พัฒนาระบบบริการวิชาการมวล.(เล่าความเป็นมา)


ผมยึดถือในหน้าที่ตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนไว้ ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้านอกอำนาจหน้าที่ ก็เสนอความเห็นไว้เท่านั้น

ก่อนอื่นต้องขอบคุณอาจารย์ปัทมาวดีเป็นอย่างสูงที่เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมฝันในหน้าที่ของคนทำงานในอุดมศึกษาด้วยกัน ผมขอตอบในบันทึกใหม่ดังนี้ครับ

ก่อนเข้ามารับงานนี้ ตั้งแต่เข้ามาทำงานในมวล.ในปี2541 ซึ่งเป็นปีแรกที่มวล.รับนักศึกษา ผมเริ่มงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ฝ่ายประชาสังคมของศูนย์บริการวิชาการ

งานที่ทำเป็นภารกิจเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยเปิดใหม่คือ การทำงานกับชุมชนและสังคมรวมทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชนในแนวราบเพื่อทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย และแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มาจากการใช้พื้นที่สร้างมหาวิทยาลัย

ตอนนั้นเพิ่งเปิดการเรียนการสอนจึงเข้าใจได้ง่ายว่ากำลังคนส่วนใหญ่ของสำนักวิชา(คณะ)ต้องวุ่นกับการจัดระบบการเรียนการสอน และการสะสมคนและความรู้ในสำนักวิชา ไม่สามารถให้บริการวิชาการแก่สังคมและชุมชนได้มากนัก
ผมทำงานกับภาคชุมชนและประชาสังคมจากฐานประสบการณ์เดิมที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ก่อนที่จะเข้ามาทำงานที่มวล. จึงสั่งสมประสบการณ์ในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น
มวล.ออกแบบระบบงานในลักษณะรวมบริการประสานภารกิจเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เช่น ใช้ฝ่ายยานพาหนะดูแลการให้บริการรถยนต์ในมหาวิทยาลัยทั้งระบบโดยวิธีจ้างเหมาบริการจากภายนอก ไม่มีรถยนต์แยกเป็นของแต่ละสำนักวิชา เป็นต้น

เวลาผ่านไป10ปีไวเหมือนโกหก ตอนนี้เรามีสำนักวิชาทั้งหมด11สำนักวิชาจากที่เริ่มต้นเพียง8
กำลังคนเพิ่มมากขึ้นและความรู้ที่สั่งสมไว้ในแต่ละสำนักวิชาก็มีมากขึ้น

ที่ผ่านมาจนถึงก่อนได้รับมอบหมายงานใหม่ ผมถือว่าผมรับผิดชอบงานประชาสังคม ภารกิจที่ผมทำมาทั้งหมดเมื่อย้อนกลับไปดูจึงเสมือนกับการเป็นหน่วยเคลียร์พื้นที่ สร้างความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์กับประชาคมในพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะชุมชนที่ต้องย้ายออกไป รวมทั้งประชาคมในจังหวัดนครศรีธรรมราชและในพื้นที่ภาคใต้
ทีมงานในฝ่ายมีด้วยกัน4คน แบ่งกันรับผิดชอบ ผมเริ่มงานโดยการสร้างสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก    (มีเพื่อนที่อยู่มาก่อนรับงานดูแลชุมชนมวล.และรายรอบ) และแวดวงประชาสังคมในจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้
ช่วงนั้นกองทุนเพื่อสังคม(SIF)เปิดหน้างานด้านนี้พอดี คนรับผิดชอบงานSIFในภาคใต้เคยเป็นเพื่อนฝูงที่ร่วมงานกันมาในองค์กรพัฒนาเอกชน อีกทั้งคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช รองอธิการบดีในสมัยนั้น       ก็เป็นแกนนำในแวดวงประชาสังคมและกำกับดูแลศูนย์บริการวิชาการด้วย ทำให้งานของเราคล่องตัวและมีความโดดเด่น
หน้างานของผมคือการทำงานร่วมกับภาคชุมชนและประชาสังคมโดยตรง จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งจากสถานะการณ์ โดยเฉพาะแนวคิดและวิธีการทำงานของผู้บริหาร     ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการคนปัจจุบัน

ก่อนการเปลี่ยนแปลงภาระงานใหม่ของผมในเดือนพฤษภาคม2551 งานประชาสังคมเหลือผมอยู่คนเดียว มีคนลาออกโดยไม่มีการรับคนใหม่เข้ามา และมหาวิทยาลัยได้แยกงานชุมชนสาธิต(งานดูแลชาวบ้านที่ย้ายออกจากมวล.ไปอยู่ในพื้นที่สปก.ที่แบ่งไว้ด้านหลัง)ออกไปจากศูนย์บริการวิชาการ
ซึ่งผมรู้ว่าถ้าผมลาออกมหาวิทยาลัยก็คงไม่รับคนใหม่เข้ามา นั่นหมายถึง ภารกิจของฝ่ายประชาสังคมหมดความสำคัญไปแล้ว (ด้วยการเติบโตขึ้นของมหาวิทยาลัย และความไม่ชัดเจนของงานประชาสังคมในมหาวิทยาลัย แม้ว่าผมจะมีบทบาทสนับสนุนงานพัฒนาของจังหวัดในช่วงที่ผ่านมาอย่างมากจนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากผู้ว่าราชการจังหวัดในงานชุมชนอินทรีย์ของจังหวัด ซึ่งผมได้เขียนเล่าสู่กันฟังในBlogตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ตาม) หรือศูนย์บริการวิชาการต้องทำหน้าที่ใหม่ เพื่อเป็นระบบกลางสนับสนุนงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย

เนื่องจากผมเล็งไปที่วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ดังนั้นงานที่ผมทำอยู่ในฝ่ายประชาสังคมย่อมมีคุณค่าสอดคล้องกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการอย่างแน่นอน ผมจึงทำงานของผม ต่อไปตามกำลังความสามารถอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีอุปสรรคในการทำงานอยู่บ้างในระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติของสถาบันอุดมศึกษาซึ่งไม่อาจหลีกพ้นกระบวนทัศน์ใหญ่ในสังคมคือการเลือกปฏิบัติแบบชนชั้นวรรณะก็ตาม

ผมยึดถือในหน้าที่ตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนไว้ ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้านอกอำนาจหน้าที่    ก็เสนอความเห็นไว้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อผมได้รับมอบหมายหน้าที่ใหม่ ผมก็จะทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มกำลังคือ การเป็นหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยในศูนย์บริการวิชาการ ซึ่งเป็นงานที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานวิจัยของสกว.คือ
การเป็นหัวหน้าชุดโครงการและเป็นผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัยมาก่อนหน้านี้ และยังคงเรียนรู้อยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

ผมยังไม่ได้ตอบอาจารย์ปัทมาวดีซึ่งทราบว่าจะเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสขึ้นเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสรรหาของคณะกรรมการที่มีอาจารย์ประเวศ วะสีเป็นประธาน
รายละเอียดจะอยู่ในบันทึกต่อๆไป และหวังว่าจะได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีเกียรติภูมิของประเทศจากอาจารย์ด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 194469เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2008 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอเป็นกำลังใจในความมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมค่ะ

ตอนที่ตัวเองเสนอนโยบาย ก็ยกคำของท่านพุทธทาสเหมือนกัน คือ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

อนาคตจะได้ทำอะไรอยู่ตรงไหนไม่สำคัญเท่ากับที่คิดเสมอว่า "ทำตัวให้เป็นประโยชน์" ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และทำให้ดีที่สุด คุณค่าของชีวิต..บางทีอยู่ตรงนี้เอง

เต๋าบอกว่า ทำตัวให้เหมือนถ้วยชา "ว่างเปล่าแต่เป็นประโยชน์"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท