คุ้มครองแรงงานชุมพร
สสค.ชุมพร สสค.ชุมพร สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร สสค.ชุมพร

ระบบแรงงานสัมพันธ์(ทวิภาคี ไตรภาคี)


พื้นฐานความต้องการของนายจ้างและลูกจ้าง มีลักษณะสวนทางกัน แต่เพื่อความอยู่รอดของทั้ง 2 ฝ่าย จึงจำเป็นต้องมีการประสานประโยชน์และมีการสร้างระบบความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบของความสัมพันธ์อย่างเป็นขบวนการ และเป็นระบบหรือที่เรียกว่าระบบทวิภาคี
ระบบแรงงานสัมพันธ์(ทวิภาคี ไตรภาคี)

ความหมายของทวิภาคี

ทวิภาคี หมายถึง ความสัมพันธ์ของบุคคล 2 ฝ่าย ในความหมายด้านแรงงานสัมพันธ์คือฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีพันธรกรณีที่จะปฏิบัติต่อกันในลักษณะต่างตอบแทน

ระบบทวิภาคี หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างหรือฝ่ายจัดการ กับลูกจ้างหรือองค์การลูกจ้าง เป็นความสัมพันธ์ที่มีรูปแบบเฉพาะเพิ่มขึ้นจากความสัมพันธ์ในการจ้างงานตามปกติโดยมีเป้าหมายให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมมือกันในการปรับปรุงผลิตภาพของสถานประกอบกิจการ รวมทั้งร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาภายในสถานประกอบกิจการ

วัตถุประสงค์ของระบบทวิภาคีด้านแรงงานสัมพันธ์

ระบบทวิภาคีด้านแรงงานสัมพันธ์มีหลายลักษณะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ต่างมุ่งที่จะให้ลูกต้างได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ ซึ่งลูกจ้างอาจเข้ามามีส่วนร่วมทางตรง (Direct Involvement) หรือมีส่วนร่วมทางอ้อม (Indirect Involvement) ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของระบบทวิภาคีที่สถานประกอบกิจการนำมาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
2. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสื่อข้อความที่ดีต่อกันทั้ง 2 ฝ่าย
3. เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
4. เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อกัน
5. เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
6. เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการและเสนอแนะแนวทางแก้ไข
7. เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

รูปแบบของระบบทวิภาคีด้านแรงงานสัมพันธ์

ระบบวิภาคีที่มีการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ด้านแรงงานสัมพันธ์ สามารถจำแนกออกได้ ดังนี้
1. การร่วมเจรจาต่อรอง เป็นความสัมพันธ์ในระบบทวิภาคีที่มีลักษณะเป็นทางการและมีกฎหมายบัญญติรับรองสิทธืในการร่วมเจรจาต่อรองระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายไว้โดยชัดแจ้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
2. ระบบการร่วมมือปรึกษาหารือ มีหลายรูปแบบ เช่น คณะกรรมการลูกจ้าง คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน คณะกรรมการร่วมปรึกษาหารือหรือคณะกรรมการที่ปรึกษา เป็นต้น
3. ระบบการยุติการร้องทุกข์ในหน่วยงาน เป็นระบบที่ใช้ในการยุติปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างบุคคลในองค์การและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างฝ่ายจัดการกับพนักงาน โดยเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงออกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสถานประกอบกิจการ ซึ่งจะช่วยให้ฝ่ายจัดการสามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้อย่างทันการณ์ และสามารถพิจารณากำหนดมาตรฐานในการป้องกันปัญหาได้ เป็นระบบที่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานและเกิดสันติสุขในองค์การนับได้ว่าเป็นระบบแรงงานสัมพันธ์ทวิภาคีอีกระบบหนึ่งที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในทุก ๆ ประเทศทั่วโลก
ระบบการยุติการร้องทุกข์ในหน่วยงานจะเป็นกลไกในการป้องกันและแก้ไขข้อขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพได้ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องมองเห็นความสำคัญของระบบ มีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในการแก้ปัญหา

- การแรงงานสัมพันธ์ระบบไตรภาคี

แนวคิดของระบบไตรภาคี


ระบบไตรภาคีมีจุดกำเนิดและสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีแนวความคิดที่ว่าในการผลิตแบบทุนนิยม นายจ้างกับลูกจ้างต่างพึ่งพาอาศักกันและกัน ดังนั้นฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและรัฐบาลก็ควรจะหันหน้าเข้าหากันอย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมโดยการปรึกษาหารือ (Consultation) และร่วมมือกัน (Co-operation) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทั้ง 3 ฝ่าย หรือในประเด็นที่จะกระทบกระเทีอนต่อทุกฝ่าย
ดังนั้น หากฝ่ายนายจ้าง-ฝ่ายลูกจ้าง-รัฐบาล ต่างไม่เข้าใจกันและขัดแย้งกัน อาทิ นายจ้างแสวงหากำไรสูงสุดโดยไม่สนใจต่อชีวิตของลูกจ้าง ส่วนฝ่ายลูกจ้างก็เฉี่อยงาน นัดหยุดงานหรือทำลายเครื่องจักร อันก่อให้เกิดผลเสียแก่ทุกฝ่าย เช่น ผลิตภาพตกต่ำ อัตรากำไรตกต่ำ บรรยากาศการลงทุนถูกทำลายลง ปัญหาการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศชงักงัน ดังนั้น จึงมีความเชื่อว่าหากมีคณะไตรภาคีซึ่งประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่าย ได้หันหน้ามาปรึกษาหารือกันและร่วมมือกันก็จะสามารถหาทางประนีประนอมผลประโยชน์ และสร้างความสามัคคีระหว่างฝ่ายต่างๆได้ โดยยึดหลักการและผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรือผลประโยชน์ของชาติเป็นเป้าหมาย

วัตถุประสงค์ของระบบไตรภาคี

1. ระบบไตรภาคีช่วยให้ทั้ง 3 ฝ่าย เกิดความเข้าใจในสิ่งที่สนใจร่วมกันและยังช่วยทำให้ทุกผ่ายมีความเข้าใจในผลประโยชน์และความแตกต่างในเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย
2. ระบบไตรภาคีช่วยปรับให้เกิดความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม รวมทั้งความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของแต่ละภาคีกับผลประโยชน์ของประชาชาติ
3. โดยผ่านการร่วมมือแบบไตรภาคี ความรู้และผลประโยชน์ของแต่ละภาคีจะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความต้องการเฉพาะของแต่ละฝ่าย
4. ช่วยทำให้เกิดความเห็นฟ้องต้องกันอย่างกว้างขวางในการตัดสินใจ เป็นการช่วยให้กระบวนการตัดสินใจมีความชอบธรรมยิ่งขึ้น
5. ช่วยลดความขัดแย้ง ช่วยทำให้เกิดความสงบสุขทางด้านแรงงานและการปกครองผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ดังจะเห็นได้จากประเทศจำนวนมากที่รัฐบาล องค์กรลูกจ้างและนายจ้างมีการเจรจาต่อรองเพื่อออกกฎหมายด้านแรงงานสัมพันธ์ในทางที่ส่งเสริมการร่วมมือทางด้านแรงงาน
6. ช่วยส่งเสริมให้เกิดนโยบายใหม่ ๆ ตลอดจนการให้การยอมรับและการนำนโยบายไปปฎิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ

องค์กรไตรภาคี

องค์การไตรภาคีที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงานสัมพันธ์ในปัจจุบัน มีดังนี้
1. องค์กรไตรภาคีด้านการร่วมปรึกษาหารือ ได้แก่
    - สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ
    - คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์
2. องค์กรไตรภาคีด้านการระงับข้อพิพาทแรงงาน ได้แก่
    - คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
    - ศาลแรงงานกลาง

การสร้างประสิทธิภาพของระบบไตรภาคี

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ระบบไตรภาคีเกิดประสิทธิภาพได้นั้น ประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
1. การมีเสรีภาพในการรวมตัวของภาคีที่เกี่ยวข้อง
2. ทุกภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเป็นอิสระและเป็นตัวแทนที่แท้จริงของแต่ละภาคีโดยตัวแทนที่เข้าไปนั่งในคณะไตรภาคี จะต้องได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายของตนให้ตัดสินใจในนามของฝ่ายตนได้
3. แต่ละภาคีจะต้องให้การยอมรับซึ่งกันและกันในการดำรงอยู่และในวัตถุประสงค์ของแต่ละฝ่ายที่อาจแตกต่างกัน
4. ทุกภาคีจะต้องมีความเต็มใจที่จะปรึกษาหารือ และถกเถียงกันในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย จะต้องมีการขจัดอคติที่จะปกป้องผลประโยชน์เฉพาะฝ่ายตนออก โดยจะต้องยึดหลักการ ผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่ายหรือผลประโยชน์ของชาติเป็นเป้าหมาย
5. มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและเอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบไตรภาคี
6. มีกรอบในการทำงานเพื่อให้การร่วมมือของ 3 ฝ่ายสามารถดำเนินการไปได้

Top    
----------------------------------------------------------


หลักมนุษย์สัมพันธ์

มนุษย์สัมพันธ์เป็นสิ่งช่วยให้คนเราดำรงอยู่ในสังคมได้ดี และเราต้องพยายามปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอเมื่อรู้ว่าเราบกพร่องตรงส่วนไหนบ้าง และผู้ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักการตัดสินใจและรู้จักการวางตัวในทุกโอกาส ซึ่งอาจจะพูดได้ว่ามนุษย์สัมพันธ์ก็คือการปฏิบัติการใช้จิตวิทยาพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ในการอยู่ร่วมกันในสังคมเราต้องใช้มนุษย์สัมพันธ์เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจ รู้จักการถนอมน้ำใจของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นได้มีการถนอมน้ำใจเราเช่นกัน

กลยุทธ์ในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ในที่ทำงาน

การสร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบของบุคคลอื่น ๆ นั้นมีเคล็ดลับ 6 ประการ ดังนี้

1. การสนใจในตัวบุคคลอื่น
    จะสังเกตได้ว่าบุคคลผู้เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความสนใจในตัวบุคคลอื่น ดังนั้น ถ้าเราอยากเป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น จึงต้องรู้จักแสดงความสนใจในตัวบุคคลอื่น เช่น การไต่ถามทุกข์สุข ส่งการ์ดอวยพรหรือของขวัญให้เขาในวันเกิดหรือเทศกาลสำคัญ ๆ ส่งสิ่งอื่น ๆ ที่คิดว่าน่าสนใจให้แก่เพื่อร่วมงาน เป็นต้น และเมื่อเพื่อนร่วมงานมีปัญหาก็ควรเสนอตนเองช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
2. การยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ
    บุคคลที่จะเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นมากที่สุดและนานที่สุดก็คือ บุคคลที่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ แต่การยิ้มในที่นี้ต้องเป็นการยิ้มอย่างเต็มอกเต็มใจ ยิ้มอย่างเปิดเผยมิใช่แสร้งยิ้มชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อหาประโยชน์ เพราะการยิ้มเช่นนั้นจะไม่ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นเลย
3. การจำชื่อบุคคลต่าง ๆ
คนเราย่อมสนใจและพึงพอใจในชื่อของตนเองมาก ดังนั้นการที่เราสามารถจำชื่อบุคคลอื่นได้ และสามารถเรียกชื่อเขาได้อย่างถูกต้องจะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจและคิดว่าเราระลึกถึงความสำคัญของเขาอยู่เสมอ จะทำให้เขาเกิดความพอใจและจดจำเราได้ตลอดไปเช่นเดียวกัน
4. การเป็นผู้ฟังที่ดี
บุคคลที่เราสนทนาด้วยนั้นย่อมสนใจในตัวของเขาและความต้องการของเขา ดังนั้นถ้าเราปรารถนาจะเป็นที่รักใคร่ของบุคคลอื่นก็จะต้องรู้จักเป็นผู้ฟังที่ดี ด้วยการสนใจในเรื่องที่บุคคลอื่นพูดไม่พูดขัดคอขึ้นมาในขณะที่คู่สนทนายังพูดไม่จบ พยายามจูงใจให้เขาสนทนาในเรื่องที่เขาสบายใจและควรสนับสนุนหรือชมเชยคู่สนทนาเป็นครั้งคราว
5. การพูดในเรื่องที่ผู้ฟังสนใจ
เดล คาร์เนกี้ เคยกล่าวไว้ว่าถ้าเราปรารถนาจะสร้างความนิยมขึ้นในตัวเองแล้ว จงสนทนาแต่ในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคู่สนทนา ดังนั้นเมื่อเราต้องการเป็นที่รักใคร่ชอบพอของบุคคลอื่นเราก็ต้องรู้ว่าคู่สนทนาของเราสนใจในเรื่องอะไร และต้องพยายามแสวงหาข้อมูลจากที่ต่างๆ แต่ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องรู้ข้อมูลทุกอย่างทั้งหมด ในบางเรื่องเรารู้เพียงแต่จะกล่าวนำหรือคอยรับฟังก็เพียงพอแล้ว
6. การรู้จักยกย่องบุคคลอื่น
นักจิตวิทยากหลายท่านกล่าวไว้ว่าความปรารถนาอันแรงงกล้าอย่างหนึ่งของมนุษย์ ก็คือความปรารถนาที่จะได้รับคำสรรเสริญ คนเราต้องการได้รับคำยกย่องจากผู้ที่เราติดต่อด้วย ต้องการให้ผู้อื่นรู้ว่าเรามีความสำคัญและต้องการให้เพื่อนของเรายกย่องสรรเสริญเราอย่างเต็มอกเต็มใจ และชมเชยเราในทุกโอกาสที่จะทำได้ ดังนั้นเมื่อเราปรารถนาจะเป็นที่ชอบพอของบุคคลอื่นเราก็ต้องปฏิบัติต่อคนอื่นเช่นเดียวกับที่เราต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อเรา นั้นก็คือการระลึกถึงความสำคัญของผู้อื่นในทุกโอกาส
การทำงานทุกอย่างย่อมมีอุปสรรคทั้งสิ้น แต่ถ้าหากว่าทุกคนรู้จักสร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในการปฏิบัติงานและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แล้ว เราก็จะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธ์ภาพยิ่งขึ้น

มนุษย์สัมพันธ์ในที่ทำงาน

ความสำคัญของการสื่อสารซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านการดำรงชีวิตประจำวันและการติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับงานในหน้าที่เป็นสิ่งจำเป็น และมีบทบาทสำคัญยิ่งในอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดในการดำรงชีวิต มนุษย์สัมพันธ์ของคนแต่ละคน แต่ละสังคมย่อมจะแตกต่างกัน ซึ่งการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในเบื้องต้นจะต้องประกอบไปด้วย
- การเข้าใจตนเอง
- การเข้าใจผู้อื่น
- การเข้าใจสิ่งแวดล้อม
หัวใจพื้นฐานทั้ง 3 ประการ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จในการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
บัญญัติ 10 ประการ สำหรับการฝึกการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีโดยสรุป คือ
1. ยิ้มให้ผู้อื่น
2. ทักทายผู้อื่น
3. จำชื่อและเรียกให้ถูกต้อง
4. มีความเป็นมิตร
5. มีความจริงใจ
6. ให้ความสนใจอย่างจริงจัง
7. อ่อนน้อมต่อคำชม ระมัดระวังต่อการวิจารณ์
8. มีความกระตือรือร้น
9. มีอารมณ์ขัน
10. มีความอดทน
บัญญัติ 10 ประการดังกล่าวข้างต้นเป็นการเปิดประตูสู่บุคคลอื่น สังคมอื่น สิ่งแวดล้อมอื่นๆ และในที่สุดก็จะนำมาซึ่งการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีได้ในที่สุด

ปัจจัยในการสร้างสัมพันธภาพ

หลักสำคัญในการสร้างสัมพันธภาพในสังคม หรือมนุษย์สัมพันธ์มีปัจจัยหลัก ๆ 4 ประการ คือ

1. เป็นผู้ฟังที่ดีให้ความสำคัญกับผู้พูด มีปฏิกิริยาโต้ตอบด้วยกับเรื่องที่คุย
2. ควรมีความสามารถในการพูดทีดี พูดน่าฟัง พูดสุภาพ พูดถูกกาลเทศะ
3. ควรปฏิบัติต่อกันด้วยท่าทีที่เหมาะสม สุภาพ เต็มไปด้วยมิตรภาพ
4. บุคคลผู้นั้นควรมีบุคลิกภาพที่ดี รวมทั้งนิสัยใจคอและการแต่งกาย

แนวคิดสำคัญในการสร้างความประทับใจทีดีให้บังเกิดกับบุคคลอื่น

1. ในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้น เราคือผู้กำหนดการสนทนาที่จะเริ่มขึ้นและจบลง
2. ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการแสดงออกถึงความเป็นงานเป็นการ การประชุมหรือการสนทนาดังกล่าวก็จะดำเนินไปอย่างเป็นงานเป็นการ และถ้าเราเริ่งต้นด้วยมิตรภาพการสนทนาก็จะดำเนินไปอย่างมีมิตรภาพ ในขณะเดียวกันถ้าเราให้การสนทนาดำเนินไปในรูปของธุรกิจมันก็จะเป็นไปในรูปของธุรกิจ
3. เมื่อเราได้พบใครสักคนหนึ่งเป็นครั้งแรก ความประทับใจที่เราสร้างขึ้นจะเป็นเครื่องพิจารณาว่าเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรต่อเรา
4. คนอื่นนั้นมีความตั้งใจที่จะยอมรับเรา เช่น ที่เราได้ประเมินค่าของตัวเองไว้ ถ้าเราคิดว่าตัวเองเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอะไร เท่ากับเราได้ขอร้องให้เขาเหยียบย่ำเรา
5. วิธีการที่ดีที่สุดและมีความหมายดีที่สุด ในการสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้พบเห็น คืออย่างได้พยายามสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นอย่างมากมายจนเกินไปนัก แต่เราควรจะแสดงให้เขาเห็นว่าเขาต่างหากที่เป็นฝ่ายสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับเรา
6. การที่คนอื่นจะตัดสินเรานั้น ไม่เพียงแต่เพราะความคิดเห็นที่เรามีต่อตัวเองเท่านั้นแต่ยังหมายถึงความคิดเห็นที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ ด้วย เช่น หน้าที่การงาน สถานที่ที่เราทำงานอยู่ แม่แต่กับคู่แข่งขันของเราด้วย
7. ความคิดเห็นในทางลบย่อมจะสร้างบรรษากาศในทางลบให้เกิดขึ้น ดังนั้น จงอย่าเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย และอย่าเป็นคนหัวแข็งหรือหัวรุนแรง
8. วิธีการที่เราตั้งคำถามขึ้นเท่ากับเป็นการตั้งแนวที่จะให้ได้มาซึ่งคำตอบ จงอย่าตั้งคำถามที่จะได้รับ "คำตอบปฏิเสธ" กลับมา ถ้าเราต้องการ "คำตอบรับ" เราก็ต้องตั้งคำถามที่จะให้ได้มาซึ่งคำตอบรับ จงอย่างตั้งคำถามหรือออกคำสั่งที่จะทำให้เราต้องตกอยู่ในฐานะลำบาก ซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาความยุ่งยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง

เทคนิคการสร้างมนุษย์สัมพันธ์

1. การสร้างมนุษย์สัมพันธ์นั้น จะไม่เกิดขึ้นเมื่อแต่ละฝ่ายต่างก็รอเวลาที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เริ่มต้นก่อน
2. จงอย่ารอสัญญาของอีกฝ่ายหนึ่ง เราจะต้องตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า เขาจะให้ความเป็นเพื่อนกับเราได้และทำไปตามนั้น
3. จงตั้งเจตนารมณ์ที่เราหวังจะให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม จงปฏิบัติเช่นที่เราหวังว่าเขาจะชอบเรา
4. จงตั้งความหวังว่า ผู้อื่นจะมอบความเป็นมิตรให้กับเรา
5. จงอย่าแสดงความต้องการในมิตรภาพที่ "มากจนเกินไป" อย่าแสดงความกระวนกระวาย อย่าพยายามยัดเยียดความเป็นเพื่อนของเราให้กับผู้อื่นจนออกนอกหน้า
6. จงทำใจให้สบายและตั้งความหวังว่าคนอื่นก็จะต้องชอบเราด้วย
7. จงใช้เสน่ห์ในรอยยิ้มเพื่อสร้างความสบายใจให้เกิดขึ้นกับผู้อื่น
8. เราจะต้องหมั่นฝึกฝนตนเองให้รู้จักกับการที่จะยิ้มออกมาด้วยความจริงใจ

Top    
----------------------------------------------------------


เทคนิคการสื่อสาร

การจัดการกับ 'คน' เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการบริหารจัดการองค์กร เพราะเหตุที่คนยังมี 'อารมณ์' ความนึกคิดที่ตีกรอบไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะให้คนทุกคนเป็นได้อย่างใจนึก
"บ็อบ เดอลาเนย์" ในฐานะผู้เชียวชาญด้านทรัพยากรบุคคลได้ชี้แนะว่าสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องมี คือ การสื่อสารที่เป็นเลิศและความสามารถในการแก้ปัญหาซึ่งล้วนแต่เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการลดปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยสิ่งสำคัญประการแรกในการเริ่มต้นขจัดปัญหาความขัดแย้ง คือ การทำความเข้าใจเทคนิคพิเศษทั้งหลายที่ใช้ในการลงปัญหา อันเกิดจากความไม่ลงรอยกันในที่ทำงาน ซึ่งเทคนิคที่จะกล่าวถึงนี้เหมาะที่จะใช้ในการขจัดปัจจัยที่เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง คือ "ตำแหน่งและผลประโยชน์"
มูลเหตุแห่งความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยงานในองค์กรมีอยู่มากมาย ดังนั้นจึงต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ ที่จะทำให้ทราบถึงองค์ประกอบของตำแหน่งและผมประโยชน์อันก่อให้เกิดความขัดแย้ง ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมองว่าความขัดแย้งและกาโต้เถียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีแต่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามมา ได้แก่ การฟ้องร้องดำเนินคดี การคว่ำบาตรของพนักงาน เป็นต้น แต่ด้วยความเข้าใจและการนำเอาเทคนิคไปประยุกต์ใช้อย่างถูกวิธีจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลลัพธ์ของการโต้แย้งได้ ซึ่งการรับมือกับความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสามารถทำได้ด้วยการปรึกษาหารือ มุ่งพัฒนาและฝึกฝนการเข้าถึงปัญหา โดยมีเทคนิคพื้นฐานในการรับมือกับความไม่เข้าใจกัน ดังนี้
1. การสื่อสารด้วยคำพูด เมื่อใช้การสื่อสารด้วยคำพูด ต้องแน่ใจว่าจะใช้คำพูดตรง ๆ ปราศจากท่าทางที่ดูถูกหรือเหยียดหยาม การสื่อสารด้วยคำพูดจะต้องชัดเจนและตรงไปตรงมา ประสิทธิภาพของการสื่อสารด้วยคำพูดมักได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่อไปนี้
    - ระดับของการได้ยิน
    - ความเข้าใจเหตุการณ์พื้นฐาน
    - ความเชื่อถือส่วนตัว
    - ประเด็นของสาร
    - สภาพแวดล้อมในขณะนั้น
2. การสื่อสารโดยปราศจากคำพูด โดยทั่วไปเมื่อไม่ใช่คำพูดก็จะสื่อสารผ่านสิ่งเหล่านี้
    ใบหน้า การมองหน้าคนที่เรากำลังสนทนาด้วยอยู่เสมอ จะแสดงให้เห็นถึงความสนอกสนใจและความจริงใจในการฟัง ซึ่งจะทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าได้รับความสนใจอย่างเต็มที่ แต่พึงระวังการแสดงสีหน้าที่สื่อได้หลายความหมายไว้ให้มากๆด้วย
    ดวงตา อย่ากรอกตาไปมาระหว่างการสนทนาจะทำให้ดูเป็นคนไม่จริงใจต้อง โฟกัสอยู่ที่คู่สนทนาและถ่ายทอดความสนใจผ่านดวงตาเท่าที่จะเป็นไปได้ การเอียงตัวและท่านั่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความสนใจ ตัวอย่างเช่น ขณะสนทนาอยู่ที่โต๊ะการเอียงตัวไปข้างหน้าพร้อมกับวงแขนที่เปิดกว้างบนโต๊ะจะทำให้ดูว่ากำลังสนใจมาก ๆ น้ำเสียงซึ่งหมายถึงโทนของน้ำเสียงผู้พูดต้องพยายามปรับโทนของน้ำเสียง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสารที่จะถ่ายทอด
3. การตั้งคำถามเมื่อใช้คำถามควรเปิดประโยคคำถามด้วยคำว่า "ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไมและอย่างไร" คำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำหรือการพยายามหาคำตอบเหล่านี้จำให้คำตอบที่ได้มีเนื้อหามากกว่าประโยคคำถามแบบปิด หรือคำถามที่ต้องตอบเพียง "ใช่" หรือ "ไม่" เท่านั้น นอกจากนี้คำถามแบบปิดเป็นลักษณะของคำถามที่หยาบและไม่บ่งบอกถึงสิ่งเกี่ยวพันใด ๆ และอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้
4. การถ่ายทอดข้อความ เป็นเทคนิคที่ให้คุณค่าสูงส่งอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เนื่องจากการถ่ายทอดข้อความและการพูดซ้ำประโยคเดิมของคนหนึ่งให้อีกคนหนึ่งฟันนั้น จะทำให้มีโอกาสได้ถ่ายทอดความคิดและความเข้าใจ ซึ่งการถ่ายทอดจะช่วยให้ผู้พูดมุ่งประเด็นไปถกที่เนื้อหาสาระเป็นสำคัญ การเพิ่มความเข้าใจที่ถูกต้องและการเล่าเรื่องซ้ำ หรือการถ่ายทอดเรื่องราวยังช่วยให้ผู้เล่ามีโอกาสได้อธิบายจุดที่เป็นประเด็นสำคัญที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้การพูดซ้ำยังช่วยให้คนอื่นๆ ที่ได้ยิดเก็บเอาสิ่งที่ได้ยินกลับไปคิดและทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ได้อีกด้วย
5. การรับฟังอย่างกระตือรือร้น การฟังอย่างกระตือรือร้นหมายถึงการมีอารมณ์ร่วม ความตั้งอกตั้งใจและการสบตา จะสามารถดึงเอาความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูดออกมาได้ นอกจากจะทำให้ผู้พูดรู้สึกดีแล้วยังทำให้เข้าใจเรื่องราวได้อย่างกระจ่างแจ้งอีกด้วย

Top    
----------------------------------------------------------


เทคนิคการจูงใจ

การจูงใจที่ต้องทำโดยนักแรงงานสัมพันธ์ โดยปกติการจูงใจนั้นควรพิจารณาตามลักษณะของคน งาน ผลงาน ระดับชั้นหรือตามทฤษฎีความต้องการของ The Hierarchy of Needs โดย Maslow เป็นพื้นฐาน เบื้องต้น เมื่อเวลาจะจูงใจ ก็จะไม่สามารถบอกได้ว่านี่เป็นการจูงใจจึงขอแนะนำเทคนิคการจูงใจ ให้นำไปเป็นข้อควรคำนึงก่อนที่จะจูงใจคนอื่น กล่าวคือ

1. ก่อนที่จะไปจูงใจใคร ต้องมีความรู้สึกว่าคุณอยากจูงใจเสียก่อน มิฉะนั้นเราจะไม่ค่อยอยากทำอะไรให้ใคร
2. การจูงใจนั้นต้องการให้เกิดอะไรขึ้น เพื่อความสำเร็จอะไรบางอย่างอยู่ ๆ จะมานั่งจูงใจกันน่อมดูเป็นจองประหลาด ที่จะประกาศจูงใจให้ทำนั่นทำนี่โดยปราศจากเป้าหมาย และเป้าหมายที่ว่านั้นน่าจะประกอบด้วยสูตรที่ว่า SMART คือ
  •  
    •   Specific เป้าหมายที่พิเศษ
    •   Measurable สามารถวัดผลได้ว่าสำเร็จหรือไม่
    •   Agree เป็นความเห็นชอบร่วมกัน
    •   Realistic เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือ ไม่เลื่อนลอยจนไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างไร
    •   Time bound, และสุดท้ายมีระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการวัดผล
3. การจูงใจนั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นช่วงๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริงควรจะต้องมีการปฏิบัติจนเกิดเป็นความเคยชิน
4. การจูงใจนั้น ต้องการความสนใจอย่างจริงจัง การยอมรับจากคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ คนที่จะจูงใจคนอื่นต้องเชื่อว่าตนมีอิทธิพลหรือมีพลังพอที่จะจูงใจให้คนอื่นทำให้อย่างที่ต้องการ ขณะเดียวกันผู้ที่ถูกจูงใจต้องรู้สึกว่าคนที่จูงใจนั้น มีอะไรบางอย่างพอที่จะทำให้เขารู้สึกอยากทำให้
5. เพื่อให้การจูงในได้ผลอย่างแท้จริง ผู้ที่จูงใจต้องมีส่วนร่วมด้วย เช่น จูงใจให้บริการที่ดีขึ้น ผู้จูงใจจะต้องทำเป็นตัวอย่างหรือต้องให้บริการที่ดีด้วย ไม่ใช่บอกให้คนอื่นทำอย่างเดียวแต่ตนเองไม่ทำ
6. ความก้าวหน้าและความสำเร็จเป็นส่วนหนึ่งของการจูงใจที่ได้ผล การตั้งรางวัลหรือเงื่อนไขเกี่ยวกับความก้าวหน้าหรือความสำเร็จ จะเป็นเครื่อกระตุ้นการจูงใจที่ได้ผลที่สุด
7. การจูงใจนั้นจะสร้างความท้าทายให้เกิดขึ้น หากมีตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ดูหรือยึดถือจะเป็นแนวทางที่ดี นั้นคือต้องให้พนักงานรู้สึกว่าเงื่อนไขนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ทำได้ เคยมีและเคยทำมาแล้ว
8. ขอให้เชื่อเถิดว่าคนทุกคนมีปุ่มให้กดเพื่อการจูงใจทั้งนั้น เป็นธรรมชาติของปกติชนที่จะรู้สึกสนุก ท้าทาย อยากลองสิ่งที่มีรางวัลหรือมีอะไรเป็นพิเศษกว่าปกติ ได้พนันขันต่อหรือมีรางวัลพิเศษ ให้จะจูงใจให้คนอยากร่วมมากกว่าธรรมดา
9. ทีมทำงานก็มีส่วนช่วยกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจได้ เพราะคนเมื่อมาอยู่ร่วมกันความรู้สึกที่ดีต่อกันนั้นมีแน่ แต่ก็ยังอยากจะเหนือกว่าคนอื่นอยู่หน่อย ๆ เมื่อต้องมาร่วมทีมงานกันก็ยังอยากได้ความพิเศษ จึงพยายามที่จะสร้างความโดดเด่นให้เหนือกว่าคนอื่น จึงเป็นสิ่งจูงใจไปโดยปริยาย แต่ต้องระวังอย่าให้มากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ทีมแตกได้ หากมีการให้อะไรพิเศษเหนือกว่าเพื่อนร่วมทีมคนอื่นมากอย่างเห็นได้ชัน
บทบาทของนักแรงงานสัมพันธ์นั้นกว้างขวาง และครอบคลุมเสียเกีอบทุกเรื่อง เพื่อที่จะได้สามารถเข้าถึงคนในการให้ได้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับงาน เพราะข่าวบางอย่างจะไม่เปิดเผยหรือวิ่งมาสู่หูได้อย่างง่ายๆเลย ตรงกันข้ามหากนักแรงงานสัมพันธ์ไม่มีสายสัมพันธ์ที่ดี ก็จะทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์ลำบาก การจูงใจที่นักแรงงานสัมพันธ์ต้องริเริ่ม หรือแนะนำให้สายงานทำนั้นจะนำไปสู่สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นเข้าถึงคนง่าย

Top    
----------------------------------------------------------


ข้อมูลพื้นฐานของสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าไปดำเนินการส่งเสริมฯ


- แนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์

ความหมาย

การส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการให้ความรู้ชี้แจง แนะนำและให้คำปรึกษาแก่นายจ้างและลูกจ้าง สหภาพแรงงานและคณะกรรมการทวิภาคีในรูปแบบต่างๆ เช่น คณะกรรมการลูกจ้าง คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้ความรู้และแนวคิด เกี่ยวกับการเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีภายในสถานประกอบการ เสนอแนะแนวทางการสร้างความร่วมมือและระบบร่วมปรึกษาหารือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ตลอดจนการดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นให้ยุติลงได้ภายในสถานประกอบกิจการ

วัตถุประสงค์ของการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์
1. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้าง
2. เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ชักจูงให้นายจ้าง และลูกจ้างตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือในสถานประกอบการ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสภาพการจ้าง และสภาพการทำงานที่เหมาะสม
3. เพื่อส่งเสริมให้มีระบบการร่วมปรึกษาหารือที่มีประสิทธิภาพ
4. เพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรคและแสวงมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
5. เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และเอกสารเกี่ยวกับการแรงงานสัมพันธ์
6. เพื่อเป็นการลดจำนวนและบรรเทาความรุนแรงของปัญหาข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

กลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์
การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อวางแผนเข้าไปดำเนินการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ ให้พิจารณาจากหลักเกณฑ์และความสำคัญของปัญหาตามลำดับ ดังนี้
1. สถานประกอบการที่ในอดีตเคยเกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงานหรือข้อขัดแย้งและคาดว่าจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก
2. สถานประกอบที่มีการจัดตั้งองค์กรลูกจ้าง เช่นสหภาพแรงงานคณะกรรมการลูกจ้าง คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน คณะกรรมการร่วมปรึกษาหารือคณะกรรมการหรือชมรมพนักงานในรูปแบบทวิภาคีอื่น ๆ เป็นต้น
3. ประเภทกิจการของนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจหรือการดำเนินธุรกิจซึ่งมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน
4. สถานประกอบการที่มีสัญชาติของนายจ้าง หรือผู้ร่วมลงทุนเป็นชาวต่างชาติซึ่งมีนโยบายในการบริหารงานที่แตกต่างกันออกไป และอาจก่อให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์
5. สถานประกอบการที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใกล้หมดอายุ
6. กรณีที่มีสถานประกอบกิจการขนาดที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ควรได้รับการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ให้เกิดระบบบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ ใน
หมายเลขบันทึก: 189643เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2008 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ มีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ

ได้รับความรู้มากกมาย ขอบคุณมากๆ นะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท