ประเทศเพื่อนบ้าน ... สู่ การพัฒนาการศึกษาไทย


ส่วนกลางยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร ในขณะที่ท้องถิ่นจะมีบทบาทในการจัดทำหลักสูตรในส่วนที่สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตนเอง ในอัตราส่วนประมาณ 10-20%

หัวเรื่อง : ประสบการณ์ ประเทศเพื่อนบ้าน ... สู่ การพัฒนาการศึกษาไทย

 ข้อความ :

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการคณะ ผู้เชี่ยวชาญหลักสูตรที่ยูเนสโกจัดขึ้น เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในยุคปัจจุบันทั้ง ในระดับภูมิภาคและในโลก จากนั้นได้มีการยกร่าง และจัดทำชุดฝึกอบรมที่ชื่อว่า Leading and Facilitating Curriculum Change ชุดฝึกอบรมนี้ มีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรหลัก ที่เป็นแกนนำในการปฏิรูปหลักสูตรของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อพัฒนาให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยงวิสัยทัศน์ และนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อผลักดันให้การปฏิรูปหลักสูตรบรรลุผลสำเร็จ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารระดับอธิบดี รองอธิบดี และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาหลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญ และนักพัฒนาหลักสูตรระดับอาวุโสจากหลายประเทศ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิรูปหลักสูตรในประเทศของตน

จากข้อมูลที่ตัวแทนแต่ละประเทศได้นำเสนอ สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาหลักสูตรของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมีแนวโน้ม และทิศทางในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดทางตะวันตกในเรื่องของการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นและสถานศึกษามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการจัดทำหลักสูตรมากขึ้น อย่างไรก็ตามระดับของการกระจายอำนาจมีความแตกต่างกันไป ประเทศส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เวียดนาม ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ พบว่าส่วนกลางยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร ในขณะที่ท้องถิ่นจะมีบทบาทในการจัดทำหลักสูตรในส่วนที่สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตนเอง ในอัตราส่วนประมาณ 10-20% ส่วนประเทศมองโกเลียพบว่าท้องถิ่นและสถานศึกษามีบทบาทค่อนข้างสูงในการกำหนดเนื้อหาหลักสูตร คือประมาณ 45% และ สูงสุดคือประเทศอินโดนีเซีย ที่ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นและสถานศึกษาอย่างเต็มที่ โดยส่วนกลางกำหนดเพียงมาตรฐาน และกรอบหลักสูตรกว้าง ๆ ทำให้หลักสูตรจะเกิดในระดับสถานศึกษา (School-based curriculum) เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเนื้อหา การเรียนการสอน หรือประเมินผล ซึ่งนับเป็นการกระจายอำนาจที่สูงมาก

นอกจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการกระจายอำนาจแล้ว ยังพบว่าหลักสูตรของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น หลักสูตร อิงมาตรฐาน (Standards-based curriculum) คือมีการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ซึ่งเป็นระดับคุณภาพของผู้เรียนไว้เป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาหลักสูตร และมี การตรวจสอบคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานที่กำหนด

เป็นธรรมดาอยู่เองที่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง สุดแล้วแต่ว่าระดับของการเปลี่ยนแปลงนั้นแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมามากน้อยเพียงใด และที่สำคัญอยู่ ที่ความพร้อมของบุคลากรในระดับปฏิบัติด้วย เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองในระดับที่ไม่มากนัก คือประมาณ 20% แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้วสิ่งที่คาดหวังก็ยังไม่ปรากฏให้เห็น เพราะบุคลากรขาดความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาหลักสูตร และขาดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ ๆ

สำหรับประเทศ เกาหลี เริ่มมีการประกาศใช้หลักสูตรใหม่ใน ค.ศ. 2000 เพื่อนำไปสู่การกระจาย อำนาจด้านหลักสูตร ซึ่งครูและผู้บริหารสถานศึกษาต่างก็เห็นด้วยว่า เป็นระบบที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตย มากขึ้น แต่กระนั้นก็ตามทั้งครูและผู้บริหารส่วนใหญ่ ก็เห็นว่ายังไม่เหมาะที่จะเปลี่ยนแปลงในเวลานี้ เพราะครูยังขาดความพร้อมและไม่มีประสบการณ์เพียงพอ และเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ครูมากขึ้น อีกประการหนึ่งระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของส่วนกลางก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในขณะที่ ฟิลิป ปินส์ ได้มีความพยายามที่จะเปิดให้สาธารณชนมีส่วนร่วมกว้างขวางขึ้น มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มคนต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อได้หลักสูตรที่ดีมีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของ คนส่วนใหญ่ในประเทศ แม้กระนั้นก็ยังประสบปัญหาการขัดแย้งทางความคิด และการหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอใจ

ส่วนประเทศ ญี่ปุ่น ได้ประกาศนโยบายเรื่องการปรับลดเวลาเรียนและเนื้อหาหลักสูตรลง เพราะญี่ปุ่นมีปัญหานักเรียนมีความเครียดสูง จึงมีความพยายามในการส่งเสริมให้โรงเรียนเปิดวิชา เลือกเพื่อให้นักเรียนได้เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจมากขึ้น และให้มีเวลาผ่อนคลายมากขึ้น แต่นโยบายดังกล่าวกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งห่วงใยว่าจะทำให้คุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำลง สำหรับประเทศ อินโดนีเซีย นั้น การประกาศ Education Law 2003 ได้นำไปสู่การกระจายอำนาจด้านหลักสูตรให้แก่ท้องถิ่นและสถานศึกษาในระดับที่นับว่าสูงมาก ส่งผลให้เกิดความกดดันในระดับปฏิบัติ ครูมีความเครียดในการจัดทำหลักสูตรเพราะมิใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขา เนื่องจากครูยังขาดความรู้และประสบการณ์ที่เพียงพอ

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และปรับแนวคิดจากกรอบเดิมไปสู่ปรัชญาแนวคิดใหม่ วิธีการและแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากรในระดับปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และข้อมูลของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้คงจะช่วยให้มองเห็นภาพว่า ในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคนี้ประเทศไทยเราอยู่ ณ จุดใด มี ระดับการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ ๆ ปัญหาและอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่เรากำลังประสบอยู่ก็เป็นสิ่งที่พบในประเทศอื่น ๆ เช่นกัน แต่ระดับของความรุนแรงอาจแตกต่างกันไป

ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจจากการประชุมก็คือ “การเปลี่ยนแปลงแบบมีดุลยภาพ” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรจากประเทศต่าง ๆ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การศึกษาของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารจัด การหรือวิธีการเรียนการสอนมีหลายอย่างที่ดีและควรรักษาไว้ และควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง หากแต่ควรเป็นการผสมผสานระหว่าง “ของ เดิม” ที่ดีกับ “ของใหม่” ที่จะช่วยให้ดียิ่งขึ้น และการกระจายอำนาจหลักสูตรในระดับที่เหมาะสมกับบริบทและความพร้อม และการปรับกระบวนการเรียนการ สอนที่เหมาะสมจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรประสบความสำเร็จ แต่ทั้งนี้วิธีการเรียนการสอนแบบเดิมก็ไม่ใช่จะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการสอนโดยครูเป็นผู้บอก อธิบาย หรือการท่องจำ ซึ่งล้วนมีข้อดีอยู่หลายอย่าง เพียงแต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนและโอกาส
ชุดฝึกอบรมนักพัฒนาหลักสูตรที่จะเป็นผลผลิตจากการประชุม หากเสร็จสมบูรณ์หลังจากการบรรณาธิการในการประชุมที่โตเกียวในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาหลักสูตรของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำแนวคิด และทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติในบริบทต่าง ๆ พร้อมทั้งเห็นแนวทางแก้ปัญหาซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในประเทศของตนได้อีกด้วย.

http://board.narak.com/delete_question.php?id=28937

 

คำสำคัญ (Tags): #พัฒนาหลักสูตร
หมายเลขบันทึก: 189258เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2008 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท