สรุปสาระวิชากฎหมายนิติกรรมและสัญญาครั้งที่ 4(ตอนที่ 1)


วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑

                สวัสดีครับ เพื่อน ๆ ชาวนิติศาสตร์ภาคบัณฑิตรุ่น ๕๑  และผู้สนใจทุกท่าน

                อาจจะเงียบหายกันไปหลายวันน่ะครับ  สำหรับการสรุปสาระการเรียนในแต่ละวันที่ตั้งใจจะทำให้ได้ทุกวัน (เพื่อทบทวนความรู้ และเผื่อแผ่ความรู้แก่เพื่อน ๆ ที่อาจจะบันทึกไม่ทันหรือไม่ได้เข้าเรียน)  โดยเฉพาะวิชานี้     คงไม่ต้องแก้ตัวหรอกน่ะครับว่า  งานมันเยอะ  เวลามันไม่มี  หน้าที่มันรัดตัว....  แต่เอาเป็นว่าอยากจะทำ  แต่ไม่ได้ทำก็แล้วกัน 

                อย่างไรก็ตาม  วันนี้  ความอยากที่มีก็ถึงทีได้ทำแล้วครับ  .... จึงขอเสนอบันทึกสาระการเรียนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา  ของอาจารย์ ดร.จุณวิทย์  ชลิดาพงศ์  ซึ่งได้บันทึกไว้เมื่อวาน(๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑) เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้ทบทวนกันน่ะครับ  โดยผมขอแบ่งประเด็นที่สรุปมาเป็นลำดับดังนี้

                ๑. การทำนิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ        

                ก่อนเข้าเนื้อหา  เริ่มต้นอาจารย์ได้ทบทวนเนื้อหาของสัปดาห์ที่แล้ว  พอสมควร  จากนั้นจึงกล่าวถึงเรื่องการทำนิติกรรมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ซึ่งท่านยกกรณีตัวอย่างให้ฟังว่า.... 

                กรณีถ้ายืมเงินห้าพันบาท พูดกันด้วยวาจาเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ฝ่ายผู้ให้ยืมจะฟ้องบังคับให้เขาคืนเงินไม่ได้  เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือ (ม.๖๓๕) แต่ถ้าตัวผู้ยืมนั้นคืนเงินไปแล้ว  ต่อมาจะเรียกขอคืน  เนื่องจากว่าเพิ่งมาเข้าใจกฎหมายว่า ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  การทำเช่นนั้นไม่สามารถกระทำได้    เพราะถือว่า  การคืนเงินนั้นถือเป็นการยอมรับสภาพความเป็นลูกหนี้และเป็นการชำระหนี้ที่ถูกต้องไปแล้ว... 

          ท่านอาจารย์ได้ย้ำอีกว่า   นิติกรรมที่ต้องทำเป็นหนังสือ (เพื่อให้สามารถฟ้องร้องบังคับได้)ได้แก่

                                -การกู้ยืมเงินเกินสองพันบาท

                                -สัญญาค้ำประกัน

                                -สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์

            จำไว้ให้ดีน่ะครับ  เมื่อทำสิ่งเหล่านี้  อย่าลืมมีหลักฐานเป็นหนังสือไว้ด้วยน่ะครับ!!!!!

          ๒.สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์         

            ตาม  ปพพ. มาตรา ๕๓๘           

            เช่า อสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้า มิได้มีหลักฐาน เป็นหนังสือ อย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิด เป็นสำคัญ ท่านว่า จะฟ้องร้อง ให้บังคับคดี หาได้ไม่   ถ้า เช่ามีกำหนด กว่าสามปี ขึ้นไป หรือ กำหนดตลอดอายุ ของผู้เช่า หรือ ผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ ทำเป็นหนังสือ และ จดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่า การเช่านั้น จะฟ้องร้อง ให้บังคับคดี ได้แต่เพียง สามปี

                ประเด็นนี้อาจารย์ได้อธิบายว่า    การกู้ยืม   ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องรับผิด  ส่วนการค้ำประกัน  ผู้ค้ำประกันที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับผิด  แต่เรื่องของสัญญาเช่าเป็นไปได้ที่แต่ละฝ่ายอาจจะถูกฟ้องให้บังคับไปตามสัญญาเช่า  เช่น  ผู้เช่าอาจจะถูกฟ้องเพราะไม่ชำระค่าเช่า   หรือผู้ให้เช่าอาจจะถูกฟ้องเพราะไม่ส่งมอบทรัพย์หรือทรัพย์ใช้งานไม่ได้  ทั้งสองฝ่ายจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในสัญญา    เมื่อมีการทำสัญญาเช่ากัน  อย่างแรก  คือ  ถ้าทำสัญญาเช่ากันด้วยวาจา   เช่น  นาย ก. บอก นาย ข.ว่าจะเช่าบ้าน ๑ ปี  โดยมีหนี้ค่าเช่า  ๔,๐๐๐  บาท  นาย ข.ตกลง    สัญญาเช่าย่อมเกิดขึ้น   การพูดด้วยวาจาเช่นนี้    ทำให้สัญญาเช่าระหว่างทั้งสองสมบูรณ์  (เรื่องความสมบูรณ์ในการทำนิติกรรมนั้น คือ เรื่องโมฆะและโมฆียะ   ซึ่งแล้วแต่เหตุ   เช่น  เหตุในเรื่องของวัตถุประสงค์ต้องห้าม  นิติกรรมย่อมเป็นโมฆะ  หรือเหตุในเรื่องความสามารถ  เช่น ทำนิติกรรมกับผู้เยาว์โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  นิติกรรมเป็นโมฆียะ)    แต่กรณีนี้นิติกรรมหรือสัญญาเช่าย่อมสมบูรณ์ 

                อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะฟ้องร้องไม้ได้เพราะไม่มีการเขียนเป็นหนังสือ

                ประการที่สอง   ถ้าเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่  ก.ลงชื่อฝ่ายเดียว  เมื่อถึงเวลา ก. ไม่ชำระค่าเช่า  ข.สามารถฟ้องบังคับได้  เพราะ ก.ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานไว้สามารถอ้างได้    แต่ถ้าปรากฎว่าตัว ข.ทำผิด  เช่น เกิดบ้านหลังคารั่ว  เสียหาย  ข.ในฐานะผู้ให้เช่าต้องซ่อมแซม  กรณีนี้ผู้เช่า คือ ก.จะฟ้องบังคับได้ไม่ ?  ตอบว่า  ไม่ได้  เพราะไม่มีลายมือชื่อของฝ่ายที่จะต้องรับผิด

                ประการที่สาม      กรณีตั้งแต่คำในตัวบทว่า  ถ้าเช่ามีกำหนดตั้งแต่สามปีขึ้นไป..........  มีตัวอย่างว่า    สมมติว่า ก.กับ ข. ตกลงเช่ากันสี่ปี  สัญญาเช่ามีหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่    ถ้าอยู่ครบสามปีแล้ว  เกิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามหน้าที่ขึ้นมา  สามารถฟ้องบังคับได้ไม่?    ตอบว่า  ได้  เพราะตามกฎหมายบอกว่าต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่   

                แต่ถ้าไม่มีหนังสือและไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่  สัญญาเช่นนี้มีอายุสี่ปี   ถ้า ก.อยู่มาได้ภายใน ๓  ปี   ข.สามารถฟ้องร้องบังคับได้   แต่หากเกินกว่าสามปีไปแล้ว  ไม่สามารถกระทำได้   (ประการที่สามนี้  ผมเองยังงง ๆ ในเนื้อหาที่บันมาน่ะครับ  ผู้รู้ท่านใดเข้าใจแจ่มแจ้งอาจช่วยยกตัวอย่างและอธิบายประกอบเพิ่มเติมด้วยน่ะครับ...ส่วนผมสัปดาห์หน้าจะถามอาจารย์อีกทีในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ) 

                ในกรณีข้างต้นนี้  ท่านอาจารย์ย้ำว่า   คำว่า หนังสือและจดทะเบียน  นั้น  ไม่ใช่เรื่องของแบบน่ะ...แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ทำไว้   ถ้าไม่ทำผลจะมีต่อการฟ้องร้องบังคับคดีว่าจะทำได้หรือไม่   ซึ่งถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือผลก็คือจะฟ้องร้องไม่ได้

                ถ้าสัญญานั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย  แต่ปรากฎว่าไม่ได้จดทะเบียนลักษณะนี้สามารถฟ้องร้องได้ทั้งสองฝ่าย  แต่ภายในสามปีเท่านั้น

                ตัวอย่างเพิ่มเติม

                ถ้า ก.อยู่ในบ้าน  ข.   โดยการตกลงสัญญากันด้วยวาจา   ต่อมา ข.ฟ้องให้ ก.ชำระค่าเช่า  กรณีนี้ตามกฎหมายไม่สามารถทำได้     เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือไว้     แต่กรณีเช่นเดียวกันนี้  หาก ข.จะฟ้องร้องขับไล่ ก.ล่ะ  จะได้หรือไม่ ?    ตอบว่า   สามารถจะฟ้องร้องได้  เพราะ ก. อยู่ในฐานะเจ้าของ(กรรมสิทธิ์)   การที่เขาฟ้องขับไล่ได้นั้นเพราะ    ข. มีสิทธิในบ้านและ ก.ไม่มีสิทธิอะไร   ซึ่งการที่  ก.ไม่มีสิทธิอะไรนั้นก็เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้ให้เช่านั่นเอง    แต่ถ้าตรงข้ามกัน  ถ้า ก.มีหลักฐานเป็นหนังสือ (อยู่ในกำหนดเวลาเช่า)  ก็สามารถยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าผู้ให้เช่าได้ลงลายมือชื่อให้อยู่แล้ว  จะมาขับไล่ไม่ได้

                ควรจำ ! หนังสือและหลักฐานเป็นหนังสือ  คือ สิ่งที่ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร  แต่หนังสือต้องมีลายมือชื่อของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ส่วนหลักฐานเป็นหนังสือต้องมีลายมือชื่อของผู้ที่ต้องรับผิด

                ๓.ผลของการไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ

                ผล  คือ ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้   และจะฟ้องร้องบังคับให้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไม่ได้

                แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่านิติกรรมนั้นไม่เกิดหรือไม่สมบูรณ์(ดังนั้น ถ้าชำระหนี้ไปแล้ว ก็เรียกคืนไม่ได้...คือเรียกคืนโดยอ้างว่าคุณไม่มีหลักฐาน  เป็นต้น  ไม่ได้)

                สัญญากู้ยืมเงินก็เช่นกัน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ    ถ้าได้ทำกันถูกต้องก็ไม่เป็นโมฆะ  แต่หากเกิดความเสียหายขึ้นจะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

                ข้อสังเกต

                มีสัญญาที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  แต่ก็กำหนดเรื่องอื่นไว้ด้วยอยู่ในมาตรา ๔๕๖  ว่า

            (วรรค ๒)  สัญญาจะขาย หรือ จะซื้อ หรือ คำมั่น ในการซื้อขาย ทรัพย์สิน ตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง(ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์  เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  แพและสัตว์พาหนะ) ถ้า มิได้มีหลักฐาน เป็นหนังสือ อย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อ ฝ่ายผู้ต้องรับผิด เป็นสำคัญ หรือ ได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้อง ให้บังคับคดี หาได้ไม่

            (วรรค ๓)บทบัญญัติ ที่กล่าวมา ในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึง สัญญาซื้อขาย สังหาริมทรัพย์ ซึ่ง ตกลงกัน เป็นราคา สองหมื่นบาท หรือ กว่านั้นขึ้นไปด้วย 

                ตรงนี้   ท่านอาจารย์อธิบายว่า   สิ่งที่สามารถอ้างฟ้องร้องได้มี    อย่าง  คือ (อย่างใดอย่างหนึ่ง)

                ๑.หลักฐานเป็นหนังสือที่ลงลายมือชื่อของผู้รับผิดเป็นสำคัญ

                ๒.การวางมัดจำ

                ๓.การได้ชำระหนี้บางส่วน

                ตัวอย่างเช่น  ซื้อขายสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่สองหมื่นบาทขึ้นไป  แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  แต่กฎหมายให้ฟ้องร้องได้โดยอาศัยการวางมัดจำหรือการชำระหนี้บางส่วน

                ข้อสังเกตเพิ่มเติม กรณีใช้หลักฐานเป็นหนังสือในการฟ้องร้องนั้น จะฟ้องได้เพียงผู้ที่ลงลายมือชื่อเท่านั้น  แต่กรณีมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วน  ต่างฝ่ายต่างอ้างเพื่อฟ้องร้องกันได้ 

                ๔.ความแตกต่างกันระหว่างแบบ  ม.๑๕๒ กับหลักฐานเป็นหนังสือ

๑.  เรื่องเวลา                         แบบ  ต้องมีทำในขณะทำนิติกรรม

                                                หลักฐานเป็นหนังสือ   จะมีในขณะทำนิติกรรมหรือภายหลังก็ได้

๒. เรื่องรูปแบบ                    แบบ   ต้องเป็นตามกฎหมายกำหนดในแต่ละกรณี

                                                หลักฐานเป็นหนังสือ  อาจอยู่ในรูปแบบจดหมาย บันทึกหรืออะไรก็ได้ที่เป็น

                                                ลายลักษณ์อักษรเป็นใช้ได้

๓.สาระสำคัญ                      แบบ  ต้องมีสาระสำคัญของนิติกรรมประเภทนั้นครบถ้วน

                                                หลักฐานเป็นหนังสือ มีข้อความที่พอฟังก็เพียงพอแล้ว  (เช่น  จดหมายที่เล่า

                                                เรื่องราวมากมายไม่เกี่ยวกับกรณีเลย  แต่ตอนท้ายพอฟังได้บ้าง)

๔.การลงลายมือชื่อ             แบบ  ต้องมีลายมือชื่อของทุกฝ่าย

                                                หลักฐานเป็นหนังสือ มีเฉพาะลายมือชื่อของผู้ที่จะต้องรับผิดก็พอ

๖.ผล                                       แบบ   ถ้าไม่ทำตามแบบนิติกรรมเป็นโมฆะ

                                                หลักฐานเป็นหนังสือ  ถ้าไม่ทำ นิติกรรมยังคงสมบูรณ์  เพียงแต่ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับได้

                    &nbsp

หมายเลขบันทึก: 190451เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2008 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท