สัตว์เลี้ยงแสนรู้


สัตว์เลี้ยงแสนรู้

สัตว์เลี้ยงแสนรู้ที่ใครๆอยากมี อยากได้

สุนัขมีต้นกำเนิดมาจากสุนัขป่า โดยมนุษย์แถบขั้วโลกเหนือนำมาเลี้ยงเมื่อ 12,000 ปีมาแล้ว เชื่อกันว่า สุนัขป่าตัวแรก เกิดขึ้นเมื่อ 100 ล้านปีที่แล้ว และการอพยบข้ามถิ่นและทวีปต่างๆ ทำให้สุนัขมีหลายพันธุ์ ในประเทศจีน ชาวจีนมีความเชื่อว่าสุนัขที่ชื่อ "Fu" มีความซื่อสัตย์ และนำความเจริญมาให้ โดยมีลักษณะ คล้ายสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง "ANUBIS" เป็นชื่อของเทพเจ้าโรมันที่ตัวเป็นคน หัวเป็นสุนัข เชื่อว่าสามารถส่งวิญญาณมนุษย์ได้

 

ประวัติสุนัขพันธุ์หลังอาน และ บางแก้ว

ประวัติสุนัขพันธุ์หลังอาน

สุนัขไทยหลังอานเป็นสุนัขพื้นเมืองพันธุ์แท้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคตะวันออกแถบจังหวัดตราด ชลบุรี ระยอง ลักษณะเด่นคือ ดุร้าย จึงนิยมเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน เพราะตามชนบทบ้านเรือนมักไม่มีรั้วรอบขอบชิด และกลางวันขณะที่ชาวบ้านออกไปทำไร่ทำนาก็จะปิดบ้านทิ้งไว้ให้สุนัขเฝ้าดูแลแทน อย่างไรก็ตามสุนัขพันธุ์นี้มักดุร้ายต่อเมื่ออยู่ในบ้านเท่านั้น หากออกนอกบ้านแล้วจะไม่ทำอันตรายใครทั้งสิ้น ยกเว้นเมื่อมันหรือนายของมันถูกทำร้าย สมัยก่อนชาวบ้านนิยมออกหาอาหารโดยการเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งมักมีสุนัขติดตามไปช่วยล่าสัตว์ด้วย เพราะสุนัขนี้สามารถวิ่งได้เร็ว เรื่องมาจากมีช่วงลำตัวยาว อกลึกเป็นพิเศษและเอวคอด จึงถูกจัดเป็นสุนัขล่าเนื้อพันธุ์หนึ่ง แต่บางครั้งอาจได้ยินคนเรียกสุนัขพันธุ์นี้ว่า หมาตามเกวียน ตามลักษณะที่มันวิ่งตามเกวียนไปกับผู้เลี้ยงขณะเดินทาง

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าหมาไทยหลังอาน มีมาทั้งแต่เมื่อใด แต่พบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดข่อย เมื่อประมาณ 380ปีมาแล้วนับจากปัจจุบัน ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา ปีพุทธศักราช 2170 เป็นบันทึกที่เก่าแก่เกียวกับหมาไทย เท่าทีหาพบได้ในประเทศไทย มีข้อความอ้างถึงหมาว่า"หมาตัวมันใหญ่ มันสูงสองศอกเศษ มันมีสีต่างๆไม่ซ้ำกัน มันมีขนที่หลังกลับ มันภักดีกับผู้เลี้ยงมัน มันหากินขุดรูหาสัตว์เล็กๆ มันชอบติดตามผู้เลี้ยงไปในป่า มันได้สัตว์มันจะนำมาให้เจ้าของ มันภักดีบ้านเรือน มันรักหมู่พวกของมัน มันไปกับเจ้าของมันถึงต้นยางมีน้ำมัน มีกำลังกล้าหาญไม่กลัวใครทั้งหลาย เป็นสุวรรณรัชตะชาด มันมีโคนหูสูง มันมีหางเหมือนดาบชาวป่า ถ้าผู้ใดมีไว้จะได้รับความภักดีจากมัน"

ทั้งนี้ตามบันทึกมิได้ระบุเจาะจงว่าเป็นสุนัขไทยหลังอาน แต่ก็สันนิฐานได้ว่าน่าจะเป็นสุนัขไทยหลังอานได้ไม่ยาก เพราะลักษณะขนกลับที่หลัง และหางเหมือนดาบ นั้นหาได้แต่ในสุนัขไทยหลังอานเท่านั้น แต่จะเหมือนสุนัขไทยหลังอานในปัจจุบันหรือไม่นั้น ไม่มีใครทราบแน่นอน หรือมีหลักฐานเป็นรูปภาพวาดยืนยันไว้ และสุนัขที่มีขนกับหลังมีอยู่ไม่กี่พันธุ์ในโลกเท่านั้น หนึ่งในนั้นก็คือสุนัขไทยหลังอานของเรา   

จากหลักฐานของฝรั่งที่เข้ามาทำแผนที่ในเมืองไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อน ได้เรียกสุนัขไทยหลังอานว่า ' ไทยภูกก ' ตามถิ่นที่มีคือ บนเกาะภูกก (Phu-Quoc) อันเป็นเกาะหนึ่งใกล้จังหวัดตราดซึ่งเคยเป็นของไทย แต่บัดนี้อยู่ ในความครอบครองของเวียดนาม และในปี พ.ศ. 2413 Cornelis Van Rooyen นักล่าสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่สมัยนั้น ได้นำเอาสุนัขไทยหลังอานมาผสม ข้ามพันธุ์กับสุนัขพันธุ์ mastiffs และสุนัขพันธุ์ Greyhounds ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนกลาย เป็นสุนัขพันธุ์ Rhodesian Ridgeback อันเป็นสุนัขล่าสัตว์ที่มีชื่อเสียงที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก เพราะสามารถใช้ ล่าสิงโตได้จนมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า LionDog

การวิวัฒนาการสายพันธุ์สุนัขไทยหลังอาน ไม่มีหลักฐานบันทึกที่แน่นอนว่าเริ่มต้นมาพัฒนาสานพันธุ์ตั้งแต่เมื่อใด แต่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าในปี พ.ศ.2470 หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ (ชาตะ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2441 มรณะ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2531) ท่านเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาสุนัขไทยหลังอาน จนได้สุนัขสีสวาทหลังอาน ที่มีสภาพสวยงาม คือขนสั้นและหางดาบ หลังจากนั้นได้นำไปผสมพันธุ์กับสุนัขไทยที่มีขนเกรียนในจังหวัดจันทบุรีและตราด ได้ลูกสุนัขหลังอานที่มีขนเกียนและกำมะหยี่ และมีผู้สนใจหลายท่านพัฒนา และจัดให้มีการจัดประกวดสุนัขไทยหลังอาน จนเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาจนปัจจุบัน

จังหวัดตราดถือว่าหมาไทยหลังอาน มีถิ่นที่อยู่ในแถบนี้มาแต่โบราณ และถือเป็นสัญญาลักษณ์ของดีเมืองตราด จนมีการแต่งกลอนกลอนสุนัขไทยหลังอานขึ้นดังนี้

ปากทู่ หูตั้ง หางโด่ง                        หัวโต อกกว้าง ร่างใหญ่
ฟ้นสวย เล็บงาม สีอำไพ                    กล้ามใหญ่ ไหล่ตรง ตารี
เส้นหลังตรง อานยาว อุ้งเท้าสิงห์           ก้าวเดินวิ่ง เป็นสง่า เพิ่มราศรี
ใจสู้ รู้ภาษา ร่าเริ่งดี                        หมาพันธุ์นี้ ของตราดแท้ แต่โบราณ

สมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข(แห่งประเทศไทย) ได้ยื่นขอจดขึ้นทะเบียนสุนัขไทยหลังอานกับFCI และFCI ได้ รับรองมาตรฐานพันธุ์สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน เป็นสุนัขพันธุ์แท้พันธุ์หนึ่งของโลก เมื่อวันที่ 28 ก.ค 2536 ตามมาตรฐาน FCI หมายเลข 338/JUL.28,1993/GB การจัดหมู่ของ FCI อยู่กลุ่ม 5 ประเภทสปิตซ์และพันธุ์ดั้งเดิม หมู่ 7 ประเภทดั้งเดิมสุนัขล่า สัตว์ไม่มีการทดสอบการทำงาน ปัจจุบัน Thai Kennel จัดให้อยู่ใน Hound Group สีที่รับรองมี 4 สี คือสีแดง สีดำ สีสวาด และสีกลีบบัว

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2536 นับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูง สำหรับวงการสุนัขไทยหลังอาน ในโอกาสที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้นำภาพวาดของสุนัขไทยหลังอานสี่ตัว พิมพ์บนแสตมป์สี่ดวง จำหน่ายเป็นวันแรก เพื่อเป็นที่ระลึกในงานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย ปีพุทธศักราช 2536 แสตมป์เหล่านี้จะเป็นสื่อเผยแพร่สุนัขไทยหลังอาน ให้ชาวไทยและนานาชาติได้รู้จักมากขึ้น

สุนัขไทยหลังอานที่การสื่อสารฯ ใช้เป็นแบบภาพเหมือน ได้แก่
1. สุนัขเพศเมียสีกลีบบัว ไม่ปรากฎชื่อ และเจ้าของ
2. สุนัขเพศผู้สีดำ ชื่อคุณห้า ผสมพันธุ์ และเจ้าของ พลตรีอำนาจ ชัยสมานนท์
3. สุนัขเพศผู้สีแดง ชื่อทองเค ไม่ปรากฎผู้ผสมพันธุ์ เจ้าของคอกบางจาก ภาพวาดโดยนายเจนวิทย์ ทองแก้ว
4. สุนัขเพศผู้สีวาด ชื่อบลู ผู้ผสมพันธุ์จ่าไพศาล เจ้าของในอดีต คุณนิติ แซ่โล้ว เจ้าของคนปัจจุบัน คุณสมสิทธิ์ ลีฬหะสุวรรณ ภาพวาดโดยนายเจนวิทย์ ทองแก้ว

ประวัติสุนัขพันธุ์บางแก้ว

 

สุนัขบางแก้วเป็นสุนัขสายพันธุ์ไทย ถือกำเนิด ณ วัดบางแก้ว บ้านบางแก้ว ตำบลท่านางงาม (เดิม "ตำบลบางแก้ว") อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อประมาณ 100 ปีล่วงมาแล้ว ขณะนั้นท่านหลวงปู่มาก เมธารี เป็นเจ้า อาวาสองค์ที่ 3 โดยมีตานิ่มซึ่งเป็นชาวบ้านบางแก้วได้นำสุนัขพันธุ์ไทย พื้นบ้านเพศเมียสีดำ ขนาดค่อนข้างใหญ่ถวายให้แก่ท่านหลวงปู่มากเลี้ยงอยู่ในวัด เมื่อสุนัขเติบโตขึ้นถึงวัยผสมพันธุ์ ได้ผสมพันธุ์กับสุนัขป่าซึ่งอาศัย อยู่ในป่าทึบบริเวณใกล้ๆกับวัดบางแก้ว อันเป็นจุดกำเนิด "สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว" คอกแรกของเมืองไทย และได้สืบทอดสายพันธุ์ มาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วถือได้ว่าเป็นสุนัขพื้นบ้านที่ นิยมเลี้ยงกันมากในจังหวัดพิษณุโลก และเป็นมรดกล้ำค่าของชาวพิษณุโลก ที่สร้างชื่อเสียง และรายได้ให้แก่จังหวัดพิษณุโลกมาโดยตลอด
            ปัจจุบันสุนัข พันธุ์ไทยบางแก้วเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายและนิยมเลี้ยงกันทั่ว ทุกภาคของประเทศไทยแล้ว สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของสุนัขบางแก้ว คือสวย ฉลาด ซื่อสัตย์ รักเจ้าของ เลี้ยงเป็นเพื่อน เฝ้าบ้าน หรือฝึกใช้งานอารักขาได้ การเลี้ยงดูง่าย มีความกล้าหาญ ค่อนข้างดุ เป็นนักสู้แม้ว่าสุนัขตัวอื่น จะมีขนาดใหญ่กว่าก็ตาม มีผู้เลี้ยงบางรายเล่าให้ฟังว่า เขารอดจากการ ประทุษร้ายจากคนร้ายได้เพราะสุนัขบางแก้วที่เขาเลี้ยงอยู่กระโดดเข้าช่วยไว้ ในปี 2536 "เจ้าเก่ง" สุนัขบางแก้วของคอกบ้านนิรมล จ.พิษณุโลก เป็นสุนัขไทยบางแก้วตัวแรกที่สามารถกระโดดร่มด้วยความสูง 12,500 ฟุต ที่กองบิน 46 จ.พิษณุโลก เราคนไทยมีของดีอยู่แล้ว มาช่วยกันดูแลอนุรักษ์ ส่งเสริมให้เป็นที่นิยมของ สากลโลก โดยหันมาเลี้ยงสุนัขไทยบางแก้วของเราเถอะ

คำสำคัญ (Tags): #สัตว์
หมายเลขบันทึก: 190836เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2008 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท