เทคนิคการพัฒนาแผนการสอน : สอนก่อนทำแผนทีหลัง


หากแผนนี้ได้ถูกนำไปใช้ และได้ผ่านการปรับปรุงอีกสัก 2-3 ครั้ง ก็นับว่าเป็นแผนที่ดีแผนหนึ่งได้

 

 

  

    เทคนิคการพัฒนาแผนการสอน : สอนก่อนทำแผนทีหลัง         

       มีครูของเราจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยสันทัดในการเขียนแผนการสอน  สอนมาแล้วหลายปี  ทำแผนส่งผู้อำนวยการมาโดยตลอด  แต่แผนส่งกับสอนจริงไม่เคยเหมือนกันเลย  พอคิดจะพัฒนาแผนดี ๆขึ้นสักบทเรียนหนึ่ง  ก็ต้องมาเจอกับ ภาวะจิ้มแห้ง  เขียนไม่ออกเอาเสียจริง  
            ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเม็กดำ  ซึ่งอยู่ที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม    เมื่อปลายปีที่แล้ว  ตอนที่คณะของพวกเรานักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์  คราวนั้นครูบาท่านได้เชิญผู้อำนวยการฯมาคุยเรื่องความคิดและงานการศึกษาที่โรงเรียนของท่านให้พวกเราฟัง  ตอนหนึ่งท่านได้พูดถึงการพัฒนาแผนการสอนของครูอาจารย์ในโรงเรียนของท่านว่า  ท่านแนะนำให้ครูอาจารย์ทำแผนโดยวิธีการให้ลงมือสอนก่อนแล้วค่อยมาเขียนแผนการสอน  ปรากฎว่าได้แผนการสอนที่ดี ๆ มีชีวิตชีวา  และรับรองว่าเป็นแผนที่เอาไปสอนได้จริง  เพราะอย่างน้อยก็ได้สอนมาแล้วครั้งหนึ่ง
            ท่านได้ขยายความให้เข้าใจมากขึ้นว่า  ก่อนสอนก็ใช่ว่าจะไม่มีการวางแผนอะไรเลย  เพราะคงเป็นไปไม่ได้  ถ้าใครจะทำอะไรสักอย่างแล้วไม่ต้องคิดล่วงหน้าว่า  จะทำเพื่ออะไร  จะทำอะไร  จะทำอย่างไร  จะใช้อะไรมาทำบ้าง  จะทำเมื่อไร  เหล่านี้ ก็ต้องกำหนดลงไปให้ได้ก่อน  และก็บันทึกคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ลงไว้  ซึ่งก็มักจะได้คำตอบคร่าว ๆ  ยังไม่มีรายละเอียด  แต่ก็เพียงพอที่จะช่วยในการเตรียมการของครู  หรือเพียงพอที่ครูจะสื่อสารกับนักเรียน เพื่อนักเรียนจะได้เตรียมตัวเรียน  หรือใช้สื่อสารกับครูคนอื่น  ถ้าการสอนนั้นสอนร่วมกันเป็นทีม(ตามปรกติทีมก็จะคิดร่วมกันอยู่แล้ว)  นี่อาจถือว่าเป็นขั้นตอนที่หนึ่ง
            ขั้นต่อไปเป็นขั้นลงมือสอนจริง  ก็ดำเนินการไปตามที่คิดไว้  ในขั้นนี้พอลงมือทำจริงรายละเอียดของการดำเนินการกิจกรรมแต่ละอย่างมันจะดำเนินไปตามครรลองของมันเอง  ในระหว่างนั้นอาจมีปัญหา  มีอุปสรรค  อันเนื่องจากช่วงก่อนทำนึกไม่ถึง  หรือเป็นเหตุสุดวิสัยก็แก้ไขไป  ซึ่งน่าจะไม่ถึงขนาดที่มีความรุนแรงมากจนไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้  หรือเป็นถึงขนาดนั้น ก็จัดการแก้ไขเสียก่อน  แล้วค่อยดำเนินการต่อไป  สิ่งที่จะต้องกระทำควบคู่ไปในระหว่างการดำเนินการ คือการจดบันทึกและ/หรือบันทึกด้วยเครื่องมืออื่น เช่น  กล้องถ่ายรูป  กล้องถ่ายวีดิโอ  อย่างละเอียดว่าได้กระทำอะไร  อย่างไร  ได้ผลอย่างไร เพราะอะไร  มีปัญหาอย่างไร  แก้ไขอย่างไร  และบันทึกบทเรียนที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้น  อย่างละเอียด  และอย่างเป็นเหตุเป็นผลไว้ด้วย  ในประเด็นหลังนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแผนในคราวต่อไป
            หลังจากดำเนินการสำเร็จไปในแต่ละช่วง  ผลการดำเนินการแต่ละช่วงจะปรากฎให้เห็น  ผลที่ว่านี้  คือวัตถุประสงค์ของแผน  ผลย่อย ๆคือวัตถุประสงค์เฉพาะ  ผลรวมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงคือวัตถุประสงค์หลัก  ของการสอนในช่วงนั้น ๆ  ผู้สอนควรนำข้อมูลที่ได้บันทึกไว้มาใช้ในการทำแผนการสอนในทันทีที่การดำเนินการในแต่ละช่วงได้เสร็จสิ้นลง  แผนฉบับนี้จะเป็นแผนดีกว่าการสอนที่ได้ดำเนินเสร็จไปหยก ๆ  เพราะจะมีบทเรียนจากการปฏิบัติจริงเป็นเครื่องยืนยัน  อาจกล่าวได้ว่าแผนนี้ได้ผ่านการทดลองมาแล้วนั่นเอง  ผู้สอนจะดำเนินต่อไปเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วง ก็จะบันทึก  และมาลงมือเขียนแผนการสอนที่มีรายละเอียดดังกล่าว  จนการดำเนินการสอนสำเร็จตามเป้าหมายของบทเรียน  ก็ถือว่าแผนการสอนที่ดี ๆที่อยากได้  ได้เขียนสำเร็จลงแล้ว 
                แผนนี้ถ้าจะโชว์ก็น่าจะโชว์ได้แล้ว  และถ้าจะใช้ก็เป็นแผนที่มั่นใจได้เลยว่าได้ผล  หากแผนนี้ได้ถูกนำไปใช้ และได้ผ่านการปรับปรุงอีกสัก 2-3  ครั้ง  ก็นับว่าเป็นแผนที่ดีแผนหนึ่งได้

 

                                                                                                                                                                       Paaoobtong      

หมายเลขบันทึก: 194121เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2008 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ภาวะ จิ้มแห้ง..ได้ยินครั้งแรกในชีวิตจริงๆ..อธิบายเพิ่มหน่อยครับ อาจารย์

สวัสดีครับ คนโรงงาน

  • รู้เลยว่าคนโรงงานเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ อาจเรียกว่า ยุคปากกาลูกลื่น  คนยุคนี้จึงไม่เคยจิ้มแห้ง
     
  • สมัยก่อนนี้เด็ก ๆที่เรียนหนังสือเขาจะเริ่มใช้ปากกาก็จะต้องอยู่ชั้น ป.4ขึ้นไป  ปากกาที่เด็ก ๆบ้านนอกพอจะหามาใช้ได้(เด็กในเมืองก็คงเหมือน ๆกัน)เขาเรียกว่าปากกาเบอร์(มีรอยนูนเป็นเลข 5 อยู่ที่ปลายปากกา)สำหรับเขียนกับหมึกสีน้ำเงิน  กับปากกาอีกแบบหนึ่งปลายแหลมเรียว เส้นเล็กกว่าปากกาเบอร์ ใช้เขียนกับหมึกสีแดง  ปากกาที่ว่านี้พอจะเขียนต้องจุ่มน้ำหมึก  เขียนไปพอน้ำหมึกหมดก็จุ่มใหม่  ทีนี้ สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร  จุ่มแล้วก็ต้องถือค้างไว้ ถือค้างไว้นานหมึกก็แห้ง ก็ต้องจุ่มใหม่ แล้วก็ถือค้างไว้  มันก็แห้งอีก เป็นอยู่อย่างนี้  ไม่สามารถเขียนอะไรได้สักที  เลยเกิดสำนวน "จิ้มแห้ง" ขึ้น  (แถวบ้านผม จิ้ม=จุ่ม นะครับ)
  • วิสัชนามา  พอสมควรแก่เวลา  ด้วยประการฉะนี้ เอวัง


                                                                   Paaoobtong

 

 

สวัสดีครับ

  • ขอบพระคุณมากครับ
  • ได้แนวทางในการจัดทำแผนการสอน
  • บางครั้งใช้แผนเดียวกันสอน 2 ห้อง ปรากฏว่าสอนไปห้องแรกได้วิธีการดำเนินกิจกรรมได้ระหว่างการสอน จึงเอาไปปรับสอนกับอีกห้องหนึ่ง กลายเป็นว่าห้องแรกที่สอนเป็นห้องทดลองใช้แผนมากกว่าครับ

มีกำลังในการจัดทำแผนการเรียนรู้เพิ่มอีกโขเลยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ทำแผนการสอนสนุกที่สุด

เพราะได้มีโอกาสนำความคิดของตัวเองบรรเลงเป็นตัวหนังสือ

แล้วก็นำมาเป็นหางเสือกำกับการสอน การจัดกิจกรรมให้กับเด็ก ให้ผ่านเป้าหมายที่ตั้งไว้

จิ้มแห้ง หรือคะ ...ยังมีกระดาษซับหมึกอีกนะคะ ซับไม่ทันก็เลอะหมด

สมาธิต้องนิ่ง สมองสั่งการ มือทำงาน สายตาจดจ่อ

ขอบคุณ ที่ทำให้รำลึกถึงวัยในอดีต ที่เกือบจางหายไปแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท