การเมืองเรื่องของเขา...


"เขา" กับ "พระวิหาร"

การเมืองเรื่องของเขา...

ช่วงนี้ประเด็นการเมืองร้อน ๆ คงไม่พ้นเรื่องของเขา..

เขาที่ว่า คือ เขาพระวิหาร

เป็นประเด็นที่สว.เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ

เป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านของเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

เป็นประเด็นที่พันธมิตรฯ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนอกสภา(ข้างถนน) โดยไม่มีการยื่นญัตติ

 ทั้งที่แผนผลักดันเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ได้เริ่มขึ้นในปี 2547 ที่คณะรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา มีมติเห็นชอบให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เขาพระวิหารเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ศึกษาประวัติศาสตร์ และกำหนดให้ดำเนินการเสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก
       
       กระทั่งในเดือนมิถุนายน ปี 2550 ในการประชุมยูเนสโกที่เมืองไครซ์เชิร์ท นิวซีแลนด์ รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะพื้นที่ในเขตของกัมพูชาเท่านั้น ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ยื่นทักท้วงรัฐบาลกัมพูชา เพราะเห็นว่าควรจะเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน เนื่องจากองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ต่างๆ อาทิ ปราสาทโดนตวล,บรรณาลัย,สถุปคู่,สระตราว รวมถึงโบราณสถานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นอยู่ฝั่งไทย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งตามหลักประวัติศาสตร์ของเทวาลัยระดับโลก ต้องรวมองค์ประกอบทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน
       
       จากผลการประท้วงดังกล่าว ยูเนสโกจึงเลื่อนการพิจารณาออกไป โดยให้ 2 ประเทศ(ไทย-กัมพูชา)ไปตกลงหาข้อยุติ แล้วค่อยนำเสนอที่ประชุมในเดือนมิถุนายน 2551

        ปราสาทเขาพระวิหาร หรือ ศรีศิขเรศวร เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักกั้นระหว่างแผ่นดินเขมรต่ำกลุ่มเมืองพระนคร และเขมรสูงในภาคอีสานของไทย สร้างขึ้นก่อนนครวัดถึง100 ปีอยู่ในจังหวัดพระวิหาร ของกัมพูชา ติดชายแดนไทย ที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
       
       กล่าวกันว่าสร้างเพื่อการแสดงอำนาจของกษัตริย์แห่งเมืองพระนคร ที่มีความเชื่อถือในเรื่องเทวราชา อันหมายถึงกษัตริย์คืออวตารหนึ่งของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เป็นศูนย์รวมแห่งคติความเชื่อ คือการสร้างมหาปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะและพระมหากษัตริย์
       
       เมื่อปี พ.ศ.2483 เกิดสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสอ่อนแอ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงพรมแดนไทย-อินโดจีน เป็นให้ไทยได้ 4 จังหวัดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงครอบครอง พ.ศ.2487เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ไทยต้องปรับตัวเองมิให้เป็นประเทศแพ้สงคราม จึงต้องคืนดินแดนที่ได้มาแก่ฝรั่งเศสไปรวมทั้งเขาพระวิหาร
       
       พ.ศ.2502 รัฐบาลกัมพูชานำด้วยสมเด็จพระนโรดมสีหนุยื่นฟ้องต่อศาลโลกที่กรุงเฮกประเทศเนเธอร์แลนด์ว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา พ.ศ.2505 ศาลโลกมีมติ 9 ต่อ 3 ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา และพ.ศ.2550กัมพูชาได้ยื่นเรื่องต่อองค์การยูเนสโกเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งครั้งใหม่

       จากเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลให้เขาพระวิหารกลับมาเป็นที่สนใจของคนไทยและคนเขมร ตลอดจนชาวโลกอีกครั้ง

        ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการแห่งมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และประธานที่ปรึกษา โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้แสดงทัศนคติเรื่องเขาพระวิหารในประเด็นที่ว่า เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาว่า เรื่องนี้มีความสำคัญมากเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชา ซึ่งจัดได้ว่ามีปัญหามากที่สุดระหว่างอาเซียน ละเอียดอ่อนที่สุด

   อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวขอให้คนไทยตั้งสติให้มั่น

         อย่าหวั่นไหวไปกับกระแสทางการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา และอย่าให้กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะขณะนี้กัมพูชาเองมีการปิดพระวิหาร อันความหวั่นเกรงเรื่องสถานการณ์จากการเมืองบ้านเรา

         บางครั้งอาจจะต้องมองแบบแยกส่วนเหมือนกัน

      ระหว่าง "เขา" กับ "พระวิหาร"

          ในเรื่องของสิทธิในการครอบครอง เพื่อมิให้มีปัญหาตามมา

หมายเลขบันทึก: 190004เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2008 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (35)


Preah Viharn
ค่ำวันที่ 4 กรกฎาคม 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหาร ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา ได้ประมาณ 20 วัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทย ในขณะนั้น ได้กล่าวปราศรัยผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย แสดงความรู้สึกต่อการสูญเสียปราสาทพระวิหาร และยืนยันสิทธิ์ที่จะทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคต ดังนี้

“พี่น้องร่วมชาติ และมิตรร่วมชีวิตที่รักของข้าพเจ้าทั้งหลาย ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า ศาลโลก ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 ให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และทางรัฐบาลได้ออกแถลงให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบเป็นลำดับนั้น
sarit
รัฐบาลของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะตัวของข้าพเจ้า ถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลได้ผลเสียของชาติ อันเป็นเรื่องของแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษของเราสู้มา อุตส่าห์ฝ่าคมอาวุธรักษาไว้ และตกทอดมาถึงรุ่นเรา

เนื่องจากในคำปราศรัยนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าทราบดีว่า ในส่วนลึกและหัวใจแล้ว คนไทยผู้รักชาติทุกคน มีความเศร้าสลดและมีความข่มขืนใจเพียงใด แสดงออกถึงของประชาชนในการเดินขบวนทั่วประเทศ เพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่อย่างชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ มิใช่ว่าพวกเราจะนั่งนิ่งเฉยหรือท้อแท้ใจ ชาติไทยยอมท้อแท้ทอดอาลัยไม่ได้ เราเคยสูญเสียดินแดน แก่ประเทศมหาอำนาจ ที่ล่าอาณานิคมมาแล้วหลายครั้ง หากบรรพบุรุษของเรายอมท้อแท้ เราจะเอาแผ่นดินที่ไหน มาอยู่กันได้จนถึงทุกวันนี้ เราจะต้องหาวิธีการสู้ต่อไป

สำหรับกรณีเขาพระวิหาร ซึ่งศาลโลกได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอทบทวนเข้าใจกับเพื่อนร่วมชาติทั้งหลาย ว่า รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ไม่ได้เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลก ทั้งในข้อเท็จจริงกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความยุติธรรม

เมื่อเป็นดังนี้ แม้นรัฐบาลและปวงชนชาวไทย จะได้มีความรู้สึกสลดใจและข่มขืนเพียงใด ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ ต้องยอมให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร ตามพันธกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ แต่รัฐบาลขอตั้งประท้วงและขอสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ ไว้ เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินทางกฎหมายที่จำเป็น ซึ่งอาจจะมีขึ้นในภายภาคหน้า ให้กรรมสิทธิ์นี้กลับคืนมาในโอกาสอันสมควร

พี่น้องทั้งหลายคงทราบดีว่า ชาติของเราต้องเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิไป เนื่องจากเขาพระวิหาร อีกสิบปีอีกกี่ร้อยปี เราก็สามารถสร้างเกียรติภูมิคราวนี้กลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าทราบว่า การสูญเสียปราสาทเขาพระวิหารครั้งนี้ เป็นการสูญเสียที่สะเทือนใจของคนไทยทั้งชาติ

ฉะนั้น แม้นว่า กัมพูชาจะได้ปราสาทเขาพระวิหารนี้ไป ก็คงไปได้แค่ซากปรักหักพัง และแผ่นดินเฉพาะรองรับเขาพระวิหารเท่านั้น วิญญาณของปราสาทเขาพระวิหารยังคงอยู่กับคนไทยตลอดไป ประชาชนชาวไทยจะระลึกอยู่เสมอว่า ปราสาทเขาพระวิหารของไทยถูกปล้นเอาไป ด้วยอุปเล่ห์เพทุบาย คนที่ไม่มีเกียรติและไม่รับผิดชอบ ไม่รักความเป็นธรรม เมื่อประเทศไทยเราประพฤติปฏิบัติดีในสังคมโลก อันเป็นที่มีศีลธรรม มีสัตย์ ในวันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว ปราสาทเขาพระวิหารจะต้องกลับมาสู่ดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่ง

เหตุการณ์เกี่ยวกับเขาพระวิหารครั้งนี้ สลักแน่นอยู่ในความทรงจำของคนไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และเป็นรอยจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไปตลอด เสมือนแผลที่อยู่ในใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ข้าพเจ้าหวังอยู่เสมอว่า ในที่สุด ธรรมะย่อมชนะอธรรม การหัวเราะที่หลังย่อมดังกว่า และนานกว่า

พี่น้องร่วมชาติทุกท่าน ได้โปรดวางใจรัฐบาลซึ่งข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้ จะสามารถนำชาติและพี่น้องชาวไทยที่รักก้าวสู่อนาคตอันสุกใสให้ได้ และข้าพเจ้ารับรองแก่ท่านทั้งหลายว่า เมื่อถึงคราวที่ชาติคับขันแล้ว ข้าพเจ้าจะกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกับพี่น้องประชาชนชาวไทย เอาเลือดทาแผ่นดิน ไม่เสียดายชีวิตแม้แต่นิดเดียว แต่เราจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเองมีความเจ็บช้ำน้ำใจไม่น้อยไปกว่าเพื่อร่วมชาติทั้งหลาย

การที่ข้าพเจ้าต้องมากล่าวถึงเรื่องนี้ ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า การมาพูดกับท่านด้วยน้ำตา น้ำตาของข้าพเจ้า เป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย ของเลือด ของความคับแค้น และการผูกใจเจ็บชั่วชีวิตชาตินี้และชาติหน้า ต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาวไทย

ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณด้วยสัตย์วาจาดังนี้ พี่น้องที่รักชาติทั้งหลาย น้ำตาไม่อาจทำให้เราฉลาดขึ้น แต่เราจะต้องได้อะไรคืนมา ในขั้นสุดท้ายชาติไทยจะต้องประสบกับชัยชนะเสมอ เราต้องกล้าสู้ เราต้องกล้ายิ้มรับภัยที่มาถึงตัวเรา ชาติไทยเป็นชาติที่เชื่อมั่นในบริวารพุทธศาสนา ตั้งตนอยู่ในความเป็นธรรมตลอดมา

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเสมอว่า ชาติของเราจะไม่อับจนเป็นอันขาด เรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องหนึ่งในบรรดาเรื่องใหญ่ทั้งหลาย มีความสำคัญมากกว่านี้ ชาติที่รักของเรากำลังพัฒนาไปในสู่วิถีทางที่ดีขึ้น เหตุนี้ไม่ใช่เหตุผลความอับจนของเรา จงหวังและทำในเรื่องชาติที่สำคัญกว่านี้ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ชาติไทยของเรามีอนาคตแจ่มใสและรุ่งโรจน์อย่างแน่นอนและมั่นคงในอนาคตอันใกล้ นี้ เราจงมาช่วยกันสร้างชาติที่รักยิ่งของเราต่อไป

พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย วันนี้เป็นวันหนึ่งและเป็นในวันข้างหน้า เราจะต้องเอาปราสาทเขาพระวิหารกลับคืนมา ให้เป็นของชาติไทยให้จงได้ สวัสดี”

ฟังเสียงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สด !

"ในวันนี้ ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า
ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านด้วยน้ำตา
แต่น้ำตาของข้าพเจ้าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย
ขอเลือดของความคั่งแค้น
และการผูกใจเจ็บไปชั่วชีวิต
ทั้งชาตินี้และชาติหน้า

พี่น้องชาวไทยที่รัก
ในวันหนึ่งข้างหน้า
เราจะต้องเอาปราสาทพระวิหาร
กลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จนได้"

ที่มา http://accomthailand.wordpress.com

 

ข้าวเกรียบปากหม้อ 06503

ควรที่จะเป็นมรดกโลก แต่ในสมัยก่อนนั้นเป็นของไทยเยอะแต่กัมพูชาขี้โกง

คิดว่าควรจะเป็นมรดกโลกโดยมีเจ้าของเป็นไทยกับกัมพูชาร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการขัดแย้งกันของบ้านพี่เมืองน้อง

ขอบคุณ คุณไทย 2505

ที่กรุณาแนะนำข้อมูล เพิ่มเติมครับ

ขอน้อมรับ

เขาพระวิหารนั้นควรที่จะเป็นมรดกโลกโดยไทยและกัมพูชามีส่วนร่วมในการครอบครองเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนั้นจางหาย

เขาพระวิหารกับสิทธิในการครอบครองไม่ควรเป็นมรดกของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพียงเเค่พื้นที่ซับซ้อนที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น แทนที่จะมาเเย่งชิงกันเรามาช่วยกันบำรุงรักษาให้สมกับที่เป็นมรดกทรงคุณค่า ให้คงความมีคุณค่าต่อไป และค่อยๆตัดสินปัญหาว่าจะให้ประเทศใดจะเป็นประเทศครอบครองเขาพระวิหาร หรือไม่ก็ต้องมีประเทศที่ยอมเสียสละดินแดนประเทศหนึ่ง แต่จะมีหรือไม่นั้นไทยกับกัมพูชาควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาข้อยุติต่อไปส่วนเรื่องสิทธิในการครอบครองเขาพระวิหารควรที่จะเป็นไปด้วยความยุติธรรม มีน้ำใจต่อประเทศคู่กรณีด้วยถึงจะไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง.....

เขาพระวิหารไม่ควรที่จะตกไปเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง เหมาะแล้วที่จะเป็นมรดกโลกเพราะถ้าตกเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งก็จะมีปัญหาต่างๆตามมา ซึ่งอาจมีผลกระทบหลายอย่าง และทำให้เกิดความเดือดร้อน ความขัดแย้งต่างๆตามมา ดังนั้นเราควร ช่วยกันดูแลและรักษา พระวิหารซึ่งเราก็ถือเป็นการดูแลมรดกของโลก เราควรตั้งสติอย่าหวั่นไหวและอ่อนแอกับปัญหาต่างๆ

ดิฉันคิดว่าเขาพระวิหารน่าเป็นมรดกของไทยมากกว่าประเทศกัมพูชา เพราะเมื่อก่อน เขาพระวิหารก็อยู่ในประเทศไทยเราผืนแผ่นดินเราไม่น่าจะเป็นของประเทศกัมพูชา แต่เมื่อเรื่องมันเป็นอย่างนี้ เขาพระวิหารก็น่าจะเป็นมรดกของไทยและของพม่า น่าจะเป็นมรดกโลกร่วมกันเพื่อจะไม่ให้มีเรื่องที่ผิดใจกัน แต่อย่างไรก็จะทำให้คนไทยมีบาดแผลอยู่ในใจของคนไทยทั้งชาติ

ควรยกเป็นมรดกโลก เพราะไม่ควรจะแกร่งแย่งกัน เพราะว่าจะเสียสัมพันธภาพระหว่างประเทศที่ดี *3*

เขาพระวิหารควรได้รับการครอบครองโดยประเทศไทยพวกเราจะนิ่งเฉยอีกไม่ได้เพราะว่าเราก็เคยสูญเสียดินแดนแก่พม่ามาแล้วครั้งนี้เราจะยอมเสียดินแดนของเราแก่ประเทศกัมพูชาอีกไม่ได้ เพื่อที่ผืนดินแผ่นนี้จะได้ตกเป็นมรดกแก่ลูกหลานสืบต่อไปในอนาคติเราพี่น้องคนไทยจึงควรที่จะปกป้องสิทธิของเราเอาไว้

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.กล่าวอภิปรายรัฐบาลว่า ในประเด็นหลักที่จะต้องอภิปรายรัฐบาลมีอยู่ 3 ประการหลักๆ ด้วยกัน

1.การบริหารงานโดยขาดหลักธรรมาภิบาล

2.ไม่พยายามรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ

3.ประเด็นเขาพระวิหาร แต่ในช่วงนี้จะเริ่มพูดแค่ข้อ 2 ก่อน เพราะคาดว่าในส่วนแรกคงมีส.ว.อีกหลายท่านจะอภิปราย

ทั้งนี้ นายคำนูณ ได้กล่าวว่า ส.ส.ในสังกัดพรรคพลังประชาชน (พปช.) ได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจคือไม่มีการรับรองสถานะขององคมนตรี จะมีเพียงแค่คณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับของนพ.เหวง โตจิราการ

ส่วนในประเด็นของเขาพระวิหารนั้น นายคำนูณ ระบุว่า

 1.นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการสนทนาประสาสมัคร โดยยอมรับในอธิปไตยของกัมพูชาเหนือเขาพระวิหาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไทยไม่เคยยอมรรับ แม้จะมีคำพิพากษาของศาลโลก ปี 2505 และไทยยังมีสิทธิในการยื่นคัดค้านคำพิพากษานั้น แต่ก็ได้สละสิทธิไปแล้วเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา

 2.การลงนามดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งขณะนี้ยังมีอยู่ แต่ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญขาดว่าจะหายไป ฉะนั้น ตนมีคำถามถามรัฐบาลว่า 1.ครม.สละสิทธิ์ในการรื้อฟื้นคดีใช่หรือไม่ 2.ครม.รับรองแผนที่ และการยื่นเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหารใช่หรือไม่

"สิ่งที่ประชาชนต้องการคือต้องการน้กการเมืองที่มาบริหารประเทศ หารัฐมนตรีที่ดีมาให้ประชาชน ถ้ารัฐมนตรีไม่ดีก็เปลี่ยน ซึ่งเป็นอำนาจของนายกฯ ที่สำคัญคือถ้านายกฯ ไม่เห็นหัวประชาชน ต่อไปประชาชนก็จะไม่เห็นหัวนายกฯ" นายคำนูณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.190 ตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ

 http://www.matichon.co.th/news_review.php?id=37317

เรื่องการครอบครองเขาพระวิหาร ดิฉันคิดว่าไม่ควรที่จะมีการแบ่งเขาพระวิหารเป็นพื้นที่ของแต่ละชาติ ทั้งชาติไทยและกัมพูชาควรร่วมกันเป็นผู้ครอบครองเพื่อช่วยกันในการดูแล ปกป้อง และรักษาเขาพระวิหารให้เป็นมรดกของโลกที่ทรงคุณค่า และเต็มไปด้วยสัมพันธไมตรีของทั้งชาติไทยและกัมพูชา

เขาพระวิหารควรจะตกเป็นมรดกของโลกเป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมของประชาชนทั่วโลกไม่ควรที่จะตกเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งเพราะอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศและอาจมีผลกระทบต่างๆตามมา เพราะฉะนั้น เขาพระวิหารควรจะเป็นมรดกของโลกค่ะ

ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นมรดกโลกร่วกกันมากกว่าเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะถ้าเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งก็จะทำให้เกิดผลตามมาภายหลัง เช่นความขัดแย้งระหว่างประทศ อย่างไรก็ตามเราควรมีสติและอย่าเกรงกลัวกับปัญหาต่าง ๆพวกเราต้องสู้กับเรื่องทุกๆอย่าง

พม่าเคยได้ครอบครองแผ่นดินของเรา ปัจจุบันกัมพูชาก็จะมายึดครอง เขาพระวิหาร หนูฐานะเด็กไทยหนึ่งคนหนูขอสู่เพื่อแผ่นดินไทย จะไม่ขอยอมให้คนอื่นๆมา มายึดสิ่งที่เป็นสมบัติของประเทศไป ดังนั้นเราในฐานะคนไทยก็ไม่ควรยอมให้ใครมาเอาในสิ่งที่เป็นของๆเราไปได้ เราต้องช่วยกันรักษาไม่ใช่แค่ตัวเราแต่เพื่อคนอื่นๆที่เรารักด้วย

เรื่องการนำปราสาทพระวิหารเข้าเป็นมรดกโลก จะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้ารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและนายกดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่ใช่ว่ามีแรงกดดันแล้วค่อย ๆ คลาย ข้อมูลออกมา ทีละน้อย ทีละน้อย

ประเทศเป็นของเราทุกคน

เราควรมีสิทธิในการรับรู้เรื่อง

เพราะบรรพบุรุษของเราได้เอาชีวิตเขาแลกไว้

เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ประเด็นเรื่องเขาพระวิหารนั้นควรจะตกเป็นการครอบครองของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาระหว่างประเทศ

เขาพระวิหารได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกของโลก เราควรใช้วีธีที่สันติและน่าจะเป็นที่พอใจของทุกๆคน โดยการาเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ควรมาแย่งชิงกันแบบนี้มีทางออกที่ดีตั้งหลายวีธี เขาพระวิหารมีความงดงามมาก ควรจะเป้นของส่วนรวมให้ชนรุ่นหลังได้ดุ ได้สึกษาหาความรู้

เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกที่งดงามและสำคัญเราควรจะช่วยกันรักษาให้ดีๆ ไม่ควรให้ใครมาทำลายหรือยึดเอาไปได้ เขาพระวิหารเป็นของส่วนรวมดังนั้นเราจึงควรช่วยกันดูแลไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง

การครอบครองเขาพระวิหารนั้นจะเเบ่งยังไงคงไม่ลงตัวดิฉันจึงคิดว่าประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาน่าจะดูแลเขาพระวิหารร่วมกัน เพราะเขาพระวิหารถือเป็นมรดกโลก ดังนั้นการที่ทั้งสองประเทศจะมีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพก็คงจะไม่แปลกและยังทำให้ทั้งสองประเทศไม่ต้องเสียมรดกของตนไปด้วยและถ้าต้องเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเขาพระวิหารคงจะไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม

มรดกโลกเราควรช่วยกันดูแลไม่ใช่จะปล่อยให้คนใดคนหนึ่งดูแลและไม่ควรที่จะปล่อยทิ้งควรอนุรักษ์ไว้ให้ดีๆไม่ควรทำลายให้พังหายไปจากโลกของเรา

การอ้างสิทธิในการครอบครองเขาพระวิหารทั้งไทย-กัมพูชา มีความซับซ้อนมาก เพราะเรื่องการอ้างสิทธิเขาพระวิหารนี้เป็นประเด็นทางการเมืองมาเป็นเวลานานโดยที่กัมพูชาได้เข้าครอบครองพื้นที่บริเวณ อ.พระวิหารของกัมพูชาและเป็นส่วนติดต่อชายแดนไทยบริเวณอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ทับซ้อนตามที่รัฐบาลได้ชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบ และในอดีตที่กัมพูชาได้อ้างสิทธิในการครอบครองเขาพระวิหารโดยการขึ้นจดทะเบียนให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงประเทศเดียวทำให้รัฐบาลของไทยออกมาทักท้วงสิทธิในการครอบครองเขาพระวิหาร

และทำให้เกิดความขัดแย้งในขณะนี้

- การอ้างสิทธิการครอบครองเขาพระวิหารของทั้งไทย-กัมพูชาควรที่จะเจรจาหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและจะมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร และควรให้สิทธิในการครอบครองอย่างเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ทำให้ไม่เกิดปัญหาตามมา

อย่าลงประเด็น ! เรื่องดังกล่าวนำเสนอว่า บรรพบุรุษของเราคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้ แต่เรื่องปัจจุบันคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายกและรัฐบาลของเรา มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส

นี่เป็นแค่เรื่องหนึ่งเท่านั้น มันยังมีอะไรแอบ ๆ อีกหลายเรื่อง

บทนำ
ประเด็นปราสาทพระวิหารร้อนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะใกล้เวลาที่คณะกรรมาธิการมรดกโลกจะพิจารณาว่าจะยอมรับให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามอนุสัญญามรดกโลก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอนุสัญญาปารีส 1970 หรือไม่ ปราสาทพระวิหารน่าสนมากขึ้นเมื่อมีข่าวว่ามีการนำประเด็นปราสาทพระวิหารไปโยงกับการได้รับสัมปทานก๊าซธรรมชาติในเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา อย่างไรก็ดีจะกล่าวถึงเฉพาะการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเท่านั้น


1.อนุสัญญามรดกโลกคืออะไร อนุสัญญามรดกโลก หรือชื่อทางการคือ อนุสัญญาเกี่ยวกับการปกป้องวัฒนธรรมโลกและมรดกธรรมชาติ (Convention concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) ปี ค.ศ.1970 อนุสัญญานี้ จัดทำขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การยูเนสโก มีวัตถุประสงค์หลักให้ประชาคมระหว่างประเทศมีส่วนร่วมในการพิทักษ์ ดูแลรักษาวัฒนธรรมโลก หรือมรดกธรรมชาติมิให้สูญหาย หรือเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ


การดูแลรักษามรดกโลกนี้ อาจทำได้ไม่เต็มที่หากปล่อยให้ภาระความรับผิดชอบที่ว่านี้ตกแก่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญ
อนุสัญญามรดกโลกนี้ ยังเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐสมาชิกอยู่ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของรัฐสมาชิก โดยรัฐสมาชิกจะเป็นผู้เสนอเรื่องให้ “คณะกรรมาธิการมรดกโลก” (The World Heritage Committee) เป็นผู้พิจารณา


2.การขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชา อนุสัญญามรดกโลกรับรองว่าประเทศที่มีสิทธิเสนอชื่อให้สิ่งใดเป็นมรดกนั้นสิ่งนั้นต้องตั้งอยู่ในอาณาเขตของรัฐนั้น (Situated on its territory) ซึ่งสอดรับกับคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ค.ศ.1962 (สำหรับผู้อ่านที่อยากทราบว่าทำไมไทยแพ้คดีนี้ โปรดอ่านบทความของผู้เขียนใน นสพ.มติชน วันที่ 5 ก.พ. 2551) โดยในตอนท้ายของคำพิพากษาศาลโลกตัดสินด้วยมติ 9 ต่อ 3 ว่า “ปราสาทพระวิหารตั่งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” (the Temple of Preah Vihear is situated in territory under the sovereignty of Cambodia.)” จะเห็นได้ว่าถ้อยคำที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลโลกกับอนุสัญญามรดกโลกคล้ายกัน โดยใช้คำเหมือนกันคือ “ตั้งอยู่ในหรือบนดินแดน”


3.การขอร่วมเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของไทย ข้อวิตกกังวลของฝ่ายไทยที่มิได้มีส่วนร่วมในการพิทักษ์ปราสาทพระวิหาร ไม่นับข้อวิตกกังวลในเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก ผู้เขียนลองนำเสนอข้อสนับสนุนหรือข้อโต้แย้ง (Argument) ซึ่งอาจใช้โน้มน้าวให้คณะกรรมาธิการมรดกโลกเห็นด้วยกับฝ่ายไทย ที่จะให้ทั้งสองประเทศเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน


อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเบื้องต้นว่าข้อเสนอนี้อยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ข้อเสนอไม่สมบูรณ์ครบถ้วนได้ เนื่องจากผู้เขียนไม่มีข้อมูลเชิงลึก หรือข้อมูลของคณะผู้แทนฝ่ายไทยที่ประชุมเจรจาในเรื่องนี้


ประการแรก แม้อนุสัญญามรดกโลกจะให้สิทธิประเทศที่วัตถุโบราณ หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งอยู่เป็นผู้เสนอเรื่องก็ตาม แต่ในมาตรา 11 (3) ก็เปิดช่องว่าในกรณีที่วัตถุโบราณนั้นตั้งอยู่ในอาณาเขตในอำนาจอธิปไตยหรือเขตอำนาจ

ซึ่งมีการอ้างมากกว่าหนึ่งประเทศแล้ว การขอขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกต้องไม่เป็นที่เสียหายแก่รัฐอีกฝ่ายหนึ่ง ข้อสังเกตก็คืออนมาตรานี้มิได้ใช้คำว่า “ดินแดน” (Territory) อย่างเดียว แต่มีคำว่า “อำนาจอธิปไตย” (Sovereignty) และเขตอำนาจ (Jurisdiction) ด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการเคยวินิจฉัยว่ากรณีที่การเสนอชื่อเป็นมรดกโลกนั้นมีลักษณะ “ข้ามพรมแดน” ที่เรียกว่า “Transboundary properties” ซึ่งหมายถึงกรณีที่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นั้นตั้งอยู่มากกว่าหนึ่งประเทศ หากประเทศนั้นมีพรมแดนประชิดติดกัน (Adjacent Borders) ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมาธิการมรดกโลกเคยเสนอว่าประเทศที่เกี่ยวข้องควรตั้งเป็นคณะกรรมาธิการบริหารร่วมกัน (Joint Management Committee) ดังนั้น ไทยอาจอาศัยช่องทางนี้โน้นน้าวให้คณะกรรมาธิการและกัมพูชาเห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็ได้


ประการที่สอง ตามอนุสัญญามรดกโลกฝ่ายที่ขอเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องจัดทำ “เขตกันชน” (Buffer Zone) ด้วย ซึ่งเขตกันชนนี้ต้องมีเนื้อที่เพียงพอที่จะใช้รองรับการอนุรักษ์มรดกโลกดังกล่าว ปัญหาก็คือขณะนี้มี “เขตทับซ้อน” ระหว่างไทยกับกัมพูชา การที่อนุสัญญากำหนดว่าต้องมี “เขตกันชน” อีก ทำให้เขตกันชนดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาฝั่งไทยซึ่งประเด็นนี้อ่อนไหวที่สุด


อย่างไรก็ดี อนุสัญญานี้ก็ยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถอธิบายได้ว่าทำไมไม่มีเขตกันชนซึ่งทางกัมพูชาอาจอธิบายได้ว่าการมีเขตกันชนอาจรุกล้ำอาณาเขตไทย ซึ่งทางไทยไม่ยอม ดังนั้น จึงไม่อาจมีเขตกันชนได้ ประเด็นนี้ฝ่ายไทยอาจชี้แจ้งว่าการไม่มีเขตกันชนดังกล่าวอาจเป็นผลเสียต่อการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารได้


ประการที่สาม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Integrity) ของสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์อาจใช้เป็นข้ออ้างของฝ่ายไทยเพื่อให้เสนอร่วมกันได้ เนื่องจากเกณฑ์สำคัญข้อหนึ่งที่ทางคณะกรรมาธิการให้ความสำคัญว่าสิ่งนั้นมีคุณสมบัติที่จะเป็นมรดกได้หรือไม่นั้นก็คือเกณฑ์เรื่อง “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว” นั้นเป็นเครื่องวัดความเป็นทั้งหมด (Wholeness) และความคงบริบูรณ์ (Intactness) ของมรดกทางวัฒนธรรม เกณฑ์นี้หมายความว่าคณะกรรมาธิการต้องพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ อันประกอบกันขึ้นเพื่อจะแสดงความสมบูรณ์และคุณค่าของมรดกทางประวัติศาสตร์นั้น
จากข้อมูลทางโบราณคดี วัตถุโบราณอย่าง สระตราว สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำ รวมทั้งโดนตวล ฯลฯ ตั้งอยู่ฝั่งไทย ดังนั้น วัตถุโบราณหลายชิ้นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ที่ไทยยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของปราสาทพระวิหารด้วย


ดังนั้น ไม่ความพิจารณาเฉพาะปราสาทพระวิหารที่ตั้งอยู่ในกัมพูชาเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงส่วนที่ตั้งอยู่ที่ไทยด้วย


จากข้อพิจาณาดังที่กล่าวมาอาจใช้เป็นข้ออ้างให้มีการเลื่อนการพิจารณา (อีกครั้ง) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมาธิการจะใช้ดุลพินิจในกรณีนี้อย่างไร แต่หากเลื่อนก็จะเป็นผลดีกับฝ่ายไทยที่จะเตรียมข้อมูลเสนอให้คณะกรรมาธิการมรดกโลกพิจารณา และมีเวลาที่จะเจรจากับฝ่ายกัมพูชาเพื่อหาหนทางให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในฐานะ Win-Win ด้วยกัน


4.การคัดค้านการใช้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือดินแดนไทย รัฐบาลต้องตรวจสอบว่ามีการใช้อำนาจอธิปไตยของเจ้าหน้าที่กัมพูชาเหนือพื้นที่ทับซ้อน หรือพื้นที่ที่เป็นดินแดนของไทยหรือไม่ หากพบว่ามี เช่น การตั้งร้านค้า การซื้อตั๋วขึ้นชมปราสาทพระวิหาร หรือการให้ปลดอาวุธ ฯลฯ รัฐบาลไทยต้องประท้วงเพื่อมิให้รัฐบาลกัมพูชาจัดทำกิจกรรมในลักษณะเป็นเชิงแสดงออกถึงการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทยได้มิฉะนั้นแล้วอาจเป็นการผูกมัดรัฐบาลไทยในภายหลัง หรือที่เรียกว่า กฎหมายปิดปาก (Estoppel) ได้ว่ารัฐบาลไทยยอมรับการใช้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาโดยปริยาย (Implied Recognition)


บทส่งท้าย
ในเดือน ก.ค. นี้ จะเป็นบทพิสูจน์รัฐบาลไทยทั้งในแง่ความสามารถชั้นเชิงทางการทูตความเข้าใจในข้อกฎหมาย รวมทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่จะโน้มน้าวให้ทางคณะกรรมาธิการมรดกโลกและทางกัมพูชาเห็นด้วยกับเหตุผลของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากและน่าเห็นใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ควบคู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาประชาคมระหว่างประเทศด้วยที่ไม่ให้เข้าใจไทยผิดว่าไม่ให้ความร่วมมือ


ข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 มิถุนายน 2551 บทความเขียนโดย นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คิดว่าประเด็นในวันนี้น่าจะเป็นเรื่องของการเมืองภายในประเทศอันเหตุจากคนไทยเราไม่รักกันมากกว่า

ย้อนประวัติ 'ปราสาทเขาพระวิหาร' ตั้งแต่สมัยร.5 ถูกใช้เป็น 'เครื่องมือ' ทางการเมืองเรื่อยมา

ตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้น เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร' โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ท่าพระจันทร์ จังหวัดพระนคร สยามประเทศ(ไทย)
20 มิถุนายน 2551 เรื่อง "ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร?การเมืองกับลัทธิชาตินิยม" ถึง นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกัลยาณมิตร

จาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้ม รัฐบาลของ นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช และ "ระบอบทักษิณ" เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย เรื่องนี้มีความสําคัญและมีความจําเป็นที่เราจะต้องทําความเข้าใจที่มาและที่ไปของเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลําดับ ดังต่อไปนี้

(1) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แผลเก่า" ระหว่าง "ชาติไทย" กับ "ชาติกัมพูชา" ระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" และ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนํามาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ(ไทย) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "การเมือง" และ "ลัทธิชาตินิยม" ในสกุลของ "อํามาตยาเสนาธิปไตย" ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย "สงครามเย็น" ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอํามาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆ มา)

(2) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม "บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ" ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง "ปราสาท" ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา เทียบได้กับ ชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ "ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม" ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)

"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ "ศรีศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก ("พนมดงแร็ก" ในภาษาขะแมร์ แปลว่า ภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ใน (เขต) จังหวัด "เปรียะวิเฮียร" (Preah Vihear) ของกัมพูชา

(3) "ปราสาทเขาพระวิหาร" น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ.1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา "เสียกรุง" ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา)

ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลําดับ และ "หนีเสือไปปะจระเข้ คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขง

แต่ประวัติศาสตร์ โบราณเรื่องนี้ไม่ปรากฏมีในตําราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม)

ดังนั้น คนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่ จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ "เสียกรุงศรีอยุธยา" แก่พม่า (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ "เสียกรุงศรียโสธรปุระ" (พ.ศ. 1974) ของกัมพูชา ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง "ปราสาทเขาพระวิหาร" ไปประมาณเกือบ 500 ปี

จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น "อาณานิคม"ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ "สยาม" สมัย ร.ศ. 112 ถึงขนาดใช้กําลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี

(4) จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง "ไกลบ้าน") จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส

ทั้งนี้โดยการแลก "จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)" กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้)

เมื่อถึงตอนนี้นั่นแหละที่เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเรา มีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส

ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร

กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดํารงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย "รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม" ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่า ปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สําคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา "เอกราชและอธิปไตย" ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้

ดังนั้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดํารงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดํารงตําแหน่ง "อภิรัฐมนตรี" ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร "ปราสาทเขาพระวิหาร" ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทําให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ.วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนแอข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)

(5) กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ "ราชาธิปไตย" ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง (ก่อนครั้งที่ 3 ของการ "โค่นรัฐบาลสมัคร" ในสมัยนี้) คือ

ครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ปีกขวาของคณะราษฎร) และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็น (ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านนโยบายเป็นกลางของกัมพูชาสมัยพระเจ้านโรดม สีหนุ)

ในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูล สงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ "คณะราษฎร" ยึดอํานาจได้แล้วแม้จะโดยปราศจากความรุนแรงและนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปีญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด "กบฏบวรเดช" พ.ศ. 2476 (ที่นําด้วยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ ผู้เป็นตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์) เกิดการนองเลือดเป็น "สงครามกลางเมือง" และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์

ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง "อํามาตยาเสนาชาตินิยม" ปลุกระดมวาทกรรม "การเสียดินแดน 13 ครั้ง" ให้เกิดความ "รักชาติ" ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น -24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" -Siam เป็น Thailand -(แล้วเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรให้เป็น "ไทยๆ" ซึ่งรวมทั้ง -พระไทยเทวาธิราช -ธนาคารไทยพาณิชย์ -ปูนซิเมนต์ไทย)

รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน "มณฑลบูรพา" และฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง

จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง "กองกําลังบูรพา" ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปีดโอกาสให้ญี่ปุ่น "มหามิตรใหม่" เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จําต้องยอมยกดินแดนให้ "ไทย" สมัยพิบูลสงคราม (ทําให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)

และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ ว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จําปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คําว่า "ลาน" ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท)

และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย

รัฐบาลพิบูลสงคราม ดําเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอํามาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่า ในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่)

ในสมัยดังกล่าวนี้แหละ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า "ได้ปราสาทเขาพระวิหาร" มาดังหลักฐานในหนังสือ "ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน" ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484

สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคําอธิบายภาพว่า "ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกําลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสําคัญ"

(6) สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย "มหามิตรญี่ปุ่น" ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า "ไทย" จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ "ปรับ" และเอาคืน

โชคดีของสยามประเทศ(ไทย) (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษกลับเป็น Siam ได้ชั่วคราว) ที่มีทั้งมหาอํานาจใหม่ คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และมีทั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ภายใต้การนําของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ "เจ๊า" กับ "เสมอตัว" ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี

แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า "สัฐมาลัย" คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์

แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ

กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอํามาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนําของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปีตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 (1954)

กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทําให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆ ไป

(7) ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง "กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช" และ "นักราชาชาตินิยม" ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959)

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทําปฏิวัติรัฐประหารยึดอํานาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ

รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน "รักชาติ" บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคําหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)

ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตํารวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ

ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ

9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส สหสาธารณรัฐอาหรับ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี

ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา จีน ออสเตรเลีย

น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้น คือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่

ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น

ว่าไปแล้วรัฐบาลไทย แพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคําพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทําขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่

การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดํารงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด

 ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ "กฎหมายปิดปาก" ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง (โปรดดูสรุปย่อคําพิพากษาของศาลโลกเป็นภาษาอังกฤษได้จาก http://www.icj-cij.org/docket/files/45/12821.pdf )

(8) กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์

ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำ นั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ "อํามาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน"

ขอกล่าวขยายความไว้ตรงนี้ว่าวาทกรรมของ "อํามาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" ถูกสร้างและถูกผลิตซ้ำ มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสํานึกใหม่ว่าเขาและปราสาทพระวิหารเป็น "ของไทย" หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น มีการเสนอความคิดว่า "ขอมไม่ใช่เขมร"

ดังนั้น เมื่อ "ขอม" มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือขะแมร์กัมพูชา ประเทศนั้นก็ไม่ควรมีสิทธิจะ ครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร

วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสํานึกว่าเป็น "ของไทย" แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, น. ณ ปากน้ํา, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสําคัญที่มีงานเขียนเชิงโฆษณาชวนเชื่อ "อํามาตยาเสนาชาตินิยม" เช่น "นายหนหวย" เป็นต้น และยังถูกถ่ายทอดต่อมาในวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน รวมทั้งปรากฏอยู่เป็นประจําในงานสื่อสารมวลชน นสพ. รายวัน รายการวิทยุและทีวีโดยทั่วๆ ไปอีกด้วย

(9) สรุป

เราจะเห็นได้ว่าวาทกรรมของ "อํามาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" นั้นถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ํามาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก

ดังนั้นประเด็นนี้จึงกลายเป็น "ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน" จุดปุบติดปับขึ้นมาทันที "5 พันธมิตรฯ" ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นําเอาเวอร์ชั่นของ "อํามาตยาเสนาชาตินิยม" มาคลุกผสมกับ " "ราชาชาตินิยม" ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ในขณะที่รัฐบาลสมัคร (ที่เป็นนอมินีทั้งของทักษิณ และเป็นนอมินีของอีกหลายๆ ฝ่าย หลายๆ สถาบันที่เรามักจะคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป) ก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบและความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการกับปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร

ดังนั้น ในเมื่อเขาพระวิหารได้ถูกทําให้กลายเป็นการเมืองร้อนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คําถามของเราในที่นี้ คือ

ในแง่ของการเมืองภายใน
- รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่
- รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่
- พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย
- จะเกิดการนองเลือดหรือไม่
- ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอํานาจอีกหรือไม่ หรือจะ "เกี้ยเซี้ย" รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงแค่สีเหลือง กับสีแดง

คนไทยได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งที่วิปโยคและปลื้มปีติกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 70 ปี
ทั้งการปฏิวัติ 2475
ทั้งกบฏบวรเดช 2476
ทั้งรัฐประหาร 2490
ทั้งปฏิวัติ 2500-2501
ทั้งการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516
ทั้งการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519
ทั้งพฤษภาเลือด (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535
และท้ายสุดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประสบการณ์และเหตุการณ์ดังกล่าวพอจะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนได้หรือไม่

หรือจะต้องรอให้สึนามิทางการเมืองถล่มทับสยามประเทศ (ไทย) ของเราให้ย่อยยับลงไป

ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหาร จะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่าง ไทยและกัมพูชาหรือไม่ รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูตหรือไม่
จะมีการปีดการค้าชายแดนหรือไม่
จะกลายเป็นประเด็นสาดโคลนการเมืองภายในของกัมพูชา (ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฏานี้) หรือไม

หรือว่า ทั้งไทยกับกัมพูชา จะตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กม. เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

จะตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกัน บริหารจัดการและ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต์ คนกําหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลํา คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน ฯลฯ

ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้

คําตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ

ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=37387&catid=1

เขาพระวิหารเป็นมรดกของโลกที่มีความงดงามมาก การที่จะบอกว่าใครเป็นเจ้าของนั้นมันเป็นเรื่องที่ยากมากแต่ถ้าจะให้ตัดสินว่าใครควรเป็นเจ้าของนั้นควรดูที่ว่าเขาพระวิหารนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศอะไร และเมื่อก่อนนี้มันเป็นของใครและค่อยตัดสินว่าใครควรที่จะได้มันไปครอบครอง

พูดถึงเรื่องเขาพระวิหารที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ดิฉันมีความคิดเห็นว่ามันน่าจะเป็นของคนไทยมากกว่าเพราะมีหลักฐานหลายอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าน่าจะเป็นของคนไทย

เขาพระวิหารกำลังเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงกันมากที่สุดในขนะนี้ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมที่จะให้เขาพระวิหารตกเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงผู้เดียวอาจจะมีหลายเรื่องที่ทำให้เขาพระวิหารเป็นที่ถูกกล่าวถึงสืบเนื่องมาจากการประชุมยูเนสโกที่ให้ไทยกับกัมพูชาไปหาข้อยุติแล้วค่อยมานำเสนอในที่ประชุมในเดือนมิถุนายน 2551 และนั่นเองก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากนั้นเมื่อถึงวาระที่จะเสนอในที่ประชุมและในเดือนนี้คือเดือนมิถุนายนจึงเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาถ้าตกลงเป็นเจ้าของร่วมกันได้ก็น่าจะดีเพราะองค์ประกอบที่สำคัญของโบราณสถานที่ถูกต้องตามหลักประวัติศาสตร์ของเทวาลัยโลกจะต้องรวมองค์ประกอบทั้งหมดไว้ด้วยกัน

การที่เขาพระวิหารกำลังเป็นที่สนใจในขนะนี้ทำให้การเมืองกำลังร้อนขึ้นและเป็นที่ถกเถียงกันในสภาเป็นอย่างมากเนื่องจากเขาพระวิหารมีอาณาเขตที่ติดต่อกับทางฝั่งพม่าส่วนตัวโบราณสถานอยู่ทางไทยแต่เราคิดว่าน่าจะครอบครองร่วมกันแต่ไทยเคยแพ้คดีนี้มาก่อนจึงทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญแต่ก็รู้เรื่องนี้น้อยในเรื่องของเขตแดนแผนที่เจ้าปัญหาเพราะไทยมีโอกาสคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องแผนที่แต่ก็ไม่ยอมคัดค้านจึงทำให้แพ้คดี

เราเองคิดว่าเขาพระวิหารน่าจะเป็นของไทยเพราะโบราณสถานต่างๆอยู่ในฝั่งไทยแต่จะคิดอย่างนั้นก็เป็นไปไม่ได้เพราะมีส่วนของกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะเรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาอาจเกี่ยวข้องกับการที่ไทยเคยแพ้คดีมาก่อนเพราะรู้ในเรืองนี้น้อยและแผนที่ที่เป็นตัวปัญหาก่อให้เกิดการแพ้คดีในความคิดของคนไทยบางคนจึงไม่อยากแพ้คดีรอบสองอีกจึงก่อให้เกิดการถกเถียงต่างๆ

ประเทศไทยควรทำตามคำตัดสินของสารโลก และเพื่อมิให้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศเสื่มลงและทางที่ดีที่สุด

ไทยและกัมพูชาควรร่วมมือกันพัฒนาเขาพระวิหารมากกว่า

การที่เขาพระวิหารจะเป็นมรดกโลกนั้นได้ต้องมีการเสนอเรื่องผ่านคณะกรรมการหลายฝ่าย เมื่อกรรมการได้ลงความเห็นให้เป็นมรดกโลกไปแล้ว ไม่ว่าเขาพระวิหารจะเป็นมรดกโลกของไทย หรือของกัมพูชาอย่างไรก็ตาม ก็อยากให้ประเทศที่เป็นเจ้าของได้ช่วยกันดูแลปราสาทเขาพระวหารใหคงอยู่เป็นมรดกโลกสืบต่อไป

การที่เขาพระวิหารได้เป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชานั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นของไทยก็ตาม ในฐานะที่เราเป็นคนไทยคนหนึ่ง ก็ขอแสดงความยินดีกับประเทศกัมพูชาด้วยเช่นกัน

เขาพระวิหารเกิดมาจากในที่ประเทศไทยแต่เป็นกึ่งกลางของพม่าอีกจึงมีการขัดแย้งกันง่าสมควรจะเป็นของประเทศเพราะเขาพระวิหารเป็นมรดกของโลกแล้วแต่ไม่ร้ว่าเป็นของใครจึงมีการขัดแย้งกันขื้นมาในระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่าจึงยังสรุปไม่ได้มันจะเป็นของใครกันแน่

- ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่เขาพระวิหารได้เป็นมรดกโลกแล้วได้ขึ้นชื่อเป็นของกัมพูชา เพราะเขาพระวิหารควรขึ้นชื่อเป็นของทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากทั้ง2ประเทศมีสิทธิในการได้ขึ้นชื่อเหมือนกันและเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท