สอนซ่อมเสริมการอ่านการเขียน


สอนซ่อมเสริมการอ่านการเขียน

แบบบันทึกเรื่องเล่า

หัวปลา (Knowledge Vision) การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน (สาระ/งานโครงการ)

m สาระ  การเรียนรู้ภาษาไทย m งาน/โครงการ สอนซ่อมเสริมการอ่านการเขียน

                        คุณกิจ (ผู้เล่าเรื่อง)นางอุบล   ยอดสลุง    โรงเรียนบ้านโคกตูม       สพท.ลบ 1

 

                       ดิฉันเป็นครูสอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ , ๖   มามากกว่า๒๐ปีแล้ว  สิ่งที่ดิฉันพบและเป็นปัญหาต่อการเรียนการสอนของดิฉันมากที่สุดก็คือ ปัญหาเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ , ๖ อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ 

                                         ในช่วงแรกๆที่ดิฉันพบปัญหา  ดิฉันได้จัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริมนอกเวลาเรียนให้กับเด็กเหล่านี้ แต่ก็ดูว่าจะไม่ค่อยได้ผล  เด็กไม่สนใจมาเรียนต้องคอยตามกัน  หรือบางครั้งครูก็งดสอนเพราะต้องไปทำงานอื่น    สุดท้ายก็ให้เด็กจบป.๖ไปทั้งที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  เป็นผลให้เด็กเหล่านี้ก็ไม่อยากที่จะเรียนต่อ     บางคนเรียนต่อในชั้นมัธยมแต่ก็เรียนไม่จบ  ออกกลางคันในที่สุด  เมื่อมองเห็นผลของปัญหาตรงนี้แล้วดิฉันจึงพยายามที่จะหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยเด็กนักเรียนในโรงเรียนของดิฉันโดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ , ๖  ต้องได้รับการแก้ปัญหาให้อ่านออก และเขียนได้ทุกคนก่อนที่จะจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ไป

                              สิ่งแรกที่ดิฉันให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ  การสร้างความเป็นมิตร  ให้พวกเขารู้สึกไว้ใจ   ว่าเมื่อพวกเขาอยู่ใกล้ดิฉันแล้วเขาจะไม่ถูกดุว่าอ่านไม่ออก  เขียนไม่ถูก ในช่วงแรกๆ ดิฉันจะคอยเล่าเรื่องสนุกๆ  ผลัดกันทายปัญหาบ้าง  เล่าเรื่องส่วนตัวทางบ้านบ้าง  พวกเขาก็จะรักดิฉัน และอยากมาเรียนกับดิฉัน  เพราะพวกเขารู้ว่าดิฉันเข้าใจพวกเขา

                                ดิฉันได้เลือกเวลาสอนซ่อมเสริมในช่วงเวลา ๐๘.๐๐ น. ๐๘.๓๐ น.  ของวันเปิดเรียนทุกวันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนทุกคนต้องเข้าแถวเคารพธงชาติ   ซึ่งแต่เดิมดิฉันเคยใช้เวลาพักกลางวันหลังที่พวกเขารับประทานอาหารกลางวันแล้ว  ปรากฏว่านักเรียนมาบ้างไม่มาบ้าง  มาก็ไม่ตรงเวลา  เสียเวลาตามกัน  เพราะในช่วงเวลาพักกลางวันเป็นเวลาเล่นของพวกเขากับเพื่อนๆ ที่พวกเขามีความสุขกับการเล่นตรงนี้มาก    ดิฉันจึงเปลี่ยนไปใช้เวลาช่วงเช้าแลกกับการเข้าแถว  ปรากฏว่าได้ผลดีมากพวกเขามาตรงเวลา  และไม่ต้องตามกันด้วย   และที่สำคัญที่ดิฉันยึดปฏิบัติอยู่เสมอคือ ความสม่ำเสมอในการสอนจะมีกิจกรรม หรืองานด่วนอะไรก็แล้วแต่  ดิฉันจะไม่งดสอน ดิฉันจะให้ความสำคัญกับการสอนซ่อมเสริมนี้ ก่อนกิจกรรมอื่นๆ 

                                สิ่งที่ดิฉันพบกับนักเรียนชั้น ป. ๕ ๖ ที่อ่านไม่ออก ก็คือ  พวกเขารู้จักเสียงสระไม่ครบทุกเสียง  และไม่แม่นยำเสียงสระ   ไม่รู้จักเสียงสะกดในมาตราต่างๆ และไม่แม่นยำเสียงสะกด  สิ่งที่ดิฉันทำก็คือ ให้นักเรียนฝึกเสียงสระ กับเสียงสะกด สองมาตรา  เช่น  สอนสระ   -ะ   ก็สอนเสียงสะกด แม่ กก กับแม่ กด    พวกเขาก็จะรู้จัก คำที่ประสมสระ     กะ   จะ   ตะ    และก็จะรู้จักคำประสมสระ ะแบบมีตัวสะกด   กัก    จัก    ตัก    และ    กัด    จัด     ตัด    และพวกเขายังได้รู้จักการเทียบเสียงคำที่มีตัวสะกดต่างมาตรากันด้วย   กัก -  กัด   ,    จัก  -   จัด   ,    ตัก  -   ตัด      เป็นต้น  หลังจากนั้นดิฉันก็ให้พวกเขาบอกความหมายของคำที่เขาอ่าน  จากนั้น ก็จะแต่งประโยค  หรือเรื่องสั้นๆเกี่ยวกับคำที่เรียนให้นักเรียนได้ฝึกอ่านกัน เช่น    ตาจะไปดักปลา  หมาจะกัดตา  ตาตัดไม้ไล่หมา   ........               จากนั้นก็จะตามด้วยการฝึกเขียน  เริ่มจากการเขียนตาม   การสร้างคำใหม่  การแต่งเป็นประโยค  จนถึงเขียนเป็นเรื่องสั้นๆ   ดิฉันก็จะใช้กระบวนการอย่างนี้กับสระ  และมาตราตัวสะกดอื่นๆต่อไปจนครบถ้วน  และสิ่งที่ได้พบก็คือนักเรียนไม่เบื่อที่จะอ่านและเขียน  และสามารถสร้างคำใหม่ ได้เป็นอย่างดีและพัฒนาการเขียนได้พร้อมกับการอ่านได้ด้วย

                                 และอีกสิ่งหนึ่งที่ดิฉันต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาคือ  ลีลาในการสอน เช่นทำอย่างไรเด็กจึงจะจำรูป และเสียงของ สระ และตัวสะกดได้อย่างแม่นยำ   เช่น  สอนสระ    มีตัวสะกด  ก็ต้องเล่าเป็นเรื่องเป็นราวให้นักเรียนเห็น เป็นภาพ   เช่น  สระ  -ะ   กลัวผีมาก  เวลาไปไหนกับพยัญชนะก็จะเดินตามหลังตลอด    ( กะ ) พอดีเดินๆมามีพยัญชนะอีกตัวหนึ่งเดินสะกดรอยตามหลังมา (ด)  -    จึงตกใจกระโดดกอดกันกลมขึ้นไปอยู่บนหลัง กอไก่  (  กัด )  เมื่อเล่าอย่างนี้นักเรียนก็สนุก แล้วพวกเขาก็เล่ากันเองโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น และตัวสะกดกันเองได้  พวกเขามีภาพในการจำเขาจึงจำได้แม่นยำขึ้น  พอถึงสระตัวอื่นๆบางทีเขาก็แต่งแทนครูก็มี  ก็สนุกดีค่ะ     นอกจากนี้  ทั้งเพลง ทั้งเกม  และทั้งสื่ออื่นๆ  ดิฉันก็ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูคนอื่นๆอีกมากมาย แล้วก็นำมาดัดแปลงให้ข้ากับเด็กของเรา

                                เมื่อถึงวันนี้มีนักเรียนหลายสิบคนแล้วที่ดิฉันได้ช่วยแก้ปัญหาให้เขาอย่างทันเวลา  ให้เขาได้มีเครื่องมือที่จะช่วยให้เขาได้ไขว่คว้าหาความรู้   เพื่อการพัฒนาตนเองสู่อนาคตที่สดใสในวันข้างหน้าได้อย่างมีความสุข  

 

หมายเลขบันทึก: 194089เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2008 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วปลื้มใจจริงๆ..ที่ทำเพื่อเด็ก..ชื่นชมนะคะ

ขอบคุณครับอาจารย์ที่ทำเพื่อ เด็กๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท