การออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับ ( Backward Design)


การออกแบบการเรียนรู้

 

   การออกแบบเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ

 

 


สรุปความจากหนังสือ  Understanding  by  Design  โดย   Grant  Wiggins  and  Jay  McTighe

ดร.กษมา  วรวรรณ    อยุธยา  เรียบเรียง

 

                                ลองวิเคราะห์ตัวอย่าง  4  ตัวอย่างข้างล่างและดูว่าได้ชี้ให้เห็นประเด็นอะไรในเรื่องหลักสูตรและการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ

                                ตัวอย่างที่  1

                                ในการประชุมปฏิบัติการเรื่อง  ความเข้าใจ  ครูมัธยมศึกษาคนหนึ่ง  ได้จดบันทึกว่า  ตอนฉันเป็นนักเรียนมัธยมศึกษา ฉันมักจะนึกเสมอว่าสมองของฉันไม่ต่างอะไรจากที่พักระหว่างทางสำหรับข้อมูลที่ผ่านจากหูซ้ายออกหูขวา  ฉันเป็นคนจำเก่งมาก  จึงได้คะแนนเกียรตินิยม  แต่ก็รู้สึกอายที่จะบอกว่า  เพื่อน ๆ  ที่ไม่ค่อยสนใจ  เรื่องคะแนนมักจะมีความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่เรียนมากกว่าฉัน

                                ตัวอย่างที่ 2

                                ทุกฤดูใบไม้ร่วง  นักเรียน  ป.3  จะเรียนหน่วยบูรณาการเรื่อง  แอปเปิ้ล  ทุกคนจะเรียนกิจกรรมที่หลากหลาย  เช่น  อ่านนิทานและดูภาพยนตร์เรื่อง  Johnny  Apple  seed  ในวิชาภาษาอังกฤษ  เขียนเรื่องราวที่สร้างสรรค์พร้อมวาดภาพประกอบเกี่ยวกับแอปเปิ้ล เก็บใบไม้จากต้นแอปเปิ้ลข้างโรงเรียนแล้วนำมาปะติดปะต่อเป็นใบไม้ยักษ์ที่ผนัง ร้องเพลงที่เกี่ยวกับแอปเปิ้ลในชั่วโมงคณิตศาสตร์  ครูจะสอนวิธีคำนวณปริมาณซอสแอปเปิ้ลให้เพียงพอสำหรับนักเรียนในห้องทุกคน  แต่สุดยอดของกิจกรรมจะอยู่ที่การได้ไปเที่ยวสวนแอปเปิ้ล  ดูชาวสวนทำน้ำแอปเปิ้ลและร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลอง  โดยนำผลงานที่ได้เรียนรู้ในกลุ่มสาระต่าง ๆ  มานำเสนอ

                                ตัวอย่างที่ 3

                                ข้อสอบในการประเมินผลระดับชาติสำหรับนักเรียน  ม.2  ตั้งโจทย์ว่า

จะต้องใช้รถเมล์กี่คันจึงจะเพียงพอที่จะบรรทุกทหารจำนวน  1,128  คน  หากคันหนึ่งบรรทุกได้  36  คน

                                นักเรียนเกือบหนึ่งในสาม  จะตอบว่า  31  คัน  และเหลืออีก  12  คน

                                ตัวอย่างที่  4

                                ใกล้จะปิดเทอมแล้ว  ครูสอนประวัติศาสตร์รู้สึกเป็นกังวลที่ยังเหลือเนื้อหาในวิชาประวัติศาสตร์โลกอีกมากมาย  จึงต้องตัดสินใจเพิ่มความเร็วในการสอนเป็นวันละ  40  หน้า  เพื่อให้สามารถครอบคลุมเนื้อหาทันการสอบปลายเทอม  และต้องตัดสินใจตัดกิจกรรมที่ดี ๆ  ออกหลายกิจกรรม  เช่น  การจำลองสถานการณ์  การอภิปรายที่องค์การสหประชาชาติ

                                อ่านแต่ละตัวอย่างแล้ว  คงพอทำให้นึกถึงสภาพความเป็นจริงที่เรามักพบเห็นกันอยู่เนือง ๆ

 

                                ตัวอย่างที่  1  แสดงให้เห็นว่า  แม้แต่เด็กที่เรียนเก่ง ๆ  ยังไม่สามารถพัฒนาความเข้าใจในระดับที่ลึกซึ้งเพียงพอ และข้อสอบที่เน้นการท่องจำเนื้อหาจากหนังสือเรียนและการสอนของครู  ไม่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจอย่างจริงจัง

                                ตัวอย่างที่  2  เกี่ยวกับหน่วยบูรณาการเรื่องแอปเปิ้ล   เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของการเน้นกิจกรรมนักเรียนมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมที่สนุกสนานมากมาย  แต่ไม่ค่อยแน่ใจว่าการสอนเน้นประเด็นใด  นักเรียนได้เรียนรู้อะไร  นักเรียนทราบหรือไม่ว่าเป้าหมายของการเรียนรู้จากกิจกรรมเหล่านี้คืออะไร  และมีหลักฐานอะไร  ว่าได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรม  ที่สำคัญคือนักเรียนได้พัฒนาความเข้าใจที่ลึกซึ้งและยั่งยืนหรือไม่

                                ตัวอย่างที่  3  เรื่องรถบรรทุกสะท้อนให้เห็นว่านักเรียนคำนวณได้  แต่ขาดความเชื่อมโยงจากโลกแห่งความเป็นจริงจึงตอบ  31  คัน  เหลือ  12  คน  แทนที่จะตอบ  32  คัน  ทั้งนี้เพราะโจทย์ปัญหาส่วนใหญ่แยกส่วนจากบริบท  และไม่ส่งเสริมให้นำไปใช้ในสภาพความเป็นจริง

                                ตัวอย่างที่  4  เป็นปัญหาที่ครูแทบทุกคนเผชิญ  และจะยิ่งเป็นปัญหาในอนาคตเมื่อ  วิทยาการในโลกขยายตัว  ถ้าจะเน้นการสอนเพียงเพื่อให้ครอบคลุมทุกเรื่อง  โดยไม่ต้องสนใจความรู้ความเข้าใจที่จะติดตัวไปกับผู้เรียน  จะต้องขนานนาม  วิธีสอนแบบนี้ว่า  Teach, test and hope for the best  หรือ   สอน  สอบ  และ  ไปตายเอาดาบหน้า

                                หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามที่จะศึกษาในเรื่องดังต่อไปนี้

·       ศึกษาหลักสูตร  การประเมินผล  และการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่การพัฒนา

ความเข้าใจ

·       ศึกษาการออกแบบการเรียนรู้แบบ  Backward  Design  เพื่อแก้ปัญหาความ

ไม่เชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรและการประเมินผล

·       นำเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับความเข้าใจใน  6  ด้าน  และความเชื่อมโยงกับหลักสูตร 

การประเมินผลและการเรียนการสอน

·       นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรและการเรียนการสอนที่เน้น  การแสวงหาความรู้ 

มากกว่าการปูพรมให้ครอบคลุม  และมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในแนวคิดหลัก

·       ศึกษาแนวทางประเมินความเข้าใจของผู้เรียนในระดับต่าง ๆ

·       คำนึงถึงความเข้าใจผิดของผู้เรียนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ  ในการออกแบบหลักสูตรการ

ประเมินผล  และการเรียนการสอน

·       นำเสนอรูปแบบในการออกแบบหลักสูตรและการประเมินผลที่เน้นการสร้างความเข้าใจของผู้เรียน

·       นำเสนอมาตรฐานในการออกแบบเพื่อประกันคุณภาพของหลักสูตรและการ

ประเมินผล

นิยามคำศัพท์

                หนังสือเล่มนี้ให้คำจำกัดความแก่คำหลักที่ใช้ดังนี้

                                หลักสูตร  เป็นพิมพ์เขียวเพื่อการเรียนรู้ที่เกิดจากการกำหนดมาตรฐานของเนื้อหาและมาตรฐานความสามารถของผู้เรียน  ( Content  and  performance  standards  )  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนการเรียนการสอนที่ได้ผล  ดังนั้น  หลักสูตร  ตามความหมายที่ใช้ในเล่มนี้  จึงไม่ใช่กรอบกว้าง ๆ  ของหลักสูตร  หรือสรุปสาระเนื้อหาแต่เป็นแผนที่ชัดเจนพร้อมหน่วยการเรียนที่กำหนดขั้นตอน  และวิธีการที่ชัดเจน  ตลอดจน  กิจกรรม  และการประเมินผลไปสู่เป้าหมาย  (หลักสูตรที่ดีจะต้องเขียนจากมุมมองผู้เรียน  และผลที่พึงประสงค์  หลักสูตรจะต้องแจ่มชัดว่าผู้เรียนจะทำอะไร  ไม่ใช่เพียงแต่กำหนดว่าผู้สอนจะทำอะไร)

                                การประเมินผล  (Assessment)  หมายถึงกระบวนการเพื่อการตัดสินว่าได้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่  ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลายทั้งการสังเกตการพูดคุย  การลงมือปฏิบัติ  จนถึงการทดสอบ

                                เป้าหมายการเรียนรู้  หมายถึง  ข้อกำหนดว่านักเรียนควรทำอะไรได้ในระดับใด  จึงผ่านเกณฑ์การประเมินว่าได้เกิดความเข้าใจ  มาตรฐานเนื้อหาจะกำหนดว่าควรสอนให้ครอบคลุมเนื้อหาสาระใดบ้าง  แต่มาตรฐานความรู้ความสามารถจะกำหนดว่าผู้เรียนจะทำอะไรได้  และต้องทำดีในระดับใดจึงถือว่าผ่านเกณฑ์

                                ความเข้าใจ  ซึ่งเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้  หมายความว่า  ผู้เรียนได้เรียนรู้มากกว่าความรู้ที่บรรจุในหนังสือเรียน  หรือทักษะพื้นฐาน  แต่ต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (insights)  และมีความสามารถที่แสดงออกในผลงานและภายในบริบทต่าง ๆ  หนังสือเล่มนี้  จะนำเสนอความเข้าใจในด้านต่าง ๆ  จะแสดงให้ห้นว่า  การมีความรู้และทักษะไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเข้าใจโดยอัตโนมัติ  ทั้งจะชี้ให้เห็นว่า  ความเข้าใจผิด ๆ  ของผู้เรียนเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เราคาดคิด  และการประเมินความเข้าใจไม่อาจกระทำได้โดยผ่านการทดสอบดั้งเดิม

 

 

 

การออกแบบแบบย้อนกลับ  Backward  Design

                                ครูทุกคนเป็นนักออกแบบ  ภารกิจหลักในวิชาชีพครู  คือ  การออกแบบหลักสูตรประสบการณ์การเรียนรู้  เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้  ออกแบบเครื่องมือประเมินความต้องการและเครื่องมือประเมินผลว่าได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

                                ครูจำนวนไม่น้อยวางแผนการเรียนการสอนด้วยการสือหนังสือเรียน  แผนการสอน  และกิจกรรมที่ถูกใจ  แทนที่จะออกแบบเครื่องมือเหล่านี้จากเป้าหมายการเรียนรู้และมาตรฐานที่กำหนดไว้  หนังสือนี้จึงเสนอกระบวนการออกแบบ  การเรียนรู้ที่ย้อนกลับ  โดยเริ่มจากเป้าหมายการเรียนรู้ที่พึงประสงค์  จากนั้นจึงออกแบบหลักสูตรและแผนการเรียนการสอน  ทั้งจะไม่รอจนออกแบบการเรียนการสอนแล้วเสร็จ  จึงออกแบบการประเมินผล  แต่จะวิเคราะห์ตั้งแต่ช่วงแรกของการออกแบบหลักสูตรว่า  หากผู้เรียนบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้  จะต้องมีหลักฐานอะไร  จึงจะถือว่าผู้เรียนได้เกิดความเข้าใจในระดับที่พึงประสงค์  ต่อเมื่อมีความชัดเจนในเรื่องเป้าหมาย  และหลักฐานจึงออกแบบการเรียนการสอน  วิธีการนี้จึงจะช่วยให้ผู้สอนมีความชัดเจนในเรื่องเป้าหมาย  และมีความสอดคล้องระหว่างกิจกรรมการเรียนการสอนและเป้าหมายที่พึงประสงค์

                โดยสรุปการออกแบบแบบย้อนกลับจะมี  3  ขั้นตอนดังนี้

                                ขั้นตอนที่  1  การกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์

                                ขั้นตอนที่  2  การกำหนดหลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมาย  ที่พึงประสงค์

                                ขึ้นตอนที่  3  การวางแผนประสบการณ์การเรียนรู้และการสอน

 

ขั้นตอนที่  1  การกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์

                                ในการกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์  ผู้สอนจะพิจารณาว่าผู้เรียนควรรู้อะไร  ควรมีความเข้าใจในเรื่องใด  และควรทำอะไรได้บ้าง  อะไรที่ควรค่าแก่การเรียนรู้  ควรมีความเข้าใจที่ยั่งยืนอะไรบ้าง  ดังแผนภูมินี้

สิ่งที่มีคุณค่าและน่าจะรู้

สิ่งที่จำเป็นต้องรู้และจำเป็นต้องทำ

ความเข้าใจที่ลุ่มลึกและยั่งยืน

 

 

 

แผนภูมิ    แสดงการจัดลำดับความสำคัญของสาระหลักสูตร

                ในการพิจารณาลำดับความสำคัญ  หนังสือได้เสนอเกณฑ์เพื่อกลั่นกรอง 4  ประการ  ได้แก่

                                1.  แนวคิด  หัวข้อ  หรือ  กระบวนการนั้น  เป็นประเด็นหลักที่จะมีคุณค่านอกบริบทการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือไม่  ความเข้าใจที่ยั่งยืนต้องไม่เป็นเพียงข้อมูลหรือทักษะ  เฉพาะเรื่องเท่านั้น  แต่จะต้องเป็นเรื่องหลัก  ประเด็นหลัก  ที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ในสถานการณ์อื่น ๆ  นอกห้องเรียน  และต้องเป็นเสมือนดุมล้อที่ยึดวงล้อไว้  เช่น  การเรียนเรื่อง   Magna  Charter  ข้อตกลงที่เป็นต้นแบบของการตรากฎหมาย  ประเด็นหลักที่ผู้เรียนต้องเข้าใจคือกระบวนการกฎหมายที่จำกัดอำนาจของรัฐและประกันสิทธิของบุคคล  หากไม่เข้าใจในหัวข้อของเรื่องนี้  ไม่ว่าจะจดจำรายละเอียดว่าเนื้อความเป็นอย่างไร  ใครลงนามกับใคร  ที่ไหน  เมื่อไหร่ก็ไม่มีประโยชน์  ไม่ตรงประเด็น

                                2.  แนวคิด  หัวข้อ  กระบวนการนั้น  เป็นหัวใจของศาสตร์  ที่เรียนหรือไม่  ผู้เรียนควรมีโอกาสผ่านกระบวนการของศาสตร์นั้น ๆ  เพื่อจะได้เรียนรู้ว่าองค์ความรู้ในศาสตร์นั้น ๆ  เกิดขึ้นได้อย่างไร  ลองนึกถึงภาพว่าผู้ประกอบวิชาชีพในศาสตร์นั้นต้องทำอะไรบ้าง เช่นทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์  เขียนรายงานเพื่อรายงานต่อกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย  ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับข้อค้นพบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โดยใช้หลักฐานปฐมภูมิและทุติยภูมิ  การเรียนรู้ในสภาพจริงจะช่วยให้ผู้เรียนปรับ  สถานภาพจากผู้เรียนที่รอรับความรู้ไปสู่ผู้เรียนที่มีส่วนในการสร้างความรู้

                                3.  แนวคิด  หัวข้อ  และกระบวนการนั้นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ  เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเพียงใด  มีเนื้อหาสาระเป็นจำนวนมากที่ซับซ้อน  ยาก  และเป็นนามธรรมเกินที่ผู้เรียนจะเข้าใจได้ด้วยตนเอง  หัวข้อเหล่านี้  ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ  และควรบรรจุในการเรียนการสอนมากกว่าเนื้อหาที่เข้าใจง่าย  ที่ผู้เรียนอาจเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

                                4.  แนวคิด  หัวข้อ  กระบวนการใดที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของผู้เรียน  มีหลายหัวข้อ  หลายกิจกรรมที่ผู้เรียนสนใจตามวัยอยู่แล้ว  สามารถเลือกมาใช้เพื่อเป็น  ประตู  ไปสู่เรื่องอื่นที่ใหญ่กว่า  หากสามารถเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนไปสู่เรื่องที่ผู้เรียนสนใจ  จะช่วยทำให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าต่อเนื่องด้วยตนเองต่อไป

ขั้นตอนที่  2 

หมายเลขบันทึก: 193517เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ควรเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป

คุณครูกระดาษทรายขา หนูว่าคุณครูไม่เหมาะกับคำนี้เลยค่ะเพราะคุณครูใจดี อารมณ์ดีน่ารักมากด้วยค่ะ

Bonjour OUI,

Il me semble que ton travail est bien utile...

go on..

Bon courage!!!!

jintana

Bonjour OUI,

Your information is very good for all of teachers ,go on..

Bon Courage!!!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท