บทความ:ความจำเป็นน่าขบคิดแนวคิดความน่าจะเป็น


ความจำเป็นน่าขบคิดแนวคิดความน่าจะเป็น

ความจำเป็นน่าขบคิดแนวคิดความน่าจะเป็น

                                                                                                                                                                                              สุรชัย ไวยวรรณจิตร[1]

การบริโภคหรือเสพวรรณกรรมสักเรื่องหนึ่งให้ได้อรรถรสนั้น อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการประกอบกันจึงจะเข้าถึงแก่นแท้ของคำว่าวรรณกรรม หากทว่าการเข้าถึงแก่นแท้ของเรื่องราว ที่รังสรรค์ผ่านงานวรรณกรรมนั้นสัมผัสได้ด้วยขนบทำเนียมประการหนึ่งที่ผู้อ่านจะสามารถเข้าถึงความเป็นแก่นแท้ของวรรณกรรมนั้นได้ สิ่งหนึ่งบนพื้นฐานของความจริงแท้ คือความปรวนแปรของ กลวิธีในการนำเสนอเรื่องราวของผู้เขียนที่จะกระฉุดหรือกระชากความกระจ่างแจ้งในวิธีคิดอย่างที่ไม่น่าจะเป็นให้แลเห็นถึงความจำเป็นในสังคมที่มีคำว่า Postmodernเข้ามาอย่างไม่น่าจะหลีกเลี่ยงถึงการทำความเข้าใจความหมายในบริบทสังคมที่เป็นอยู่

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา Postmodernได้กลายเป็นคำยอดฮิตในเมืองไทย เริ่มจากตึกแบบ postmodern ซึ่งก็มีมาสิบกว่าปีแล้ว มีบทกวี postmodern งานศิลปะแบบ postmodern หรือแม้กระทั่งใช้ชีวิตแบบ postmodern

Postmodern คืออะไร[2]

โดยรวมแล้ว คำว่า Postmodern เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่าหลังสมัยใหม่
แต่ที่มันยุ่งยากซับซ้อน ก็เพราะว่าในโลกตะวันตก คำคำนี้ใช้พูดถึงเรื่องสามเรื่องที่แตกต่างกัน

ความหมายแรก ใช้พูดถึงสภาพสังคม หมายความว่า สังคมร่วมสมัยทุกวันนี้มีส่วนหนึ่งตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า สภาวะหลังสมัยใหม่ (Postmodern condition หรือ Post modernity) ซึ่งเกิดจากความแปรปรวนขึ้นในระบบคุณค่า เกิดความพร่าเลือนขึ้นในพรมแดนทีใช้แยกแยะสิ่งต่าง ๆ ความแปรปรวนนี้แสดงออกให้เห็นในหลาย ๆ เรื่อง ที่เด่นเป็นพิเศษคือ ในวัฒนธรรมบริโภคนิยมร่วมสมัยที่ผูกมากับระบบทุนนิยมขั้นล่าสุด คือ late capitalism

ความหมายที่สอง  หมายถึง แนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะวรรณกรรมแนวหนึ่ง ซึ่งลุกขึ้นมาท้าทายคติและรสนิยมทางสุนทรียะของสังคมสมัยใหม่ หรือ Modern เช่น ในเรื่องการแบ่งชั้นศิลปะเป็นสูงกับต่ำ เป็นต้น

ความหมายสุดท้าย “Postmodern” หรือหลังสมัยใหม่เป็นคำที่ใช้อย่างลำลองเพื่อเรียกชื่อแนวคิดทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์แนวหนึ่ง ซึ่งถ้าจะเรียกอย่างเคร่งครัดแล้วก็คือ “poststruralism” หรือแนวหลังโครงสร้างนิยมแนวคิดทางวิชาการที่ว่านี้มีลักษณะเฉพาะตัวตรงที่มักจะเสนอมุมมองใหม่ ๆ ที่เกิดจากการตั้งคำถามต่อพวกทฤษฏีและองค์ความรู้ทั้งหลาย ที่เชื่อถือกันมานานตั้งแต่ยุคแห่งความรู้แจ้ง (enlighten) และยังคงมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น Postmodern จึงมีหลายความหมาย เพราะใช้สามสิ่งสามเรื่องที่ไม่เหมือนกันเลย คือ สภาพสังคม สกุลทางศิลปะ และแนวคิดทางวิชาการ จะเข้าใจ Postmodern ได้อย่างถ่องแท้ต้องเข้าใจ Modern ก่อนเพราะ Postmodern นั้นเกิดจากความอิ่มตัวของ Modern ในท่ามกลางความเป็น Modern นั่นเอง คำว่า “Post” หรือหลังที่อยู่ในPostมักจะชวนให้คิดไปว่า กระแส Postmodern เกิดขึ้นหลังจากที่ Modern จบสิ้นไปแล้ว แต่ที่จริงนั้น มันเป็นการกลายพันธุ์ของ Modern เองส่วนหนึ่ง เช่น กรณีของสภาวะสังคม หรือไม่ก็เป็นการจงใจวิพากษ์ Modern เช่น แนวศิลปะ และวิชาการ โดยที่ Modern ก็ยังเป็นกระแสหลักอยู่ทุกวันนี้

 

 

Postmodern กับความน่าจะเป็น

บทความชิ้นนี้จะนำเสนอ Postmodern ในความหมายที่สองในการนำเสนอแนวคิดทางวรรณกรรม กล่าวคือ ในวรรณกรรมนั้น Modern ได้ฝากความหวังไว้สูงมากกับวรรณกรรมแนวสัจจนิยมหรือ realism ว่าจะเป็นกระจกสะท้อนสังคมและสร้างจิตสำนึกในการเปลี่ยนแปลง แต่ Postmodern มาย้ำว่า วรรณกรรมมีแต่กลวิธี ขนบ ถ้อยคำ พวกนี้จึงมักแต่งวรรณกรรมประเภทเรื่องเล่าที่มีเนื้อหาว่าด้วยตัวมันเองอีกทีหรือ เพื่อย้ำเตือนตลอดเวลาว่านี่เป็นเรื่องแต่งนะ หรือมิฉะนั้นก็ไปดึงเอาตัวบทจากงานชิ้นต่าง ๆ มาอ้างอิงคละเคล้าเข้าไปในแบบสัมพันธภาพหรือ เพื่อจะบอกว่าวรรณกรรมมันสัมพันธ์กันเองมากกว่าจะสัมพันธ์กับโลกของความเป็นจริง

คงจะด้วยเหตุผลนี้ วรรณกรรม Postmodern ถึงได้ชอบเล่นกับแนวคิดของเปลือกนอกกับเนื้อในของความจริงแท้ในสังคม ความคิดแบบเป็นจริงกับความคิดแบบเกินจริงซึ่งแทบทุกครั้งก็จะสะท้อนให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นเพียงเปลือกนอก ไม่มีอะไรที่ลึกเข้าไปในความเป็นจริง พยามยามค้นหาเท่าไหร่ก็จะไม่เจออะไรมากไปกว่าที่เจออยู่กับเปลือกนอกของสังคม

ผู้เขียนขอทำความเข้าใจและนำเสนองานเขียนแบบ Postmodern ว่าแท้ที่จริงแล้วงานเขียนในลักษณะดังกล่าวกับสังคมยุคปัจจุบันมันสัมพันธ์กันหรือไม่ หรือมันมีอะไรแอบแฝงลึกซึ้งกว่างานเขียนธรรมดาทั่วไปที่เราเคยได้รับรู้และได้ยินมา โดยจะขอหยิบยกตัวอย่างงานเขียนที่ชื่อว่า ความน่าจะเป็นของปราบดา หยุ่น เพื่อสะท้อนมุมมองแนวความคิดที่ได้ในลักษณะการนำเสนอเรื่องราวแบบ postmodern เพราะบางครั้งเมื่อเราเข้าใจถึงแก่นแท้แนวคิดที่ได้จากเรื่องๆหนึ่งซึ่งต่างจากที่เคยได้รับรู้มามันอาจทำให้เราเข้าใจชีวิตมากกว่าที่จะปล่อยให้ชีวิตไหลลื่นตามกระแสที่เราเรียกว่า บริโภคนิยม หรือ ทุนนิยม เฉกเช่นปัจจุบัน

ความน่าจะเป็น  หนังสือรวมเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. 2545 รวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นผลงานจากการเขียนของปราบดา หยุ่น คนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองความคิดแตกต่างจากบุคคลทั่วไป จากประสบการณ์ที่เขาได้เคยสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะ ประกอบกับความคิดที่เขามีต่อสังคมในมุมกลับ ทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่นำเสนอด้วยกลวิธีแปลกใหม่กว่าเรื่องอื่นๆที่ผ่านมา และด้วยความแปลกใหม่ถึงกลวิธีในการนำเสนอจึงได้เข้าใจแนวคิดที่สะท้อนถึงความจำเป็นของการทำความเข้าใจสังคมยุคหลังสมัยอย่างยุคที่เรียกว่า postmodern

เรื่องสั้นทั้ง 13 เรื่องที่ปราบดา นำมารวมเล่มเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดความน่าจะเป็นมีดังนี้คือ ความน่าจะเป็น ด้วยตาเปล่า ตามตาต้องใจ อะไรในอากาศ นักเว้นวรรค เหตุการณ์กรรมซ้ำเล่า กรมอุตุนิยมวิทยา บรรยากาศเป็นกันเอง อุปกรณ์ประกอบฉาก ตื้น-ลึก-หนา-บาง คนนอนคม มารุตมองทะเล และเจอ แต่ละเรื่องสะท้อนแนวคิดให้เห็นถึงความเป็นจริงของมนุษย์ ในจำนวนเรื่องสั้นทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นมีเรื่องที่นำเสนอ แนวคิดได้เด่นชัดคือ

ความน่าจะเป็น เป็นเรื่องของชายหนุ่มที่วิถีชีวิตถูกเลี้ยงดูอยู่กับตาและยาย เขาเป็นเด็กกำพร้า เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถคว่ำ ชายหนุ่มคนนี้มีความคิดที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป เขามักจะมีคำถามต่างๆอยู่ในใจเสมอ และแต่ละคำถามมักจะเป็นคำถามที่บุคคลทั่วไปไม่เคยคิด และไม่เคยจะค้นหาคำตอบ การที่เขาได้อยู่ในสภาพสังคมที่ตากับยายเลี้ยงดูนั้น ทำให้เขาได้ซึมวับบางอย่างไว้ในใจโดยที่เขาไม่รู้ตัว เมื่อเขาโตขึ้นได้ทำงานตามสิ่งที่เรียนมา คืองานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและงานโฆษณา ในที่สุดเขาก็ได้ความทรงจำเดิมๆขณะที่อยู่กับตาและยาย มาสร้างเป็นผลงานโฆษณาจนกลายเป็นที่ยอมรับและรู้จักของคนทั่วไป

ด้วยตาเปล่า เป็นเรื่องของชายหนุ่มชื่อปราชญ์ เปรื่องธรรม นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 วันหนึ่งขณะที่เขาตั้งใจจะไปออกกำลังกายที่สวนลุมพินี เขาก็ได้พบกับชายชื่อปลง ชายคนนี้มีลักษณะแปลกและน่าสนใจ เพราะเขามักจะมานั่งสังเกตพฤติกรรมของคนที่มาเดินในสวนสาธารณะแห่งนี้ ปราชญ์ได้พบกับปลงทุกครั้งที่มาออกกำลังกาย แต่ละครั้งทั้งสองได้พูดคุยกัน ปลงได้แสดงความคิดให้ปราชญ์ได้รับรู้ว่า “คนเราไม่ควรตัดสินอะไรจากสิ่งที่เรามองเห็นโดยพิจารณา เพราะนั่นอาจจะทำให้เราไม่ได้พบกับความเป็นจริงได้” ปราชญ์มักจะมานั่งพูดคุยกับปลงเป็นประจำ เพราะปลงทำให้เขารู้จักมุมมองใหม่ๆของชีวิต

ตามตาต้องใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กหญิงต้องใจ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เธอเป็นเด็กที่มีความคิดต่างจากเพื่อนๆวัยเดียวกัน เธอไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์เพราะเธอไม่เข้าใจว่าทำไมหนึ่งบวกหนึ่งต้องเท่ากับสอง เพราะในความเข้าใจของเธอหนึ่งบวกหนึ่งน่าจะเท่ากับสามหรือมากกว่าสาม เธอไม่เข้าใจหลักการที่ครูอธิบาย ทุกครั้งที่เธอตอบคำถามครูเธอจะตอบตามเพื่อน แต่ในความคิดของเธอนั้นขัดแย้งอยู่เสมอ การที่เธอต้องตอบตามความคิดของครูและเพื่อนๆนั้น เพราะเธอคิดว่าสิ่งนั้นจะทำให้เธออยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่แปลกไปจากสังคมเท่านั้นเอง

ตื้น-ลึก-หนา-บาง เรื่องนี้เป็นเรื่องของนักเดินทางคนหนึ่ง เขามักจะเดินทางไปท่องเที่ยวทุกหนทุกแห่ง และได้พบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย อยู่มาวันหนึ่งเขาได้พูดว่าตัวเขาพบกับของที่เป็นความลับ แต่ไม่ได้เปิดเผยให้ใครรู้ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ทำให้หลายคนต้องการที่จะรู้ความลับของเขา ในที่สุดเขาก็ได้ตกลงจะเปิดเผยความลับของเขาให้คนทั่วไปได้รู้ ขณะที่เขาจะเปิดเผยสิ่งที่เป็นความลับนั้นเขาก็ได้คิดว่า ทำไมมนุษย์ไม่ถามถึงสิ่งที่เขาได้ไปพบขณะที่ท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ ซึ่งน่าสนใจกว่าความลับที่เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเปิดเผย ในที่สุดที่เขาให้สัมภาษณ์พิธีกรในรายการ เขาก็ได้บอกพิธีกรและผู้ชมว่าตัวเขาจำไม่ได้แล้วว่าความลับคืออะไร เพราะความลับไม่มีในโลก

จะเห็นได้ว่าในแต่ละเรื่อง ปราบดาสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านความคิด ความอยากรู้อยากเห็น ความกลัว สิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวของมนุษย์ทุกๆคน ดังนั้นแต่ละเรื่องที่เขานำมาเสนอในรูปแบบของเรื่องสั้นนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความคิดของตัวเขาในอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่างไปจากมุมมองของคนทั่วไปในสังคม

สู่แนวคิดน่าจะเป็นในสังคม

จะเห็นได้ว่าปราบดาสามารถสะท้อนแนวคิดที่ต่างจากมุมมองที่เขามีต่างจากคนอื่นทั่วไปสู่ความน่าจะเป็นในบริบททางสังคมที่กำลังเผชิญได้อย่างมีเหตุและสมผลถึงความเป็นจริงที่มิอาจละเลยหรือมองข้ามถึงความเป็นจริงของมนุษย์ ทั้งพฤติกรรมและความคิด โดยปราบดา ได้แสดงแนวคิดในมุมมองของตัวเองที่ต่างจากคนทั่วไปลงในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องอย่างน่าขบคิด

แนวคิดแรก ที่ปราบดาต้องการนำเสนอคือ มนุษย์มักจะเชื่อในความคิดของคนที่มีความรู้ และปลงใจกับสิ่งที่รู้นั้นว่าเป็นสิ่งที่ถูกและควรปฏิบัติตาม แต่แท้ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนต่างก็มีความคิดเป็นของตนเอง เพียงแต่มนุษย์ไม่เคยย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองถึงสิ่งที่เรียกว่า “คุณค่า” ต่างหาก

มีอยู่คนหนึ่ง เขาชอบคิดว่าตัวเองรู้โน่นรู้นี่ไปเสียหมด เจ้ากี้เจ้าการสร้างชะตาชีวิตให้ชาวบ้าน ราวตัวเองเป็นพระเจ้า แถมแอบเชื่อลึกๆในจิตสำนึกว่า เขาฉลาดเป็นยอดนักปราชญ์ ที่ยากจะหาใครสักคนทัดเทียม เป็นผู้บรรลุแล้วซึ่งสัจธรรมทั้งปวง หยั่งรู้วัฏจักรธรรมชาติอันซับซ้อน ปั้นวัวปั้นควายให้มีชีวิตมีลมหายใจได้จากดินเหนียว...เขาอาจจะทำให้ท่านเชื่อว่าเขามี อะไรสำคัญจะบอก แต่เชื่อผมเถอะทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณคิดว่าคุณเรียนรู้มาจากเขา ความจริงแล้วมันออกมาจากตัวคุณเอง อัฐยายซื้อขนมยายนั่นแหล่ะครับท่าน

แนวคิดที่สอง คือความไม่แน่นอนของชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ มนุษย์ไม่ควรปักใจเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีความน่าเชื่อถือก็ตาม

ได้ยินมาว่าเช้านี้ฟ้าจะหม่นมัว เมฆฝนจะลอยล่องเข้าปกคลุมท้องฟ้าให้มืดครึ้ม ก่อนออกจากบ้าน อย่าลืมติดร่มหรือเสื้อกันฝนไปด้วย ดูแลตัวเองให้ดีอย่าให้เป็นไข้ไม่สบาย

            และในตอนท้ายของเรื่องที่แสดงถึงความไม่แน่นอนของทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นจากตัวละครที่ว่า

            ฟ้าเริ่มสาง แสงอาทิตย์อ่อนๆ เริ่มแย้มขึ้นหลังสุสานคอนกรีต หญิงเจ้าของรถสีกรมท่ามองแสงเรืองรำไรตามขอบตึก ไหนใครว่าฝนจะตก

            แนวคิดที่สาม ผู้เขียนได้เสนอให้เห็นว่ามนุษย์ให้ความสนใจกับเรื่องที่ไร้สาระแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์มนุษย์กลับไม่สนใจ แนวคิดนี้จะเห็นได้จากความคิดของชายนักเดินทางที่เขาอ้างว่าตนเองพบกับความลับชิ้นหนึ่งในโลก และกำลังจะเปิดเผยความจริงต่อสังคมที่กำลังอยากจะรู้เรื่องความลับนั้นว่า

            กะอีแค่ชิ้นส่วนของความลับขนาดเท่านิ้วมือ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับฉันแม้แต่น้อย ความลับรู้ไปก็เท่านั้น ในเมื่อจุดประสงค์ของมันคือ ไม่ต้องการให้ใครรู้ ต่างจากการเดินทางไปกับธรรมชาติที่พร้อมจะเปิดรับฉันเสมอ ฉันอยากรู้อะไรขอให้เดินเข้าไปถาม เดี๋ยวก็ได้คำตอบ ไม่จากก้อนหินก็จากเมล็ดพืช ไม่จากใบหญ้าก็กลิ่นโคลน

ฉันมีความรู้มากมายจนล้นทะลักออกจากรูขุมขน ทำไมไม่มีใครอยากรู้เรื่องที่ฉันรู้บ้าง อยากรู้กันแต่เรื่องความลับ มันมีดีตรงไหน

จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่ปรากฏในรวมเรื่องสั้นความน่าจะเป็นนั้น ปราบดาได้สะท้อนแนวคิดมุมมองความเป็นจริงของมนุษย์ในสังคมผ่านมุมมองที่แปลกใหม่ การที่เขานำเสนอแนวคิดต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนความเป็นจริงในตัวตนของมนุษย์ ในด้านความคิดและพฤติกรรมได้เป็นอย่างดี บ่งชี้ถึงพลังทางวรรณกรรม ที่ไม่เป็นแบบกรรมซ้ำเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนวรรณกรรมทั่วไป

บทสรุปแนวคิดที่ต้องทบทวน

ความคิดที่สะท้อนออกมาผ่านรวมเรื่องสั้นชิ้นนี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่า สังคมของเรากำลังอ่อนแอเป็นอย่างมากโดยเฉพาะความอ่อนแอทางด้านความคิด ยิ่งปัญหาในสังคมมีมากเท่าไร คนในสังคมยิ่งอ่อนแอมากขึ้นเท่านั้น ความเป็นตัวตน ความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคนกำลังถูกทำลายไปเรื่อยๆ เพราะจุดที่แต่ละคนยืนอยู่มันมาคู่กับคำว่าอิทธิพล มันมาคู่กับคำว่าอำนาจชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ คิดแต่เพียงว่าหากขัดขืนก็ตาย เชื่อตามก็รอด ทั้งๆที่บางครั้งเชื่ออาจตาย ขัดขืนอาจรอดก็เป็นได้ ทำไม ทำไม และทำไมความคิดคนถึงเป็นเช่นนี้ ใคร ใคร และใครจะให้คำตอบได้ดีไปกว่าตัวของตัวเอง เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น กับปัญหาที่กำลังจะขยายแผ่กว้างออกไป ความคิดที่อ่อนแอลง กับทางออกที่ควรจะเป็น คำตอบคือ มนุษย์เป็นตัวกำหนดสร้างสรรค์มันขึ้นมาแทบทั้งสิ้นเพื่อประโยชน์สุขของตัวเอง

ดังนั้นในวรรณกรรมยุคหลังสมัยใหม่ จะเห็นว่าสิ่งที่นักเขียนจะต้องทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักก็คือ แนวคิดความจริงแท้ของตัวตนมนุษย์ที่สะท้อนผ่านพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์อย่างที่คนทั่วไปมักมองข้ามเพราะมองเป็นเรื่องไม่น่าจะเป็นความจำเป็นที่ต้องเก็บเอามาขบคิด ผู้เขียนได้สะท้อนแนวคิดสำคัญไว้ตรงที่ว่า “มนุษย์ควรมีความเป็นตัวของตัวเอง มากกว่าจะถูกครอบงำจากความคิดของบุคคลอื่น” ดังนั้นความน่าจะเป็น นับเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่จะนำพาความคิด และความเป็นจริงในตัวของมนุษย์ ให้หลุดออกมาจากมุมมืดทางความคิดในสังคมที่เป็นอยู่

 

เอกสารอ้างอิง

            ปราบดา หยุ่น.ความน่าจะเป็น.กรุงเทพฯ: สุดสัปดาห์สำนักพิมพ์, 2545.

โพสท์โมเดิน. Postmodern (online).สืบค้นจาก; http://www.oknation.net/blog/print.php?id=63604 [19 พฤษภาคม 2551]

 

อิงอร สุพันธุ์วณิช.วิเคราะห์เรื่องสั้นซีไรต์.กรุงเทพฯ:แอคทีฟ พริ้นจำกัด, 2548.



[1] นิสิตปริญญามหาบัณฑิตชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2550 หลักสูตร กศ.ม.ภาษาไทย  มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

[2] ดูรายละเอียดใน Postmodern (online) ; Available from http://www.oknation.net/blog/print.php?id=63604

หมายเลขบันทึก: 190342เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2008 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ยังไม่ได้อ่านเรื่องนี้เลย
  • ช่วงหลังตามอ่านไม่ทัน(ข้ออ้าง อิอิ)
  • แต่ชอบงานเขียนหลายแนว
  • มีความสุขดีครับ
  • ขอบคุณครับ

ที่ผมเขียนเป็นบทความวิเคราะห์ครับ ของปราบดาถ้าพอมีเวลาช่วยติชมด้วยครับ

ตามหาวิเคราะห์ความน่าจะป็นมานานมากค่ะ.. จะเอาไปทำรายงาน.. หายากรึเราหาไม่เจอเองรึเปล่าก็ไม่รู้...

ชอบหนังสือเรื่องนี้มากๆค่ะ เพราะอ่านแล้วไม่เข้าใจดี

คนที่วิเคราะห์ได้จะต้องเก่งมากๆเลยนะคะเนี่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท