Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

วันอาสาฬหบูชา : วันเริ่มต้นหมุนกงล้อแห่งธรรม


ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม

หลังจาก สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน 6 แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้ง จึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภท (บัว 4 เหล่า) คือ

๑. อุคฆฏิตัญญู  ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ
๒. วิปัจจิตัญญู   ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ
๓. เนยยะ          ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ
๔. ปทปรมะ       ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม

จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณ ระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง 2 ได้ตายแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นผู้อุปฐากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกข์กิริยาอยู่

 

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  จึวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย

พระธรรมที่ พระพุทธองค์ทรงเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือดินแดนแห่งธรรม ซึ่งมี อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ คือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

   ๑. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด

   ๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ

   ๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

   ๔. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการ

และเมื่อกล่าวโดยย่อก็ได้แก่สิกขา ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

 

มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ

๑. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค

๒. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

     ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
     
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
     
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
     
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
     
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
     
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
     
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
     
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

 

พระพุทธองค์ทรงชี้แจงต่อทุกๆ คนว่า โดยธรรมชาติแล้วสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง(ไม่เที่ยง) และเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ อันหมายถึงความทุกข์มีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

 

          สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา

          สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นย่อมดับไป

          การประชุมกันของสิ่งทั้งหลายย่อมจบลงที่การแยกสลายไป

          สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นก็ย่อมตายไป

 

          สิ่งที่เป็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง

          สิ่งที่เป็นสังขารที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์

          ธรรมธาตุทั้งหลายทั้งปวงเป็นความว่างเปล่าและปราศจากตัวตน

          สิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริง

 

สิ่งจะต้องตระหนักอยู่เสมอเกี่ยวกับวิถีทางทั้งปวงก็คือ  อริยมรรคมีองค์ 8 คือ หนทางที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เกี่ยวกับความจริงทั้งปวง ไม่มีอะไรที่เกินเลยอริยสัจ 4   เมื่อเข้าถึงและพัฒนาแง่มุมทั้งสองประการนี้จนถึงที่สุด  บุคคลก็จะหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงและเข้าถึงสถานะแห่งพระนิพพานโดยแน่นอน

 

ผ ล จ า ก ก า ร แ ส ด ง ป ฐ ม เท ศ น า

 

          ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ                         สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
          สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา       สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา

 

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว ปรากฏว่าโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดเข้าใจธรรม เรียกว่า เกิดดวงตาแห่งธรรมหรือธรรมจักษุ บรรลุเป็นโสดาบัน และหลังจากแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นคนแรก ได้กราบทูลขอบวชและพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต โดยทรงทำการอุปสมบทให้แบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็น"ปฐมสาวก" ของพระพุทธเจ้า และถือเป็นพระภิกษุสาวก รูปแรกในพระพุทธศาสนา มีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ

ดังนั้น ในวันนี้จึงเป็นวันแรกที่มี พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศนากัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา" หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่านับเป็นวันแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

 

ส รุ ป ค ว า ม ห ม า ย ข อ ง อ า ส า ฬ ห บู ช า

 

อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา

     โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ

๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)

ด้วยพระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา ก็ทรงบันลือธรรมเภรียังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี นั้น  มีความหมายลึกซึ้งและยิ่งใหญ่  อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิเสธได้

หมายเลขบันทึก: 194479เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2008 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2014 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท