บันทึกสถานการณ์สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองของคนชายขอบ 1: "ห้าม" แรงงานต่างด้าว


หมายเหตุ: เน้นข้อความโดยผู้เขียน

กรณีที่ 1: ต้านห้ามแรงงานต่างด้าวใช้มือถือ-กักบริเวณ
โดย มติชน วัน จันทร์ ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2550 08:18 น. ชี้ขัดหลักสิทธิพื้นฐาน สิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย องค์กรของแรงงานข้ามชาติและองค์กรพัฒนาเอกชน นำโดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) น.ส.ปราณม สมวงศ์ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง แรงงานข้ามชาติ กรณีมีประกาศของจังหวัดระนอง ภูเก็ต กำหนด มาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวบางจำพวก เรื่องการจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว โดยห้ามแรงงานข้ามชาติใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติออกนอกที่พักอาศัยหลังเวลา 20.00 น. ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เป็นต้น

น.ส.สุภัทรากล่าวว่า ประกาศฉบับดังกล่าวขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและอนุสัญญาต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองและเป็นสมาชิก เป็นการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มแรงงานต่างชาติเพียงกลุ่มเดียว คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ไม่คำนึงถึงสิทธิของแรงงานโดยอ้างความมั่นคงทั้งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า แรงงานเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงจริง เป็นการกล่าวหาแบบลอยๆ นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน เพราะว่าไม่สามารถที่จะรวมตัวเรียกร้องอะไรได้เลยและยังส่งผลต่อการเข้าถึงการบริการสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค

น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า ขณะนี้มีการประกาศไปแล้ว 2 จังหวัด คือ จ.ภูเก็ต กับ ระนอง ที่บังคับใช้ไปแล้วแต่ยังไม่เห็นประกาศ มีระยองและสุราษฎร์ธานี และกำลังจะประกาศอีก 1 จังหวัดคือ จ.เชียงใหม่ มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน

เราห่วงว่าการออกประกาศจังหวัดดังที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะเป็นประชาธิปไตย และได้รับการยอมรับจากชุมชนระหว่างประเทศ และขอตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า ทำไมต้องห้ามเฉพาะแรงงานกลุ่มประเทศเหล่านี้ ต้องการอะไรหรือเปล่า ทำไมต้องเลือกปฏิบัติ และคุณจะมาอ้างว่าเพื่อความมั่นคงนั้นพิสูจน์ได้หรือยัง คสรท.เคยยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ไปให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลแล้ว แต่คืบหน้าในการแก้ไขแต่อย่างใด น.ส.วิไลวรรณกล่าว

(กรอบบ่าย)

หน้า 10

กรณีที่ 2: โฆษก มท.แจงห้ามแรงงานต่างด้าวใช้มือถือ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ จ.ภูเก็ต และระนอง ออกประกาศห้ามแรงงานต่างด้าวใช้โทรศัพท์มือถือ ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการออกของจังหวัด โดยใช้ชื่อประกาศว่า "การจัดระบบควบคุมแรงงานต่างด้าว" และประกาศดังกล่าวออกมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 ซึ่งได้ผ่านการหารือของผู้ว่าราชการจังหวัด กับอัยการจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ก่อนลงนามออกเป็นประกาศดังกล่าว และเหตุผลที่ออกประกาศนี้ เนื่องจากพิจารณาในเรื่องของความมั่นคงและเรื่องการดูแลความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาพบว่าแรงงานต่างด้าวมักสร้างปัญหาในเรื่องการประทุษร้าย หรือทำร้ายนายจ้าง ขโมยข้าวของ หรือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต

ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ไม่ได้ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ เพียงแต่ให้นายจ้างสรุปจำนวนแรงงานต่างด้าว และเบอร์โทรศัพท์มือถือที่แรงงานต่างด้าวใช้ว่า ใครเป็นเจ้าของเครื่อง เพื่อความสะดวกในการติดตามตัว หากมีเรื่องผิดปกติเกิดขึ้น นอกจากนี้ ในประกาศดังกล่าวยังห้ามแรงงานต่างด้าวชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ห้ามออกจากที่พักอาศัยหลังเวลา 20.00 น. หรือถ้าออกไปเที่ยวข้างนอก นายจ้างต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ เท่าที่ทราบ ประชาชนในพื้นที่พึงพอใจกับมาตรการดังกล่าว และในอนาคตอาจมีการขยายผลบังคับใช้ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย

(ที่มา: ข่าว ททบ. 5 http://www.tv5.co.th/news/show.php?id=21496 วันที่ 10 พฤษภาคม 2550)

กรณีที่ 3: ภูเก็ตออกมาตรการเข้มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กว่า 3 หมื่นคน

เมื่อ เวลา 15.00 น.วันที่ 25 ธันวาคม 2549 นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม การจัดระบบในการควบคุม แรงงานต่างด้าว ครั้งที่ 1/2549 โดยมีส่วนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับ การจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว ร่วมประชุม ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ จังหวัดภูเก็ต (POC) ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

นายวรพจน์ กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมฯ ว่า จังหวัดภูเก็ตมีแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนขอนุญาตทำงานกับนายจ้างในกิจกรรมต่างๆ ในปี 2549 - 2550 (มิ.ย.49-มิ.ย.50) จำนวน 32,070 คน ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชนรวมถึงความมั่นคงของสังคมด้วย

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องมาจากแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีระเบียบ และเป็นระบบจังหวัดภูเก็ตจึงได้ดำเนินมาตรการทางปกครองขึ้น เพื่อจัดระบบในการ ควบคุมแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณา จักรเป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตให้ทำงานในจังหวัดภูเก็ต

โดยการห้ามแรงงานต่างด้าวออกนอกสถานที่พักอาศัย และหากมีความจำเป็น ที่จะต้องออกนอกสถานที่พัก ก็ต้องอยู่ภายใต้ การควบคุมของนายจ้าง ทั้งนี้ห้ามแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับนายจ้าง และห้ามนายจ้างๆ แรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานไว้ทำงาน ห้ามแรงงานต่างด้าวทำงานอื่น นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต ในขณะทำงานแรงงานต่างด้าว จะต้องมีใบอนุญาตทำงานหรือใบแทนอนุญาตทำงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ต่างด้าวภายในเขตจังหวัดให้แจ้ง และขออนุญาตเพิ่มสถานทำงาน กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต เมื่อได้รับอนุญาต แล้วจึงจะสามารถ เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ห้ามแรงงานต่างด้าวขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์

ส่วนในเรื่องของการใช้โทรศัพท์มือถือของแรงงานต่างด้าวให้ถือปฏิบัติตาม นโยบายด้านความมั่นคงของจังหวัด คือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อ แรงงานต่างด้าวผู้ใช้โทรศัพท์พร้อมหมาย เลขทะเลียน และชื่อนามสกุลเจ้าของเครื่อง และซิมการ์ด ส่งให้จังหวัดทุกคน ให้นายจ้างจัดที่พักอาศัย ให้กับแรงงานต่างด้าว โดยคำนึงถึงความสะอาด และความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ มีห้องน้ำ ห้องส้วม เพียงพอกับจำนวนคน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทั้งนี้เพื่อถือปฏิบัติตามนโยบายความมั่นคงของจังหวัดห้ามแรงงานต่างด้าว เข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันอาจก่อให้เกิดเหตุภยันตราย แก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น และให้นายจ้างควบคุม กำกับดูแล แรงงานต่างด้าว ตลอดระยะเวลาการจ้าง หากปล่อยปละละเลย ให้เกิดความเดือดร้อนต่อบุคคล ชุมชน สังคม ความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งความมั่นคง ของสังคม จังหวัดอาจพิจารณา ยกเลิกสิทธิการจ้างของนายจ้าง และพิจารณายกเลิก ใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวต่อไป

ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์ (ที่มา: เว็บไซต์ภูเก็ตอินเด็กซ์ http://phuketindex.com/phuket-local-news/2006-12/phuket-thai-news-25-03.htm)

กรณีที่ 4: ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีกำหนดมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชนและป้องกันการ ก่อเหตุร้าย

นายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเปิดเผยว่า ได้ออกประกาศจังหวัด สุราษฎร์ธานี เรื่อง การกำหนดมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้ายที่จะเป็นอันตรายต่อความสงบสุข ความสงบเรียนร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงความมั่นคงแห่งราชอาณา จักรด้วย

โดยประกาศกำหนดเงื่อนไขให้แรงงานต่างด้าว ทุกคนต้องมีใบอนุญาตทำงาน อยู่กับตัวหรืออยู่ ณ ที่ทำงานในระหว่างทำงานเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้เสมอ ตั้งแต่ เวลา 21.00 น.ห้ามแรงงานต่างด้าวออกนอกสถานที่ทำงานหรือสถานที่พัก ยกเว้น งานที่ต้องทำตอนกลางคืนและต้องอยู่ในการดูแลของนายจ้าง ห้ามแรงงานต่างด้าว ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ รวมทั้งการมีไว้ในครอบครอง ห้ามแรงงานต่างด้าว มีโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือไว้ในครอบครอง เนื่องจากไม่ใช่อุปกรณ์ใน การทำงาน

ห้ามแรงงานต่างด้าวชุมนุมหรือรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมประเพณีทางศาสนา ห้ามนายจ้างรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือมีใบอนุญาตแต่มิใช้ลูกจ้างของตนให้นายจ้างควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวอย่าง ใกล้ชิด หากปล่อยปละละเลย หรือก่อให้เกิดปัญหาในทางปกครอง นายทะเบียน พิจารณายกเลิกใบอนุญาตทำงานได้ทันที และได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่ม ท้องที่การทำงานจากจัดหางานจังหวัดแล้ว แรงงานต่างด้าวจะถูกยกเลิกการผ่อนผันและส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรทันที เมื่อเป็นโรคต้องห้ามตามที่สาธารณสุขกำหนด ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษา ถึงที่สุดของศาล ออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มารายงานตัวตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตทำงาน (ที่มา: โฟกัสปักษ์ใต้ http://www.focuspaktai.com/index.php?file=news&obj=news.view(id=9021)&PHPSESSID=57f0a772e5045ba174b6202444982047 เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2550 02:44:21 น. )

[อ่านประกาศของจังหวัดได้ ที่นี่ (www.seso.go.th/download/seso_go_th/adver.doc) ]

กรณีที่ 5: การจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง [ประกาศโดยสถานีตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร เก็บมาจาก Google Cache]
จันทร์, 26 มีนาคม 2007 แรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่หน่วยงานรัฐได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา ของจังหวัดชุมพรมีคณะทำงานระดับจังหวัดชุดหนึ่ง เรียกว่าคณะทำงานบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ได้มีการประชุมและออกมาตรการเพื่อควบคุมแรงงานต่างด้าวที่หลบหหนีเข้าเมือง สรุปมาตรการได้ดังนี้

ห้ามแรงงานต่างด้าวออกนอกที่พัก หลังเวลา 20.00 น. ยกเว้นการทำงานเร่งด่วนที่มีนายจ้างควบคุม
ในขณะที่ทำงาน แรงงานต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตทำงานติดตัว หรือมีไว้ที่สถานที่ทำงาน เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานเมื่อมีการตรวจสอบ
การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวภายในเขตจังหวัด เพื่อทำงานในกิจการของนายจ้าง ให้แจ้งและขออนุญาตเพิ่มสถานที่ทำงานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดชุมพร
ห้ามแรงงานต่างด้าวขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ และห้ามเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของตนเอง(ยกเว้นที่มีใบอนุญาตขับขี่สากล)
การใช้โทรศัพท์มือถือของแรงงานต่างด้าว ให้ถือปฏิบัติตามนโยบายด้านความมั่นคงของจังหวัด หากแรงงานต่างด้าวมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ให้นายจ้างทำบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวผู้ใช้โทรศัพท์ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ นามสกุลเจ้าของเครื่องและซิมการ์ด ส่งให้จังหวัดทุกคน
ให้นายตจ้างจัดที่พักอาศัยให้กับแรงงานต่างด้าว โดยคำนึงถึงความสะอาด และความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ มีห้องน้ำ ห้องส้วมเพียงพอกับจำนวนคน ตามที่สาธารณสุขกำหนด
ห้ามเจ้าของบ้านเช่า ให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน เช่าบ้าน
เพื่อถือปฏิบัติตามนโยบายด้านคความมั่นคงของจังหวัด ห้ามแรงงานต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัย ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันอาจก่อให้เกิดเหตุภัยอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรม นายจ้างจะต้องรับรู้ โดยต้องทำบัญชีรายชื่อ เลขประจำตัวแรงงานต่างด้าวให้ชัดเจน ส่งให้จังหวัดทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญจากการที่ร่วมชุมนุมนั้น ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของนายจ้างที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย โดยถือว่าอยู่ในทางการที่จ้าง
ให้นายจ้างควบคุม กำกับดูแล แรงงานต่างด้าวตลอดระยะเวลาการจ้าง หากปล่อยปละละเลยให้เกิดความเดือดร้อนต่อบุคคล ชุมชน สังคม ความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง จังหวัดอาจพิจารณายกเลิกเพิกถอนสิทธิการจ้างของนายจ้าง และพิจารณายกเลิกใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวได้
การฝ่าฝืนประกาศของจังหวัด ถือว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
จึงได้นำมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 26 มีนาคม 2007 )
(ที่มา: http://209.85.175.104/search?q=cache:CbI5-PMTlwsJ:www.chumporn.police.go.th/index.php%3Foption%3Dcom_content%26task%3Dview%26id%3D49%26Itemid%3D55+ห้ามแรงงานต่างด้าว&hl=en&ct=clnk&cd=17&client=safari)

กรณีที่6: การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ในจังหวัดกระบี่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดจากแรงงานต่างด้าวฯ รวมทั้งเพื่อความมั่นคงของประเทศ

สำนักงานจัดหางานจังหวัดกระบี่ ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน โดยมีปลัดจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน เมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2550 ข้อสรุปจากการประชุมดังกล่าว จังหวัดกระบี่จึงได้ออกประกาศจังหวัด เรื่อง กำหนดมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 เพื่อให้นายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้


1. ให้นายจ้างควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าว มิให้ออกจากสถานที่ ทำงานหรือที่พักอาศัย ตั้งแต่เวลา 20.00 น. – 06.00 น.
2. ให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการ ทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามนายจ้าง จ้างแรงงาน ต่างด้าวทำงาน หรือเคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลงการทำงาน, สถานที่ทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาต
3. ให้นายจ้างควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าว มิให้สร้างความเดือดร้อนต่อบุคคล ชุมชน สังคม
4. ห้ามแรงงานต่างด้าวมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ ไว้ในครอบครอง

ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และข้อกฎหมายของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตาม ประกาศจังหวัดดังกล่าว
(ที่มา:สำนักงานจัดหางานจังหวัดกระบี่ 28 ก.ค. 50 11:40:14 http://203.151.46.10/anda/krabi/rela/Question.ASP?ID=3296&CAT=met )
กรณีที่ 7: ผู้ว่าฯระนองโต้ห้ามพม่าใช้โทร.มือถือไม่ได้ลิดรอนสิทธิแรงงานต่างด้าว ( ข่าวระนอง )

ผู้ว่าฯระนอง ชี้แจงกรณีการห้ามแรงงานต่างด้าวใช้โทรศัพท์มือถือ และออกนอกที่พัก หลัง 22.00 น.ไม่ได้ลิดรอนสิทธิแรงงานต่างด้าว แต่คำนึงถึงความมั่นคงและความปลอดภัยเป็นหลัก และไม่ได้ห้ามทั้งหมด เพียงแต่ต้องการควบคุมให้สามารถตรวจสอบได้

นางกาญจนาภา กี่หมัน ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวถึงจากกรณีที่องค์กรของแรงงานข้ามชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงาน ออกมาคัดค้านจากการที่จังหวัดระนอง ได้ออกประกาศจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ในเรื่องของการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ และการออกนอกสถานที่พักอาศัยหลัง 22.00 น.ว่า ผู้ที่ออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าวจับมาพูดเพียงสองประเด็นเท่านั้น คือ ในเรื่องของการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ และการห้ามออกจากที่พักอาศัยหลังเวลา 22.00 น.

ส่วนในประเด็นอื่นๆ ไม่ออกมาพูดถึง เช่น ให้นายจ้างเคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว และให้นายจ้างดูแลในเรื่องของสุขอนามัย ความสะอาดในที่พักอาศัย

ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า การที่จังหวัดออกประกาศฉบับดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ว่าจะห้ามแรงงานต่างด้าวใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด แต่จะห้ามในบางกรณีเท่านั้น ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาถูกต้อง และมีใบอนุญาตทำงาน สามารถมีและใช้โทรศัพท์มือถือได้ทุกเวลา ไม่มีใครว่าอะไร แต่จะห้ามเฉพาะแรงงานที่เข้ามาไม่ถูกต้องและรอการส่งตัวกลับเท่านั้น

แต่หากจำเป็นต้องใช้ก็ให้นายจ้างแจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือให้จังหวัดทราบ เพื่อจะได้ควบคุมได้ และแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ยังสามารถใช้โทรศัพท์สาธารณะได้ ตามปกติ ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดระนองมีปัญหาเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ หรือชนกลุ่มน้อยอาระกัน หรือโรฮิงญา เมื่อมีการจับกุมและตรวจสอบลงไป พบว่า มีการใช้โทรศัพท์มือโทรติดต่อกันไปหาผู้กระทำความผิด

ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวด้วยว่า ก่อนที่จังหวัดระนอง จะออกประกาศดังกล่าว ได้มีผู้ประกอบการ หรือนายจ้าง มาบ่นให้ฟังว่า ลูกจ้างต่างด้าวมีการใช้โทรศัพท์มือถือคุยกัน เป็นภาษาพม่า ซึ่งนายจ้างไม่มีสิทธิรู้เลยว่าคุยกันเรื่องอะไร และหลังจากที่ได้ออกประกาศดังกล่าวไปแล้ว ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็พอใจในมาตรการดังกล่าว การควบคุมเป็นการให้ใช้โทรศัพท์มือถือในข้อจำกัด ไม่ได้ควบคุมเสียทีเดียว และไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย แต่จะคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ

ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวอีกว่า ในส่วนของการห้ามออกนอกสถานที่พักหลัง 22.00 น. นั้น ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่มีความจำเป็นต้องออกไปทำงานในโรงงาน หรือสถานประกอบการต่างๆ ก็สามารถเดินทางได้ตามปกติเช่นกัน หรือกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ เช่น เจ็บไข้ ก็ออกไปหาหมอได้หากองค์กร หรือหน่วยงานใดยังไม่เข้าใจ ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พร้อมที่จะชี้แจง เพื่อให้เกิดความกระจ่างในกรณีดังกล่าว

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

(ที่มา: อันดามันไกด์ http://www.andamanguide.com/andaman_news/andaman_news_2_407.html)
กรณีที่ 8:การกำหนดมาตรการเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง จังหวัดพังงา [Google Cache] จังหวัดพังงา มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนราษฏรบุคคลไม่ใช่สัญชาติไทย และขออนุญาตทำงานกับนายจ้าง / สถานประกอบการในกิจการต่างๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวนมาก เป็นเหตุให้มีการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฏหมายขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน สังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงความมั่นคงของประเทศโดยรวม นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นดังกล่าว จังหวัดพังงา จึงกำหนดมาตรการทางการปกครองขึ้น โดยกำหนดให้นายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้เกี่ยวข้อง ถือปฏิบัติดังนี้ ให้นายจ้างควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นลูกจ้างและผู้ติดตาม ไม่ให้ออกนอกสถานที่พักอาศัย ตั้งแต่เวลา 20.00-06.00 น. ยกเว้นต้องทำงานตามสภาพการจ้าง หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้างโดยใกล้ชิด ให้นายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานและ/หรือ ให้ที่พักอาศัยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ที่ได้จดทะเบียนหรือมีใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี และให้แรงงานต่างด้าวทำงาน ตรงตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน ให้นายจ้างกำชับให้แรงงานต่างด้าวที่เป็นลูกจ้างของตน ต้องมีใบอนุญาตทำงานหรือบัตรประจำตัวที่เจ้าพนักงานตามกฏหมายออกให้ หรือใบเสร็จรับเงินคู่กับใบ ทร.38/1 ติดตัว เพื่อแสดงกับพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อมีการตรวจสอบ การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวภายในเขตจังหวัดหรือ ไปจังหวัดอื่นเพื่อทำงาน ให้แจ้งและขออนุญาต เคลื่อนย้ายกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดพังงา และ/หรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายแล้วแต่กรณี ห้ามแรงงานต่างด้าว ใช้โทรศัพท์มือถือ หากมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่ใช้โทรศัพท์มือถือ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ส่งให้ทางราชการทราบ โดยยื่นต่อนายอำเภอหรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายในเขตพื้นที่ที่พักอาศัย ห้ามแรงงานต่างด้าว ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ และห้ามเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของตนเอง ให้เจ้าของบ้านเช่าที่แรงงานต่างด้าวเข้าพักอาศัย แจ้งชื่อ ที่อยู่ผู้เป็นเจ้าของบ้านเช่า พร้อมจัดทำบัญชีรายชื่อและหมายเลขประจำตัวแรงงานต่างด้าวที่พักอาศัย ยื่นต่อนายอำเภอหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ที่มีบ้านเช่าทราบ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวด้วยว่า การชุมนุมของแรงงานต่างด้าวนอกที่พักอาศัย ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เป็นกรณีพิเศษเพื่อทำกิจกรรมตามประเพณี หรือกิจกรรมอื่นใด ให้นายจ้างหรือผู้เกี่ยวข้องออกหนังสือรับรองและแจ้งบัญชีรายชื่อ เลขประจำตัวแรงงานต่างด้าว ที่จะเข้าร่วมกิจกรรม รายละเอียดกิจกรรม วัน เวลา และสถานที่ชุมนุมให้ทางราชการพิจารณา โดยยื่นเป็นหนังสือต่อนายอำเภอหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเขตพื้นที่ที่จะทำกิจกรรมนั้นล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน รวมทั้งให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ ควบคุม กำกับดูแลแรงงานต่างด้าวตลอดเวลา หากปล่อยปละละเลย ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการนี้ ตลอดจนสร้างความเดือดร้อน รำคาญ ก่อให้เกิดความเสียแก่ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่น นายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการ จะต้องชดเชยค่าเสียหาย รวมทั้งอาจจะถูกพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของแรงงานต่างด้าว และยกเลิกใบอนุญาตทำงาน ************ วันที่ส่ง : 15/6/2550 13:49:39 ข่าว : สวท.พังงา ผู้สื่อข่าว : ไอศยา สินบุษกร (ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์เขต 5 http://209.85.175.104/search?q=cache:2BCL_4A45SwJ:region5.prd.go.th/details_news.asp%3Finc%3Dreadnews%26ID%3D3885+ห้ามแรงงานต่างด้าว&hl=en&ct=clnk&cd=23&client=safari )

หมายเลขบันทึก: 190526เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2008 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท