ข้าราชการเป็นอะไรได้.... พนักงานมหา'ลัย เป็นได้ทุกตำแหน่ง


พนักงานมหาวิทยาลัย

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551    ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่  5 ก.พ. 2551 ที่ผ่านมามีเนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับสายสนับสนุนในมหาวิทยาลัย ดังนี้

         มาตรา 3 ให้เพิ่มนิยามคำว่า   พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ลงในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 (ซึ่งแต่เดิมไม่มีข้อความนี้)

       พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้าง หรือ  ค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา

      จากนิยามที่ปรากฏในมาตรานี้ แสดงว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา จะหมายความรวมทั้ง พนักงานในมหาวิทยาลัยที่เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน และ เงินรายได้ 

         ในขณะที่ มาตรา 18   ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา  มีดังต่อไปนี้ 

         (ก) ตำแหน่งวิชาการ ได้แก่ ศ. , รศ. , ผศ. , อาจารย์ และตำแหน่งอื่นที่ ก.พ.อ. กำหนด

         (ข) ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ได้แก่ อธิการบดี , รองอธิการบดี , คณบดี , รองคณบดี , หัวหน้าหน่วยงานที่มีเรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ,  ผู้ช่วยอธิการบดี  , รองคณบดีหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่มีเรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ  , ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี , ผู้อำนวยการวิทยาเขต  ,  ผู้อำนวยการกอง และตำแหน่งอื่นที่ ก.พ.อ. กำหนด

         (ค) ตำแหน่งประเภททั่วไป  วิชาชีพเฉพาะ หรือ  เชี่ยวชาญเฉพาะ ได้แก่ เชี่ยวชาญพิเศษ , เชี่ยวชาญ , ชำนาญการ ,ปฏิบัติการ และระดับอื่นที่ ก.พ.อ. กำหนด

     ตำแหน่งต่างๆที่กล่าวข้างต้น เป็นตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ตาม พ.ร.บ. ปี2547

  มาตรา 65/1   การกำหนดตำแหน่ง ระบบการจ้าง การบรรจุและการแต่งตั้ง อัตราค่าจ้างและค่าตอบแทน เงินเพิ่มและสวัสดิการ การเลื่อนตำแหน่ง การเปลี่ยนและการโอนย้ายตำแหน่ง การลา  จรรยาบรรณ วินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การออกจากงาน การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ และการอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษา

       มาตรา 65/2 พนักงานในสถาบันอุดมศึกษามีสิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ตามมาตรา 18 หรือตำแหน่งอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษาที่ออกตาม มาตรา 65/1 ได้     

        จากมาตรา 65/2  นี้ มีผลทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยทั้งที่จ้างด้วยงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
มีโอกาสให้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทุกตำแหน่งตามมาตรา 18   ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อบังคับของสภาแต่ละมหาวิทยา
ลัย(ตามมาตรา 65/1) ที่จะกำหนดให้มี หรือไม่มีในการที่จะแต่งตั้งให้พนักงานมหาวิทยาลัยดำรงตำแหน่งต่างๆในมาตรา 18

         จากมาตรา  65/1  นี้ ผู้เขียนชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งจะออกประกาศหรือข้อบังคับที่กำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายผู้สอนให้ดำรงตำแหน่งต่างๆในมาตรา 18 ได้ทุกตำแหน่ง (ที่เป็นได้) เช่น ตำแหน่งทางวิชาการเป็นอาจารย์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ ซึ่งที่ผ่านมาทุกมหาวิทยาลัยก็กำหนดเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว  จากนี้ต่อไปยังจะกำหนดให้ดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นอธิการบดี ,รองอธิการบดี, คณบดี รองคณบดี ฯลฯ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

           เมื่อเป็นเช่นนี้   มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะแบ่งเป็น 2กลุ่มใหญ่ ๆ    กลุ่มที่ 1 จะมีมหาวิทยาลัยเพียงบางแห่งซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยส่วนน้อยที่ออกประกาศหรือข้อบังคับกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งต่างๆในมาตรา 18 ได้ทุกตำแหน่ง (ที่ควรเป็นได้) เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี   ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต  ผู้อำนวยการกอง   ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ   ผู้เชี่ยวชาญ  และ  ผู้ชำนาญการ

      

        กลุ่มที่ 2  จะมีมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่หลายแห่ง ที่จะออกประกาศหรือข้อบังคับกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งต่างๆในมาตรา 18 ในบางตำแหน่งเท่านั้น เช่น การแต่งตั้งให้เป็น ตำแหน่งผู้บริหาร ในการเป็นผู้อำนายการสำนักงานอธิการบดี , ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต  และผู้อำนวยการกอง  โดยไม่มีการออกประกาศหรือข้อบังคับที่เปิดโอกาสที่ให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนให้สามารถดำรงตำแหน่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ , ผู้เชี่ยวชาญ  และ ผู้ชำนาญการได้  ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรา 65/1  ที่เป็นเรื่องของแต่ละมหาวิทยาลัยจะออกข้อบังคับกันเอง จะให้เป็นก็ได้ จะไม่ให้เป็นก็ได้

         ผู้เขียนมีความเชื่อว่า  มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดในประเทศจะออกประกาศหรือข้อบังคับเป็นกลุ่มที่ 2 และมีจะเพียงบางมหาวิทยาลัยเท่านั้นจะเป็นกลุ่มที่ 1  ผู้เขียนมีเหตุผลสนับสนุนความเชื่อนี้ 2 ประการ  ประการแรก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ในมาตรา 65/1    เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเลือกที่จะออกประกาศหรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัย จะให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนเป็นทุกตำแหน่งตามมาตรา 18 ก็ได้ จะไม่ให้เป็นก็ได้ เนื่องจากกฎหมายมิได้บังคับ เพียงแค่บอกว่ามีสิทธิจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 18 เท่านั้น แต่ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของแต่ละสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา  65/1

        ประการที่สอง ในปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยเดิมของรัฐทั้ง 24 แห่ง(ไม่นับรวมมหาวิทยาลัยราชภัฏ 41 แห่ง    มหาวิทยา

ลัยราชมงคล  9  แห่ง  ที่เพิ่งจะเข้ามารวมอยู่ใน ส.ก.อ.) ไม่มีมหาวิทยาลัยใด     ที่ออกประกาศหรือข้อบังคับให้พนักงาน

มหาวิทยาลัย      สามารถแต่งตั้งให้เป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ  ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้ชำนาญการ ได้แม้แต่แห่งเดียว

          ในขณะที่มหาวิทยาลัยเดิมทั้งหมดทั้ง 24 แห่ง ของประเทศไทย ได้มีประกาศ ข้อบังคับให้มีพนักงานสายผู้สอนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์  รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์  มากมายในทุกมหาวิทยาลัยมานานแล้ว  พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551ที่มีผลบังคับใช้นี้จึงนับว่าเป็นการให้ โอกาสแก่พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนที่จะมีความก้าวหน้าในตำแหน่งวิชาชีพของตนได้เป็น ผู้บริหารก็ได้ เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการก็ได้   กล่าวคือข้าราชการเป็นแหน่งอะไรได้ พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นได้ทุกตำแหน่งอย่างเท่าเทียมกัน

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่มีลักษณะสำคัญคือความเป็นอิสระ คล่องตัว และมีรูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นเฉพาะของตนเอง การจัดโครงสร้างและระบบบริหารจัดการที่ยึดหลักการกระจายอำนาจในการปกครองตนเอง   การตัดสินใจ   การวินิจฉัย  การสั่งการส่วนใหญ่สิ้นสุดที่ระดับสภามหาวิทยาลัย   ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัย  เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มี ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย  มีแต่พนักงานมหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเองก็ยังไม่มีประกาศหรือข้อบังคับให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ  ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชำนาญการ แม้นมหาวิทยาลัยมีการก่อตั้งมานานกว่า 18 ปีแล้วก็ตาม(ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2533)

       มหาวิทยาลัยในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดออกประกาศหรือข้อบังคับให้พนักงานสายสนับสนุนให้มีโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้ชำนาญการผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ  ทั้งๆที่เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง ที่รัฐต้องจ่ายให้กับสายผู้สอนและสายสนับสนุนแตกต่างกันค่อนข้างมาก

  เสถียร    คามีศักดิ์(2551: 55-59)  บุคลากร เชี่ยวชาญ ระดับ 9 แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เขียนบทความ เรื่อง ทางใครทางมัน  จัดพิมพ์เป็น Pocket  Book  เรื่อง เขียนให้เจ้านายอ่าน ในบทความสรุปได้ว่า บุคลากรในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นสายผู้สอน หรือสายสนับสนุน ต่างมีเส้นทางความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของตน เปรียบเสมือนทางใครทางมัน  กล่าวคือ ในสายผู้สอนถ้าก้าวหน้าไปในเส้นทางผู้บริหาร ก็จะเป็นหัวหน้าภาควิชา  ,  รองคณบดี , คณบดี , รองอธิการบดี และ สูงสุดเป็นอธิการบดี หรือถ้าจะก้าวหน้าไปในเส้นทางวิชาการก็จะเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์   รองศาสตราจารย์  และศาสตราจารย์สูงสุดในระดับ 11  ในขณะที่สายสนับสนุนถ้าก้าวหน้าไปในเส้นทางของผู้บริหารก็จะเป็นหัวหน้างาน / หัวหน้าฝ่าย  เลขานุการคณะ  ผู้อำนวยการกอง หรือ หัวหน้าสำนักงานอธิการบดีสูงสุดในระดับ 9

           ความก้าวหน้าของแต่ละสายงานนั้น  มีเส้นทางเดินทางใครทางมันอยู่แล้ว  ผู้ควบคุม  กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ  ต้องมีใจกว้างเพียงพอ อย่าปิดกันให้เป็นทางตัน   หากแต่ถ้าจะปิดเพื่อซ่อมแซมหรือปรับปรุงเส้นทาง(กฎ  ระเบียบ  ข้อบังคับ)ให้ทันสมัยก็คงไม่เป็นไร   แต่ถ้าหากเป็นการปิดกั้นเส้นทางให้ปิดตายไปเลย(ไม่กำหนดให้มีกรอบตำแหน่ง)หรือเปิดเส้นทางให้บ้าง(ให้มีกรอบตำแหน่ง) แต่เอาขวากหนามมาวางกั้น(กำหนด กฎ  ระเบียบ ข้อบังคับ เกินเลยกว่าที่ ก.พ.อ. กำหนด)เพื่อให้การเข้าสู่ตำแหน่งของสายสนับสนุนให้ยากยิ่งขึ้น แบบนี้คงเป็นการไม่ดี

       

           บุคลากรต่างสายงานกันในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นสายผู้สอนหรือสายสนับสนุนต้องไม่อิจฉาตาร้อนซึ่งกันและกัน  ผู้มีอำนาจ  หรือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย  หรือ คณะกรรมการบริหารงานบุคคล ของแต่ละมหาวิทยาลัยต้องเปิดทางเดิน   ให้แต่ละสายงานมีความก้าวหน้าได้ตามความรู้ ความสามารถ แห่งตนโดยไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งพวก ว่าเป็นพวกของเขา(สายสนับสนุน) หรือพวกของเรา(สายผู้สอน)            

            มหาวิทยาลัยต้องไม่ปิดกั้นหรือพยายามปิดกั้นเส้นทางความก้าวหน้าของแต่ละสายงาน  เนื่องจากแต่ละสายงานมีเส้นทางความก้าวหน้าตามทางเดิน ทางใครทางมันอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และ ฉบับที่ 2  พ.ศ. 2551

 

หมายเลขบันทึก: 189081เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2008 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาติดตามอ่าน

อยากทราบระเบียบการเกษียณอายุ 70 ปีค่ะ

คุณแก้วครับ ระเบียบการเกษียนอายุราชการที่ 70 ปี ที่ผมไม่มีเลยครับ ลองติดต่อที่ กจ.มข.ดูนะครับ ผมว่าเขาน่าจะมีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท