุ่ม 3 สนใจเรื่องสมรรถนะ จะได้ช่วยกันหาความรู้มาเพิ่มเติม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ผมก็อยาดทราบสมรรถนะของครูเอกชน เหมือนกับครูบ้านนอกหรือไม่ เพราะเห็นครูเอกชนเขาขยันขันแข็ง และตั้งใจปฏิบัติงานกันทุกคน ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด ช่วย Share กันหน่อยครับ

โรงเรียนที่ทำงานอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นโรงเรียนรัฐบาล ค่ะ เคยทำงานในโรงเรียนเอกชน เพียง 10 สัปดาห์ก่อนบรรจุ เป็นข้าราชการ จำได้แต่ว่างานสอนเป็นหลัก งานพิเศษพวกธุรการไม่มีค่ะ แล้วพยามยามดึงศักยภาพของแต่ละออกมา ให้เห็นว่าใครมีผลงานอะไร อีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่จัดให้นั่งรวมกลุ่มกันมากนัก

แต่นั่นก็นานมากแล้ว เมื่อสัก ปี สองปีก่อนเคยได้แลกเปลี่ยนกับครูโรงเรียนเอกชน กับการพัฒนาเด็กเข้าแข่งขันความสามารถทางวิชาการ หากชนะหมายถึงการเลื่อนขั้นเงิน นอกจากนี้ในขณะที่พวกเราส่งเสริมให้ครูนำการวิจัยมาใช้ในการเรียนการสอน ก็พบว่า ครูโรงเรียนเอกชนดังมากในจังหวัดเสียเงินเพิ่มพูนความรู้ด้านวิจัย ทำรายงานการวิจัย เพื่อการต่อสัญญาการทำงานค่ะ

การตื่นตัวของครูโรงเรียนเอกชนจึงอาจมีความหมายต่อการต่อสัญญา และการขึ้นเงินเดือน

เป็นแนวคิดที่ดี ที่มุ่งพัฒนาคนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ในการพัฒนา ที่จะได้รู้ว่าจะพัฒนาคนตรงใหน นำมาวางแผนอย่างไร ที่สำคัญเมื่อพัฒนาคนแล้วเกิดผลกับผลผลิตมากน้อยเพียงไรเป็นสิ่งที่ยน่าติดตาม ผลิตในที่นี้นั้นหมายถึงผู้เรียน (มาตรฐานที่ 1 - 8 )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท