drrakpong
นายแพทย์ รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ

ยิ้มจากผู้ป่วย 3 : เมื่อผู้ป่วยยิ้ม ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้


แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ คือ การปลดปล่อยสิ่งที่คาใจผู้ป่วยคนนี้ บอกเธอว่า ที่เธอไม่สบายน่าจะเป็นอะไร หรือไม่ได้เป็นจากอะไร และให้คำแนะนำที่เหมาะสม ทำให้เราข้อมูลเพิ่มอีก ซึ่งบางข้อมูลก็เป็น Non-verbal Information ครับ

เป็นหมอเมด ( อายุรกรรม ) ไม่ค่อยเจอคนไข้ยิ้มให้ก่อนนะครับ เว้นแต่คนไข้ที่ซี้กัน คือติดตามการรักษากันมานาน แล้วสบายดี มารับยาต่อเนื่อง ก็ได้คุยกันเฮฮาเอิ๊กอ๊ากบ้าง

วันหนึ่ง ผมเจอคนไข้คนหนึ่งมาตรวจ ดูวัยของเธอ 30 เศษ ยังถือว่าไม่มาก แต่ดูหน้าตาเธอเฉยเมย  เหมือนอมทุกข์ หรือกำความลับอะไรไว้สักอย่างไว้

ข้อมูลที่ผมได้จากเธอ คือ  " คุณหมอขา หนูรู้สึกว่าหน้าหนูบวมขึ้น มีแต่คนทักว่าหน้าหนูบวม "

หมอถาม                        " แล้ว เป็นมานานหรือยังครับ"

เธอตอบว่า                      " เป็น มา 5-6 เดือนแล้วค่ะ ตั้งแต่หนูใช้ครีมหน้าเด้ง ยี่ห้อ ....... หนูก็เป็นมาตลอด หนูคิดว่า ต้องเป็นจากครีมหน้าเด้งแน่ ๆ "

ผมตรวจดูใบหน้าเธอ หน้าเธอยังดูเฉยเมย แม้จะเล่าดูเหมือนกับใส่อารมณ์ อย่างฝังใจว่า เป็นผลจากครีมหน้าเด้งนี่แน่ ๆ

ตาข้างขวาเธอ ดูโปน กว่าข้างซ้ายเล็กน้อย ในใจผมนึกถึง โรคแรก คือ " Graves' Ophthalmopathy" ซึ่งเป็นภาวะพิษของธัยรอยด์อย่างหนึ่งที่มีผลกับเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบดวงตา อีกโรคหนึ่ง คือ "Myasthenia Gravis" เป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ ที่มีอาการอ่อนแรง และมักเกิดกับกล้ามเนื้อของลูกตาด้วย

ผมพยายามตรวจร่างกายของเธอ โดยเพ่งเล็งที่การตรวจรอบ ๆ ดวงตา ไม่พบความผิดอะไร นอกจาก ดูตาขวาเธอปิดไม่สนิท การเคลื่อนไหวลูกตาทำได้ดี มองเห็นดี ไม่มีภาพซ้อน ตรวจร่างกายส่วนอื่น ๆ ไม่มีอาการแสดงของโรคธัยรอยด์เป็นพิษ ต่อมธัยรอยด์ก็ไม่โต

ผมถามเธอว่า เป็นมาตั้งหลายเดือน ไปหาหมอที่ไหนมาบ้าง เธอบอกว่า ไปหาหมอตามาแล้ว ก็ให้ยาหยอดตา ยาป้ายตามา ไม่ได้บอกว่าเป็นอะไรชัดเจน

ผมอธิบายให้เธอฟังว่า สงสัยว่าเธอจะเป็นโรคอะไร และแนะนำให้เธอตรวจเลือดดูภาวะธัยรอยด์เป็นพิษก่อน

เธอถาม ผมย้ำอีกครั้งว่า "ตกลง ที่หนูเป็นแบบนี้ เป็นจากครีมหน้าเด้งหรือเปล่าคะ"

ผมจึงยืนยันให้เธออีกครั้ง ว่า "อาการที่คุณเป็นนี่ไม่น่าจะเกิดจากครีมหน้าเด้งหรอกครับ " ก่อนที่เธอจะลุกออกไปจากเก้าอี้

ก่อนที่เธอจะลุกไปจากเก้าอี้ มีรอยยิ้มน้อย ๆ จากปากของเธอ และกล่าวขอบคุณผม แต่สิ่งที่ผมสังเกตเห็น เมื่อเธอยิ้ม

เธอยิ้มด้วย มุมปากข้างซ้ายข้างเดียวครับ

ผมรีบเรียกเธอ กลับมานั่งลงอีกครั้งหนึ่ง แล้วตรวจการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนอื่น ๆ ของเธอใหม่ พบว่าเธอมีกล้ามเนื้อใบหน้าซีกขวาทั้งซีกอ่อนแรง ไม่สามารถแสดงสีหน้าได้ นั่นคือ เธอน่าจะเป็นโรค " Bell's Palsy " ซึ่งน่าจะเป็นมานานพอควร จนกล้ามเนื้อด้านนั้นฝ่อ ดูเหมือนลูกตาด้านนั้นโปนออกมา เนื่องจากไม่ได้รับการฟื้นฟูที่ถูกวิธี

ผมจึงต้องคุยกับเธอใหม่ กับ ผลการตรวจ ที่ผมเห็นเมื่อสักครู่ และน่าจะเป็นโรคนี้มากกว่าโรคชุดแรกที่ผมบอกไป คำแนะนำที่ให้เธอ คือมันเป็นมานาน จนกล้ามเนื้อหน้าฝ่อไปพอสมควร อาจจะต้องปรึกษานักกายภาพบำบัดช่วย ที่ตอนแรกตรวจไม่พบ เพราะหน้าเธอเฉยเมยมาก จนกล้ามเนื้อใบหน้าไม่แสดงออกอะไร ให้สังเกตเลย 

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากผู้ป่วยคนนี้ คือ การปลดปล่อยสิ่งที่คาใจผู้ป่วย เพียงบอกเธอว่า ที่เธอไม่สบายน่าจะเป็นอะไร หรือไม่ได้เป็นจากอะไร และให้คำแนะนำที่เหมาะสม ทำให้เราข้อมูลเพิ่มอีก ซึ่งบางข้อมูลก็เป็น Non-verbal Information ครับ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ผู้ป่วย#ยิ้ม
หมายเลขบันทึก: 191500เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ว่ากันว่าถ้าซักประวัติคนไข้ละเอียด
  • ก็จะทำให้ได้โรคที่ชัดเจน
  • แต่กลัวเหมือนกันว่า
  • จะไปวินิจฉัยไปเป็นโรคเฉพาะทาง
  • (อันนี้เอามาจากคุณหมอประเวศ วะสีครับ)
  • ดีใจที่คุณหมอมีเวลาให้คนไข้
  • ขอชื่นชมครับ
  • คุณหมอสบายดีไหมครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต

เป็นมุกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เจอในเวชปฏิบัติครับ คือ แอบขำตัวเอง วินิจฉัยแยกโรค ให้คนไข้ฟังเสียมากมาย

พอแกจะลุก ต้องคุยใหม่เลย

ตอนนี้สบายดีครับ งานของ อ.ขจิต คงเชิญราวเดือน ก.ย. นะครับ

แวะมา ขำ ๆ ด้วยคนค่ะ อันนี้อ่ะ Clinical risk อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท